บ้านเรามีประวัติศาสตร์กับค้อนเคียว และลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เราเองก็กลัวผีคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่สงครามเย็น แต่ก็น่าแปลกใจที่ความกลัวนี้ดูจะส่งผลอย่างลึกซึ้งทั้งในเชิงความคิด ที่ทำให้สังคมไม่ค่อยเข้าใจหรือศึกษา ‘องค์ความรู้ฝ่ายซ้าย’ อันมักหมายความกว้างๆ ถึงการวิพากษ์ระบบชนชั้น โลกทุนนิยม และการกดขี่ อาการตกใจกับกลับมาหลอกหลอนอีกครั้งก็ยิ่งทำให้ตอกย้ำว่าความกลัวคอมมิวนิสต์นี้ทรงพลังกับความคิดและทัศนคติของเราเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าเรายกมิติทางการเมืองการปกครองออกไป จริงอยู่ว่ามาร์กซ์เป็นนักคิดที่ว่าด้วยภาคปฏิบัติ เป็นนักคิดที่เกี่ยวพันธ์กับสังคมจริงๆ เสนอความคิดที่นำไปสู่ระบบการปกครองใหม่อย่างแท้จริง แต่นอกจากลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว มาร์กซ์เองยังเป็นนักปรัชญาและนักทฤษฎีที่เปลี่ยนมุมมองของผู้คน ต่อโลก ต่อสังคมนี้อย่างเป็นรูปธรรม
กระทั่งเราอาจพูดว่า แนวคิดทางความรู้โดยเฉพาะทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) กรอบความคิดที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของความคิดในโลกสมัยใหม่ แนวคิดที่เน้นการตั้งคำถามกับกลไกต่างๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่เรามองไม่เห็นและบงการพวกเราอยู่ อะไรทำให้สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมยังดำรงอยู่ อะไรที่ทำให้โลกทุนนิยมที่ลึกๆ แสนอัปลักษณ์ยังคงสวยงามแต่เราก็ยังร่วมขับเคลื่อนเครื่องจักรใหญ่ยักษ์นี้ต่อไปอย่างถวายชีวิต
ในโอกาสที่ผีค้อนและเคียวได้กลับมาอีกครั้ง The MATTER จึงชวนกลับไปรู้จักกับสายธารนักคิดฝ่ายซ้าย ที่ไม่ได้มีแค่การสร้างสังคมที่ทุกคนเหมือนกัน แต่คือประวัติศาสตร์ทางขนบการคิดที่เชื่อและพยายามวิพากษ์บางสิ่งที่บงการและสร้างความไม่ชอบธรรมให้ดำรงอยู่ได้ เหล่านักคิดที่ชวนตั้งคำถาม และหลายครั้งเป็นเสียงให้กับผู้กดขี่ นักทฤษฎีที่พยายามอธิบายความยอกย้อนและพลังอำนาจของทุนนิยม อธิบายระบบชนชั้นและต่างร่วมเป็นเสียงของผู้ถูกกดขี่ให้ดังก้องข้ามยุคสมัยสืบมา
Karl Marx
แน่นอนว่ามาร์กซ์ควรจะเป็นอีกหนึ่งงานชิ้นใหญ่ ในระดับปรัชญามาร์กซ์ เพราะถือว่าเป็นการคิดที่ปฏิวัติความคิดและการมองโลก สิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ทำคือการย้อนวิธีการคิดแบบเฮเกล ซึ่งมาร์กซ์ใช้กรอบคิดแบบวิภาษวิธีของเฮเกลคือ เรื่องการขัดแย้งกันของความคิดแล้วนำไปสู่ความคิดแบบใหม่ แต่ความพิเศษมากๆ ของมาร์กซ์คือการดึง หรือย้อนเอาปรัชญาซึ่งหมายถึงเฮเกลด้วยแบบจิตนิยม idealist ที่เน้นเรื่องความคิด ความเป็นอุดมคติต่างๆ แล้วดึงลงมาสู่ทางโลก (materialist)
