“ผมใช้ชีวิตที่ระเบียงซะส่วนใหญ่ เพราะอยากให้อากาศถ่ายเท ตอนนั้นมืดมาก อากาศก็ดี ลมพัดแรง ยุงไม่มี และคิดในใจว่า เรามาอยู่ตรงไหนของประเทศไทยวะเนี่ย”
“มองออกไปห้องอื่นๆ พี่ๆเจ้าหน้าที่ข้างล่าง ได้ลำเลียงอาหารใส่ตระกร้า และให้ผู้เข้าอยู่ชักเชือกขึ้นไปครับ ข้าววันแรกเป็นข้าวหมูทอด กับแกงจืดเต้าหู้หมูสับครับ มีน้ำผลไม้ และพริกป่น กับน้ำปลา หมูเรียงชิ้นสวยๆ บนผักข้างใต้ ผมเห็นเป็นดีเทลที่น่าสนใจ”
“ในกรุ๊ปไลน์ของศูนย์ คนก็บ่นอาหารบ้างไรบ้าง บางห้องไหนขาดน้ำปลากับพริกป่น พี่ๆเขาก็อุส่าเดินเอามาให้ วันแรกกรุ๊ปไลน์เด้งไป 500-600 ข้อความ แต่เจ้าหน้าที่ก็ตอบ ไม่ได้ดองไลน์ กินหมูทอดนั่งมองทะเลกันต่อไป
ใครๆก็อยากกลับบ้านแหละ แต่มันก็ไม่ได้แย่แบบที่คิดไว้ตอนแรกจริงๆ”
นี่คือบันทึกส่วนหนึ่ง จากไดอารี่การกักกันของ ‘ภูรินทร์ ตรีธรรมพินิจ’ หนึ่งในผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และกำลังถูกกักตัวอยู่ที่ State Quarantine หรือศูนย์เฝ้าระวังกักกันรัฐบาล ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ลงเครื่อง ถึงยังประเทศไทย ภูรินทร์ได้บันทึกเหตุการณ์ และเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่แต่ละโพสต์มีคนเข้ามาตามอ่าน และแชร์จำนวนมาก
ในโอกาสที่ภูรินทร์ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์เฝ้าระวังมาแล้วถึงครึ่งทาง หรือ 7 วัน The MATTER ได้มาพูดคุยกับเขา ถึงประสบการณ์ชีวิต ตั้งแต่สถานการณ์ช่วงที่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ ความยากลำบากในการเดินทางกลับประเทศ ไปจนถึงตอนนี้ ที่กำลังกักกัน เฝ้าระวังอาการอยู่กัน ซึ่งภูรินทร์บอกกับเราว่า ไม่เคยคิดว่าจะได้ผจญภัยขนาดนี้
เป็นอย่างไรบ้าง ตอนอยู่ที่นิวยอร์ก สถานการณ์ COVID-19 ที่นั่นรุนแรงแค่ไหน
ถ้าอเมริกาเป็นจีน นิวยอร์กก็เหมือนเป็นอู่ฮั่น ตอนนี้คือมีคนป่วยในนิวยอร์กทะลุแสนแล้ว คนตายที่ออกจากโรงพยาบาลมีมากกว่าคนที่เข้าไปในโรงพยาบาล เดินไปไหนก็จะมีตู้รถสีขาวๆ เหมือนรถแช่แข็ง ใส่ศพ หน้ากลัวๆ หน่อย แต่ถึงอย่างนั้น แม้เขาจะปิดเมือง แต่คนก็ยังใช้ชีวิตปกติ พาลูกมาเดินเล่น พาหมามาเดินเล่น ไม่ใส่หน้ากาก ผมว่าแปลกดี
ตอนผมอยู่ที่นั่น ไม่ได้ออกมาข้างนอกเลย อยู่บ้านมาเดือนครึ่งแล้ว ออกเฉพาะตอนที่มาซื้อของทำอาหาร มหาวิทยาลัยก็ปิด ก็ให้เรียนจากบ้าน
