กินเมนูเดิมอีกแล้ว ไม่เบื่อเหรอ?
ทำไมยังฟังเพลงนี้อยู่อีกล่ะ ลองเพลงอื่นบ้างดีไหม?
เอ้า! เรื่องนี้ดูแล้วหนิ ดูซ้ำทำไม?
เราเป็น ‘ฝ่ายถาม’ หรือ ‘ฝ่ายถูกถาม’ ด้วยข้อความเหล่านี้มากกว่ากัน?
ถ้าใครเป็น ‘ฝ่ายถาม’ นั่นอาจจะแปลว่าเป็นคนไม่ชอบความจำเจ รักสิ่งท้าทาย และชอบทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และหากเป็นทีม ‘ต้องตอบ’ ก็อาจจะเพราะว่าเป็นคนชอบทำอะไรซ้ำๆ จนคนรอบข้างสงสัยว่าไม่เบื่อเหรอ
แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถามหรือฝ่ายตอบ อยากน้อยๆ ก็สบายใจได้ว่า ยังมีอีกหลายคนที่อยากหาคำตอบถึงการชอบทำอะไรซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือคนรอบข้างอยู่เหมือนกัน
การชอบทำอะไรที่ตัวเองเคยชิน ชอบสั่งกะเพราหมูสับ ไข่ดาวไม่สุกมากินเป็นมื้อเที่ยงเพราะติดเป็นนิสัย ตอนอาบน้ำ ขับรถ หรือออกกำลังกาย ก็ขอแค่ได้ฟังเพลงโปรดที่ฟังมาแล้วเป็นพันครั้ง ก่อนนอนก็อยากหยิบหนัง รายการหรือซีรีส์ที่ดูแล้วขึ้นมาดูใหม่ ทำไมการทำในสิ่งที่ชอบซ้ำๆ ถึงจะไม่โอเคกันล่ะ
แล้วเพราะอะไรเราถึงชอบทำอะไรซ้ำๆ แบบนี้นะ? ชวนไปทำความเข้าใจจิตวิทยาของการชอบจะทำสิ่งเดิมซ้ำๆ เพื่อที่ไม่ว่าเราจะเป็นกลุ่มคนแบบไหน จะชอบสงสัยถึงการทำอะไรเดิมๆ หรือชอบที่จะทำอะไรซ้ำๆ อยู่แบบนั้น จะได้เข้าอกเข้าใจตัวเองและอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น
เพื่อเติมเต็มความคาดหวัง
“นี่คือรอบที่ 5 แล้วที่ฉันดู Reply 1988 จนจบ”
เพื่อนสนิทไม่เคยละความพยายามในการตามตื๊อให้เราเปิดใจดูซีรีส์เกาหลีเรื่องเยี่ยม ในขณะที่เราได้ตั้งแต่สงสัยว่า เพราะอะไรกันน้า ทั้งที่สุดท้ายเรื่องราวก็จบแบบเดิม รู้อยู่ทั้งใจว่าตัวละครทั้งหมดจะลงเอยอย่างไร ทำไมเพื่อนจึงดูอยู่ได้ซ้ำๆ โดยไม่ลดละ
แท้จริงแล้ว เพราะรู้ตอนจบอยู่แล้วนี่แหละที่ทำให้การดูซ้ำ ฟังซ้ำ กินซ้ำ และทำซ้ำเกิดขึ้น เมื่อเราสามารถมั่นใจได้ว่าจะมีความสุขในตอนท้ายสุดของเรื่องราว เราจึงโหยหาสิ่งเดิมๆ ที่เรารู้จักดีมาเป็นกาวน์ใจเพิ่มความสุข ไม่ใช่ทุกคนที่อยากตื่นเต้นลุ้นระทึกกับเรื่องที่ไม่รู้ตอบจบ บางครั้งเราก็คาดหวังสิ่งที่คาดเดาได้เพื่อความสบายใจอันเรียบง่ายก่อนนอน เรื่องนี้สังเกตได้จากการที่ช่วงปลายปีที่ยุโรปหรืออเมริกา หนังคลาสสิกเรื่องเยี่ยมจะถูกขนมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ผู้ชมก็ไม่เคยบ่นเบื่อ
ถึงวันนี้ ภาพยนตร์เพลงจากปี 1965 อย่าง The Sound of Music ถูกนำกลับมาฉายทางโทรทัศน์ที่เบลเยี่ยมช่วงคริสต์มาสไม่น่าจะต่ำกว่า 10 ปีติดต่อกันเป็นที่เรียบร้อย
เพราะในสิ่งเก่ามีเรื่องราวใหม่
