สมัยยังเป็นเด็กน้อย ใครๆ ก็พร่ำบอกว่าเรียนสูงๆ นะลูกนะ จะได้สบาย เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนกันเข้าไป เรียนกันจนจบปริญญาตรีก็ยังสงสัยว่า ไหนว่าเรียนสูงแล้วจะสบาย นี่เหมือนยิ่งเรียนยิ่งโหดหิน หนทางไปสู่การจบการศึกษาปูไปด้วยน้ำตา
น้ำตาในการเรียนระดับปริญญาตรีก็ประมาณหนึ่ง ถ้าเรายังคงเชื่อว่านี่ไง เรียนสูงๆ ยิ่งสูงยิ่งดี ปูไปสู่อนาคตที่สวยงาม-โอเค การศึกษายังไงก็นำไปสู่การฝึกฝน การเรียนรู้และการเพิ่มพูนความรู้อยู่แล้ว-แต่ใครหลายคนที่เคยผ่านเข้าสู่การศึกษาระดับหลังปริญญาตรี (Grad School) ก็คงพอเข้าใจว่า หนทางในการศึกษาระดับหลังปริญญาตรีนี้…ห่างไกลจากคำว่าสบายนักหนา
เราอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เรียนมันก็คือเรียนไง ก็ขยัน หมั่นเพียร ตั้งใจไป ก็น่าจะสิ้นสุดได้ ทำไมถึงไม่จบกันซักทีอะ ไม่น่ามีอะไรยาก แต่เอาเข้าจริงเงื่อนไขในการเรียนหลังปริญญาตรีดูจะเป็นคนละเงื่อนไข เป็นอุปสรรคคนละแบบกับตอนที่เราเจอในระดับปริญญาตรี การเรียนเพื่อแสวงหาความรู้ ทำวิจัย และการศึกษาในวัยที่เราอยู่ระหว่างการเป็นนักศึกษาและการทำงาน การเรียนในวัยใกล้ 30 และหลัง 30 การเรียนในห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง และความกดดันทั้งจากตัวเอง จากคนรอบข้าง และจากเวลาและเม็ดเงินที่ได้ลงไป
เรา (เหล่านักเรียน ป.โท ป.เอก) ไม่ได้โศกเศร้าและยากลำบากอยู่คนเดียว มีงานศึกษาและสำรวจจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าเหล่านักศึกษาระดับสูงในรั้วมหาวิทยาลัยเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาเหมือนๆ กัน ทั้งการเข้าเรียนแล้วออกกลางคัน การเจอปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะความป่วยไข้ทางจิตใจ ไปจนถึงปลายทางหลังจบการศึกษาที่เรียนตั้งนานนมแล้ว ใช่ว่าตลาดงานจะพร้อมหรือการศึกษาในสถาบันการศึกษาอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานหลังจากจบแล้วเท่าไหร่
เรียนสูงๆ จะไม่สบาย-สุขภาพจิตแย่ลง
นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก มักจะปรากฏตัวพร้อมกับความอ่อนล้า แววตาเศร้าๆ มีงานสำรวจจำนวนมากพบว่าเหล่าคนที่อยู่ในเส้นทางการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษากำลังเผชิญกับวิกฤติทางสุขภาพ โดยเฉพาะทางสุขภาพจิต
คือ ก่อนอื่นเราต้องนึกภาพก่อนว่า เอ้อ คนที่จะเข้าสู่การศึกษาระดับสูงนี่ก็น่าจะเป็นคนที่ได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นคนเละๆ เทะๆ ขนาดที่ Berkeley มหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของโลก ทำการสำรวจและรายงานความสุขและความกินดีอยู่ดีของเหล่านักศึกษาในปี 2014 ยังพบผลที่ขมขื่นว่า มีนักศึกษาระดับปริญญาเอก 47% (เกือบครึ่ง) และปริญญาโท 37% ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อ้างอิงจากการใช้ยา พบแพทย์และอาการต่างๆ จากรายงานพบว่านักศึกษาในสาขาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีปัญหาสูงสุดคือ 64% ในขณะที่ทางสาขาธุรกิจมีปัญหาน้อยที่สุด