ทำไมถึงเพิ่งตัดสินใจกลับมาไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา
มันป่วยจิต คือผมอยู่คนเดียว มีรูมเมทนะ แต่เขาก็อยู่กับแฟน มันก็ไม่ได้ออกมาเจอหน้ากันเท่าไหร่ แล้วอีกอย่างถ้าสมมติว่าผมป่วย ที่นิวยอร์กไม่มีเตียงให้ผมแน่นอน ถ้าสมมติผมป่วยที่ไทย ผมว่าผมมีโอกาสรอดมากกว่าที่นู่น คืออยู่ที่นู่นไป ผมไปเรียน เขาก็ให้เรียนออนไลน์ ก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย ค่าครองชีพมันก็สูงกว่าอยู่แล้ว และเค้าก็คาดการณ์ว่านิวยอร์กจะเป็นแบบนี้ไปอีก 6-8 เดือน ผมก็คิดว่าถ้าผมเรียนออนไลน์ เรียนจากบ้านก็ได้ ผมจะอยู่ทำไม ก็เลยตัดสินใจกลับมา
เห็นในไดอารี่ที่บันทึก เกริ่นๆ ไว้ว่ามีความลำบากในการกลับมา เล่าได้ไหม กว่าจะถึงไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ในช่วงนั้น เค้าจะมีมาตรการตอนแรก ที่ประกาศว่า ถ้าจะกลับไทยต้องมี 3 อย่าง คือใบรับรองแพทย์ Fit-to-fly อย่างที่ 2 คือตั๋วเครื่องบิน อย่างที่ 3 คือ เอา 2 อย่างแรกมารวมกัน และก็ให้สถานทูตที่นู่นออกใบรับรองอนุญาตให้กลับไทย
ส่วนตัวตั๋วเครื่องบินไม่ยากหรอก แต่การที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ในขณะที่คนติดเชื้อกันวันละหมื่นคน จะมีใครที่เขาจะเขียนใบรับรองแพทย์ให้เรากลับบ้าน ผมก็เลยคิดว่า งั้นเราไปคลินิกละกัน คลินิกเล็กๆ ไม่น่าจะมีคนป่วย ผมก็ขับสกู๊ตเตอร์ออกไปเจอที่แรกเขาก็ไม่รับทำ ที่ต่อมาเขาก็ไม่รับ ผมก็เริ่มคิดแล้วว่าการออกมามันก็เสี่ยงแล้ว เพราะนึกภาพว่าในเมืองมีประชากรที่ติดเชื้อไปเยอะมาก เราเลยกลับบ้าน แล้วไปโทรหาคลินิกแต่ละแห่งแทน ว่าที่ไหนรับทำบ้าง
ตอนนั้น ก็ไม่รู้ด้วยว่าจะได้กลับเมื่อไหร่ เพราะตราบใดที่เราไม่ได้ใบรับรองแพทย์ เราก็จะไม่ได้กลับ ผมก็โทรไปเรื่อย ใช้เวลา 3-4 วัน ไล่โทรไปทีละที่ในแมนฮัตตัน สุดท้ายเราก็ไปเจอที่นึง ที่ตอนแรกเราไม่คิดว่าเขาจะรับทำ เขาก็บอกว่าหมอรับทำ แต่ต้องมาตรวจสุขภาพก่อน ผมเลยบอกว่างั้นจะเข้าไปพรุ่งนี้ แต่ว่าเขาบอกว่าคลินิกพวกนี้มันเป็นคลินิกที่หมอวนผลัดกันไป พรุ่งนี้ก็ไม่รู้ว่าหมอคนนี้จะไปไหน และหมอคนไหนจะมาแทน ผมก็เลยต้องออกไป ขับสกู๊ตเตอร์ไปด้วยความพยายามมีสติตลอดเวลา ว่าเราจะไม่จับหน้า ต้องล้างมือ