ต่อให้ไปวิ่งที่เดิมทุกวัน ดูหนังเรื่องเดิมทุกคืน กินเมนูประจำทุกเที่ยง แต่ท่ามกลางความจำเจเหล่านี้ รายละเอียดอันสดใหม่ยังเฝ้ารอให้คนที่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ออกไปสำรวจเสมอ สวนเก่าซึ่งเราวิ่งผ่านยังมีดอกไม้ใบหญ้าที่กาลเวลาซุกซ่อน รอให้เราวิ่งมาเจอในสักวัน วิ่งวนอยู่หลายปี วันดีคืนดีเราก็ได้เจอต้นไม้สวยๆ ที่เรามองข้าม ไม่เคยเห็นมาก่อน นี่เองคือความสุขใจอันแปลกใหม่ภายใต้การทำอะไรเดิมๆ
ข้ามไปที่โลกการอ่าน วรรณกรรมฝรั่งเศสก้องโลกจากปลายปากกาของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) อย่าง Le Petit Prince หรือ เจ้าชายน้อย ก็ได้รับการกล่าวขานในฐานะหนังสือซึ่งมอบความรู้สึกที่แตกต่างเมื่อเปิดอ่านในแต่ละช่วงวัย
วัยเด็กเราจะเข้าใจเนื้อหาบนหน้ากระดาษแบบหนึ่ง ขณะที่วัยรุ่นกลับกลายเป็นอีกแบบ และเมื่อบรรจงลิ้มลองอีกครั้งตอนที่เติบโต เราจะได้พบชิ้นส่วนและข้อคิดซึ่งสองครั้งหรือหลายครั้งก่อนหน้าไม่เคยสังเกตหรือเข้าใจมาก่อน
เพราะคุ้นจนมีใจ
Mere-Exposure Effect คือทฤษฎีที่อธิบายว่า คนซึ่งเคยใช้ประสาทสัมผัสรับรู้บางสิ่งบางอย่างมาก่อน มักมีแนวโน้มที่จะยอมรับ ให้ความสำคัญ หรือกระทั่งหลงรักสิ่งนั้นได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอาจเกิดขึ้นโดยที่เราเองไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างภาพชัดๆ อย่างช่วงแรกที่ฟังเพลงออกใหม่ เราอาจจะยังไม่ถูกใจ แถมมองว่านี่ก็เป็นแค่เพลง ‘ธรรมดา’ อีกเพลง ทว่าเมื่อเปิดวนไปเรื่อยๆ จู่ๆ เนื้อร้องก็ค่อยๆ คล้องกับความในใจ ตัวโน้ตมากมายพากันขับกล่อมเข้าไปในหู รู้ตัวอีกที กลายเป็นว่าเราขาดเพลงนั้นไม่ได้ไปเสียแล้ว
หรือในเส้นทางของความรัก หลายครั้งเขาหรือเธอก็ไม่ใช่คนที่เราเห็นแล้วตกหลุมรักแต่แรกพบ ออกไปทางไม่ชอบหน้าเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะได้เจอกันบ่อยๆ คุยกันไปเรื่อยๆ จีบกันทีละนิด จากที่ช่วงแรกเคยรำคาญ พอไม่ได้เจอนานกลับกลายเป็นการคิดถึงซะงั้น ทำนองที่ว่า น้ำหยดลงหินทุกวัน ทีแรกหินบอกพอเถอะ แต่เมื่อน้ำหยุดหยด หินจึงได้รู้ว่าตัวเองกร่อนไปตั้งนานแล้ว
หลักการของความไม่พยายาม
หลายคนมองว่าการอยู่แต่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ผ่อนคลายจิตใจตลอดเวลาโดยไม่ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยเลยคือความขี้เกียจ
ในทางหนึ่งก็อาจมองเช่นนั้นได้ แต่หากมองอย่างเป็นกลางมากขึ้น จริงๆ แล้วนี่คือข้อเท็จจริงพื้นฐานตามวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพราะเราถูกผูกติดกับสิ่งที่เรียกว่า The Principle of Least Effort หรือความต้องการที่จะใช้พลังงานให้น้อยที่สุดในทุกเรื่อง
หลักการนี้ไม่ใช่ความขี้เกียจ หากแต่เป็นสัจธรรมที่ชี้ว่าลึกๆ แล้วมนุษย์เรารักสบาย (แหงล่ะ ใครจะอยากลำบากกัน) ซึ่งหลายครั้งความสบายของเราก็มาในรูปแบบของการเอาตัวเข้าไปอยู่ในที่ๆ เราคุ้น ไปนั่งยังคาเฟ่เดิม เล่นเกมแบบเดิม กินของหวานจานเดิม ฯลฯ