ปี 2011 ภาควิชาสังคมศาสตร์ของ University of Texas at Austin สำรวจเด็กบัณฑิตศึกษาจาก 26 มหาวิทยาลัยทั่วอเมริกาพบว่ามีตั้ง 43% บอกว่ามีความเครียดในระดับที่ตัวเองรับมือไม่ไหว กว่าครึ่งของนักศึกษาปริญญาเอกบอกว่าตัวเองมีความเครียดหนักมาก นอกจากนี้ในผลสำรวจ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่ากังวลเรื่องความเครียดและอาการหมดไฟ หนึ่งในสี่บอกว่ามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ มีแค่ 6% ที่บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับที่ปรึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น-ซึ่งความสัมพันธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นแกนสำคัญในการทำวิจัยและวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา
ในทำนองเดียวกันการสำรวจนักศึกษาสาขาจิตวิทยาระดับบัณฑิตศึกษาในปี 2009 ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association survey) พบว่ามี 87% ที่มีอาการวิตกกังวล 68% มีอาการของโรคซึมเศร้า ในขณะที่ 19% บอกว่ามีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
กดดัน คุ้มค่า และโดดเดี่ยว ความลำบากของคนเรียนสูง
Dion Metzger ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการป่วยทางจิตบอกว่าความเครียดและจิตใจที่เจ็บป่วยของนักศึกษาบัณฑิตเป็นความเครียดที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับความเครียดในการทำงาน เธอบอกว่าความกังวลสำคัญอย่างหนึ่งคือความกังวลว่าการลงทุนในการเรียนจะผลิดอกออกผลคุ้มค่ามั้ยนะ ทั้งในแง่ของเงิน เวลา และการที่จะต้องปลีกตัวออกจากสังคมเพื่อนฝูงจากการใช้เวลาเรียนอันยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนี้ดูจะเป็นการลงทุนที่ใหญ่โตและดูจะคุ้มทุนได้ยากพอสมควร
เว็บไซต์ Psychology Today พูดถึงความเชื่อมโยงของการเรียนระดับหลังปริญญาตรีว่าทำไมนะพวกนักศึกษาฉลาดๆ ถึงได้ประสบปัญหาทางสุขภาพใจกันนัก หลักๆ แล้วก็มองเห็นไปในทางเดียวกันกับ Dion Metzger คือ มีปัญหาว่าเรียนไปแล้วจะคุ้มค่าไหม เส้นทางอาชีพหลังการอยู่ในเส้นทางการศึกษาที่ยาวนานดูจะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ กว่าจะจบก็เกือบสามสิบหรือสามสิบกว่าไปแล้ว การเรียนที่ยาวนานทำให้เกิดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ในกระบวนการศึกษาก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความล้มเหลว- เช่น การจากเสนอรายงานผลการวิจัย หลายคนเจอปัญหาเรื่องการเงิน แถมยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาชีวิตกับการทำงาน ปัญหาสุขภาพกาย โรคอ้วน ไม่ได้ออกกำลัง ไม่ได้นอน
ฟังดูรุมเร้าและไม่แปลกที่จะป่วยทั้งกาย ป่วยทั้งใจ-ไม่แปลกที่จะบอกว่าเรียนยิ่งสูงจะยิ่งยากเข็ญ
อ่านถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเลิกเรียนกันเถอะ แต่หมายถึงว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นก็มีปัญหาและความยากลำบากในตัวเอง มีแง่มุมที่เราควรเข้าใจคนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและอาจจะเอามาพิจารณาว่าเราจะเลือกลงทุนในการเรียนต่อดีหรือไม่ ตลาดงานจะโอเครึเปล่า จบแล้วอายุเราแค่นี้จะอยู่ตรงไหน แต่ประโยชน์จากการเรียนในระดับสูง-ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม-ไม่ว่าจะจบการศึกษาหรือไม่ ก็ถือเป็นบททดสอบและเส้นทางการเรียนรู้ที่ดีและสำคัญช่วงหนึ่งในชีวิตแหละเนอะ
เป็นกำลังใจให้นะ