ระยะทางกับความรู้สีกเป็นเรื่องซับซ้อน บางครั้งตัวอยู่แสนห่างไกล แต่ความรู้สึกและความพยายามทั้งหลายก็ทำให้ความสัมพันธ์ของคนสองคนไปรอด แต่บางทีนั่งอยู่ข้างๆ กันแท้ๆ แต่ระยะในหัวใจกลับห่างจากกันแสนไกล
ไกลแค่ไหนคือใกล้-ใครๆ ก็ถาม-ระยะห่างทางกายภาพในที่สุดส่งผลกับระยะห่างของหัวใจแค่ไหน? ในทางปฏิบัติเกิดว่า เอ้อ ความรักของเรามีอันต้องไกลห่าง ใครคนหนึ่งต้องไปทำภารกิจ ไปเรียน ไปทำงาน ไปประจำในที่ห่างไกล หัวใจของเราจะยังคงใกล้กันไหวไหม สุขภาพรักของเราจะไปต่อได้อย่างไร
นักวิชาการเองก็พยายาตอบคำถามที่สำคัญกับหัวใจของเราว่าด้วยระยะทางและความสัมพันธ์ ซึ่งคำตอบดูจะแบ่งออกเป็นสองฟากใหญ่ๆ ฟากที่บอกว่าระยะทางมันสำคัญสิฟะ รักระยะไกลไม่มีจริงหรอก ตัวไกล ใจก็ไกล กับอีกฝั่งบอกว่า ‘โนจ้ะ’ ตรงข้ามกันเลย ยิ่งห่าง ยิ่งรักกันต่างหาก
‘ระยะทางทางกายภาพ’ สำคัญ เมื่อความรักขึ้นอยู่กับภาคปฏิบัติ
นักวิชาการฝ่ายที่บอกว่าระยะห่างเป็นเรื่องสำคัญกับความสัมพันธ์ นักวิจัยสายนี้ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับ ‘ภาคปฏิบัติ’ พอสมควร อาจจะฟังดูเป็นฝ่ายที่โรแมนติกน้อยหน่อย
โดยรวมแล้ววิธีคิดของนักวิจัยฝ่ายนี้บอกว่า เนี่ย พื้นที่-ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์-เป็นเรื่องที่สำคัญแน่นอน จากการสำรวจบอกว่าเรามีแนวโน้มที่จะลงหลักปักฐานกับคนที่อยู่ในย่าน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ยิ่งบ้านอยู่ใกล้กันเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสที่จะรักและพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นคู่ครองกันได้มากกว่า เหตุผลหลักๆ ก็ง่ายๆ อย่างที่เราพอจะคาดได้แหละว่า พอเราอยู่ใกล้กัน โอกาสที่จะเจอกัน ก็เจอกันได้บ่อย จากคนรู้จัก ออกไปไหนมาไหนด้วยกันเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ ความใกล้ชิดก็ค่อยๆ เติบโต กลายเป็นความรู้สึกดีๆ กลายเป็นความรัก
นอกจากนี้หลักการที่ว่าระยะห่างสำคัญและสัมพันธ์กับความรักยังสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องรสนิยมด้วย คือถ้าเราอนุมานว่าคนที่อยู่ในย่านเดียวกัน นอกจากโอกาสจะเจอกันบ่อยแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มาจากสถานะใกล้เคียงกัน มีฐานะและไลฟ์สไตล์ไม่ห่างกันมาก เช่น คนอยู่อยู่ย่านกลางเมืองก็ต้องมีฐานะระดับหนึ่ง ด้วยไลฟ์สไตล์ต่างๆ ก็จะไปด้วยกันได้กับคนในย่านเดียวกัน ลองนึกภาพชาวสุขุมวิทจะไปตกร่องปล่องชิ้นกับชาวรังสิตผู้เดินช้อปปิ้งอยู่ฟิวเจอร์พาร์ค ก็ดูจะเป็นไปได้ยากนิดนึง
ในทางชีววิทยา ความรักมันก็ต้องเกี่ยวข้องกับ ‘ความสัมพันธ์ทางกาย’ ต่างๆ ที่มาช่วยเพิ่มพูนกระชับพื้นที่และเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของเราเอาไว้ ปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ เช่น การกอด การจูบ การสัมผัส ในโลกแห่งความเป็นจริงและในความสัมพันธ์จริงๆ ถือเป็นองค์ประกอบโคตรสำคัญที่เราจะใช้เพื่อรักษาความวาบหวามซาบซ่าของเราไว้ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ความใกล้ชิดของคนสองคนจึงต้องอาศัยความใกล้ชิดทางกายเข้ามาช่วยเพื่อรักษาและปรุงให้รักยืนยาว
