คุณจำได้ไหม ว่าตอนเป็นนักเรียน คุณเรียนเรื่อง 6 ตุลา ในห้องเรียนอย่างไรบ้าง ?
6 ตุลาหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทย ที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย ทารุณ ของการสังหารหมู่นักศึกษา และประชาชนกลางกรุง ที่ทำให้วันนี้ มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน (ตัวเลขจากเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา) ซึ่งหลายๆ เหตุการณ์ในวันนั้น ยังคงมีความคลุมเครือ และไม่ชัดเจน
แต่ที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ กลับไม่ถูกพูดถึงตรงไปตรงมานักในห้องเรียน หรือในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษา หรือประวัติศาสตร์ของไทย จนเหมือนกับว่า รัฐไม่ต้องการที่จะจดจำ หรือปลูกผังให้เยาวชน และอนาคตของชาติได้จดจำ และเรียนรู้เรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐนี้ จนทำให้เราแทบจะลืมเลือนกันไปว่า เราเคยถูกสอน หรือเรียนรู้เรื่องนี้ ในห้องเรียนกันอย่างไร
ในการครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา The MATTER มาพูดคุยกับ ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล อาจารย์สังคมประจำชั้น ม.3 โรงเรียนราชดำริ และครูเน็ต ชัยภัทร แก้วจรัส อาจารย์สังคมประจำชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ว่าครูทั้งสอง มีวิธีการสอนเรื่องราวของ 6 ตุลา ให้นักเรียนของพวกเขารับรู้แบบไหน และทำไมเหตุการณ์นี้ ถึงจำเป็น ที่อนาคตของชาติ จะต้องได้เรียนรู้
6 ตุลา ในห้องเรียนของครูทั้งสอง
“ขณะเดียวกัน จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางกลับเข้าประเทศเพื่ออุปสมบท เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาทำการประท้วงให้เดินทางกลับออกไป แต่เหตุการณ์กลับถูกแปลงเป็นคดีหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช กลุ่มนวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน พากันมาชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การปราบปรามก็ได้เริ่มขึ้น มีนักศึกษาเสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกลุ่มทหารนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” – การกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในหนังสือ ‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3’ (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช
หากใครได้ศึกษา หรือเรียนรู้เรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราคงเห็นได้ว่าใน 1 วันเมื่อปี 2519 นั้น เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ที่ทั้งรุนแรง สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก และส่งผลต่อความสูญเสียทั้งชีวิต และจิตใจ มากกว่าแค่การประท้วง และล้อมปราบ แต่ในหนังสือเรียนไทย มักพบว่าแทบไม่พูดถึง หรือพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นเพียงการประท้วงเท่านั้น
เราจึงเริ่มคำถามแรกกับครูสังคมทั้งสองว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้ว พวกเขาได้ใช้สื่อการสอนในรูปแบบใดอีกบ้าง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับรู้เรื่องราวนี้
ครูทิว ครูสังคมประจำชั้น ม.3 ที่บางโอกาสเขาเองก็ได้ไปสอนชั้น ม.ปลายด้วย เล่าให้เราฟังว่า เขาสอนเรื่องนี้ทั้งในวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง “สื่อที่ใช้มีตั้งแต่เป็นคลิปในยูทูบที่เป็นสารคดี เรื่องอย่าลืมฉัน และเรามีฟุตเทจดิบที่โหลดไว้ โดยสื่อส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่าย และหน้าหนังสือพิมพ์ อันนี้จะเป็นหลัก มันเหมือนเป็นหลักฐานชั้นต้น ถ้าเกิดเราสอนในแง่ของประวัติศาสตร์ ก็เป็นหลักฐานชั้นต้นที่เราชวนเด็กคิด พิจารณา คิด วิเคราะห์ว่า ในรูปภาพนี้มันคืออะไร ยังไง เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรากำลังเรียนกันอยู่”
“ถ้าเป็นในทางการเมืองการปกครอง เราก็จะมีบทความบ้าง หรือบทสัมภาษณ์ เล่าประสบการณ์ หรือข้อความของนักวิชาการที่เขียนเรื่องนี้ ให้เด็กได้อ่าน นอกเหนือจากในหนังสือ”
