ทุกๆ ปีจะมีช่วงที่เราเจอกับฝันร้าย เมื่ออากาศไม่สะอาดและขอบฟ้ากลายเป็นของฝุ่นขนาดเล็ก การใช้ชีวิตกลางแจ้งที่เคยเป็นอิสระของเรายุติลงชั่วคราว คำแนะนำด้านสุขภาพบอกกระทั่งว่าให้อยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงกระทั่งการเปิดหน้าต่างเพราะอากาศที่เคยสะอาดสกปรกเกินไป
ภาพของกรุงเทพหรือที่ไหนๆ กลายเป็นภาพของเมืองแห่งอนาคตที่เราๆ เคยดูในหนัง เมืองที่ขมุกขมัวไปด้วยมลพิษ เมืองและโลกที่ไม่ได้มีเงื่อนไขเหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ภาพต่อๆ มาคือหรือนี่เราอยู่ในหนังวันสิ้นโลก วันที่หน้าตาของการใช้ชีวิต หน้าตาของเมือง ของที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป หรือเราต้องสร้างให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ภายในขนาดใหญ่ มีระบบฟอกอากาศ ภาพของเมืองที่ปิดตัวเองออกจากสภาวะภายนอก ภาพของเมืองที่คลุมด้วยโดมยักษ์อาจเป็นภาพเมืองที่เราต้องสร้างขึ้นเพื่ออยู่ในสภาวะอากาศเสียได้
เมืองโดมครอบ หรือ Domed City เป็นสิ่งที่เราอาจจะเคยเห็นหนัง ในการ์ตูน เป็นภาพของเมืองใต้ทะเลบ้าง ภาพอาณานิคมบนดาวอื่นๆ บ้าง เมืองครอบโดมเป็นจินตนาการหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เรานับตั้งแต่ที่เราเริ่มมีนวัตกรรมความก้าวหน้าที่สามารถออกแบบโดมทรงกลมด้วยการออกแบบและเทคโนโลยีคือเหล็กและกระจก พร้อมๆ กับเป็นตอนที่เราเริ่มมองไปยังอนาคตว่าอนาคตของเราอาจไม่สดใสนัก
โดมในฐานะสิ่งประดิษฐ์และความก้าวหน้าของเราก็อาจเป็นหนทางในอยู่รอด ไม่ว่าจะสร้างโดมครอบหรือใช้ในการย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น อันที่จริงเคยในระดับผังการพัฒนาเมือง ที่เมืองมินนิสโซต้าประเทศสหรัฐเคยมีข้อเสนอให้สร้างเมืองครอบโดมขนาดยักษ์เป็นเมืองใหม่ในทศวรรษ 1960 ซึ่งเกือบได้สร้างจริง แถมในปัจจุบันที่ดูไบก็กำลังทำเมืองทดลองเพื่อสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร เป็นเมืองครอบโดมในทะเลทราย
Dome- Sphere นวัตกรรมศตวรรษ 19 สุดยอดโครงสร้างของมนุษย์
ทุกวันนี้แม้ว่าโดมกระจกจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เราเข้าใจได้ เคยเห็นแล้วเช่นที่ศูนย์พฤกษศาสตร์ หรือล่าสุดคือสำนักงานของ Amazon ที่ออกแบบเป็นลูกบอลกระจกยักษ์ที่ภายในเต็มไปด้วยพืชพรรณ การที่เราสามารถออกแบบและสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่เป็นกระจกและเป็นทรงกลมนับเป็นความก้าวหน้าของอารยธรรมเราที่น่าภูมิใจที่สุดอย่างหนึ่ง
โดมเป็นนวัตกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษย์ในช่วงศตวรรษที่ 19 ส่วนหนึ่งการออกแบบโดมกระจกมีที่มาจากวงการพฤกศาสตร์ คือเป็นยุคที่ตะวันตกเริ่มสำรวจและนิยมสร้างโรงเรือนหรือเรือนกระจกของตัวเองไว้ เช่นการออกแบบและสร้างเรือนกระจกเพื่อเพาะและจัดแสดงปาล์ม (Palm House) ที่คิวการ์เดนของลอนดอนในปี 1844 ที่อาคารเรือนกระจกด้วยนวัตกรรมเหล็กและกระจกทำให้สามารถสร้างโครงสร้างเหล็กที่โค้งรับกระจกใสบางได้ ทำให้อาคารรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