มันเป็นคลินิกเล็กๆ เลยนะ ซึ่งระหว่างที่พอเรานั่งรอหมอ ก็มีพยาบาลออกมา หยิบโทรศัพท์กด 911 โทรให้รถพยาบาลมาด่วน เพราะคนไข้หยุดหายใจไปแล้ว แล้วทุกคนที่นั่งรอตรงนั้นก็เหมือนมองพยาบาล ผมก็คิดในใจว่า เห้ย นี่คือมีคนไข้โควิดที่นี่ด้วยหรอ แล้ว 5 นาทีต่อมา รถพยาบาลก็มา ก็มีปู่คนนึงถูกเข็นออกมาด้วยสภาพหมดสติไปแล้ว โดยผมไม่รู้ด้วยว่าเขาตายรึยัง ต่อจากนั้นขณะที่ผมนั่งรอไปเรื่อยๆ ผมก็ค้นพบว่า คนที่นั่งรอบๆ ผม ดูเหมือนมีอาการจะป่วยกันหมดเลย บางคนก็ไม่ใส่หน้ากากมา ผมก็ลืมนึกไปนึกว่าเขาจะมาขอใบรับรองกัน แต่สุดท้ายผมก็ได้ใบรับรองมา
หลังจากนั้น ผมก็มาจองตั๋วเครื่องบิน แต่ผมไปดูข้อมูลจากสถานทูตก่อน เขาบอกว่าต้องส่งเรื่องมายังสถานทูตก่อนบิน 72 ชั่วโมง แต่คราวนี้สายการบินบอกว่า ใบรับรองแพทย์ที่ได้มาต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง คือมันย้อนแย้งกัน ผมก็งงว่าจะต้องทำยังไง เลยตัดสินใจจองตั๋วก่อนติดต่อสถานทูต ตอนแรกผมกดจะบินกลับวันมะรืน แต่ในเมนูมันขึ้นบังคับให้ผมบินวันพรุ่งนี้อย่างเดียว ผมก็งง เลยไปเช็กดู ปรากฏว่า หลังจากวันพรุ่งนี้ ไฟล์ทจากนิวยอร์กจะไม่มีอีกแล้ว คือพรุ่งนี้เป็นไฟล์ทสุดท้าย ผมก็เลยคิดว่าถ้าไม่จองเลย ก็ไม่รู้จะได้กลับอีกเมื่อไหร่ เราเลยจองไปก่อน สถานทูตได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน
ผมก็เอาตั๋วเครื่องบินกับใบรับรองแพทย์ไปส่งอีเมล์ให้สถานทูต ส่งไปด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะได้ตอบกลับเมื่อไหร่ และก็โทรหาพี่ที่รู้จักที่ทำงานอยู่สถานทูต บอกเขาว่าผมส่งอีเมล์ไปแล้ว ให้ช่วยเช็กหน่อย เขาก็บอกว่า ไม่ต้องห่วง งานนี้ วันเดียวก็เสร็จ แต่พอวันรุ่งขึ้น ก่อนบินประมาณ 5 ชั่วโมง ผมยังไม่ได้อีเมล์ตอบกลับเลย ผมก็โทรไปหาพี่เขาใหม่ พี่เขาก็เหมือนเพิ่งนึกได้ว่าผมโทรไปเมื่อวาน เขาก็เลยไปเช็กให้ สรุปว่า ที่ผมส่งไปมันไม่ถึง เพราะหน้าเว็บของทางราชการมันไม่ตรง เขาก็เลยให้ผมส่งอันใหม่ไปโดยตรงที่อีเมล์เขา ผมก็ล่กนะ ว่าจะบินอยู่แล้ว ยังไม่มีใครได้รับเรื่องของผมเลย
ปรากฏว่าผมก็ได้ 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น แล้วผมก็บิน ตอนนั้นก็คิดในใจว่า หลังจากผ่านเรื่องพวกนี้มา ไม่มีใครจะหยุดเราที่จะกลับบ้านได้แน่นอน แต่ก็มาเจอเรื่องจี๊ดที่สนามบินต่อ แล้วผมก็มาอยู่ที่นี่ ที่ศูนย์เฝ้าระวัง
พอกลับไทยมาก็โดนกักตัวเลย บวกกับคืนนั้นมีกระแสมีคนไทยบางส่วนกลับประเทศมาแล้ว กลับบ้านไม่ยอมกักตัวอีก เรื่องราวเป็นยังไงบ้างในคืนนั้น