ด้านครูเน็ตเอง ก็มองว่า 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่มีการไหลทะลักของข้อมูลมาก และสิ่งที่เขาใช้เป็นสื่อการสอนหลัก คือฟุตเทจภาพ ในปี 19 หนังสือพิมพ์ วิดีโอ “แต่ว่ามันก็มีอย่างอื่นที่ผมเอามาใช้เหมือนกัน อย่างเช่น พวกเอกสาร ที่อาจจะดูห่างจาก 6 ตุลา แต่มันเกี่ยวข้องกับบริบทเดียวกันกับ 6 ตุลา หรืออาจจะเป็นตำราเรียนที่มีการพูดถึง 6 ตุลาด้วย”
“รูปแบบ หรือวิธีการสอนที่ผมใช้สอนประวัติศาสตร์เป็นหลัก มันจะไม่พ้นเรื่อง Lecture ไม่พ้นเรื่องของการ Discuss ทีนี้ผมก็เลยต้องใช้วิธีที่ว่าจะทำยังไงให้การ Lecture หรือการเรียนรู้เรื่องบางเรื่องมันดูไม่น่าเบื่อ ผมก็เลยใช้วิธีการคือทำห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็น 6 ตุลา ให้มันกลายเป็นวงสนทนาไปในตัว พอเราหยิบใช้สื่อการสอนที่มันเป็นฟุตเทจ เป็นภาพ เป็นวิดีโอ ผมมองว่าเมื่อมันเข้าสู่กระบวนการ การเป็นวงสนทนา แล้วเราก็เอาพวกนี้ใส่ลงไปเนี่ย มันทำให้เด็กเข้าถึงอารมณ์ ของภาพเหตุการณ์ในช่วงนั้นได้ง่าย”
ครูทิวยังมองว่า วิชาประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่ความจริงอันหนึ่งเดียวที่ในหนังสือเรียนจะบอกได้ บางเล่มลงรายละเอียด และบางเล่มไม่ลง “สิ่งแรกที่เราอยากให้เกิดกับเด็ก คือ Historical thinking การคิดในเชิงประวัติศาสตร์ การที่เขามองจากหลักฐาน ข้อมูล หลายชุด หลายแง่มุม แล้วเอามาลองสรุปซิว่า จากภาพ 10 ภาพนี้สรุปได้ว่าอะไร จากบทความนี้ ประกอบกับหนังสือพิมพ์ กับรูปภาพนี้ เขาสรุป หรือตีความได้ว่าอย่างไรบ้าง นี่คือทักษะ”
“และอีกประเด็น เราอยากให้เขาเห็นอีกมุมมองนึง ที่มักจะถูกเซ็นเซอร์ หรือมักจะถูกทำให้ลืม ทำให้มันลดทอนความหมาย ความสำคัญลงไป จากตัวตำราเรือน หรือวงพูดคุยในการศึกษา คือประวัติศาสตร์มันเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ ไม่ว่าจะสอนในแง่ของการเมืองการปกครอง หรือในแง่ของประวัติศาสตร์ก็แล้วแต่ มันคือความรู้ และความรู้ก็มีความรู้ทางการ และการเมืองเรื่องความรู้ มันคือพื้นที่ในการช่วงชิงในการให้นิยาม หรือความรู้ว่าอะไรที่จะเป็นความรู้เป็นความจริง ซึ่งรัฐก็พยายามที่จะลดทอน และทำให้มันลืม เราเองก็อยากจะให้เห็นอีกแง่มุมนึง สุดท้ายแล้วนักเรียนอยากจะเชื่อ คิดเห็นยังไง หรือจะสมาทานความคิดแบบไหน เป็นเรื่องของเขา”
จากการสอนแบบนี้ เราพูดคุยกับครูทั้งสองด้วยความอยากรู้ว่า เด็กๆ ในชั้นเรียนมีรีแอคชั่นต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างไร เมื่อได้รับรู้
ซึ่งครูทิวได้เล่าประสบการณ์ตั้งแต่ฝึกสอน จนถึงเป็นครูมา 6 ปีว่า “รีแอคชั่นทุกครั้ง แรกๆ คือเด็กช็อก เปิดภาพจะเจอคำถามบ่อยๆ ว่า ‘อาจารย์ เมืองไทยจริงๆ หรอ จริงปะเนี่ย ?’ เพื่อนก็จะบอกว่า ‘นี่ไง เห็นวัดพระแก้วปะ’ อะไรอย่างนี้ มันก็เกิดไปกระตุ้น แล้วเขาก็เกิดคำถามเยอะแยะมาก ที่ถาม และพูดคุยกับเรา
“ที่ชอบคือเด็กถามว่าคนในรูปเป็นใคร การไปถามถึงว่าคนๆ นี้เป็นใคร มันเหมือนมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเหยื่อที่ถูกกระทำ แล้วพอเราชวนเด็กไปหาคำตอบ มันทำให้เขารู้สึกว่า ‘โห เขาก็มีพ่อมีแม่นะ เขาก็มีครอบครัวที่เขารัก เขาคือความหวังของหมู่บ้าน ทำไมเขาต้องมาเป็นแบบนี้’ หรือ ‘อาจารย์ทำไมไม่มีใครห้าม ทำไมเด็กในภาพถึงยิ้ม’ เราก็ชวนคิดนะว่าภาพถ่ายช็อตนี้เราอาจจะตัดสินเด็กคนนี้ไม่ได้ แต่มองในภาพรวม มันมีความเป็นไปได้แบบไหนบ้าง แล้วเราลองมาคิดกันว่า อะไรที่ทำให้มันเป็นแบบนี้ ให้สังคมเป็นแบบนี้”
ครูทิวยังเล่าเสริมอีกว่า เขาเคยพาเด็กไปทัศนศึกษาด้วยการพานั่งรถเมล์ และเดินไปยังพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่นสะพานผ่านฟ้า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงสนามหลวง และธรรมศาสตร์ “วันนั้นเราให้เด็กเลือกรูปภาพมา 1 ภาพ และบอกว่าให้ถ่ายรูปมุมเดียวกับรูปภาพนั้น เขารู้สึกแบบ ‘ตรงนี้เลยหรอ คนนอนตรงนี้ที่เราเหยียบเลยใช่ไหม’ เขารู้สึกถึงอารมณ์ร่วม กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่เราถ่ายทอดด้วย ที่เรียนจากในห้องมาแล้ว และปะติดปะต่อจากสถานที่จริง“
ด้านครูเน็ต ที่สอนเด็กในระดับมัธยมปลายซึ่งโตขึ้นมา ก็จะมีคำถามเช่นกัน โดยเขาเล่าว่า เด็กๆ ก็มีการถามถึงเหตุการณ์คู่ขนาน เกิดขึ้น หรือใครไปทำอะไรจุดไหน
