“ตั้งใจเรียนนะ จะได้มีอนาคตสดใส”
คำที่เราได้ยินกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่แค่ตั้งใจเรียนจริงๆ จะพอไหมนะ เมื่อการศึกษาที่ควรจะเป็นใบเบิกทางสู่ความฝัน กลับถูกครอบด้วยกฎหมายที่ไม่ให้อิสระนักเรียนจริง?
เมื่อเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรง พวกเขาจึงออกมาคัดค้านร่าง ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.ไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ด้วยความกังวลในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่แทรกอยู่ตามรายมาตราของกฎหมายฉบับนี้
The MATTER ได้พูดคุยกับ ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักการศึกษาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ และ เมนู สุพิชฌาย์ ชัยลอม หนึ่งในสมาชิกสหภาพนักเรียน ในฐานะเยาวชนที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีข้อน่ากังวลอย่างไร ทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจ?
ทำไม ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ถึงถูกคัดค้าน?
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาตลอด ซึ่งจริงๆ แล้ว ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา มีอยู่หลายฉบับด้วยกัน แต่ฉบับที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ก็คือฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา
อธิบายกันก่อนว่า ร่างฉบับนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 แล้ว กอปศ.ก็เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก่อนจะครบวาระการดำรงตำแหน่งภายใน 2 ปี เดือนพฤษภาคม 2562
หลังจากนั้น พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ก็เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และถูกปรับเปลี่ยนไปหลายต่อหลายครั้ง ด้วยการผสมกับฉบับโน้นฉบับนี้ไปเรื่อย จนกลายมาเป็นร่างฉบับกฤษฎีกาในปัจจุบัน
และล่าสุด ก็ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เท่ากับว่า กอปศ.ใช้เวลายกร่างทั้งสิ้น 2 ปี และรัฐบาลพิจารณาอีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี
แล้วทำไมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง?
เนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกปรับและนำเอาจุดเด่นของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่น อย่างฉบับที่ร่างและสนับสนุนโดยพรรคก้าวไกล และฉบับของดิเรก พรสีมา ประธานเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทยมาปรับผสมด้วยแล้ว
มาตราที่ถูกพูดถึงมากๆ ใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ ก็คือ มาตรา 8 ว่าด้วยการบ่มเพาะผู้เรียนให้มีสมรรถนะ ซึ่งแบ่งออกตามช่วงวัย ดังนี้
- ช่วงวัยที่ 1: ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 1 ปี
- ช่วงวัยที่ 2: อายุเกิน 1 ปี – 3 ปี
- ช่วงวัยที่ 3: อายุเกิน 3 ปี – 6 ปี
- ช่วงวัยที่ 4: อายุเกิน 6 ปี – 12 ปี
- ช่วงวัยที่ 5: อายุเกิน 12 ปี – 15 ปี
- ช่วงวัยที่ 6: อายุเกิน 15 ปี – 18 ปี
- ช่วงวัยที่ 7: ระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง
[อ่านสรุปเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาได้ที่นี่]
เนื้อหาของการเรียนรู้แต่ละช่วงวัยตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีคีย์เวิร์ดที่ทำให้คนสนใจกันอยู่มาก เช่น การระบุให้เด็กวัย 6-12 ปี “ภาคภูมิใจในความเป็นไทย” “ซึมซับในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือในช่วงอายุ 12-15 ปี ก็ต้อง “เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย” “เข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้”
“จากมาตรา 8 เขาจะกำหนดให้ช่วงอายุนั้นนี้ต้องทำนั่นนี่ ซึ่งพอเรามาอ่านดูแล้ว มันไม่มีความยืดหยุ่นให้กับพัฒนาการของมนุษย์เลย ก็จะทำให้เด็กมีสภาวะเครียดมากขึ้น แล้วแนวโน้มการเป็นโรคซึมเศร้าจะมากขึ้นเรื่อยๆ” สุพิชฌาย์ ชัยลอม หนึ่งในสมาธิสหภาพนักเรียน ผู้ออกมาสะท้อนถึงปัญหาจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้กล่าว
สุพิชฌาย์ มองว่า การกำหนดเกณฑ์ว่าอายุเท่าไหร่ควรเรียนอะไร ตามที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้นั้น เป็นการกำหนดที่ขาดความเข้าใจในพัฒนาการตามช่วงวัยของมนุษย์ และยังเป็นการบังคับทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งมันควรเป็นความสมัครใจของผู้เรียนมากกว่า ไม่ควรเป็นสิ่งที่ยัดลงไปใน พ.ร.บ.การศึกษา