กักตัวมันก็ดี ผมเห็นด้วย แต่คราวนี้ตอนที่ผมบินอยู่ เขาเปลี่ยนกฎใหม่ ให้ชะลอคนไทยกลับเข้าประเทศ และคนที่มีใบจากสถานทูต กับใบรับรองแพทย์สามารถเข้าประเทศได้อยู่ แต่ที่ผมอ่านบนเครื่องบิน เขาไม่ได้บอกเลยว่าจะมีการกักตัว พอผมกลับมาถึงปุ๊ป ผมก็ใจแป้ว เพราะคิดว่าจะได้กลับบ้าน อาบน้ำนอน ก็แอบเซ็งเป็นธรรมดา ว่าที่ไหนก็ไม่สบายเท่าบ้านเรา
อย่างในสนามบิน พี่เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาก็บอกว่า ใครที่อยู่กรุงเทพฯ ให้ญาติมารอรับได้เลย ตั้งแต่บ่ายโมง ถึงหนึ่งทุ่ม ทุกคนที่รอกับผมก็คิดว่าจะได้กลับบ้านหมด แต่พอ 1 ทุ่มเขาพาไปขึ้นรถบัส บอกจะพาไปตรวจ ให้ญาติตามมาได้ ซึ่งตอนนั้น พอมาถึงสัตหีบ ตี 1 ญาติบางคนก็ยังตามกันมาเลย ผมก็แค่งงว่าจะมาหลอกทำไม ทำไมไม่บอกกันตรงๆ หรือถ้าเขาไม่ได้หลอก เขาก็อาจจะงงกันเองข้างใน
แต่ไฟล์ทของผมก็คนละไฟล์ทกับที่ออกข่าวว่าให้ปล่อยกลับบ้านนะ ผมก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่พอมีข่าวว่าบางคนได้กลับบ้าน แน่นอนกลุ่มที่มาด้วยกันก็โวยวายว่าทำไมมีคนได้กลับ แต่ทำไมเราไม่ได้กลับ โวยวายกันที่ปั๊มน้ำมัน มืดๆ เราไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน จะพาไปไหน เพราะเขาแค่บอกว่าพามาตรวจ พอถามว่าจะพาไปตรวจที่ไหนเขาก็ไม่ตอบ สรุปก็มาถึงสัตหีบ และเจ้าหน้าที่ที่นี่ก็เหมือนเป็นคนละกลุ่มกับที่สนามบิน พวกพี่เขาก็ดีนะ
เครียดไหม ตอนที่รู้ว่าจะต้องโดนมาถูกกักกันตัว
เครียด เพราะเขาบอกแค่ว่ามาตรวจ แต่พอมาถึงคือแบบแจกสบู่ ยาสระผม แล้วตอนนั้น ผมกับคนอื่นๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่าที่นี่คือสัตหีบ มันมืดแล้ว และด้วยความเหนื่อยล้าว่าเราออกจากนิวยอร์กมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน มาถึงไทยบ่ายวันที่ 3 ก็คือ 30 ชั่วโมงในการเดินทาง แล้วก็มาเจอสิ่งที่ไม่คาดคิดอีก 12 ชั่วโมง บางคนก็ยังไม่ได้กินข้าว เพราะเขาไม่อยากเปิดหน้ากากบนเครื่องบิน
พอมาถึงมันก็กดดัน ก็กลัวนะ แต่ก็คิดนะว่าเขาไม่น่าจะเอาเราไปไว้ไหน เพราะเขาไม่ได้ยึดโทรศัพท์ เลยคิดว่าน่าจะไม่มีอะไร และพี่ที่นี่เค้าใจเย็นมาก เค้าดีลกับเรื่องพวกนี้มาแล้ว จากกลุ่มคนที่กลับจากอิตาลีกับอู่ฮั่น เขาโปรมาก ใจเย็นเหมือนแอร์โฮสเตสเครื่องบิน ใครโวยวายไป เขาก็ซอฟต์กลับมา ผมก็สงสารพี่เขา เพราะวันนั้นมีคนโวยวายเยอะมาก