“สำหรับในมุมมองของเด็ก ผมก็มองว่า เด็กคงจะเข้าใจว่า 6 ตุลาเป็นเพียงรอยต่อระหว่าง 14 ตุลาปี 16 มาถึง 6 ตุลาปี 19 ในภาพความทรงจำ มันคงจะเป็นเหมือนกับว่าการประท้วงเณรถนอม ซึ่งเป็นตัวละครร้ายในหน้าประวัติศาสตร์ของ 14 ตุลา แต่พอเราเอาดีเทลบางอย่างลงไปลงไปใน 6 ตุลาเนี่ย มันเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า บริบทของ 6 ตุลามันไม่ใช่แค่นั้นอะ กว่าที่ความรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลามันเกิดขี้น มันมีทั้งเหตุการณ์ที่คู่ขนานกับที่สนามหลวง ธรรมศาสตร์ ที่ลานพระรูป หรือแม้กระทั่งที่นครปฐมอย่างนี้น่ะฮะ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันทำให้คนเข้าใจบริบทของ 6 ตุลามากขึ้นกว่าเดิม เด็กที่ผมใช้วิธีแบบนี้ลงไปเนี่ย ก็เห็นมิติของ 6 ตุลา ที่มันกว้างขึ้นกว่าที่เขารับรู้มาก่อนหน้านี้
“เราก็คงต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า มันเป็นบริบททางสังคม ในขณะนั้นว่ามันเกิด ความขัดแย้งของการเมือง ในสภาวะทางการเมือง ไม่แค่เฉพาะในประเทศไทยนะ ทั้งบรรยากาศของการเมืองโลกในขณะนั้นเอง มันก็ส่งผลเหมือนกัน มันมีคำถามหลากหลายจากเด็กหลายเรื่องที่พอเราสอน 6 ตุลา ก็ดี สอนเรื่องอื่นๆก็ดี ก็มีคำถามที่ ที่พยายามจะโยงไปถึงบริบทอื่นในมิติของสังคมอยู่เรื่อยๆ”
6 ตุลา ที่รัฐอยากเซ็นเซอร์ และความกระอักกระอ่วนใจในการบันทึกประวัติศาสตร์
คุยเรื่องการสอนใน 6 ตุลาในฐานะครูกันไป เราก็ถามครูทั้งสองถึงฐานะที่เคยเป็นนักเรียนว่า เขาจำได้ไหมว่าสมัยนั้น เขาเรียนเรื่องนี้ในห้องเรียนกันยังไงบ้าง ซึ่งทั้งคู่ก็ตอบเราว่า จำแทบไม่ได้ หรือเลือนลางมากๆ
“มานั่งนึกความทรงจำในชั้นเรียนเรื่องนี้ จำไม่ได้เลย ในความทรงจำตอน ม.ปลาย จำได้ว่าอ่านหนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ที่ถึงแม้วันนี้กลับไปอ่านเราจะมองมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ตอนม.ปลายเมื่อ 14-15 ปีก่อน เราก็จุดประกาย และเห็นว่ามันมีเรื่องมากกว่าแค่ในหนังสือเรียน ทำให้เราไปค้น มันอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับในนิยายก็ตาม มันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจ”
ครูทิวยังบอกว่าเขาได้มาลงลึกมากขึ้นตอนเรียนครู และได้ตั้งคำถามมากขึ้น ตอนที่จะเริ่มสอนนักเรียนเองด้วย
“ความทรงจำของผมกับ 6 ตุลา เนี่ย ในห้องเรียนค่อนข้างเลือนลางมากเลยนะ ถ้าแบบมองภาพว่า เอ้ย เรารู้จัก 6 ตุลา คือนึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่าเราไปรู้จัก 6 ตุลาตอนไหนวะในห้องเรียน” นี่คือคำตอบของครูเน็ต
“แต่ถ้าถามว่าเรารู้จัก 6 ตุลานอกห้องเรียนจากตอนไหน คงคิดว่าเป็นช่วงที่ ช่วงปีหลัง 52-53 ช่วงที่มันมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง มีเคสการสังหารกลางกรุงเทพฯ 99 ศพ หรือ 6 ศพวัดปทุม มันก็เลยน่าจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ ให้เราไปศึกษาการเคลื่อนไหวของประชาชนมากขึ้นตั้งแต่ 14 ตุลาแล้วกว่าที่ผมจะรู้จัก 6 ตุลาเองมันก็ใช้เวลาพอสมควร เพราะไปอินอยู่กับ 14 ตุลา”
“ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าบริบทในสมัยนั้น เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วเนี่ย การพูดถึง 6 ตุลา คงไม่ได้พูดถึงกันอย่างเอิกเกริกในคลาสเรียนของเด็กมัธยม ไม่ใช่แค่มัธยมปลายอย่างเดียวนะ มัธยมต้นเองก็ตาม มันถูกพูดถึงน้อยมากๆ คือมันจะมีคนสนใจก็เฉพาะคนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองอะไรอย่างนี้อะ คนถึงรู้จักว่า 6 ตุลา มันคืออะไร”
เป็นที่ตั้งคำถามมาโดยตลอด ว่าทำไมภาครัฐถึงไม่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ หรือบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์นี้ จนถึงการบรรจุมันไว้ในหนังสือเรียน ซึ่งครูทั้งสองก็บอกว่า ในหนังสือเรียนมีเพียงการเล่าแบบไม่ละเอียด ขณะที่ครูเน็ตมองว่า หนังสือเรียนไม่สามารถก้าวข้ามแค่การประท้วงได้ด้วย
