ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราทุกคนล้วนเคยตกอยู่ในห่วงโซ่‘การหมิ่นประมาท’มาแล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนอ่อนหวานถูกผู้อื่นหมิ่นประมาทอยู่ร่ำไป หรือเป็นสายแข็งขยันวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น วันนี้ The Matter อาสาพาทุกคนท่องจักรวาลกฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อศึกษาศาสตร์แห่งการหมิ่นประมาทอย่างไรให้ไม่ให้มีความผิด พร้อมๆ กับแบบฝึกหัดท้ายบทที่จะชวนมาลองสวมบทบาทเป็นนักกฎหมายจำเป็นไปด้วยกัน
ไม่รู้กฎหมายก็ย่อมไม่ผิด?
‘ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด’วลีนี้อาจใช้ได้กับทุกสิ่งอย่างในจักรวาล แต่หมดสิทธิ์ใช้กับการไม่รู้‘กฎหมาย’ แม้หลายคนพยายามแย้งในใจว่า “กฎหมายตั้งมากมาย เราไม่รู้เราผิดด้วยหรือ?” The Matter ขอนำเสนอกฎหมายขั้นพื้นฐานที่ควรรู้เป็นอันดับต้นๆ ก่อน
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ถ้าภาษากฎหมายเป็นยาขมจนอดเบะปากมองบนไม่ได้ The Matter ขอแปลให้ว่าเมื่อเรากระทำการใดๆ ลงไป เราจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อปฏิเสธความผิดไม่ได้ (นางสาวแมวลอบขนของหนีภาษี แล้วจะบอกว่าฉันไม่รู้นี่นาว่าทำแบบนี้มันผิดกฏหมาย ไม่สามารถใช้ปฏิเสธความผิดได้)
ห่วงโซ่แห่งการหมิ่นประมาท : การด่าทอใครๆ เขาก็ทำกัน ?
ไม่ว่ามนุษย์ผู้ถูกหมิ่นประมาทจะถือโทษโกรธเราหรือไม่ แต่ถ้าเราทำให้ชื่อเสียงของเขาถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ก็ถือว่าเราทำความผิดฐานหมิ่นประมาทเสียแล้ว และเพื่อให้ครบถ้วนสมกับที่ลองสวมบทนักกฎหมายมาแล้ว เราจะพาไปสำรวจประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 อย่างถี่ถ้วนไปพร้อมๆ กัน
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้การด่าทอ ว่าชื่อพ่อล้อชื่อแม่ในหมู่คนรู้จักจะเป็นไปอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นห่วงโซ่แห่งการหมิ่นประมาทที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่จะเผลอตัวไปทำกับใครจนเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นมา ใครก็ช่วยไม่ได้แน่ๆ
ติชมโดยสุจริต : ศาสตร์แห่งการหมิ่นประมาทอย่างไม่ผิดกฎหมายจริงหรือ?
ถึงจะไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ ‘การติชมโดยสุจริต’ก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เราจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตกลงเราจะสามารถหมิ่นประมาทโดยไม่มีความผิดได้จริงไหมนะ? มาตรา 329 จะทำหน้าที่อธิบายให้เราเข้าใจมากขึ้น
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ก่อนจะเบือนหน้าหนีกับการสวมบทบาทเป็นนักกฎหมายและภาษาชวนปวดหัวกันมากกว่านี้ The Matter ขอสรุปให้สั้นๆ ว่า การติชมโดยสุจริต ไม่ใช่จะเที่ยวไปหมิ่นประมาทใครแล้วบอกว่านี่คือการแสดงความเห็นโดยสุจริตได้ แต่เหตุที่จะยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ต้องเข้าเงื่อนไข “เป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ”
เรื่องที่ติชมโดยสุจริต (และไม่มีความผิด)นั้น จึงต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมที่ประชาชนพูดถึงกันเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของราชการ นโยบายของรัฐบาล หรือพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่ไม่เหมาะไม่ควร
ส่วนที่ต้องขีดเส้นใต้กันชัดๆ คือ ‘การติชมโดยสุจริต’ จึงไม่ใช่อยู่ๆ ไปพูดใส่ความคนอื่น แล้วอ้างว่า สุจริตใจ แล้ว จะหลุดพ้นความรับผิดฐานหมิ่นประมาทได้หมด
สวมบทนักกฎหมายจำเป็น มาดูกันเถอะว่าข้อไหนเป็นการ ติชมโดยสุจริต!
1. นางสาวปู (นามสมมติ) ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า นายกฯประยุทธ (นามสมมติ)ไม่เข้าประชุมสภา เอาเวลาไปทำธุระลับบนโรงแรมชั้น 7 คาดว่าเอาอยู่ คำถาม : นางสาวปู(นามสมมติ)ติชมนายกฯประยุทธ(นามสมมติ)โดยสุจริตหรือไม่?
เฉลยด้วยเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คลิกที่นี่ posttoday.com
2. นายสุเทพ (นามสมมติ) โพสท์เฟซบุ๊กว่านายกแม้ว (นามสมมติ) โยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ คำถาม : นายสุเทพ(นามสมมติ)ติชมนายกฯแม้ว (นามสมมติ)โดยสุจริตหรือไม่?
เฉลยด้วยเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คลิกที่นี่ prachatai.com
3. นายเฉลิม (นามสมมติ) อภิปรายในที่ประชุมสภาและให้สัมภาษณ์นักข่าวว่านายอภิสิทธิ์ (นามสมมติ) ชอบระบอบประธานาธิบดีและอยากเป็นประธานาธิบดี คำถาม : นายเฉลิม (นามสมมติ) ติชมนายอภิสิทธิ์ (นามสมมติ) โดยสุจริตหรือไม่?
เฉลยด้วยเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คลิกที่นี่ prachatai.com/
4. นายจตุพร(นามสมมติ) กล่าวปราศัยบนเวทีชุมนุมว่านายสุเทพ (นามสมมติ) หมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์ คำถาม : นายจตุพร(นามสมมติ) ติชมนายสุเทพ (นามสมมติ) โดยสุจริตหรือไม่?
เฉลยด้วยเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คลิกที่นี่ manager.co.th