หลังจากนั้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่แรก ในทศวรรษ 1920 วิศวกรเยอรมันทดลองออกแบบโดมทรงกลมเพื่อใช้ฉายโปรเจคเตอร์และสร้างเป็นโดมขนาดเล็กได้สำเร็จ โดมดังกล่าวมีโครงสร้างที่ต่อมา Buckminster Fuller เรียกว่าเป็น geodesic คือเป็นการออกแบบโครงสร้างกลมที่มีโครงสานขึ้นจากรูปทรงสามเหลี่ยม ฟูลเลอร์ลงมือทดลงสร้างโดมในทศวรษ 1940 และได้สิทธิบัตรในปี 1954 หนึ่งในผลงานสำคัญของฟุลเลอร์ที่ยังคงอยู่คือโดมกระจก Montreal Biosphère ที่แคนาดา แรกเริ่มเป็นพาวินเลียนของอเมริกาในเอ็กซ์โปปี 1967 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สิ่งแวดล้อม
ดังนั้นด้วยความน่าหลงใหลและความน่าภูมิใจของโดมที่ชาญฉลาด เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี โลกก็สร้างโดมขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในพื้นที่ที่มีนัยทางนวัตกรรมและใช้ในบริบทเฉพาะต่างๆ รวมถึงจุดมุ่งหมายเดิมของมันคือการสร้างพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่โดมมีจุดเด่นตรงความโปร่งใส ปล่อยให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้ แต่ในขณะเดียวกันภายในโดมกลับเป็นพื้นที่ปิด เป็นพื้นที่ที่มนุษย์สามารถควบคุมสภาวะภายในโดมได้อย่างอิสระทั้งความชื้น อุณหภูมิและอื่นๆ
เมืองครอบโดม กับอนาคตที่ไม่ค่อยดีนัก
เมืองครอบโดมในจินตนาการแห่งแรกมีมาก่อนที่เราจะประดิษฐ์โดมทรงกลมเกือบร้อยปี ในระดับความคิด นักคิดจินตนาการภาพเมืองในอนาคตที่มีความเป็นอุดมคติโดยมีเมืองครอบโดมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ในปี 1808 นักปรัชญาและนักสังคมนิยม ชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) วาดภาพเมืองในอุดมคติเรียกว่า Phalansteres ให้ภาพเป็นเมืองที่ครอบด้วยโดมแก้ว ในปี 1822 นักพฤกษศาสตร์และนักคิดชาวสก๊อต จอห์น คลาวดิอุส โลดอน (John Claudius Loudon) ก็จินตนาการภาพเมืองครอบแก้วและเสนอภาพการใช้เมืองในพื้นที่ตอนเหนือที่มีสภาวะอากาศหนาวเย็นและเลวร้ายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต
ในช่วงปลายศตวรรษภาพของเมืองครอบโดมปรากฏในนวนิยายไซไฟด้วยคือ Three Hundred Years Hence เผยแพร่ในปี 1881 ลักษณะค่อนข้างสอดคล้องกันคือเป็นโลกอนาคตที่เป็นอุดมคติ เมืองในอนาคตที่มนุษย์ไปอยู่ใต้ทะเลในโดมใหญ่และใช้พื้นที่บนโลกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตรงนี้เองที่อาจจะมีความยอกย้อนระหว่างโลกนวนิยายคือโลกจินตาการกับโลกความจริง มีข้อเสนอว่าภาพของเมืองในโดม และโดมค่อยๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแห่งอนาคต จินตนาการของอนาคตนั้นค่อยๆ มามีอิทธิพลต่อนวัตกรรมและสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นโดมได้จริงในอีกร้อยปีให้หลัง