“ในระบบของการศึกษาไทย ร้อยละ 70 ถึง 90 ของโรงเรียนจะมีตำราที่หมุนเวียนในระบบหลายรูปแบบมาก ทั้งมาจากรัฐก็ดี มาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ก็ดี หรือแม้กระทั่งอย่างโรงเรียนผมก็ผลิตตำราใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นตำราไหน การพูดถึง 6 ตุลา ในฐานะที่ในเวลานี้มันมีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง มันยังถูกพูดถึงอยู่น้อย อยู่น้อยมาก คือมันไม่สามารถก้าวข้ามการประท้วง การแสดงละครที่ลานโพธิ์แค่นั้น ตัวหนังสือมันไม่สามารถดึงเอามิติอื่นที่สามารถอธิบายถึงความรุนแรงของ 6 ตุลา มาปรากฏอยู่ในตำราเรียน ได้เหมาะควร
หรือแม้กระทั่งตำราเรียนของรัฐเอง ผมก็มองว่ามันคงเป็นเรื่องที่ รัฐก็ไม่อยากให้มันปรากฏอยู่ในตำราเรียนของรัฐ เพราะแน่นอนว่าในอดีต ในช่วงสงครามเย็นหรือแม้กระทั่งในช่วงปี 19 ก็ตามเอง รัฐก็มองว่าความทรงจำของ 6 ตุลามันคือชัยชนะของรัฐ อยู่เหนือศัตรูของรัฐ แต่พอหลังจากสงครามเย็นเป็นต้นมาเนี่ย ความจำเป็นที่จะพูดถึงหรือ ความจำเป็นที่จะต้องบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลา มันไม่ได้มีประโยชน์ หรือไม่ได้มีคุณค่าอะไรต่อรัฐอีกต่อไปแล้ว มันกลายเป็นจุดด่างพร้อยของรัฐไป เพราะฉะนั้นตำราเรียนของรัฐ มันจึงพูดถึง 6 ตุลาน้อยมาก เพราะพูดไปก็เข้าเนื้อตัวเอง
ผมเคยฟังเสวนาของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล หรืออาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่พูดว่ากว่าที่เราจะมีการรำลึกเรื่อง 6 ตุลา มันให้หลังเหตุการณ์นี้มาตั้ง 10-20 กว่าปี มันใช้เวลานานมากกว่าคนจะเข้าใจ หรือสัมผัสถึงความรู้สึกของ 6 ตุลา” ครูเน็ตพูดคุยกับเรา
ครูทิวเองก็พูดในทิศทางเดียวกับครูเน็ตว่า ส่วนใหญ่หนังสือเรียนจะไม่ระบุละเอียด ระบุแค่ว่า เกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็บอกถึงการชุมนุม การล้อมปราบ เกิดการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทหารที่เข้ามามีอำนาจ แต่ที่สำคัญคือครูแต่ละคน มีบทบาทว่าจะสอนเด็ก หรือตีความเรื่องนี้อย่างไร
“จะเจอแค่บางเล่มเท่านั้นที่บอกว่า มีการปลุกปั่น การปลุกระดม และมีบุคคลติดกำลังอาวุธ พร้อมตำรวจ เข้าไปล้อม และทำร้าย สังหารนักศึกษา มีบางเล่ม แต่น้อยมาก แล้วก็ขึ้นอยู่กับครู ครูมีบทบาทสำคัญที่จะตีความตัว text และเอามาถ่ายทอด หรือบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ มันเป็นการพยายามสร้างวาทกรรม ที่มันจะไปทำงานต่อความคิด ความเชื่อของคนที่รับสารอีกที” ซึ่งถ้าครูสอนตามหนังสือเลย ก็จะไม่เกิดกระบวนกาทำงานเชิงความคิดกับเด็กได้เลย
“ตัวกระทรวงศึกษาธิการเองก็พยายามควบคุม คือหนังสือตำราพวกนี้ มันต้องผ่าน ได้รับการอนุญาตอยู่แล้ว รวมถึงการใส่ไว้ใน learning outcome ของหลักสูตร เขาก็ต้องพยายามจะกรองอยู่แล้ว ว่าไม่ให้ไปแตะอะไรพวกนี้มากนัก บางเรื่องมันก็แตะไม่ได้ บางเรื่องก็มีพื้นที่ในหนังสือเรียนอีกมาก ที่มันมาเบียดบังความสำคัญของเรื่องนี้ ทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามกับเรื่องนั้นๆ ได้”
“ดังนั้นใครจะบอกว่าการศึกษาไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นความคิดที่ผิด และพื้นที่ในเวทีการศึกษาอย่างที่ผมบอกมันเป็นการช่วงชิงทางอำนาจของความรู้ และมันเกิดการประนีประนอมจนทำให้เรามองไม่เห็นการช่วงชิง ไม่เห็นอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมืองที่มันแทรกมาอยู่ในแบบเรียน หรือวิธีการสอน หรือหลักสูตรการศึกษา หรือการวัดการประเมินผลก็ตาม”
ครูทิวยังสรุปด้วยว่า เหตุผล หรือเจตนาที่รัฐไม่ต้องการให้นักเรียน หรือเยาวชน ได้ศึกษาเรื่องนี้ เพราะมีคำถามหลายอย่างที่ไม่สามารถจะตอบได้
“ผมว่ามันมีความกระอักกระอ่วนใจ หมายความว่า รัฐเองถ้าเกิดลึกเรื่องนี้ หรือมาสนใจเรื่องนี้ มันจะเกิดคำถามที่ไปสั่นคลอนอำนาจของรัฐ และรัฐก็ไม่สามารถตอบได้ หรือพูดได้ไม่เต็มปาก อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นอะไรก็ตาม ที่ผู้ใหญ่ เราไม่ได้พูดถึงแค่รัฐนะ ครู หรือใครก็ตาม พยายามจะไม่ให้เกิดคำถามที่ตัวเองไม่สามาถตอบได้ หรือคำถามที่จะไปสั่นคลอนความเชื่อ หรืออุดมการณ์หรืออะไรบางอย่างที่ค้ำจุนอำนาจไว้ ความตั้งใจเป็นเท่านั้น”
เพราะแม้เป็นประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย แต่อนาคตของชาติก็ควรได้เรียนรู้
