“It’s a sad commentary on our age that we find Dystopias a lot easier to believe in than Utopias: Utopias we can only imagine; Dystopias we’ve already had.”
—Margaret Atwood
ทำไมนักเขียนและผู้กำกับถึงได้ชอบสร้างโลกในจินตนาการอันหม่นเศร้าขึ้นมา
เรากำลังสูญเสียความหวังต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติแล้วรึเปล่า ทำไมอนาคตที่เรานึกถึง ถึงได้เต็มไปด้วยความน่าหดหู่ อนาคตของมนุษยชาติที่เราจินตนาการขึ้นดูจะไม่สดใสอีกต่อไป
นับตั้งงานเขียนระดับไอคอนอย่าง 1984 ของเออร์เวล งานเขียนที่เริ่มมองว่า ‘ความก้าวหน้า’ ของมนุษย์ ที่กำลังพุ่งพัฒนาไปเรื่อยๆ ในที่สุดอาจจะไม่ได้นำไปสู่ปลายทางที่ดีให้กับมนุษยชาติ เพียงแค่ครึ่งศตวรรษจากจินตนาการของเออร์เวล ดูเหมือนอนาคตอันไกลที่ว่าจะมาถึงไวกว่าที่วาดฝันกันเอาไว้
โลกแห่งเทคโนโลยี การสอดส่องตรวจตรา และการควบคุมผู้คนที่ลุกลามมาจนถึงทุกแง่มุมของชีวิตดูจะค่อยๆ เป็นจริงขึ้นทุกในขณะจิต ในหนังสือชื่อ The Age of Dystopia: One Genre, Our Fears and Our Future ตั้งคำถามว่าหรือเราทั้งหลายต่างกำลังอยู่ในโลกที่เหล่านักคิดในอดีตได้วาดฝันร้ายเอาไว้แล้ว
คำตอบของการมีอยู่และการเพิ่มจำนวนขึ้นของงานเขียนแนว Dystopia – การที่เราอ่าน คิด และผลิตภาพของโลกในอนาคตที่เต็มไปด้วยความมืดมน ถ้าเรามองในฐานะ vision ภาพและเรื่องราวของผู้คนในโลกอนาคตที่มนุษย์เริ่มทำลายตัวเอง ในตัวของมันเองคือการแสดงภาพความกลัวของผู้คนในสังคมร่วมสมัย เป็นคำเตือนของนักคิดที่มีสายตากว้างไกล และสุดท้ายคือเป็นความหวังที่เรายังคงสามารถหาได้ แม้ในโลกที่ไม่ว่าจะมืดมิดแค่ไหนก็ตาม
กลัว? เรากำลังกลัว ‘ความก้าวหน้า’ ของพวกเราเอง
จากที่มนุษย์เราเคยกลัวธรรมชาติ กลัวชะตากรรม กลัวปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ จินตนาการโลกดิสโทเปียมักพูดถึงโลกมนุษย์ที่ถูกนำไปสู่หายนะด้วยน้ำมือของพวกเราด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นโลกที่ดูสงบสุข แต่จริงๆ แฝงไว้ด้วยการกดขี่ ควบคุมด้วยวิทยาการ และการล้างสมองต่างๆ หรืออีกแบบคือมักเป็นโลกหลังหายนะ…ซึ่งแน่ละ หายนะของโลกก็มักมาจากน้ำมือของพวกเราเอง เช่น สงครามนิวเคลียร์ วิกฤติทางธรรมชาติต่างๆ การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ ซึ่งจะใครล่ะที่ทำ ก็คือวิทยาการความก้าวหน้าของพวกเราเอง
ถ้าเรามองจุดพลิกผันสำคัญของมนุษย์ ยุคที่เราเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ เมื่อเราหมกมุ่นกับ ‘ความก้าวหน้า’ มนุษย์เริ่มเชื่อมั่นในศักยภาพของเราเอง เรามีความรู้ มีวิทยาการ มีความก้าวหน้า เราล่องเรือไปทั่วโลก สร้างอาวุธที่มีพลานุภาพร้ายแรง เราเข้าใจปริศนาของธรรมชาติและจักรวาลอย่างไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน เราไปเหยียบดวงจันทร์ เอาชนะโรคภัย และเราอาจจะกำลังสร้างชีวิตและโกงความตายได้ในเวลาอีกไม่นาน
