การเลือกตั้งไม่ได้จบลงในวันที่ 24 มี.ค. และการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ก็น่าจับตาขึ้นทุกขณะ เพราะเสียงของ 2 ขั้วการเมืองออกมาคู่คี่กันมาก จนพรรคขนาดกลางบางพรรคถูกมองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ
จนถึงตอนนี้ กกต.ก็ยังไม่ประกาศคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแปลกประหลาด ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ หรือ MMA ที่ชวนงุนงง และอาจทำให้จำนวน ส.ส.แต่ละพรรคไม่นิ่ง (โดยเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ) เป็นเหตุให้ กกต.ออกตัวว่า กว่าจะประกาศผลอย่างเป็นทางการก็ในวันที่ 9 พ.ค.โน่น
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการที่ กกต.สามารถแจก ‘ใบส้ม’ (เชื่อได้ว่าทุจริตเลือกตั้ง ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. 1 ปี ไม่นำคะแนนที่ได้มาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากผู้สมัครรายนั้นชนะ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่)
คณิตศาสตร์การเมือง
แต่ถ้าเรายึดจากข้อมูลดิบที่ กกต.ส่งให้กับสื่อมวลชนรายงานในคืนวันที่ 24 มี.ค. (แม้ กกต.จะโทษว่า ข้อมูลบางเขตที่ผิด เป็นความผิดพลาดของสื่อเอง แต่ทุกสื่อมีหลักฐานยืนยันว่าข้อมูลที่นำมารายงานก็นำมาจาก กกต.นั่นแหล่ะ) ตัวเลข ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อที่คำนวณออกมาได้ ก็ทำให้พอเห็นคะแนนที่แต่ละพรรคมีอยู่ในกระเป๋า ดังนี้
(หมายเหตุ: โปรดหาเครื่องคิดเลขมาไว้ใกล้ตัว)
- พรรคเพื่อไทย 135 คน
- พรรคพลังประชารัฐ 119 คน
- พรรคอนาคตใหม่ 87 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 55 คน
- พรรคภูมิใจไทย 52 คน
- พรรคเสรีรวมไทย 11 คน
- พรรคชาติไทยพัฒนา 11 คน
- พรรคประชาชาติ 6 คน
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน
- พรรคเพื่อชาติ 5 คน
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน
- พรรคชาติพัฒนา 3 คน
- พรรคขนาดเล็กอื่นๆ อีก 5 คน
รวมทั้งหมด 500 คน
หากแยกจากการที่พรรคต่างๆ ประกาศจุดยืน สนับสนุน-ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหมายถึงการพร้อมโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็จะพบว่า
1.) ขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่ๆ – จะมีเสียงเบื้องต้นอยู่เพียง 124 เสียง (พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพัลงประชาชาติไทย)
2.) ขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่ๆ – จะมีเสียงเบื้องต้นอยู่ถึง 250 เสียง (พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคเพื่อชาติ)
3.) ขั้วที่มีโอกาสย้ายข้าง จุดยืนไม่ชัด แต่พร้อมร่วมรัฐบาล – จะมีเสียงเบื้องต้นอยู่ 126 เสียง (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคเล็กอื่นๆ)
ถ้าดูตัวเลขเช่นนี้ โอกาสที่ขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะได้จัดตั้งรัฐบาลก็มีมากกว่า
แต่อย่างที่ทุกๆ คนรู้กันว่า การโหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป จะมีเสียง ส.ว.แต่งตั้งมาเกี่ยวข้องด้วย และทุกคนต่างรู้กันในใจ (แต่ลุงกำนันจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยประกาศออกไมโครโฟนบนเวทีปราศรัย) ว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนเป็นเสียงในกระเป๋าของ พล.อ.ประยุทธ์
นั่นทำให้โจทย์การเมืองเปลี่ยน จากแค่อาศัยเสียงเกินครึ่งของ ส.ส. (แค่ 251 คนจาก 500 คน) ต้องมาอาศัยเสียงเกินครึ่งของทั้ง ส.ส.และ ส.ว. (376 คน จาก 750 คน) ขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องหาให้ได้อีกอย่างน้อย 126 เสียง ต่างกับขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่หาให้ได้อีกแค่ 2 เสียงเท่านั้น
เกมดูเหมือนพลิก แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเช่นนั้น ..ทำไม?