ขณะที่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักการศึกษาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ ยกตัวอย่างถึงช่วงการเรียนรู้ของปฐมวัยว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ช่วงวัยของปฐมวัยจะไปสุดที่อายุ 6 ปี เพราะเป็นช่วงวัยจากเด็กอนุบาลสามขึ้นประถมพอดี แต่หากอิงตาม UNESCO แล้ว ปฐมวัยจะไปสุดที่อายุ 8 ปี
“นั่นหมายความว่า เรากำลังจัดการเด็กที่อายุตรงช่วง 7-8 เขาเป็นประถมไปแล้ว แล้วเราก็ให้เขาเป็นประถมไปเลย แล้วรอยต่อระหว่างปฐมวัยกับประถมศึกษาก็ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ แต่มันเป็นรอยต่อที่แทบจะสำคัญที่สุดในชีวิตเด็กคนนึงเลย ดังนั้น ต้องติดตามว่าในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ส.ส.ในสภาก็คงจะต้องถามรัฐบาลไปว่า ตกลงแล้วการแบ่งช่วงวัยแบบนี้คุณจะกำหนดแบบนี้เลยหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้ว พัฒนาการเด็กๆ ก็อาจจะมีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามตัวเลขเป๊ะๆ พอเอาตัวเลขมาครอบก็จะเป็นปัญหา”
เด็กไทยอยู่ตรงไหน ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
“ถ้าอธิบายให้เห็นภาพง่ายที่สุดก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เหมือนไม่ได้สร้างมาเพื่อนักเรียนที่ต้องอยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ มันเป็น พ.ร.บ.ที่เราอ่านแค่ไหนเราก็รู้สึกว่าเราเหมือนถูกกีดกัน เราเหมือนต้องกลายเป็นคนที่ชาติอยากให้เราเป็น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลดีต่อตัวนักเรียนเลย เพราะว่ามันไม่มีการส่งเสริมเสรีภาพ” สุพิชฌาย์กล่าว
เมื่อเด็กไม่ใช่ศูนย์กลางของระบบการศึกษา คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วการศึกษานี้เป็นไปเพื่อใคร?
สุพิชฌาย์เล่าว่า เป้าหมายของสหภาพนักเรียน คือการดึงอำนาจกลับไปที่นักเรียน ซึ่งการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้น ไม่ได้ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา กลายเป็นว่าคนที่กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา ออกแบบบทเรียน การเรียน กฎระเบียบต่างๆ คือกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เด็กไม่มีสิทธิในการพูด หรือเรียกร้องอะไรเลย
ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ใส่เรื่องการมอบอำนาจให้นักเรียน นักศึกษาด้วยเช่นกัน นั่นแปลว่า หากนักเรียนถูกครูละเมิดสิทธิ นักเรียนก็ยังไม่มีช่องทาง หรืออำนาจในการต่อรองกับครู เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองกันอยู่ดี
สุพิชฌาย์กล่าวด้วยว่า การไม่ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมกับการออกแบบร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ยังทำให้ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย เช่น กฎระเบียบที่ล้าหลัง หลักสูตรบางอย่างที่ไม่จำเป็น ยังคงอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะไม่มีมาตราไหนที่มอบอำนาจให้กับนักเรียน
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามกันคือ ในร่างฉบับ 2542 ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังระบุให้การจัดการเรียนการสอนอยู่คู่กับคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ผสมกับคุณค่าแบบไทย สากล และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ในร่างฉบับใหม่นี้ กลับไม่เอ่ยถึงคำว่า เสรีภาพ ความเสมอภาค และไม่เน้นย้ำถึงการมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
“คำว่าเสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ต้องมีอยู่แล้ว และควรจะเป็นทักษะที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้วย ถ้าเรามีเด็กจำนวนมากที่จะคิดก็กลัวไปหมด ไม่กล้าแม้แต่จะคิด มันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวเหมือนกัน”
กุลธิดาอธิบายต่อว่า หากรูปแบบกระบวนการคิดของนักเรียนถูกจำกัดกรอบมากๆ ก็จะกลายเป็นว่า นักเรียนไม่สามารถมีรูปแบบกระบวนการคิดในแง่มุมอื่นๆ ได้อีกแล้ว มีแค่แบบเดียวซึ่งก็ส่งผลต่อด้านอื่นๆ ด้วย แล้วตอนนี้ เหล่านักเรียนจะถูกซ้ำเติมจากระบบการศึกษาเข้าไปด้วยกระบวนการวัดและประเมินผลข้อสอบต่างๆ ที่เป็นลักษณะให้คิดแบบเดียวเท่านั้น เช่น การเลือกตอบแบบ ก ข ค ง