มาร์กซ์เป็นนักคิดที่เน้นอธิบายสังคมโดยเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นทางโลกมากๆ เช่นความรู้สึกนึกคิดของเราต่างถูกหล่อหลอมขึ้นบนกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจดังคำกล่าวสำคัญว่า ‘Life is not determined by consciousness, but consciousness by life.’ กล่าวคือเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ เช่นความยากจน ปัจจัยทางเศรษฐกิจล้วนเป็นสิ่งที่มากำหนดวิธีคิด มุมมองต่อโลกหรือความเป็นไป ไม่ใช่ว่าจิตใจหรือความคิดเป็นตัวกำหนดอย่างสำคัญ
เมื่อได้ความที่อยู่กับโลกมากๆ แบนี้แล้ว ทำให้มาร์กซ์และความคิดของนักคิดยุคต่อๆ มามีความคิดว่า เออ สังคมหรือความเป็นไปของสังคมนี้ มันมากำกับชีวิตหรือมุมมองต่อโลกของเราอย่างสำคัญ และยิ่งไปกว่านั้นนักปรัชญาแบบมาร์กซ์ด้วยความที่อยู่กับโลก ก็เน้นว่าปรัชญาแบบฝ่ายซ้ายคือที่ว่าด้วยสังคม ทำเพื่อสังคม คืออย่างน้อยคือเปิดโปงความเป็นไป หรือกลไกต่างๆ ที่กระทำการควบคุมความคิดและความไปอย่างลึกลับซับซ้อน ตรงนี้ก็นำไปสู่พัฒนากรอบความคิดต่อเนื่องเช่นแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (Ideology) แนวคิดเรื่องชนชั้น และที่สำคัญคือคำอธิบายที่มีระบบทุนนิยมอันเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ส่งผลไปจนถึงระดับวัฒนธรรมและความคิดของผู้คน
Friedrich Engels
จริงๆ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels) ก็ทำงานร่วมกับมาร์กซ์แหละ ฟังก์ชั่นของเอ็งเงิลส์เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด และเป็นทำนองผู้จัดการ เป็นบรรณาธิการของมาร์กซ์ แต่ส่วนใหญ่เรามักพูดถึงแต่มาร์กซ์ จุดนี้ก็เลยอยากแยกเอ็งเงิลส์ออกมาเพื่อไม่ให้น้อยใจ สำหรับเอ็งเงิลส์เองก็มีผลงานสำคัญๆ อยู่หลายชิ้น งานสำคัญมากๆ ชิ้นหนึ่งคือ The Origin of the Family, Private Property and the State เป็นงานเขียนที่เผยแพร่เมื่อหลังมาร์กซ์ตายลง(ส่วนใหญ่ก็เรียบเรียงจากบันทึกของมาร์กซ์แหละ)
แน่นอนว่าความสำคัญของงานชิ้นนี้ในฐานะที่มาร์กซ์และเอ็งเงิลส์เน้นวิพากษ์สังคม ชนชั้นและระบบทุนนิยม The Origin of the Family ถือเป็นข้อเขียนที่ชวนกลับไปดูทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงของหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ตลอดจนแนวคิดเรื่องทรัพย์สินที่เป็นรากฐานของสังคมและการกดขี่เป็นภาพใหญ่ต่อมา
นัยสำคัญของงานชิ้นนี้คือเป็นการเปิดการวิจารณ์เรื่องชนชั้นและการกดขี่ ด้วยการวิพากษ์ผ่านประวัติศาสตร์ คือบอกว่าสิ่งที่อยู่ๆ เนี่ยไม่ใช่สัจธรรมนะ เป็นการใช้ทฤษฎีที่ค่อนไปในศาสตร์อื่นๆ และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันทั้งมิติทางทางวัฒนธรรม มานุษยวิทยาของครอบครัวที่สัมพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงระดับรัฐ เช่นเรื่องกรรมสิทธิ์ และที่พิเศษมากๆ คืองานชิ้นนี้มีกลิ่นอายสตรีนิยมอยู่ด้วย คือเน้นวิพากษ์โลกสมัยใหม่ (modernity) ที่มีถูกครอบงำโดยผู้ชาย (patriarchy) ก่อนหน้านี้เป็นสังคมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่เป็นต้น
Antonio Gramsci
พูดถึงนักคิดสำคัญฝ่ายซาย ก็ต้องผายมือมาที่อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) กรัมชีเป็นนักคิดชาวอิตาเลี่ยนที่ตัวเองสัมพันธ์ทั้งกับมิติทางการเมือง คือเป็นนักหนังสือพิมพ์ และเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ความสำคัญของกรัมชีคือการนำเอาความคิดจากมาร์กซ์และเอ็งเงิลส์มาคิดทบทวนต่อจนกลายเป็นกรอบทฤษฎี วิธีคิดผลงานของกรัมชีถือกันว่าเป็นรากฐานของการศึกษาวัฒนธรรม (sociology of culture) เน้นความเชื่อมโยงของวัฒนธรรม รัฐ เศรษฐกิจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ ของสังคม
จุดเด่นที่เราของกรัมชีคือการตกเป็นนักโทษทางการเมือง งานสำคัญๆ ของเขาถูกเขียนขึ้นจากในคุกและเป็นที่รู้จักในนาม The Prison Notebooks ความคิดสำคัญที่เราได้จากกรัมชีคือแนวคิดเรื่องการครอบงำ (hegemony) จริงๆ กรัมชีก็คิดต่อทั้งในเรื่องว่าทำไมระบบทุนนิยมถึงได้ไม่ถูกทำลายลง อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้การกดขี่ยังดำรงอยู่ได้
ซึ่งสิ่งที่กรัมชีชี้ให้เห็นคือระบบทุนนิยมนั้นทำงานผ่านการครอบงำอย่างซับซ้อนโดยมีองคาพยพต่างๆ ของสังคมร่วมขุดพรวน เป็นการครอบงำทางวัฒนธรรม (cultural hegemony) ซึ่งการครอบงำนี้ก็สัมพันธ์กับการที่มีชนชั้นที่อยู่เหนือ เป็นผู้ผลิตความคิด ความรู้ต่างๆ ที่ทำให้คนในสังคมยอมรับและทำตาม
กรัมชีค่อนข้างเล็งไปที่ระบบการศึกษาเป็นสำคัญ สิ่งที่กรัมชีพยายามอธิบายคืออธิบายว่าทำไมการปฏิวัติที่มาร์กซ์พูดถึงมันถึงไม่เกิด ทุนนิยมมันมีของขลังอะไรถึงทำให้การกดขี่มันยังไปต่อได้ ซึ่งก็เป็นการสำรวจและวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่อาจจะกว้างและลึกขึ้นกว่าที่มาร์กซ์เคยมองว่าเป็นการปะทะกันของความคิดที่จะนำไปสู่ระบบใหม่และการลุกขึ้นสู่ ทุนนิยมเป็นการครอบงำและผลิตซ้ำโดยระบบที่ซับซ้อนและเราต้องวิพากษ์มันถึงจะเห็น
Louis Althusser
หลุยส์ อัลตูแซร์ (Louis Althusser) เป็นคุณพ่อสายมาร์กซ์ที่งานและความคิดแกเป็นทั้งการวิพากษ์สังคม และผสมผสานแขนงวิชาต่างๆ เข้าหากัน แนวคิดสำคัญที่อัลตูแซร์พัฒนาต่อคือแนวคิดเรื่องอุดมการณ์หรือ ideology แนวคิดที่เน้นการวิเคราะห์และวิพากษ์ว่าความคิด ชีวิต และแทบทุกอย่างที่ลืมตามองโลกอยู่นี้ มีระบบทุนนิยมเกื้อกูลและบงการอยู่อย่างไร
งานเขียนสำคัญและแนวคิดของอัลตูแซร์คือ Ideology and Ideological State Apparatuses งานเขียนชิ้นนี้พัฒนากรอบคิดเรื่องอุดมการณ์อย่างเป็นรูปธรรมคือพูดเรื่องการทำงานของอุดมการณ์ที่รัฐใช้เพื่อสืบทอดอำนาจและหล่อหลอมควบคุมความคิดของผู้คน อันหมายถึงว่าการทำให้การผลิตต่างๆ ดำเนินต่อไปได้โดยราบรื่น
ซึ่งอัลตูแซร์อธิบายไว้สองกระบวนการคือการที่ใช้กำลังปราบปราม (repressive) และการใช้กลไกทางอุดมการณ์ Ideological State Apparatuses หลักๆ ก็เป็นการอธิบายว่าโรงเรียนกำลังปลูกฝังความคิดที่ลึกๆ สัมพันธ์กับการสืบทอดความคิดที่ไปส่งเสริมหรือสืบทอดการผลิตในโลกทุนนิยมอย่างไร
ด้วยความที่อัลตูแซร์ไม่ได้เป็นแค่นักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์แต่อย่างเดียว แต่อัลตูแซร์ยังใช้กรอบความคิดอื่นๆ เข้าผสมกันคือกรอบคิดแบบจิตวิเคราะห์ ภาษาศาสตร์และวรรณคดีศึกษา สิ่งที่อัลตูแซร์พยายามชี้ให้เห็นคือ อุดมการณ์ที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำงานในระดับจิตไร้สำนึก และอัลตูแซร์ก็ได้เสนอว่า การทำงานในระดับจิตไร้สำนึกคือเราอาจมองไม่เห็น แต่อุดมการณ์เองก็มีอาการที่เราอาจอ่านหรือมองเห็นได้ผ่านภาษา หรือวรรณกรรมเพื่อหารอยปริ รอยแยกที่อุดมการณ์พยายามบงการความคิด ความเชื่อของผู้คน เป็นสิ่งที่เรียกว่าการอ่านดูอาการ (symptomatic reading)
Roland Barthes
เรารู้จักรอล็อง บาร์ต (Roland Barthes) ในฐานะนักสัญวิทยา และการคิดต่อจากนักภาษาศาสตร์สายโครงสร้างนิยม งานของบาร์ตชี้ให้เห็นว่าความหมายของสิ่งต่างๆ มีนัยเชิงอำนาจควบคุมบงการอยู่ และในนัยหนึ่งนั้นก็แสดงให้เห็นการสืบทอดความคิด ความเชื่อ และอคติที่ทำผ่านสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่รายล้อมตัวเรา บาร์ตถือเป็นนักทฤษฎีชั้นแนวหน้าและตัวเองก็ยกระดับเป็นป๊อบสตาร์ของฝรั่งเศส งานสำคัญของบาร์ตคือ Mythologies งานเขียนที่รวบรวมคอลัมน์ของบาร์ตที่พาไปสำรวจความหมายตั้งแต่หน้าปกนิตยสาร โฆษณานม ไปจนถึงกีฬามวยปล้ำ
ทีนี้บาร์ตอาจจะไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในขนบของนักคิดฝ่ายซ้ายมากไปกว่าคุณูปการต่อศาสตร์ของการตีความและสัญวิทยา แต่ประเด็นสำคัญในงานของบาร์ตดังที่เขียนไว้ใน Myth Today ที่สรุปคอนเซ็ปต์โดยรวมของานเขียนทั้งหมด คือบาร์ตชี้ให้เห็นว่า ไอ้สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั้งหลายรอบตัวนั้น เป็นรสนิยม ความเชื่อ หรือคุณธรรมของชนชั้นกลาง bourgeoisie ซึ่งครอบงำความเป็นไปและความคิดโดยทั่วไปในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งคำว่าบูชัวในที่นี้ก็สัมพันธ์กับความคิดจากมาร์กซ์ที่มองว่าเป็นชนชั้นที่ครอบครองปัจจัยการผลิต และยังทำหน้าที่ผลิตซ้ำความคิดความเชื่อต่างๆ ด้วย
Pierre Bourdieu