ผมขึ้นห้องมาประมาณตี 1 ครึ่ง แต่ว่าผมก็นอนไม่หลับ มานั่งอยู่ตรงระเบียง ก็ได้ยินเสียงคนที่เขายังโวยวาย ทะเลาะกันจนถึง 6 โมง แล้วก็หายไป ผมก็เพิ่งมารู้ว่า พี่ที่นี่เขาไม่รู้จะดีลอย่างไร ก็เลยส่งตัวกลับไปสุวรรณภูมิ และเขาไปดีลกับโรงแรมอีกแห่งที่กรุงเทพ ให้คนกลุ่มนี้ไปนอน คนประมาณ 20 คน เลยได้ไปกักตัวที่กรุงเทพฯ ส่วนที่สัตหีบอยู่กันประมาณ 260 คน
ระหว่างอยู่ที่ศูนย์ มีกิจวัตรแต่ละวันเป็นยังไงบ้าง
ประมาณ 6-7 โมง จะมีการเปิดเพลงจากลำโพงศูนย์กลาง แล้วก็ขอเพลงได้นะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงลูกทุ่ง และพี่เค้าก็จะเล่าเรื่องความรู้ เช่นถ้าทำน้ำโสมตอนเช้า จะมีคุณประโยชน์กับร่างกายยังไงบ้าง ต้องต้มกี่นาที จดสูตรไว้นะ กลับบ้านจะได้ไปทำกิน อะไรแบบนี้ แล้วก็จะใช้ลำโพงในการในประกาศข่าว
อย่างนี้ตอนเช้าทุกคนก็จะตื่นพร้อมๆ กันเลยรึเปล่า
วันแรกๆ อะไม่ใช่ แต่ตอนนี้ที่ดูจากระเบียงทุกคนตื่นพร้อมกัน อย่างวันนี้ ผมก็ตื่นมา พอตอนเย็นๆ เราก็จะเห็นพี่คนเดิมที่ระเบียง เขาจะมาวิดพื้น ซิทอัพ
พอเขาประกาศข่าวเสร็จก็จะมีพี่อีกคนนึงที่เป็นคู่หูตบมุกกันไปมา ซึ่งจริงๆ กักกันที่สัตหีบ มันไม่มีอะไรเลย 14 วัน ก็มีแค่นี้ แต่สำหรับผมมันก็มีเรื่องให้เล่าได้ทุกวันเลย มันมีดีเทลที่เราก็มองว่าน่าสนใจ เขามีระบบจัดการที่ชัดเจน ขอกาแฟได้กาแฟ ขอพริกป่น ได้พริกป่น หรือไม่ก็มีกูเกิ้ลฟอร์มของสิ่งจำเป็น ขวดนมเด็ก นมผง ผ้าอนามัย แบบกลางวัน หรือกลางคืน มีปีกหรือไม่มี ให้ระบุไว้ชัดเจ ถ้าอายไม่ต้องใส่ชื่อ ใส่เบอร์ห้องไว้ อะไรแบบนี้ แล้วก็มีระบบขนส่งอาหารที่เป็นเชือก ก็แปลกดี
จากที่อ่านในไดอารี่ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลคือ ทำงานที่ฐานทัพเรือสัตหีบหรือเปล่า หรือเป็นใคร
มันมีเรื่องแปลกอยู่อย่างนึง พอมากักตัวที่นี่ เราเหมือนจะรู้จักพี่เขาดี แต่เราไม่เคยเจอหน้ากันเลย แต่เท่าที่ผมรู้คือ พวกเขาคือทหารที่อยู่ที่นี่ เป็นราชนาวีอยู่แล้ว เป็นทหารที่เขามาฝึก พี่ DJ คนนึง ที่คอยเปิดลำโพงคุยกับเราประจำวัน เป็นทหาร ส่วนพี่ที่เป็นผู้หญิงอีกคนคิดว่าไม่ได้เป็นทหาร เพราะดูจากสำเนียงการพูด พี่ดีเจสรุปชื่อว่าพี่เปิ้ล ไม่รู้ว่าเป็นพยาบาลหรืออะไร รู้แค่คุมเอนเตอร์เทนเมนต์ของที่นี่เฉยๆ
ตอนนี้อยู่กับรูมเมทกันแค่ 2 คนใช่ไหม
ใช่ครับ จริงๆ ห้องอื่นเขาอยู่กัน 3 คน แต่ผมขึ้นมาคนสุดท้าย ตอนแรกก็มีคนจะตามขึ้นมาอยู่ด้วย แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้มากักกันตัวที่นี่ เลยเหลือแค่ผมกับพี่อีกคน ที่มาด้วยกันเป็นกลุ่มสุดท้าย ตอนแรกผมก็จะทะเลาะกับพี่เขาต่อนะ แต่ผมไม่ไหวแล้ว และผมก็ไม่รู้สึกว่าการทะเลาะกับพี่เจ้าหน้าที่พวกนี้มันถูกจุด เพราะเหมือนอย่างตำรวจที่พามา พอเขาพามาเสร็จ เขาก็วนรถกลับเลย ไม่ได้มาดีลกับพี่เจ้าหน้าที่พวกนี้เลย พี่เขาก็งงว่าโวยวายอะไรกัน เพราะคิดว่าตกลงกันมาแล้ว ผมก็เลยขึ้นห้องมากับพี่เขา 2 คน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ถ้ามีคนมาเพิ่มก็ต้องมาอยู่ห้องนี้กัน 3 คน แต่นี่อยู่มา 7 วันแล้ว ก็ยังไม่มีใครมาเพิ่ม ผมอยู่กับพี่รูมเมท ก็คุยกันสนุกดี
ตั้งแต่ถึงไทย ก็เห็นเขียนเล่าเรื่องทุกวัน ทำไมถึงมาเขียนไดอารี่ บันทึกการกักตัว
ผมเขียนเรื่องราวในเฟซบุ๊กมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว แต่บังเอิญเรื่องราวติดสนามบินมันมีคนมาอ่านเยอะมาก บางคนที่อ่านจบ ผมก็ขอบคุณมาก แต่บางคนแค่เห็นว่าคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ แล้วโวยวาย เขาก็เมนต์แล้วว่าไอเลว หรือเมนต์ด่า ผมก็แบบใจเย็นๆ อ่านให้จบก่อน พี่สาวผมก็บอกว่าปล่อยเขาไป แล้วก็บอกว่า เห็นว่าที่สัตหีบดี ให้ผมลองเขียนบันทุกดูว่า มันดียังไง เป็นไดอารี่ไว้ก็ดี เขียนๆ แบบที่เราเขียนมา 4 ปีไปเลย ซึ่งพอมาตามอ่านที่ตัวเองเขียนไป 7 วัน ก็คิดว่าเห้ย 7 วัน ที่กักตัวในห้อง 8 คูณ 8 มันมีเรื่องอะไรเยอะขนาดนั้นเลยหรอ แต่พอหลังจากนี้ไป ผมก็ไม่รู้จะเล่าอะไรแล้ว เพราะเรื่องมันก็มาวันต่อวัน
ถ้ากักตัวครบ 14 วันแล้ว จะเป็นยังไงต่อ
พี่เขาบอกว่ายังไม่อยากบอกวันกลับ เพราะว่าต้องมีการตรวจโควิดก่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะตรวจวันไหน และได้ผลวันไหน เขาเลยยังไม่อยากสัญญากับผม แต่เขาก็บอกว่าน่าจะบวกลบ 1 วัน คือต้องตรวจก่อนกลับ 2 วันตามแผน
แล้วตอนนี้ผ่านมา 7 วันแล้ว เป็นยังไงบ้าง กับการอยู่ที่นี่
พอมาถึงไทย คือโชคดีแล้ว ติดอยู่อย่างเดียวคือยังไม่ได้เจอพ่อแม่ แต่นอกจากนั้น เราก็รู้สึกปลอดภัยแล้ว ตื่นเช้าวันแรก อาหารที่ได้กินเป็นอาหารไทย เป็นผัดกระเพราะที่ไม่ใช่ใบกระเพราปลอมๆ แล้วก็มีไข่ดาว คืออาหารดีกว่าที่นิวยอร์ก เพราะผมตอนติดอยู่ในห้องก่อนหน้านี้ อาหารที่ทำได้ก็ไข่เจียว แล้วก็มาม่าผัด แกงจืด เราก็กินอยู่แค่นี้