ยิ่งไปกว่านั้น กุลธิดายังชี้ให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่หายไปจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาคือ การประกันสิทธิเด็ก ซึ่งหมายถึง การประกันสิทธิที่เด็กต้องได้รับ เช่น สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกทำร้าย หรือโดนกระทำ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
ประเด็นนี้ มีกระแสถกเถียงกันอยู่ว่า ไม่จำเป็นต้องมีการประกันสิทธิเด็กในร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เพราะเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว แต่กุลธิดาก็มองว่า พอถึงบริบทหน้างานจริงๆ หากไม่เขียนกำกับประกันสิทธิเด็กในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาด้วยแล้ว ก็จะเกิดการเกี่ยงกันว่า ใครต้องรับผิดชอบ ทั้งที่จริงๆ สิทธิเด็กควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่อยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาเลย
นอกจากนี้ ในมาตรา 71 ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติยังระบุด้วยว่า ในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้ง กับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ และต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านต่างๆ ซึ่งปัจจัยแรกที่ถูกพูดถึง คือปัจจัยด้านความมั่นคง
“ด้วยความเป็นรัฐทหารก็ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงมาก่อน แทนที่จะเป็นเรื่องของพัฒนาการเด็ก การคุ้มครองสิทธิเด็ก หรือการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับช่วงวัยและความต้องการของเด็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อม”
กุลธิดา กล่าวด้วยว่า จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เราไม่ค่อยเห็นความพยายามที่จะทำให้การศึกษาเป็นระดับสากลมากขึ้น อย่างเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการเรียนของเด็ก และยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เราไม่เห็นลักษณะของการประกันสิทธิเด็ก ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในอารยประเทศ การร่าง พ.ร.บ.การศึกษา จะพูดถึงการประกันสิทธิว่าเด็กจะได้รับสิทธิอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วย
เธอเสริมว่า ลักษณะการเขียนร่าง พ.ร.บ.นี้ มีความ ‘ไทย’ มาก เพราะไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดรับชอบ ไว้เลย หากเกิดกรณีที่คุณครูทำความผิดร้ายแรง เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ก็จะบอกว่า ให้ครุสภาจัดการ แต่เนื่องจากว่า ความผิดต่างๆ มันมีหลากหลายมากๆ ในบริบทที่เด็กอาจจะโดนละเมิดสิทธิ ครุสภาจัดการได้จริงหรือเปล่า
“มันสะท้อนให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่ก้าวหน้าไปไหนด้วยซ้ำ ยังให้คิดอยู่กับเรื่องความมั่นคง”
ขณะที่ สุพิชฌาย์ บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบอำนาจนิยมที่ชัดเจน เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาตัวนี้ ไม่ได้ถามไถ่เหล่านักเรียนเลยว่า ต้องการอะไร แต่เป็นการกำหนดสิ่งที่ผู้มีอำนาจ อยากให้เด็กไทยเป็น ทั้งยังย้เรื่องความเป็นไทย สะท้อนให้เห็นแนวทางที่ต้องการปลูกฝังเยาวชนให้มีความชาตินิยมมากขึ้น
“สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในสังคมไทยอีกหนึ่งอย่างคือ เมื่อก่อนเราอาจไม่ได้โฟกัสกับสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ขนาดนั้น มันก็ยังมีการลิดรอนกันอยู่ จนในช่วงนี้ที่เด็กออกมาพูดถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น มันถึงมีการเรียนรู้ ตระหนักรู้ในสิทธิของตัวเอง แล้วก็มีการออกมาเรียกร้องมากขึ้น”
เธอมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกลายเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยใช้อาวุธที่ทรงอานุภาพอย่าง การศึกษา เข้าไปครอบงำความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ ดังนั้น เธอจึงมองว่า จะปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปไม่ได้
พ.ร.บ.การศึกษา ควรเป็นอย่างไร?
เมื่อสิ่งสำคัญในระบบการศึกษา คือ ผู้เรียน ดังนั้น การเน้นย้ำเพียงแค่ว่า เด็กควรรู้อะไร ควรมีทักษะอะไร จึงคลอบคลุมเนื้อหาที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาควรเป็น
กุลธิดา ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.การศึกษาของฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นเรื่องการศึกษาเป็นอันดับต้นของโลก ซึ่งกำหนดไว้ว่า เด็กจะต้องได้พักผ่อน การบ้านหรืองานที่ได้ ต้องไม่ถึงขั้นรบกวนเวลาผักของเด็ก เขาต้องมีเวลาได้ทำงานอดิเรกด้วย
“ของฟินแลนด์มีแม้กระทั่ง สิทธิของเด็กรับประกันถึงเรื่องการเข้าถึงการเรียนการสอน ตอนอ่านเราก็งง แต่เขาบอกว่า มันคือการประกันว่า เด็กอยู่ในโรงเรียน ต้องได้รับการจัดการเรียนการสอนให้ ไม่ใช่ว่า มาโรงเรียนแล้วครูก็ออกไปทำธุระข้างนอก คือเด็กมาโรงเรียนจริง แต่ไม่ได้รับการจัดการเรียนการสอน”
“ถ้าการคำนึงถึงสิทธิเด็กอยู่ในกระบวนวิธีคิดในการร่าง พ.ร.บ. มันก็จะแสดงออกมา ผ่านร่าง พ.ร.บ.ด้วย แต่พอไม่มี เราก็เลยไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ไม่เห็นเรื่องความหลากหลายต่างๆ ไม่ได้เห็นเรื่องการทำให้มั่นใจว่า เด็กๆ ที่มีแบคกราวน์อันหลากหลาย หรือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือแตกต่างออกไป ในบริบทต่างๆ ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ เขาจะได้รับการดูแลอย่างไร ขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาของฟินแลนด์เขาจะดูแลให้มั่นใจว่า เด็กทุกคน ไม่ว่าจะกลุ่มไหน ต้องได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค”
เช่นเดียวกับ สุพิชฌาย์ ที่มองว่า การเน้นย้ำเรื่องความหลากหลาย เป็นสิ่งที่ควรระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาด้วย เพราะกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวพันกับทุกคนในประเทศ ถ้าไม่ใส่เรื่องความหลากหลายที่มีอยู่จริง ลงใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลุ่มคนชายขอบก็จะไม่ถูกนับรวมเข้าไป และกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกการศึกษาทอดทิ้ง
วิธีที่จะทำให้ความหลากหลาย เข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษา สำหรับสุพิชฌาย์แล้ว คือการให้ทุกคนมาร่วมกันเขียน และมีสิทธิได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
“เราอยากให้ พ.ร.บ.นี้ มาจากมุมมองของทุกคน มันต้องมีความหลากหลายมากพอที่จะรวมทุกคนเข้าไว้ได้ ทั้งนักเรียน กลุ่มคนชายขอบ คุณครู โรงเรียน ถ้ามีมุมมองที่หลากหลายจากทุกคนแล้ว ทุกคนก็จะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน”
อีกประเด็นหนึ่งที่กุลธิดามองว่า ควรอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาด้วยก็คือ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน
“ให้นึกถึงสามเหลี่ยม ข้างนึงคือโรงเรียน ข้างนึงคือบ้าน ถ้ามันขาดข้างใดข้างนึง หรือไม่บาลานซ์ ก็จะทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ หรือว่าถ้าทั้งสองฝั่งทะเลาะกัน มันก็จะส่งผลถึงเด็กซึ่งอยู่ข้างบน”