‘ยิ่งห่าง ยิ่งรัก’ เมื่อความรักยาก เลยคุ้มค่าที่จะพยายาม
งานศึกษาอีกแนวที่บอกว่า เฮ้ย! ไม่จริงอะ ‘ความใกล้ชิด’ หัวใจของความสัมพันธ์เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ถูกจำกัดแค่ด้วยระยะทางอีกแล้ว แต่ตรงข้าม คู่รักที่เริ่มต้นและต้องเผชิญกับอุปสรรคของความห่างไกล กลับยิ่งใกล้ชิดและรักกันมากกว่าคู่ที่ตัวใกล้กันซะอีก ระยะทางไม่มีผลลบ แถมมีผลเชิงบวกด้วย เพราะมันยาก การพยายามมากกว่าปกติ ภาพความสัมพันธ์แบบระยะไกลมีแนวโน้มจะสวยงามกว่าด้วย
นักวิจัยจาก City University จากฮ่องกง และ Cornell University ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดนี้เมื่อปี 2013 จากการศึกษาคู่รักทั้งแบบปกติและแบบระยะไกล ผลคือกลายเป็นว่ายิ่งไกล คู่รักนั้นยิ่งมีแนวโน้มจะ ‘ใกล้ชิด’ กว่าแบบที่ตัวใกล้กันด้วยซ้ำ ผู้วิจัยสรุปว่า พอตัวยิ่งห่างกัน คนสองยิ่งพยายามรักษาความใกล้ผ่านการสื่อสาร การแชร์ข้อมูลต่างๆ ไปจนถึงพยายามรักษาความใกล้ชิดของทั้งสองให้มีความเป็นอุดมคติมากที่สุดด้วย
อาจจะด้วยงานศึกษานี้ทำขึ้นหลังจากยุคที่เราใกล้กันได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีและการสื่อต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ที่เดี๋ยวนี้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง และพูดคุยกันอย่างแน่นแฟ้นได้แม้ว่าตัวเราจะไม่ได้อยู่ใกล้กัน ความใกล้เลยไม่ได้ถูกจำกัดแค่ระยะทางเหมือนเมื่อกัน
แต่งานนี้ก็อาจจะทำให้เห็นสัญญาณของปัญหาความสัมพันธ์จริงๆ หลังความสัมพันธ์แบบระยะห่างด้วย คือ เหมือนพอเราห่างกันแล้ว เราเองมีความพยายามที่จะบอกว่า นี่ไงมันมีค่า เราเลยมีการจินตนาการถึงความสัมพันธ์ที่อาจจะเป็นอุดมคติกว่า ซึ่งมิติของจินตนาการที่เราสร้างขึ้นเพื่อเติมช่องว่างจากระยะทาง พอถึงหน้างาน เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันจริงๆ อาจจะเกิดปัญหาที่อีกฝ่ายไม่ตรงกับจินตนาการที่แต่ละฝ่ายสร้างไว้ก็ได้ เช่น ตอนเราอยู่ห่างกันเราคิดว่าอีกฝ่ายเป็นแบบหนึ่ง พอเอาเข้าจริงอาจจะเต็มไปด้วยปัญหาและเรื่องจุกจิกที่ไม่ตรงใจ ไม่ตรงกับที่คิดไว้ กลายเป็นว่าความใกล้ก็กลายเป็นปัญหาอีก
เจ้า ‘ความสัมพันธ์’ ของคนสองคนมันก็เป็นเรื่องซับซ้อนแบบนี้ แต่แกนสำคัญคือการที่เราจะรักษาและทำนุบำรุง ‘ความใกล้ชิด’ (closeness) ของเราทั้งสองไว้ได้อย่างไร บางทีความห่างอาจจะเป็นความใกล้รูปแบบหนึ่ง และในทางกลับกันความใกล้อาจจะนำมาซึ่งความห่างไกลก็เป็นไปได้ การปรับตัวของคนสองคนเลยเป็นสิ่งสำคัญ การปรับตัวที่เป็นการบอกว่าเราเห็นค่าของความสัมพันธ์ และเห็นค่าของคนอีกคนเหนือเงื่อนไขใดๆ ที่เรากำลังเจอ ไม่ว่าเราจะอยู่ไกลหรือใกล้กันก็ตาม