ตอนนี้แฮปปี้ดี นั่งดูทะเลชิวๆ
ตอนนี้ที่มากักกันตัวที่นี่ ยังไม่มีใครพบว่าติดโรคใช่ไหม
ยังครับ จากที่รายงานในกรุ๊ปไลน์คือ ทุกคนยังสุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่
ได้คุยกับคนอื่นๆ ที่มากักตัวด้วยกันในกรุ๊ปไลน์บ้างรึเผล่า
ผมไม่ค่อยได้พิมพ์เข้าไป แต่ผมสังเกตการณ์อยู่ตลอด วันแรกๆ ก็จะมีคนบ่นบ้าง ข้าวไม่อร่อย ไม่อยากกินหมูทอด อยากกินไก่ทอด หรือว่าแตงโมไม่หวานเลย อยากกินข้าวเหนียวมะม่วง แต่ก็จะมีแค่ 1-2 คนเท่านั้นที่บ่น แล้วเขาก็จะโดนคนห้องอื่นมาบอกว่า ข้าวฟรีก็ดีแล้วครับ อย่าบ่นมาก ขอร้องแทน
แล้วตอนนี้ในกรุ๊ปไลน์ก็จะมีกลุ่มแยกที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไปตั้งกรุ๊ปกันเอง ก็ประชุมกันอยู่ว่าเราจะบริจาคเงินให้ที่ศูนย์สัตหีบ แต่ว่ากำลังคุยกันอยู่ว่าจะบริจาคเท่าไหร่ ยังไงกัน
จากนิวยอร์ก มาถึงสัตหีบ ก็ไม่เคยคิดเลยเนอะว่าจะมีเรื่องราวในชีวิตขนาดนี้
ไม่เคยคิดว่าต้องมากักตัว เป็นประสบการณ์ที่แปลกดี ที่คุยกับคนทุกวัน โดยไม่เคยเจอหน้า ไม่ได้ออกไปไหนเลย วันที่ผมเดินเข้ามา มันก็มีดีเทลเล็กๆ ว่าผมเห็นหัวบันไดกลมๆ ตรงราวบันได เป็นไม้ ผมก็คิดว่า หลังจากนี้ 14 วัน เราจะไม่ได้เห็นหัวบันไดนี้ ผมจะพยายามจำดีเทลนี้ให้ได้มากที่สุด แล้วรอออกมาดูว่า เราจำได้แค่ไหน
มันก็สนุกดีนะ แต่ถ้าถามว่าอยากให้ลองอีกไหม ผมก็ไม่อยาก อยากกลับบ้าน
คิกว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากเหตุการณ์และสถานการณ์แบบนี้
เรียนรู้ว่าถ้าเรามองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างให้ตลกไว้ ให้จี๊ดๆ มันก็ตลกได้ ให้มองแบบตั้งคำถาม ว่าทำไม ทำไมคนต้องพูดตอบออกลำโพง ในขณะที่เราพิมพ์กับเขาในกรุ๊ปไลน์ เป็นฟอร์แมตที่ส่งไปด้วยตัวอังษร และตอบกลับมาด้วยเสียง ทำไมนะ อ๋อ เพราะพี่เขาน่าจะตอบไลน์ไม่ทัน เพราะคนพิมพ์เยอะ ผมว่าถ้าเราสังเกตเหตุผลของทุกๆ อย่างก็จะมีเรื่องตลก
อีกอย่างนึงที่ได้เรียนรู้ก็คือ หน่วยงานใหญ่ๆ อย่างหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นยุคของใคร เขาจะไม่ค่อยคุยกัน เช่น ต้องขอใบรับรองแพทย์ ที่มีอายุ 72 ชั่วโมง แต่ต้องขอเพื่อไปเอาจดหมายจากสถานทูต และต้องติดต่อสถานทูตก่อน 72 ชั่วโมง หรืออย่างที่พอมาที่นี่ พี่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เขาแจ้งมาว่าจะมาถึง 100 คน แต่พอมาจริงเกือบ 300 คน เราก็งงว่าแต่ละฝ่ายไม่ค่อยได้คุยกันเลย