กุลธิดาอธิบายว่า ภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับผู้ปกครองในการดูแลเด็กในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ระบบวิถีชีวิต ดูแลอาหารการกิน ความสะอาดต่างๆ ซึ่งก็กลายมาเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต
นอกจากจะไม่ได้ช่วยในการให้ความรู้ผู้ปกครอง กุลธิดายังเห็นว่า หลายครั้ง ภาครัฐก็ซ้ำเติมความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับโรงเรียนด้วยซ้ำ ทั้งในแง่การออกกฎระเบียบต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ออกนโยบายว่า โรงเรียนต้องคืนเงินค่าเทอมในช่วง COVID-19 ให้กับผู้ปกครอง
“คุณไม่ได้ช่วยอะไรโรงเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัดไหนต้องการสั่งให้โรงเรียนคืนเงิน ซึ่งรัฐจะไม่รู้ได้ไงว่า จริงๆ แล้วต้นทุนการบริหารจัดการโรงเรียนมันเป็นต้นทุนคงที่เสียส่วนใหญ่ ดังนั้น ส่วนที่คืนผู้ปกครองได้จริงๆ มันน้อยมาก ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่า คืนได้แค่นิดเดียวเองเหรอ แต่คุณใช้วิธีมาสั่งแบบนี้ ผู้ปกครองก็มองว่า โรงเรียนเอาเปรียบ ไม่ได้เกิดการสร้างความเข้าใจ ซึ่งมันมาจากการบริหารจัดการที่ไม่เข้าใจบริบทการจัดการศึกษา ไม่เข้าใจบทบาทของทั้งโรงเรียน และผู้ปกครอง และการบริหารจัดการด้วย”
คำถามว่า พ.ร.บ.การศึกษาควรเป็นอย่างไร ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดูที่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษา ที่ถูกระบุในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้กันอีกครั้ง ซึ่งกุลธิดามองว่า การกำหนดเรื่องความสมบูรณ์ด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม ความเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาตินั้น เป็นข้อกำหนดที่ทำให้มั่นใจว่า บุคคลหนึ่งจะสมบูรณ์พร้อมแบบนั้นได้จริงหรือเปล่า
“แล้วเป้าหมายการศึกษาของเราก็ยังอยู่ในระดับชาติอยู่เลย ยังเดินทางไปไม่ถึงระดับสากล วนอยู่ที่ระดับชาติ เรายังไม่เห็นการตั้งเป้าหมายไปเพื่อให้เด็กๆ ของเรามีเป้าหมายเทียบเท่าระดับสากล เพื่อที่จะไปอยู่ในสังคมที่มันมีพลวัตสูงๆ อย่างในปัจจุบันได้เลย”
ขณะที่ สุพิชฌาย์เสริมว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดีคือ การให้นักเรียนมีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้อง เพื่อให้พวกเขาได้ออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง และได้แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ร่วมกัน ทั้งยังต้องให้นักเรียนมีอำนาจที่จะวิพากษ์แผนการศึกษาที่มีอยู่ในตอนนี้ด้วย เพื่อจะทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกคลี่คลายได้เร็ว
เธอทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของการศึกษา ต้องทำให้ผู้เรียนค้นพบในศักยภาพตัวเอง รู้จักและเคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันในสังคม โดยเธออยากให้การศึกษาไทยมีหน้าตาเช่นนี้
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการศึกษาควรเป็นระบบที่ทำให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเองอย่างแท้จริง ระบบการศึกษาไม่ควรเป็นสิ่งที่ตีกรอบนักเรียน แต่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนได้โบยบินไปในเส้นทางของตัวเอง”