ต้นไม้กลายเป็นสีดำ สัตว์ป่าพากันหนีตาย และควันไฟที่คละคลุ้งทั่วท้องฟ้า
#saveภูกระดึง #saveเชียงใหม่ #saveAustralia #saveAmazon
แฮชแท็กต่างๆ ที่พุ่งขึ้นมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จากข่าวไฟไหม้ที่ทำลายพื้นที่ป่าทั้งหลายไปอย่างมหาศาล เผาที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ให้หายไปมากมาย สร้างความสะเทือนใจให้เราได้เป็นอย่างดี
ทุกคนต่างรู้ดีถึงความเสียหายต่อพื้นที่ป่า และสิ่งมีชีวิตที่อาจตายจากเหตุเพลิงไหม้ แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้หลายคนสงสัยก็คือ แล้วเพลิงที่ลุกไหม้อยู่ในเขตป่านั้น มันจะส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไรบ้าง?
ไฟป่ามาจากไหน เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง?
ก่อนอื่น ขอเริ่มกันที่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับไฟป่าก่อน
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ไฟป่า คือไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น ใบไม้แห้ง เศษดิน กิ่งไม้ แต่เพลิงไหม้เหล่านี้จะลุกลามไปอย่างต่อเนื่อง เป็นอิสระ และไร้ซึ่งขอบเขต หรือก็คือไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง
ไฟป่าจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมแห่งไฟ (Fire Triangle) ซึ่งหากขาดองค์ประกอบไหนไป ไฟป่าก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะดับลงได้ โดยองค์ประกอบ 3 อย่างหลักๆ ก็คือ
- เชื้อเพลิง หรือก็คืออินทรียสารที่ติดไฟได้ เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ วัชพืชต่างๆ
- อากาศ คือ แหล่งสะสมออกซิเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้ติดไฟ ทั้งยังเป็นองค์ประกอบหลักของอากาศ ซึ่งในป่าก็มีออกซิเจนกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละจุดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการผันแปรของความเร็วและทิศทางลม
- แหล่งความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่า หรือก็คือสาเหตุของการเกิดไฟป่า ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งแบบที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ เช่น การเผาเพื่อทำฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งบางครั้งก็เลยเถิดไปไกลจนควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นไฟป่าขนาดมหึมา อย่างกรณีไฟป่าแอมะซอน เมื่อปี ค.ศ.2019 หรือจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การเสียดสีกันของกิ่งไม้ ฟ้าผ่า หรือแสงแดดเกิดตกกระทบผลึกหินหรือส่องผ่านหยดน้ำ ต่างก็เป็นชนวนให้เกิดไฟป่าได้
ถึงหน้าตาของไฟป่า จะเป็นเปลวเพลิงร้อนๆ ที่พร้อมแผดเผาทุกสิ่งเหมือนกัน แต่ไฟป่าเอง ก็มีการแบ่งประเภทไว้เช่นกัน โดยแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
- ไฟใต้ดิน (Ground Fire) คือ ไฟที่ลุกไหม้อินทรียวัตถุใต้พื้นดินของป่า มักก่อตัวในป่าเขตอบอุ่นบนพื้นที่สูง ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ และมีอินทรียวัตถุอยู่บนหน้าดินเป็นจำนวนมาก ทำให้ไฟป่าชนิดนี้เผาลึกลงไปใต้ดินได้ และจะไม่เกิดเป็นเปลวเพลิงขนาดใหญ่ ดังนั้น ไฟป่ารูปแบบนี้จึงตรวจพบได้ยาก อีกทั้ง การเผาไหม้ที่ลงไปถึงใต้พื้นดิน ยังสามารถเผารากของต้นไม้ จนทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายได้
- ไฟผิวดิน (Surface Fire) ไฟป่าชนิดนี้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ป่าของโลก และความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเชื้อเพลิง ลักษณะการลุกลามจะไปตามพื้นดิน ซึ่งโดยมากแล้วจะไม่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ตาย แต่ก็อาจลดอัตราการเติบโตของต้นไม้ และทำให้ต้นไม้อ่อนแอได้
- ไฟเรือนยอด (Crown Fire) เป็นไฟที่ลุกลามจากยอดไม้ต้นหนึ่ง ไปสู่อีกต้นหนึ่ง สมดังชื่อของไฟป่าชนิดนี้ มักก่อตัวในพื้นที่ป่าสนเขตอบอุ่น ลุกลามรวดเร็ว และมีความสูงของเปลงเพลิง 10-50 เมตร จึงเป็นอันตรายอย่างมาก นอกจากนี้ อาจมีลูกไฟที่กระเด็นลงมาตามผิวดินไปพร้อมกันได้อีกด้วย
ไฟไหม้ในป่า คนในเมืองเดือดร้อนไหม?