พอเราเห็นอย่างนี้ เราก็คิดว่า เขาไม่ได้จะหลอกเราก็ได้ แต่เขาไม่คุยกัน แล้วแต่ละหน่วยงานก็โยนพวกเรากันไปมา โดยที่โยนว่าแต่ละฝ่ายจะจัดการอะไรกันว่าไป หน่วยเราทำ่หน้าที่แล้ว เป็นแบบนี้ที่เรารู้สึก
แล้วก็เรียนรู้ว่ากลับไทยสบายใจที่สุดแล้ว อาจจะดูโลกสวยนะ แต่มันคือบ้านของเรา และก็รู้อีกว่า ต่อจากนี้คงจะโพสต์การเมืองไม่ค่อยได้แล้ว เพราะมีคนตามอ่านเยอะประมาณนึง มีกลุ่มพวกเพื่อนพ่อแม่ และเพื่อนของเพื่อนพ่อแม่อีกทีที่มองการเมืองอย่างนึง แล้วพวกเขาก็แอดเฟซมา พอผมไม่รับ พ่อแม่ก็มาบอกให้รับ
เยียวยาตัวเองยังไงในช่วงวิกฤตแบบนี้ ที่เราผ่านมาได้
ช่วงที่เครียดที่สุด คือช่วงที่อยู่นิวยอร์กคนเดียว เพราะว่าตอนเราตื่น คนที่ไทยก็จะหลับกัน ก็พยายามดูหนัง ทำการบ้าน แล้วก็นอน แต่มันก็เครียด ไม่มีมนุษยสัมพันธ์กับใคร ก่อนกลับมาจำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่คุยกับมนุษย์ ก็คือคนส่งพิซซ่า คุยว่า Thank you แค่นี้ คุยคำเดียว อิ่มทั้งวัน ว่าได้คุยกับคน
ที่ผมโพสต์ในเฟซมันก็เป็นชีวิตส่วนเล็กๆ ของผม มันก็ยังมีชีวิตที่คนเขาไม่เห็นบ้าง มันก็มีเรื่องเครียดๆ เข้ามาเยอะเหมือนกัน เวลาเครียดๆ เราก็โทรหาพ่อแม่ เพราะเขาก็จะอยู่ข้างเราเสมอ
ถ้าออกจากศูนย์เฝ้าระวังไปแล้ว กังวลไหมที่จะกลับออกไป
ไม่มีความกังวล เพราะถ้าเรากลับไปบ้าน เราก็ไม่ได้ออกไปไหนเหมือนกัน แล้วก็เราอยู่ที่นี่ ที่สัตหีบ ผมว่าผมมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่อยู่ที่บ้านอีก เพราะผมไปเจอใครไม่ได้เลย อยู่กับแค่รูมเมทของผม และเขาก็จะมาตรวจโควิดให้ก่อนกลับ 2 วัน แปลว่าคนที่ศูนย์นี้ก็จะรู้กันหมดว่าติดโควิดหรือเปล่า เพราะบางคนติดแล้วไม่แสดงอาการก็มี
พอออกไปแล้ว คงเหมือนออกจากคุก โดนปล่อยตัว ผมคิดแค่นี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าคนจะดราม่าอะไรอีกไหม หรือจะออกไปแล้วมีคนมองเป็นความผิดติดไป ว่าเรากลับจากประเทศที่สุ่มเสี่ยง ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
แต่ก็มีกำลังใจอยู่ต่ออีก 1 สัปดาห์ แม้ตอนนี้แม่มาเยี่ยมไม่ได้แล้ว เพราะเหมือนเขาจะปิดการเดินรถ แต่ผมยังอยู่ได้อีก 7 วัน สบายครับ