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ก็เป็นนักคิดอีกคนที่อาจจะรู้สึกว่าอยู่ในทางมานุษยวิทยา พูดเรื่องการเมืองของการให้ของขวัญ แต่แกนความคิดหนึ่งของบูร์ดิเยอก็คือการขบความคิดในสายมาร์กซ์ต่อ ทั้งในแง่ของแนวคิดเรื่องการถูกกำหนด determinism ที่โอเคทางฝ่ายสายมาร์กซ์มองว่า เฮ้ย สังคมมันกำหนดให้เราคิดแบบนั้นแบบนี้ มนุษย์เรามันเกิดมาเป็นแค่เฟืองแล้ววิ่งตามระบบไป ทำให้ระบบนี้ดำรงต่อไปได้ สิ่งที่บูร์ดิเยอพยายามอธิบายเงื่อนไขของระบบทุนนิยมต่อก็คือนี่แหละว่าทำไมทุนนิยมถึงยังผลิตซ้ำตัวเองต่อไปได้ และเราจะอ่าน ‘ชนชั้น’ ในยุคสมัยใหม่ที่แสนซับซ้อนยอกย้อนได้อย่างไร
สิ่งที่บูร์ดิเยออธิบายค่อนข้างเป็นการพูดถึงจุดตรงกลาง และกระบวนการหล่อหลอมทางชนชั้นที่สัมพันธ์สังคมจริงๆ และมีความซับซ้อนมากขึ้น (ซึ่งสัมพันธ์กับภูมิหลังความเป็นนักมานุษยวิทยาของแก) จุดตรงกลางของบูร์ดิเยอคือ มองว่าเราเองก็อยู่ตรงกลางของการถูกกำกับโดยระบบและการมีอำนาจกระทำการใดใด (agency)
บูร์ดิเยออธิบายด้วยแนวคิดเรื่องฮาบิทัส (habitus นักวิชาการไทยบางท่านแปลว่า ‘จริต’) ซึ่งฮาบิทัสนี้สัมพันธ์กับการแบ่งแยกทางชนชั้นที่มีความแนบเนียนขึ้นผ่านการสะสมทุน ที่คราวนี้บูร์ดิเยอเสนอแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) เพื่ออธิบายว่าการสะสมทุนในระบบทุนนิยมมันมีทุนทางวัฒนธรรมที่เราสะสมจนเกิดเป็นรสนิยมต่างๆ ซึ่งไอ้รสนิยมนี้ส่งผลให้การการจัดลำดับชั้น และเป็นตัวกำหนดการสืบทอดทางชนชั้นอย่างซับซ้อนต่อไป
Terry Eagleton
มาที่นักคิดที่ยังมีชีวิต และค่อนไปทางทฤษฎีวรรณกรรมและวรรณกรรมศึกษา เทอรี่ อีเกอร์ตัน (Terry Eagleton) เป็นนักวรรณคดีคนสำคัญที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบมาร์กซ์ อีเกอร์ตันนอกจากจะเขียนหนังสือว่าด้วยทฤษฎีทางวรรณกรรมแล้ว งานของเขายังเน้นทั้งกลับไปสำรวจ วิพากษ์ และใช้งานกรอบความคิดแบบมาร์กซ์ในการวิจารณ์วรรณกรรม
ความสำคัญของการวิจารณ์หรืออ่านวรรณกรรมด้วยมุมมองแบบมาร์กซ์ ซึ่งในการกลับกันคือการวิพากษ์สังคมด้วยงานวรรณกรรม คือนักคิดเชื่อวรรณกรรมเป็นเหมือนบันทึกอันรอบด้านโดยเฉพาะการบันทึกความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และคุณค่าที่มีแต่วรรณกรรมเท่านั้นจะเก็บงำเอาไว้ได้
สิ่งที่อีเกอร์ตันทำแง่หนึ่งคือการดึงวรรณกรรมเข้าสู่มิติทางประวัติศาสตร์ การอ่านความเป็นการเมืองที่อยู่ในวรรณคดีสำคัญ อ่านให้เห็นมิติทางชนชั้น การต่อรองทางอำนาจ และอ่านความหมายใหม่ๆ จากที่โลกการศึกษาวรรณคดีที่สูงส่ง ดีงาม เน้นการยกย่องได้วางไว้ ซึงตรงนี้อีเกอร์ตันได้รับอิทธิพลจากอัลตูแซร์ และเน้นย้อนการศึกษาวรรณคดีตามขนบกรุยทางทฤษฎีวรรณคดีสายมาร์กซ์ต่อไป
ปัจจุบันอีเกอร์ตันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ภิชาญ (Distinguished Professor) ที่มหาวิทยาลัยแลงแคสเตอร์ สหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ.2011 ก็เพิ่งมีหนังชื่อ Why Marx Was Right เป็นงานเขียนทางวิชาการอีเกอร์ตันกลับไปนิยามและบอกว่าทำไมมาร์กซ์ถึงยังสำคัญและสามารถใช้อภิปรายความเป็นไปในสังคมได้อยู่