จิงโจ้หนีไฟป่า โคอาล่ากระหายน้ำ
เมื่อพูดถึงไฟป่า สิ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือเหล่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทั้งหลาย ซึ่งเหตุการณ์เพลิงไหม้ออสเตรเลียที่เป็นข่าวดังข้ามปีที่ผ่านมา ก็มีการประมาณการณ์ว่าสัตว์ป่าได้รับผลกระทบกว่าหลายล้านตัว ทั้งที่ตายจากควันและไฟป่าโดยตรง และสัตว์ที่จะค่อยๆ ตายตามไป เพราะสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหาร
แต่หลายคนก็อาจสงสัยว่า ไฟป่าจะเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร? เพราะเพลิงไหม้เหล่านั้นเกิดในพื้นที่ป่า ไม่ได้ส่งผลลุกลามมายังตัวเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่
ข้อมูลจาก National geographic ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้คนราว 339,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันและไฟป่า โดยเฉพาะในแถบเอเชียและทะเลทรายซาฮารา รวมไปถึงฝุ่นและอนุภาคในอากาศ
แม้ภัยจากไฟป่าของคนในเมือง จะไม่ได้มาในรูปแบบของเปลวเพลิงโดยตรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากไฟป่าที่เห็นกันได้อย่างชัดเจนคือ เขม่า ควันและฝุ่น โดยเฉพาะฝุ่นแบบที่เรารู้จักกันดีอย่าง PM 2.5 นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น PM 2.5 ที่คนในภาคเหนือเผชิญมายาวนาน ซึ่ง ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่นควันในภาคเหนือเกิดจากได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่งในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจากการดูแผนที่ แสดงให้เห็นว่า การเผาไหม้อยู่ในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร
ผศ.ดร.สมพร อธิบายเพิ่มด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการเผาในพื้นที่เกษตรแล้วลามไปยังพื้นที่ป่า
อย่างที่ทราบกันดีว่า PM 2.5 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของเรามากที่สุด ในบรรดามลพิษทางอากาศโดยทั่วไป เพราะมีขนาดเล็กมากๆ จนสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และไปทั่วทั้งร่างกายของเราได้
อีกทั้ง ข้อมูลจาก State of Global Air ระบุว่า PM 2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยประมาณ 37,500 ราย ถือว่าเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข ที่เด็ก คนสูงวัย และกลุ่มประชากรเสี่ยงในสังคมได้รับผลกระทบมากที่สุด
หรืออย่างกรณีไฟป่าออสเตรเลียครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อเหตุการณ์ไฟป่า จากชาวออสเตรเลีย 1,000 คน ในช่วงวันที่ 8-12 เดือนมกราคม ปี ค.ศ.2020 ของ The Australia Institute ระบุว่า มีประชากรกว่า 57% ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไฟป่าและควันไฟ
แบบสำรวจนี้ถามถึงประสบการณ์ที่ได้รับของผู้คน จากเหตุไฟไหม้ในช่วง 3 เดือน ซึ่งกว่า 33% ตอบว่า เขาต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เช่น ไปวิ่งออกกำลังกายไม่ได้ เด็กๆ ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ขณะที่ 26% ระบุว่า พวกเขามีปัญหาสุขภาพจากฝุ่นควัน
นอกจากนี้ มีชาวออสเตรเลียอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้ พื้นที่ทางธุรกิจต้องหยุดชะงัก ออกไปทำงานไม่ได้ บางคนก็ต้องทนอยู่ในบ้าน หรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยแล้ว
โลกร้อนมีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด?
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสงสัยกันก็คือ ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อย และส่งผลอย่างรุนแรงนี้ มีผลมาจากภาวะโลกร้อนด้วยหรือไม่?
แม้ว่าอุณหภูมิที่พุ่งสูงในช่วงฤดูร้อน และไฟป่าที่ตามมานั้น มีผลเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลักดันแนวโน้มจะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ข้อมูลหลายแห่งก็ระบุว่า ภาวะโลกร้อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเท่านั้น มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่าได้อีก เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันมากๆ ด้วยก็คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนับวัน ปัญหานี้จะยิ่งส่งผลกระทบที่เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
ริชาร์ด เบ็ตต์ส (Richard Betts) ศาสตราจารย์จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาแฮดลีย์ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือสัญญาณบ่งชี้ถึงการกลายเป็น ‘ภาวะปกติ’ ในอนาคต เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส
โดยนักวิจัยในสหราชอาณาจักรวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยศึกษาจากงานวิจัย 57 ฉบับ ที่เผยแพร่หลังจากมีรายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.2013
ข้อมูลที่เราค้นพบ ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับความถี่และความรุนแรงที่จะเกิดสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการเกิดไฟป่า ซึ่งหมายถึงช่วงที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นต่ำ ฝนตกน้อย และมีลมแรง
ดังนั้น ถึงจะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไฟที่ไหม้อยู่ในป่าจะไม่ส่งผลกระทบมาสู่คนที่อยู่ในเมือง และอนาคตของสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้
อ้างอิงจาก