แม้ที่ผ่านมา 6 ตุลา จะถือเป็นหนึ่งประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่บรรจุในห้องเรียนมากนัก แต่สำหรับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ไปถึงปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ครูสังคมเองก็บอกกับเราว่า เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ นอกห้องเรียนเองมากขึ้นด้วย
“ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าเด็กเขารับรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น เขาอาจจะไม่ได้รู้ชัดเจนทั้งหมดหรอก แต่ได้อ่านจากในทวิต จากอินเทอร์เน็ต แล้วพอมาฉายในชั้นเรียน มันก็เหมือนปะติปะต่อ เขาก็จะถามว่ามันคือแบบนี้ใช่ไหม ใช่อย่างเดียวกับที่เขาอ่านมาไหม แล้วเราก็เปิดพื้นที่ให้เขาแชร์ เราก็เห็นความสนใจใคร่รู้ที่มากขึ้น แต่ก็อยู่กับกลุ่มเด็กด้วยว่า เป็นเด็กที่อิน สนใจเลเวลมากน้อยแค่ไหน” ครูทิวเล่าบรรยากาศในห้องเรียน
ด้านครูเน็ตเองก็บอกด้วยว่า การที่เด็กรู้มากขึ้น ก็ถือเป็นความท้าทายในการสอนเหมือนกัน
“มันคงต้องเรียกว่าปรากฏการณ์ตาสว่างนะ ใช้คำนี้ได้เลยเนาะ ผมรู้สึกว่า ถ้าให้มองภาพลงไปในปัจจุบัน กับห้วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์นี้ จริงๆ แล้วผมแทบที่จะไม่จำเป็นจะต้องไปให้ข้อมูลพื้นๆ กับ 6 ตุลา อีกต่อไปแล้ว หลายๆ ข้อมูลที่เกิดขึ้นใน 6 ตุลามันถูกรับรู้โดยเด็กในช่วงนี้เกือบหมดแล้ว แปบเดียวเขาก็สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ 6 ตุลา เข้าถึงภาพฟุตเทจ โดยที่ผมไม่ต้องโยนลงไปก็ได้ หรือแม้กระทั่งในยูทูบ ก็มีคนทำคอนเทนต์เรื่อง 6 ตุลาเยอะแยะมาก
ผมรู้สึกว่าในปรากฏการณ์ตาสว่างเนี่ย มันก็ทำให้การสอนเรื่อง 6 ตุลา เป็นเรื่องที่ทั้งง่ายขึ้น แล้วก็ท้าทายมากยิ่งขึ้น เพราะว่าบางทีการสอนมันอาจจะไม่ได้จบตรงที่ว่า 6 ตุลา แต่บางทีเราอาจจะต้องดึงประเด็นว่า 6 ตุลา มันมี Side effect ขนาดมหาศาลยังไงกับความรู้สึกของคน ในสังคมตั้งแต่ช่วงปี 19 จนถึงหลังปี 19 เป็นต้นมา”
แต่ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะถูกรับรู้ในห้องเรียนได้อย่างง่ายได้แล้ว แต่ครูทั้งสองก็ยังบอกกับเราในฐานะครูว่า มันก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญ ที่จำต้องสอนเรื่องนี้ในห้องเรียน และไม่เพียงแค่ เรื่องของ 6 ตุลาเท่านั้น แต่รวมถึงประวัติศาสตร์นอกตำราอื่นๆ ที่ควรนำมาอยู่ในตำรา
ครูทิวเล่าว่า เขาเองได้ให้นักเรียนได้ทำรายงาน และพูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์นอกตำรา “ตั้งแต่หะยีสุหลง, 4 รัฐมนตรี, ครูครอง จันทร์ดาวง, เรื่องถีบลงเขา เผาถังแดง จนเรื่อง 6 ตุลา จริงๆ เราจะเห็นว่าในหน้าประวัติศาสตร์มันมีเรื่องของคนธรรมดา ของสามัญชนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐอยู่ ทำไมถึงต้องมาพูดเรื่องนี้ เพราะว่าความรู้จากสิ่งที่รัฐกำหนดมา ก็ต้องการให้คนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ คนรู้สึกสรรเสริญรัฐอยู่แล้ว ว่ารัฐเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ บ้านเมืองถึงเจริญรุ่งเรือง
แต่ในขณะเดียวกัน เราอยากจะให้เขาเห็นสิ่งนี้ที่เกิดในหน้าประวัติศาสตร์ เห็นบริบทตอนนั้นว่า มันเกิดวิธีคิดของคนในสังคมแบบไหน อะไรทำให้คนในสังคมเป็นแบบนั้น ทำไมรัฐเป็นแบบนั้น และเราต้องการจะอยู่ในสังคมแบบนั้นต่อไปจริงๆ หรอ มันไม่ได้มองในแง่การเปลี่ยนแปลงของอดีตมาปัจจุบันอย่างเดียว
แต่มันเป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรามองไปถึงอนาคตด้วยว่า เราจะอยู่ในสังคมแบบนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ แล้วจะต้องให้เขาได้ทำความเข้าใจ และทำงานในเชิงความคิดให้มาก”
ครูเน็ตบอกกับเราว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิ ยิ่งทำให้การสอนเรื่อง 6 ตุลานั้นเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นด้วย
“ผมรู้สึกว่าข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้นใน 6 ตุลา มันเป็นเหมือนภาพสะท้อน ถึงความรุนแรงที่ถูกกระทำ โดยรัฐเองก็ดี โดยประชาชนเองก็ดี ในปัจจุบันเราพูดถึงเรื่อง ความเป็นพลเมือง เราพูดถึงการตระหนักรู้ถึงความเป็นมนุษย์กันเยอะแยะมากมาย แล้วเหตุใด ทำไมเราถึงจะลืม หรือไม่พูดถึง ข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้นใน 6 ตุลา