แต่ ‘ความก้าวหน้า’ ก็คืออำนาจ และมนุษย์เราก็ใช่ว่าจะสามารถบงการอำนาจของเราได้อย่างดีเยี่ยมนัก ภาพโลกที่มืดมนแสดงให้เห็นความกลัวที่เรามีต่อพวกเราเองที่ทรงอำนาจขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดังนั้นถึงภาพในโลกดิสโทเปียจะดูดำมืดและสุดโต่ง แต่ประเด็นปัญหาทั้งหลายที่ปรากฏในเรื่องต่างก็สอดคล้องกับความกังวลของคนที่มีต่อปัญหาที่เรากำลังสร้างให้กับโลกใบนี้ เช่นความไม่เสมอภาคของรายได้ วิกฤติทางการเงิน (ดิสโทเปียหลายเรื่องพูดถึงความแร้นแค้นของประชาชน) การที่อำนาจและความมั่งคั่งตกไปอยู่กับคนไม่กี่คนหรือคนเพียงคนเดียว ปัญหาของวิทยาศาสตร์และวิทยาการที่ส่งผลกับเราในระดับเซลล์ เช่นการปรับเปลี่ยนยีนส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงผลกระทบจากพวกเรา เช่นมลพิษจากเมืองที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้มันก็คือความกังวลที่อยู่คู่กับเรา ว่าด้วยระบบและวิทยาการต่างๆ ที่เรากำลังสร้างและมองว่ามันคือความก้าวหน้านี่แหละ คือผู้ที่สาปอนาคตของพวกเราเอง
มันคือความกลัวในอำนาจและจิตใจของเราด้วยกันเอง
สัญญาณเตือนจากผู้มองเห็นอนาคต
Margaret Atwood นักคิดและนักเขียนหญิงคนดัง เจ้าของผลงานแนวดิสโทเปียที่เพิ่งกลายเป็นซีรีส์ บอกว่า “เป็นเรื่องแสนเศร้าในห้วงเวลา การที่เรารู้สึกเชื่อในโลกดิสโทเปีย มากกว่าจะเชื่อในยูโทเปีย ซึ่งก็อาจจะหมายความว่า ยูโทเปียเป็นอะไรที่เราได้แต่ฝันถึง ส่วนดิสโทเปียคือโลกที่เราอยู่” ถ้าเรามองว่าแอตวูตก็คือสายธารครึ่งศตวรรษให้หลังนับจากงานของเออร์เวล มุมมองของเธอคือการตอกย้ำว่า สายตาของเออร์เวลคือคำทำนายและคำเตือนที่กำลังคืบคลานเข้ามา
Erich Seligmann Fromm นักคิดชาวเยอรมันแห่งแฟรงเฟิร์ตสคูล เจ้าตำรับ ‘ทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (Critical Theory)’ พูดถึง 1984 ว่างานชิ้นนี้คือการแสดงออกถึง ‘ความรู้สึก (mood)’ และ1984 ก็คือ ‘คำเตือน (warning)’ ความรู้สึกที่ว่าพูดถึงความทุกข์เข็ญในอนาคตอันใกล้ของมวลมนุษย์ และคำเตือนที่ว่าคือเส้นทางของมนุษยชาติที่กำลังหักเหไป คนไม่ว่าจะมาจากที่ไหนในโลกกำลังสูญเสีย “คุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ เรากำลังกลายเป็นเครื่องจักรไร้วิญญาณ และพวกเราก็ไม่สำนึกสำเหนียกใดๆ เลย”
คนก็ยังคงเป็นคน ในโลกที่มืดมิดยังคงมีความหวังเสมอ
ฟังดูสิ้นหวังจัง แต่ใจเย็นๆ ก่อน เพราะที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นย่อมมีความหวังเสมอ โลกแห่งวรรณกรรมหลายครั้งยังคงทำหน้าที่เหมือนดินแดนที่มอบและฟื้นฟูความหวังให้กับเรา
ในโลกที่แม้ว่าเราจะก้าวไปสู่หายนะแค่ไหน ถึงคนจะถูกกดขี่ข่มเหงและเริ่มไม่กลายเป็นคนไป แต่ในที่สุดแล้ว ในโลกที่ถึงจะมีความสัมบูรณ์ เต็มไปด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จ การบงการในระดับชีวภาพใดๆ ในโลกที่เงื่อนไขในการดำรงชีวิตดูเลวร้ายสุดโต่งมืดมิดแค่ไหน แต่เราก็ยังคงมีความหวัง มีทางที่จะลุกต่อสู้และล้มล้างความอยุติธรรมทั้งหลายได้
คำเตือนที่สนใจอีกด้านคือ ไม่ว่าระบบ บรรษัท หรือประเทศใดจะยิ่งใหญ่และสัมบูรณ์แค่ไหน แต่คนก็ยังเป็นคน
‘คน’ ที่สุดท้ายย่อมไม่ทนต่อการกดขี่ข่มเหง ‘คน’ ที่เมื่อถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดย่อมต้องลุกขึ้นต่อสู้ขัดขืน
ดังคำกล่าวสำคัญที่ว่า ‘ที่ใดมีการใช้อำนาจ ที่นั้นย่อมมีการแข็งขืนต่อต้าน’