หลังจากเรามีโดม วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของเราก้าวหน้า ความน่าสนใจคือเรามักจะมองเห็นว่าอนาคตของเราอาจจะไม่สดใสเหมือนที่โลกวิทยาศาสตร์เสนอ โดมยักษ์ต่อมามักกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพอนาคตแบบฝันร้ายหรือ Dystopia มนุษย์เราวาดภาพเมืองที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ เป็นพื้นที่หลบภัยจากสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน จากสงครามหรือปัญหาความวุ่นวายของโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในภาพเมืองครอบโดมนั้นก็มักจะโยงกับมุมมองเชิงลบ แน่นอนว่าสัมพันธ์กับการที่โลกไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย เมืองในโดมมักสัมพันธ์กับการอพยพ การที่โลกล่มสลายและกลายเป็นพื้นที่ของการกีดกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในโดมได้
เมืองทดลอง และโดมกลางทะเลทรายที่กำลังสร้าง
ด้วยเงื่อนไขของเมือง คือเมืองใหญ่กลายเป็นพื้นที่ของปัญหา เป็นพื้นที่มลพิษ เมืองที่มีแออัดจนเกินไป ในยุคที่อารยธรรมรุ่งเรืองและสร้างปัญหาไปพร้อมๆ กัน ในช่วงนั้น โดมเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่และอาจทำให้จินตนาการของความเป็นอยู่เป็นจริงได้ คือรัฐและนักคิดเสนอให้สร้างเมืองในโดมกันอย่างจริงจัง และในทุกวันนี้นาซาเองในความร่วมมือกับดูไบก็กำลังสร้างเมืองครอบโดมในทะเลทราย เพื่อทดสอบเมืองใหม่ที่จะเป็นต้นแบบของเมืองบนดาวอังคารต่อไป
การวาดฝันว่าโดมกระจกจะใหญ่และกลายเป็นเมืองในอนาคตอย่างจริงจัง ในปี 1969 ตัวพ่อผู้สร้างโดมคือ บักมินสเตอร์ ฟุลเลอร์ (Buckminster Fuller) เองก็เสนอและคิดว่าโดมจะเป็นทางออกหนึ่ง และเราอาจสร้างโดมยักษ์ขึ้นครอบในระดับเมืองได้ บักมินสเตอร์เคยเสนอให้สร้างโดมกินพื้นที่ 3 กิโลเมตร ทำด้วยกระจกสูง 1.4 กิโลเมตรครอบบางส่วนของเกาะแมนฮัตตัน ภาพจำลองของบักมินสเตอร์ขยายจินตนาการของสถาปัตยกรรมและเมืองออกไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์ คือการที่โครงสร้างแบบหนึ่งอาจใช้เพื่อแก้ปัญหา เป็นพื้นที่ปิดที่ปลอดภัยจากสภาวะอากาศ เย็นสบายในหน้าร้อน อบอุ่นในหน้าหนาว ป้องกันมลพิษ
นอกจากภาพจินตนาการแล้วบักมินสเตอร์ ฟุลเลอร์เองก็กำลังวิจารณ์บริบทสังคมที่สร้างมลพิษผ่านการใช้พลังงานฟอซซิล และกำลังวาดแนวทางรับมือกับปัญหาร่วมสมัย ซึ่งฟุลเลอร์เองก็เสนอข้อเสนอเรื่องโดมในมุมที่จริงจัง คือมีการวางแนวทางที่จะสร้างโดมขนาดใหญ่ ราคาค่าก่อสร้าง แนวทางการจัดการ ขั้นตอนการสร้างและข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆ ไว้ให้ด้วย มีการคำนวนกระทั่งค่ากวาดหิมะทดไปที่ค่าก่อสร้างโดมยักษ์
จากโดมยักษ์ในที่แมนฮัตตัน ในช่วงทศวรรษเดียวกันคือช่วงปลายทศวรรษ 1960 ที่เมืองมินนิสโซตา (Minnesota) เองก็มีแผนจะลงมือสร้างเมืองครอบโดมขึ้นเป็นเมืองใหม่ แต่ที่มินิสโซตาทางเมืองได้แรงบันดาลใจการ์ตูนของนักคิดชื่อ Dr. Athelstan Spilhaus ซึ่งในการ์ตูนและในแผนความคิดของ Spilhaus ซึ่งเป็นนักคิดและเป็นอดีตคณบดีของสถาบันเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมินนิสโซตา
ภาพเมืองนั้นเป็นเป็นสุดยอดเมืองแห่งอนาคต คือเป็นเมืองในโดมที่อันที่จริงเป็นเหมือนคำทำนายเมืองที่ดีในฝัน ตัวเมืองมีแนวคิดความยั่งยืน เป็นเมืองไร้มลพิษ มีระบบขนส่งเป็น pod คือเป็นรถยนต์วิ่งไปมาในราง รับส่งผู้อยู่อาศัยตามความต้องการ ในเมืองมีการรีไซเคิล ทุกหลังคาเรือนมีคอมพิวเตอร์และโครงข่ายที่เชื่อมเข้าหากัน(เหมือนอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน)