สำหรับส่วนตัวผมนะ ความคิดส่วนตัวผม หรือแม้กระทั่ง ความคิดของเด็กที่เคยได้พูดคุยกับผม เขามองว่า 6 ตุลาอะ เป็นภาพที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ มันสามารถโยงไปถึงเรื่องของการที่มีเหยื่อที่ถูกข่มขืน การลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มันเกิดขึ้นในวันนั้น หรือแม้กระทั่งมิติในโครงสร้างของรัฐที่เรากำลังยืนอยู่ในปัจจุบันอย่างนี้ ผลของมันบางอย่าง ก็ตกเป็นผลผลิตมาจากช่วงสงครามเย็น ช่วง 6 ตุลาเป็นต้นมา เหตุใดเราถึงจะไม่พูดถึงเรื่อง 6 ตุลา และให้ความสำคัญกับมันในฐานะเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ของไทยล่ะ
“รัฐเขาจะว่ายังไงก็เรื่องของเขา ผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญแหละที่ต้องพูดถึง เราจะเชิดชู 14 ตุลา ปี 16 ในฐานะการเคลื่อนไหวของการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงต้นของช่วงนั้นอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะบางทีบริบทของ 14 ตุลา มันก็ย้อนแย้งกับบางอย่างที่อยู่ใน 6 ตุลาด้วย ในทั้งตำราของรัฐ หรือแม้กระทั่งในตำราของที่ผมเคยสอนเอง เราพูดถึถึง 14 ตุลา เยอะมากเลยนะฮะ แล้วเหมือนเราก็ลืม 6 ตุลาออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคม”
“มุมมองของเด็กที่ในขณะนี้มันมีการเคลื่อนไหว มีการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเนี่ย ผมมองว่า 6 ตุลา มันควรสอนตรงไปตรงมาในฐานะที่ในอนาคตมันอาจจะเป็นแรงผลักดัน ให้เด็กรู้สึกว่าเขามี Power ในการต่อสู้ในสิทธิบางอย่างที่มันขาดหายไป เราไม่ได้เพียงรู้แค่ว่า รุ่นพี่ของนักเรียนที่ผมสอนที่ชื่อ ‘วิชิตชัย อมรกุล’ ตายยังไงในวันนั้น แต่เมื่อเราเห็นภาพรวมทั้งหมดของเหตุการณ์ 6 ตุลา มันกลายเป็นพลังอย่างนึงที่ทำให้เขารู้สึกว่า ความไม่ยุติธรรมในสังคมที่มันก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปี 19 หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันมันยังคาราคาซังอยู่อะ เขาอาจจะต้องใช้เหตุการณ์คอนเซ็ปต์ แบบนี้ เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเขา”
ครูเน็ตยังพูดเรื่องประวัติศาสตร์นอกตำรา ที่ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เหมือนการสอน 6 ตุลาด้วย รวมถึงต้องอาศัยความกล้าหาญของครูด้วย
“ผมรู้สึกว่า การสอน 6 ตุลา หรือแม้กระทั่งเรื่องของประวัติศาสตร์ชายขอบอื่นๆ ที่มันไม่ได้ปรากฏอยู่ในตำราเรียน มันควรถูกพูดในฐานะการวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ให้มันเกิดขึ้นในสังคมให้ได้ แล้วนอกไปมากกว่านั้น ผมก็รู้สึกว่า การพูดอย่างตรงไปตรงมาของ 6 ตุลาเองก็ดี หรือกรณีอย่างเช่น หะยีสุหรง, กบฏผีบุญ หรืออะไรที่มันเป็นประวัติศาสตร์ชายขอบ เราจะอาศัยแต่พลังของนักเรียนที่เขาใฝ่รู้ในเรื่องพวกนี้เนี่ย อย่างเดียวก็คงไม่ได้ ผมมองว่าตัวผู้สอนเองก็น่าจะต้อง คือถ้าเขารู้สึกว่ามันจำเป็นที่จะต้องสอน หรือมันจำเป็นที่จะต้องพูดถึงในคลาสเรียนของเขาแล้วเนี่ย ผมรู้สึกว่าความกล้าหาญทางวิชาการเป็นสิ่งนึงที่มันจะต้องไปด้วย ไปด้วยกันกับมัน นักเรียนรู้แล้ว นักเรียนเข้าใจแล้ว ว่าสิ่งที่ไม่เคยถูกปรากฏอยู่ในตำราเรียนของรัฐแบบนี้ เราจะปล่อยให้เค้าเข้าใจเองอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ครูในฐานะผู้นำพา นักเรียนไปถึงเป้าหมายบางอย่าง ก็จะต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ที่กล้าหาญทางวิชาการไปด้วยกันกับนักเรียน”
ครูเน็ตยังบอกว่า เขาหวังว่าการสอนตรงไปตรงมา จะทำให้ห้องเรียนกลายเป็นคอมฟอร์ทโซนด้วย
“ต้องเริ่มอย่างนี้ก่อนครับว่าเราจะทำยังไงให้ห้องเรียนของเรากลายเป็นพื้นที่คอมฟอร์ทโซนในการแสดงความคิดเห็นนะ ผมรู้สึกว่าไม่ว่าต้นทางของการสอนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา จะเริ่มต้นจากอะไร แต่ท้ายที่สุดขอให้มันไปจบตรงที่ว่าห้องเรียนของเรากลายเป็นคอมฟอร์ทโซนทั้งครูและนักเรียน ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง ประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาได้อย่างปลอดภัย คือผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าในห้องเรียนของผม ผมสามารถทำให้เด็ก ไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมันสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ทั้งคู่ มันก็ย่อมส่งผลต่อการสอนประวัติศาสตร์ในลักษณะแบบนี้”