มากไปกว่านั้น หลายครั้งที่อยากลองสิ่งที่ไม่เคยทำมันก็ยาก หากไม่กินบิงซู แล้วต้องเลือกระหว่างไอติมกับบัวลอย เราจะเลือกอะไร จะรู้ได้ยังไงว่าตัวเลือกนั้นดีกว่า แบร์รี สวาร์ตซ์ (Barry Schwartz) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันลงความเห็นว่า ยิ่งมีตัวเลือกมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งพอใจกับตัวเลือกน้อยลงเท่านั้น นั่นคือความขัดแย้งของทางเลือกหรือ The Paradox of Choice ที่ทำให้เราวิตกกังวล ไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าหากเลือกสิ่งนี้แล้วจะดีกว่าสิ่งนั้นหรือไม่ จนแล้วจนรอดจึงนำไปสู่การหลีกเลี่ยงทางเลือกซึ่งเราต้องพยายามเลือกในที่สุด
เมื่อประกอบกับการต้องใช้ชีวิตในยุคที่ทุกสิ่งเร่งรีบและสังคมเรียกร้องความโปรดักทีฟจากเรามากกว่าที่เคยเป็นมา แทนที่จะเสียเวลาไปกับเลือกและลองของใหม่ สู้ใช้เวลาร่วมกับของเก่าที่เข้าใจน่าจะดีกว่าเยอะ
ไม่แปลกเลยที่หลายคนจะไม่อยากพยายามเกินจำเป็น เพราะจากที่เห็นกันทุกวันนี้ เรายังเหนื่อยไม่พออีกเหรอ…
ความหวนคิดถึงอดีต
สำหรับคนต่างจังหวัดผู้เข้ามาอาศัยในเมืองกรุง ทุกครั้งที่กลับบ้าน ทั้งที่ไม่เคยติดใจรสชาติ เราก็มักจะกลับไปร้านอาหารเจ้าเก่าที่เคยกินในวัยเด็กเสมอ บางครั้ง การที่เราเลือกทำสิ่งเดิมก็ไม่ได้เป็นเพราะมันคือสิ่งที่เรารัก แต่เราทำเพราะมันพาให้เรานึกถึงสิ่งอื่นที่เรารักต่างหาก
เราจำได้ดีว่าเคยมาที่นี่พร้อมใคร ดูหนังเรื่องนี้โดยมีคนในใจนั่งข้าง ๆ เคยส่งเพลงนี้ให้เพื่อนร่วมห้องที่แอบชอบ เคยกินหมูกรอบสูตรคุณย่าที่เสียชีวิตไปแล้ว…
บางที เราอาจไม่ได้หลงรักสิ่งเดิมๆ เพียงแต่เราคิดถึงช่วงเวลาและความทรงจำเดิมๆ ที่เคยมีร่วมกับใครบางคน
และที่ก็คือ 5 สมมติฐานที่อาจช่วยให้คนที่สงสัยใคร่รู้ได้เข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมคนรอบตัวของคุณจึงถูกใจการทำในสิ่งเดิมๆ เมื่อการทำในสิ่งเดิมๆ ของใครสักคนก็เป็นแค่ความแตกต่างในการใช้ชีวิตของแต่ละคน
ในขณะเดียวกัน แม้การยึดติดกับสิ่งที่รักจะไม่ใช่เรื่องแย่ และไม่แปลกที่การทำอะไรซ้ำซากช่วยให้เราเป็นสุข แต่หากมีความกล้าและโอกาสมากพอก็อย่าลืมก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง เพราะโลกนี้อาจมีหนัง เพลง อาหาร และสถานที่อีกมากให้เราหลงรัก เพียงแต่เรายังไม่รู้เท่านั้น
แต่ ณ วันนี้ ใครที่ยังชอบทำอะไรเดิมๆ อยากให้ตัวเองผ่อนคลายจากโลกอันวุ่นวาย ก็สามารถแวะเข้ามาอ่านบทความนี้ซ้ำกันได้ เพราะเราตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าอยากให้ถ้อยคำเหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน อ่านวันนี้คุณอาจจะรู้สึกแบบหนึ่ง อ่านพรุ่งนี้ บางทีคุณอาจจะรู้สึกไม่เหมือนเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก