ถ้ามีเหตุการณ์ข่มขืนเกิดขึ้น หนึ่งในคำถามที่จะตามมาคงหนีไม่พ้น “แต่งตัวแบบไหนล่ะถึงได้โดนข่มขืน”
นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ จัดขึ้นเพื่อลบมายาคติและความคิดเห็นที่ผิดเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ โดยเล่าผ่านการจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเหยื่อในวันที่โดนข่มขืน เพื่อแสดงให้เห็นว่าทัศนคติที่ว่าการแต่งตัวของผู้หญิงเป็นสาเหตุของการข่มขืนนั้นไม่จริงเสมอไป รวมถึงการเคารพในสิทธิของผู้หญิง และการตั้งคำถามกับผู้ล่วงละเมิดมากกว่ากล่าวโทษเหยื่อผู้โดนกระทำ
นิทรรศการนี้จัดขึ้น ณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4-15 กรกฎาคม 2561 โดยนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #DontTellMeHowToDress ที่พยายามเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการที่ผู้หญิงไม่ควรพาตัวเองในสถานการณ์เสี่ยง เพราะว่าเป็นสาเหตุของการข่มขืน
การเยือน นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ ในครั้งนี้ อาจทำให้คุณได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการคุกคามทางเพศ ได้รับรู้ความเจ็บปวดของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และร่วมเสียใจให้กับเพื่อนมนุษย์ที่โดนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคน
นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ จัดขึ้น ณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันที่ 4-15 กรกฎาคม 2561 โดยมีส่วนที่จัดแสดงเสื้อผ้าในวันเกิดเหตุของผู้ถูกคุกคามทางเพศ และส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายดาราหลายคนของไทย ในประเด็นการถูกล่วงละเมิดและถูกคุกคามทางเพศโดย ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นมากฝีมือ
นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #DontTellMeHowToDress ซึ่งมีซินดี้ สิรินยา บิชอฟ เป็นเจ้าของแคมเปญ มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบมายาคติในสังคมว่า การที่ผู้หญิงแต่งตัวล่อแหลมหรือไปอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง เป็นสาเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศ แต่ต้องการให้สังคมตั้งคำถามกับผู้กระทำผิดเมื่อเหตุความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น
ชุดเสื้อผ้าในวันเกิดเหตุที่ได้จัดแสดงไว้ในงาน แสดงให้เห็นว่าการแต่งกายล่อแหลมไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเสมอไป จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยกล่าวว่า ปัจจัยรากฐานที่มีผลให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศมาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ที่เชื่อว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่า และสามารถทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมสถานการณ์การคุกคามทางเพศจากสื่อตั้งแต่ปี 2558 พบว่า โดยเฉลี่ยการข่มขืนคุกคามทางเพศมีจำนวนมากขึ้น และสถิติผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในปัจจุบัน จะมีอายุน้อยลง โดยผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด
“นี่คือชุดที่ฉันใส่ในวันนั้น เสื้อยืด กางเกงกีฬาตัวเล็กของเด็กวัยสองขวบ ถูกข่มขืนโดยชายแปลกหน้า”นี่คือคำบรรยายชุดเสื้อยืดเด็กสีชมพู กางเกงตัวเล็กสีเขียว ที่สร้างความสะเทือนใจไม่ต่างจากคำบรรยายของอีกหนึ่งชุดที่แสดงในงานว่า “นี่คือชุดที่ฉันใส่ในวันนั้น เสื้อยืด กางเกงขาสั้นลายการ์ตูน ฉันอายุ 4 ขวบ ฉันถูกข่มขืนโดยลุงข้างบ้าน แต่ไม่กล้าบอกใคร เพราะฉันกลัว“
การแก้ปัญหาจึงควรเริ่มที่ถอดรื้อชุดความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ จะสามารถทำอะไรผู้หญิงก็ได้ ควรสร้างความตระหนักถึงสิทธิของผู้หญิง ควรสร้างความเข้าใจในสังคมว่า คนแต่ละคนต่างมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ ซึ่งใครก็ไม่อาจมาล่วงละเมิดหรือไปละเมิดคนอื่นได้
“การที่เราไม่ให้เกียรติผู้อื่น เท่ากับเราไม่ให้เกียรติตัวเราเอง” อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม
“ผู้หญิงควรได้รับเกียรติ ผู้ชายก็ควรได้รับเกียรติ ทุกเพศควรได้รับเกียรติ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกโลกใบนี้ควรได้รับเกียรติ” ปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์
ในวันเปิดนิทรรศการ มีการแสดงชุด ‘ผู้เสียหายต้องไม่ถูกกระทำซ้ำ’ จากกลุ่มละครเฉพาะกิจเธียเตอร์ โดยเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ และโดนทำร้ายซ้ำจากการกล่าวโทษของสังคมว่าสาเหตุที่ผู้หญิงโดนล่วงละเมิดนั้น เป็นเพราะตัวเธอแต่งกายล่อแหลมเอง
ช่วงเปิดงานนิทรรศการมีการพูดคุยในประเด็น มุมมองนักนิเทศศาสตร์ต่อผลงานสร้างสรรค์สื่อรณรงค์ของคนรุ่นใหม่ โดย ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ชเนตตีเห็นว่าสิ่งที่เยาวชนควรพัฒนาการสื่อสารเรื่องความรุนแรงทางเพศคือ ชวนให้สังคมเห็นว่ามีโครงสร้างทางสังคมอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการข่มขืนซ้ำ เช่น ระบบของสื่อสารมวลชน ระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนเรื่องความเท่าเทียม หรือระบบกระบวนการยุติธรรมที่ข่มขืนเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งขยายการสื่อสารกรณีข่มขืนในบางประเด็นที่สังคมยังยอมให้การข่มขืนนั้นชอบธรรม อย่างเช่น การข่มขืนในคู่สามีภรรยา อาจารย์ชเนตตีบอกว่า
“ควรสื่อสารเพื่อเปิดแผลตรงนี้ ไม่ใช่การเปิดแผลของผู้เสียหาย แต่เปิดแผลให้สังคมนั้นมาเจ็บปวดร่วมกัน”