การสอนตรงไปตรงมาบางครั้งก็ไม่มีคำตอบ นี่คือสิ่งที่ครูทิวบอกกับเรา แต่เขาก็ชี้ว่า แต่ถึงแม้ไม่มีคำตอบ นักเรียนก็ควรจะถูกสอนเช่นกัน
“การสอนตรงไปตรงมาบางครั้งเราไม่มีคำตอบนะ หรือบางครั้งเรามีคำตอบแบบความคิดเห็นส่วนตัวครู อ้างอิงคนนี้ หรือจากหลักฐานนี้ คุณเห็นอะไรบ้าง สุดท้ายเขาจะสรุปอย่างไรก็เรื่องของเขา เพราะมันยังคลุมเครือ หรือบางเรื่องก็บอกว่าเป็นคำถามที่ดีนะ แต่ครูตอบไม่ได้ ก็ขอให้คีพคำถามนี้ไว้แล้วกัน ผมว่ามันเป็นหมุดหมายที่สำคัญว่า ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้คำตอบ แต่อย่าทิ้งคำถามนั้นลงถังไป ขอให้คงคำถามนี้ไว้ แล้ววันนึงที่มันมีอะไรมากพอ เราอาจจะได้คำตอบก็ได้ มันก็จะโยงเรื่องสังคมที่เขาจะอยู่ในอนาคต ว่าจะอยู่ยังไง”
ครูทิวยังเล่าถึงคำถามนึง ที่เด็กเคยถามเขา และยังคงติดอยู่ในใจโดยที่ไม่สามารถหาคำตอบให้ได้ว่า
“วันที่พาเด็กมาทัศนศึกษา เราติดฝนระหว่างรอรถเมล์กลับ ก็ให้เด็กเขียนโพสต์อิทคนละ 1 คำถาม คำถามที่ฝังใจผมที่สุดถึงทุกวันนี้ คือ อาจารย์ครับเหตุการณ์เกิดตรงนี้ หน้าพระบรมมหาราชวัง ที่สนามหลวง ใจกลางกรุงเทพฯ ผมเห็นหลายครั้งในหนังสือบอกว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะมีสถาบันหลักที่ออกมามีบทบาท และออกมาคลี่คลาย แต่เหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ ทำไมสถาบันถึงเพิกเฉย ผมก็บอกเด็กว่าผมไม่มีคำตอบ และการไม่มีคำตอบอาจจะเป็นคำตอบแล้วก็ได้”
6 ตุลา ความรุนแรงจากรัฐในปัจจุบัน และอนาคต
แม้ว่า 6 ตุลาจะผ่านมาแล้วถึง 45 ปี แต่หลายเหตุการณ์ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งครูเน็ตมองว่า เราควรมีการชำระประวัติศาสตร์ และรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว
“ผมว่ามันคือสิ่งจำเป็น ทั้งรัฐเอง ทั้งฝ่ายขวาเองก็ดี ฝ่ายซ้ายเองก็ดี ควรจะชำระประวัติศาสตร์และรับผิดชอบต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นใน 6 ตุลา แล้วก็ไม่ใช่แค่แง่ของ 6 ตุลาด้วยซ้ำ แต่เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นในสังคมไทยคล้ายๆกับ 6 ตุลา ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาทมิฬ, เคสของคนเสื้อแดงปี 53 ที่มันมีการตายโดยที่เราไม่รู้ว่าการตายเหล่านั้น มันเกิดขึ้นจากใครกันแน่ มันเป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยรัฐไหม
ผมคิดว่าสังคมไทยควรที่จะต้องไปถึงจุดของการชำระและรับผิดชอบสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ครูจะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สื่อสารเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวกับคนในยุคใหม่ๆ ถัดไป แต่ผมคิดว่าสังคมโดยรวมนั้นและรัฐจะต้องควรรับผิดชอบร่วมกันกับสิ่งต่างๆเหล่านี้”
ทั้งหลายครั้งในปัจจุบัน ความรุนแรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ถูกนำมาพูดถึงในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นภาพซ้อนของเหตุการณ์รุนแรงจากรัฐในตอนนี้ ทำให้ครูทั้งสองมองว่า การพูดถึง 6 ตุลา ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นต่อสังคมปัจจุบัน และอนาคตด้วย
ครูเน็ตพูดถึงเหตุการณ์อย่างม็อบทะลุแก๊สที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาว่า “ถ้าท้ายที่สุดแล้ว ม็อบทะลุแก๊สที่ดินแดงอ่ะ ยังดำเนินต่อไปโดยที่คนจะหลงลืมความรุนแรงกับสิ่งที่รัฐกระทำเหมือนกับที่รัฐเคยทำกับ 6 ตุลา หรือแม้กระทั่งสังคมก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ตาสว่างที่ทำกับเคส 99 ศพ ผมคิดว่าการชำระ และรับผิดชอบประวัติศาสตร์มันก็เป็นสิ่งที่คู่ควรต้องทำให้เกิดขึ้น
เพราะไม่งั้นจุดจบของม็อบทะลุแก๊ส หรือแม้กระทั่งเด็กที่ดินแดงที่โดนบาดเจ็บ มันจะถูกเลือนหายไปกับความทรงจำร่วมของสังคมแน่นอน เหมือนกับตอนช่วงต้นปี 19 แล้วกว่าจะใช้วิธีการ กว่าจะมีเวลาที่จะฟื้นฟู หรือไประลึกถึงมัน ยิ่งความเป็นรัฐไทย สภาพบริบท จารีต สังคม ผมคิดว่าโคตรนานแน่ๆ”