ต้องมีเสียงเท่าไร ถึงจะปลอดภัย
การโหวตเลือกนายกฯ ใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว. ขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มี ส.ว. 250 คนอยู่ในกระเป๋า ต้องการเสียง ส.ส.แค่ 126 คนก็พอแล้ว เป็นเรื่องจริงไหม – จริง
แต่การโหวตอื่นๆ เช่น อนุมัติงบประมาณ ผ่านร่างกฎหมาย ไปจนถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันใช้แค่เสียง ส.ส. 126 คนไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ส.เกิน 251 คน
แต่ถามว่า มีแค่ ส.ส.แค่ 251 คนเป๊ะเลย พอไหม คำตอบก็คือไม่ เสียงที่บรรดาขั้วการเมืองต่างๆ รู้ดีว่าจะทำให้ รัฐบาลแข็งแรงคือต้องมี ส.ส. ให้ใกล้กันตัวเลข 300 คนมากที่สุด
..ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามรัฐมนตรีโหวตเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (ที่ทำให้รัฐมนตรีหลายๆ คนไม่กล้าลงมติกฎหมายงบประมาณ – ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญมากๆ แม้กฤษฎีกาจะเคยมีความเห็นว่า ลงมติได้) หรือเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถึงขั้นห้ามรัฐมนตรีเป็น ส.ส. จนพรรคการเมืองใหญ่ขณะนั้นอย่างพรรคไทยรักไทย ต้องทำบัญชีสมาชิกพรรคไว้ 3 บัญชี คือบัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ บัญชี ส.ส.เขต และบัญชีรัฐมนตรี
แต่อย่างที่หลายๆ คนรู้กันว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ ทุกวันพุธ-วันพฤหัส ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีด้วย ราว 15-20 คน ก็จะต้องไปปฏิบัติภารกิจของตัวเอง อาจไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯ บ่อยครั้งนัก ไม่รวมถึง ส.ส.ที่ป่วย ลาประชุม หรือโดดประชุม อีกจำนวนหนึ่ง (ดูการประชุม สนช.ก็ได้ ที่มักขาดประชุมโดยเฉลี่ยครั้งละหลายสิบคน)
การที่เสียง ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาล มากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไม่เท่าไร ในภาวะที่การเมืองเข้มข้น จึงไม่ใช่เรื่องดีทั้งต่อเสถียรภาพรัฐบาล หรือต่อการผลักดันกฎหมายสำคัญๆ – ที่โดยหลักแล้ว ถ้าถูกคว่ำในสภาฯ จะไม่สามารถกลับมาเสนอได้อีก
และเฉพาะอย่างยิ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ (55 เสียง) กับพรรคภูมิใจไทย (52 เสียง) จึงมีความสำคัญ
ใครได้ตั้งรัฐบาลก่อน ใครมีบทบาทสำคัญในการตั้งรัฐบาล
ไม่มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นมารยาททางการเมืองว่า พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมสมควรได้ตั้งรัฐบาลก่อน เพราะถือว่าประชาชนให้ไว้วางใจมากที่สุด
แต่ด้วยความพิลึกพิลั่นของระบบ MMA ก็อาจทำให้เกิดสภาวะ คือมีพรรคหนึ่งได้ ส.ส.มากกว่า – แต่อีกพรรคได้เสียงทั่วประเทศมากกว่า (เพราะยุทธศาสตร์ของบางพรรค ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เฉพาะบางเขตผิดพลาดด้วย) นี่เลยเป็นโจทย์ใหม่ให้ชวนขบคิดว่า ที่สุดแล้วใครควรจะได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์การตั้งรัฐบาลในอดีต พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง จะได้ตั้งรัฐบาลก่อนแทบทั้งสิ้น
มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่เกิด ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ (คือพรรคที่ได้คะแนนเสียงไม่ใช่อันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาล) คือในปี 2518 ที่พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีเพียง 18 เสียง (จากทั้งหมด 269 เสียง) ได้ตั้งรัฐบาล หลังพรรคประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่มีถึง 72 เสียง แพ้การลงมติในการแถลงนโยบาย
แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยดังกล่าวก็อยู่ได้เพียง 10 เดือนเท่านั้น
ส่วนการพลิกมาจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลัง ที่แม้จะแพ้เลือกตั้งแต่ได้ตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 รัฐบาลชวน หลีกภัย และปี 2551 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เกิดขึ้นภายหลังนายกรัฐมนตรีจากพรรคอับดับหนึ่ง มีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งลาออกเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง รวมถึงพรรคถูกยุบ
และเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ รัฐบาลชวน และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดขึ้นได้จากคือ ส.ส. กลุ่ม ‘งูเห่า’
โดยผู้ที่ดึง ส.ส.กลุ่มงูเห่าจากพรรคเดิม มาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ถูกเรียกว่า ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ คนหนึ่งมีชื่อว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ..อีกคนมีชื่อว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ
ตั้งรัฐบาล ทำกันที่ไหน?
การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีทำกันในห้องประชุมสภาฯ ด้วยวิธีการขานชื่อ (ไม่ใช่ยกมือโหวต หรือกดโหวต yes หรือ no ผ่านเครื่อง) โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิกสภาฯ แต่ละคน แล้วให้พูดผ่านไมโครโฟนจะเลือกใครเป็นนายกฯ ประยุทธ์ สุดารัตน์ ธนาธร อนุทิน มิ่งขวัญ เสรีพิศุทธ์ ฯลฯ จากนั้นจะมีการรวมคะแนน แล้วประกาศว่าใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ได้เป็นนายกฯ คนต่อไป
แต่การตั้งรัฐบาล ‘ต้อง’ ทำก่อนหน้าวันประชุมสภาฯ และต้องมีการแสดงท่าทีบางอย่างต่อสาธารณะเพื่อเป็นสัญญาประชาคม
โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาจัดขั้วจัดตั้งรัฐบาล ก็คือ ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ ซึ่งโดยมากมักเป็นแกนนำพรรคสำคัญ แต่ก็มีบางครั้งที่เป็นบุคคลในเครื่องแบบ
สำหรับสถานที่ในการพูดคุยก็มีตั้งแต่โรงแรมดัง ร้านอาหารมีชื่อ เซฟเฮ้าส์ บ้านบุคคลสำคัญ บนเครื่องบิน ฯลฯ ไปจนถึงในค่ายทหารก็เคยมี
ในสถานการณ์ที่เสียงใกล้เคียงกันมาก สิ่งที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับการเข้าร่วมรัฐบาล มักเป็นเก้าอี้กระทรวงสำคัญ ทั้งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วย ไปจนถึงเก้าอี้ประธานกรรมาธิการสามัญคณะสำคัญในสภาฯ ดังที่ภาษาข่าวเรียกกันว่า ‘แบ่งโควต้า’
ซึ่งการแบ่งโควต้าดังกล่าว ไม่จำเป็นว่าต้องขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นๆ มี แต่อาจรวมถึงบทบาทและความสำคัญของพรรคนั้นๆ ด้วย
ดังเช่น ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ (บรรพบุรุษของพรรคภูมิใจไทย) ซึ่งหมายถึงกลุ่ม ส.ส.จำนวน 23 คน ที่ย้ายข้างจากพรรคพลังประชาชน มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2551 โดยปฏิบัติการลับ-ลวง-พราง ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ บินไปคุยกับเนวิน ชิดชอบ ถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งได้โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 5 ตัว แถมเป็นกระทรวงเกรด A อย่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม
การเมืองเป็นเรื่องการเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การเมืองไทยกำลังเข้าสู่เฟสต่อไป เป็นเฟสที่ผู้มีอำนาจต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น ไม่มีการนิรโทษกรรมตัวเองไว้ล่วงหน้า ไม่มีมาตรา 44 ให้ใช้ ต้องถูกฝ่ายค้านตรวจสอบ สื่อมวลชนและภาคประชาชนมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
ช่วงเวลานี้ เป็นโอกาสดีมากๆ ที่คนไทยทั้งประเทศ จะได้ร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจการเมืองไทย ในหลักสูตรเข้าใจการเมืองไทย 101 ฉบับเร่งรัด ทั้งบทบาทของพรรคขนาดกลาง? โอกาสเกิด ส.ส.กลุ่มงูเห่า? รัฐบาลที่ถูกค้ำยันโดย ส.ว.? และการสืบทอดอำนาจในยุคใหม่?