ทีนี้เมืองดังกล่าวกลายมาเป็นแผนการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาจริงๆ เรียกว่าเป็น MXC หรือเมืองทดลองแห่งมินนิสโซต้า (Minnesota Experimental City) วางแผนจะสร้างในพื้นที่ป่า Swatara Forest ตามแผนเมืองนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของคนราว 250,000 คน ใช้งบสร้างหนึ่งหมื่นล้านดอลลาห์ในยุคนั้น เงินทุนดังกล่าวเอกชนจะลงทุน 80 ส่วน 20 รัฐเป็นผู้อุดหนุน ตัวเมืองจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทดลองด้านนวัตกรรมขนาดใหญ่ในทุกๆ ด้าน ทั้งสภาวะอากาศ เทคโนโลยี การสื่อสาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในปลายทศวรรษ 1960 โครงการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐแล้ว 250,000 ดอลล่าห์และระดมทุนจากเอกชนได้ 670,000 ดอลล่าห์ แต่ในทศวรรษต่อมา การสนับสนุนจากรัฐก็ลดน้อยลง ประกอบกับประชาชนรอบๆ พื้นที่ของเมืองใหม่มีการประท้วงต่อต้านโปรเจคเมืองในโดมจนทำให้เป็นอันยุติการลงทุนไป
สุดท้าย เมืองในโดม ในห้วงเวลาและในมือของสตูดิโอออกแบบคือ BIG หรือ Bjarke Ingels สตูดิโอสถาปัตยกรรมที่ขยายนิยามและการใช้งานพื้นที่ที่ตอนหลัง BIG มาทำงานในระดับเมือง และบางส่วนสัมพันธ์กับการสร้างที่อยู่อาศัยในบริบทต่างๆ เช่นเมืองลอยน้ำ หนึ่งในโปรเจ็กต์ของ BIG ในตอนนี้คือการทำงานร่วมกับดูไบในการสร้างเมือง Mars Science City เป็นเมืองกึ่งวิทยาเขตของสถาบันทางวิทยาศาสตร์ หลักๆ แล้วดูไบมีความฝันจะไปสู่อวกาศเหมือนกัน
ในความร่วมมือกัน ทาง BIG เสนอโมเดลเมืองในโดมกระจกและใช้บริบททะเลทรายในการทดลองสร้างเมืองและระบบนิเวศของเมืองที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย หลักๆ แล้วจะเป็นพื้นที่เมืองที่ใช้ทะเลทรายเป็นบริบทจำลองเลียนบรรยากาศของดาวอังคาร ในเมืองจะเน้นการออกแบบและการทดลองระบบต่างๆ เรื่องน้ำ การผลิตอาหาร การจัดการอุณหภูมิ ไปจนถึงการออกแบบมิติทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อการอยู่อาศัย ตัวโปรเจคเป็นทั้งการทดลองและมองหาความเป็นไปได้ของการตั้งถิ่นฐานในบริบทอวกาศ และเป็นการแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยในบริบทที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปใบโลกใบนี้เองด้วย
ความน่าสนใจของโดม คือจากจินตนาการตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จนถึงโดมที่สร้างได้จริง เรื่อยมาจนถึงภาพโลกและเมืองที่ทรุดโทรมลงจนโดมอาจเป็นทางเลือกจำเป็น จากเมืองที่คล้ายซิลิคอนวัลเล่ในโดมยักษ์ถึงโดมที่มาผุดในนามของอเมซอนในซิลิคอนวัลเล่ ภาพของโดมที่ผุดขึ้นในใจเราเมื่ออากาศทั่วไปหายใจไม่ได้ โดมกระจก และเมืองในโดมใหญ่ดูจะเป็นทั้งความน่าหลงใหล ความภูมิใจของภูมิปัญญาและเทคโนโลยี
หรือโดมอาจเป็นคำเตือนของมนุษย์เรา คือการอยู่ในโดมไม่น่าใช่ทางเลือกที่ดี และไม่น่าให้ผลลัพท์ของโลกที่ดีที่เป็นอุดมคติแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
futurecitiesandenvironment.com