เช่นเดียวกัน ครูทิวก็มองว่าเหตุการณ์ที่ยังเกิดขึ้นซ้ำ เพราะคนในสังคมเพิกเฉย และหลายครั้ง นักเรียนเองก็เห็นว่าสถานการณ์มันไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจากสมัย 6 ตุลาด้วย
“เราจะเห็นว่าสิ่งที่รัฐทำ ที่รัฐทำได้อยู่เพราะยังมีคนเห็นชอบอยู่ มันมี license to kill เหมือนว่ารัฐมีความชอบธรรมที่จะทำแบบนี้ เพราะว่ารัฐเองก็ทำงานกับความคิด กับอุดมการณ์ของคนในสังคม และฉันก็รู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็สมควรแล้ว ไม่ทำตามกฎหมายเอง มันก็มีมายเซ็ทที่ว่าอำนาจคือความถูกต้อง กฎหมายคือความถูกต้อง
เพราะเราไม่เคยถูกปลูกฝัง หรือเคยสอนในเชิงวิธีคิดกับเด็ก เด็กไม่เคยเรียนปรัชญา ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ในเชิงวิธีคิด สิ่งที่รัฐบอกคือถูกต้อง สิ่งที่กฎหมายบอกคือถูกต้อง สิ่งที่คนมีอำนาจบอกถูกต้อง มันไม่ได้มาเถียงจริงๆ ว่าอะไรคือความถูกต้อง และความถูกต้องนั้นเป็นของใคร มันก็เลยทำให้ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอยู่ ก็เหมือนสมัย 6 ตุลา นั่นแหละที่คนตื่นกลัว มองแบบนี้ เพราะว่าถูกปลุกระดม รับข้อมูลข่าวสารอะไรแบบนี้ไป
ทำให้เด็กเห็นว่าปัจจุบันก็เหมือนกัน มีความคิดทั้งสองฝ่าย คิดต่างกันมันก็ได้ แต่อีกฝ่ายนึงที่ให้ความชอบธรรม อำนาจในการใช้ความรุนแรงอยู่นั่นแหละที่เป็นปัญหา ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร บอกว่าฉันไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของม็อบ แต่ฉันไม่เห็นด้วยให้รัฐใช้ความรุนแรงกับเขา ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณ อย่างนี้มันไม่เกิดในสังคมไทย ดังนั้นการเรียนการสอนนี้มันเชื่อมโยง และทุกครั้งที่สอนการเรียนประวัติศาสตร์นอกตำรา เด็กทุกคนจะพูดว่าเหมือนสมัยนี้เลย โหยอาจารย์ เราไม่เปลี่ยนเลยหรอ มันทำให้เห็นว่าทำไมเราต้องเรียนเพื่อเข้าใจปัจจุบัน และจะมองไปสู่อนาคต”
และสุดท้ายนี้ ครูทั้งสองยังมองตรงกันถึงว่า นอกจาก 6 ตุลาแล้ว รัฐก็ควรให้ความสำคัญกับทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์นอกตำรา ซึ่งการเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยไปถึงสำนึกถึงอนาคตด้วย
ครูทิวเสริมว่า “หลายคนบอกว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นเหมือนแกนหลักของประเทศ แล้วเด็กที่อยู่เชียงใหม่ ต่างจังหวัด หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดังนั้นไม่ใช่เรียนแค่ประวัติศาสตร์จากกรุงเทพ หรือส่วนกลาง เรื่องนี้มันก็ไปแตะกับท้องถิ่น หรือชายขอบว่า จริงๆ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็ไม่เคยไปพูดถึงว่า บรรพบุรุษของตัวเองที่อยู่ภูมิภาค หรือภูธร เคยถูกกดขี่จากอำนาจรัฐยังไงบ้าง หรือโดนกระทำรุนแรงจากอำนาจรัฐยังไงบ้าง และมาเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ มันก็ทำให้เห็นภาพว่ารัฐไทยมีวิธีคิดต่อคนอื่น คนที่ถูกรัฐทำให้เป็นคนอื่นยังไงบ้าง”
ไม่ใช่เพราะโหดร้าย จึงไม่จดจำ นี่คือสิ่งที่ครูเน็ตบอกกับเราทิ้งท้าย
“ในปัจจุบัน พอ 6 ตุลามันถูกรับรู้มากยิ่งขึ้น ในสังคมไทยไม่ใช่แค่นักเรียน แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปเค้าก็รู้เรื่อง 6 ตุลามากยิ่งขึ้น ผมก็อยากให้ในระบบการศึกษามีการพูดถึง 6 ตุลาในมิติทางการเมืองอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่อยากให้เค้าลืมใน 6 ตุลา ในฐานะความทรงจำอันโหดร้าย คือคุณอาจจะรู้สึกว่า มันโหดร้ายเกินไป ไม่อยากจำ แต่อยากให้รู้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันกระทบต่อบาดแผลทางสังคมยังไงบ้าง
หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ ชายขอบ ผมอยากให้มันเกิดขึ้นในห้องเรียนหรือแม้กระทั่งในตัวแกนกลางของการศึกษาโดยทั่วไปอยากให้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์ชายขอบพวกนี้ มันน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มันสามารถไปทำลายโซ่ตรวนอะไรบางอย่างในความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมได้ในอนาคต”
Photo by.Watcharapol Saisongkroh
Cover by. Waragorn Keeranan