Fredric Jameson
เฟรเดอริก เจมสัน (Fredric Jameson) เป็นนักวรรณคดี นักปรัชญาสายมาร์กซ์อเมริกันคนสำคัญในยุคปัจจุบัน คุณูปการสำคัญของเจมสันคืองานเขียนที่สำรวจมิติทางวัฒนธรรมด้วยกรอบคิดแบบมาร์กซิส งานเขียนของเจมสันประกอบด้วยการกลับไปศึกษามาร์กซ์และนักคิดยุคต่อๆ มา มองหาความเชื่อมโยงและสร้างเป็นฐานความคิดเพื่อใช้แนวคิดต่างๆ ในขนบมาร์กซิสเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ โยเฉพาะวิจารณ์ในระดับวัฒนธรรมต่อไป
จุดเด่นสำคัญของเจมสันคือการสร้างความเข้าใจภาวะร่วมสมัย ว่าวัฒนธรรม ความเป็นไปที่เราใช้ชีวิตอยู่ โลกร่วมสมัยที่อเมริกัน มีวัฒนธรรมป๊อบ มีการบริโภคจำนวนมหาศาล มีเมืองใหญ่นี้ในที่สุดมันมีปัญหาอะไร งานของเจมสันคือทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของทุนนิยมที่เจมสันนิยามว่าทุนนิยมปัจจุบันเป็นยุคจอง Late Capitalism เป็นยุคที่ทุนและการผลิตไม่ได้มีแค่การผลิตสิ่งของ แต่สัมพันธ์กับสัญญะ หรือการที่การบริโภคมาครอบงำเรา การใช้งานความหมายที่ไร้ความหมาย ไร้แก่นซึ่งภาวะบ้าคลั่งไร้แก่นสารทั้งหมดที่เราพยายามยึดเกาะในที่สุดแล้วก็ล้วนเป็นผลของลัทธิบริโภคนิยม และลักษณะของโลกหลังสมัยใหม่ (postmodern) นั่นเอง
David Harvey
เดวิท ฮาร์วี่ (David Harvey) เป็นนักทฤษฏีเชื้อสายบริติช งานของฮาร์วี่ก็คล้ายๆ กับงานของนักวิชาการสายมาร์ก คือการผลิตผลงานและพัฒนากรอบความคิดแบบมาร์กซ์เพื่อร่วมอธิบายความเป็นไปรวมถึงลักษณะร่วมสมัยที่ระบบทุนนิยม ที่แม้ว่าเราจะเรียกมันว่าทุนนิยมแต่โฉมหน้าและบริบทของทุนนิยมนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา
ฮาร์วี่เป็นเหมือนอีกมุมหนึ่งของเจมสัน เจมสันอาจจะพูดลักษณะค่อนไปทางการบริโภค ความหมายต่างๆ ที่ไปวุ่นวายและเชื่อมโยงกับภาวะหลังสมัยใหม่ แต่ฮาร์วี่จะยังเน้นที่การทำความเข้าใจที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม เน้นอธิบายตัวภาวะสมัยใหม่ (modernity) พูดเรื่องการทำงานของระบบทุนนิยมที่มีความซับซ้อน และทำงานผ่านพื้นที่กายภาพเช่นพื้นที่เมือง พูดเรื่องความสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรม เป็นเชิงสังคมศาสตร์หน่อย
Rosa Luxemburg
อย่างที่บอกว่ากรอบความคิดต่างๆ ค่อนข้างมีฐานจากความคิดแบบฝ่ายซ้าย ดังนั้นพวกกรอบคิดร่วมสมัยเช่นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ กระแสสตรีนิยมไปจนถึงการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ใดใด ที่ส่วนใหญ่ล้วนว่าด้วยการกดขี่และเป็นเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ล้วนสัมพันธ์กับแนวคิดแบบซ้าย แต่ก็อยากให้นักคิดฝ่ายซ้ายที่เลือกไว้มีนักคิดผู้หญิงด้วย
ซึ่งมาร์กซิสหญิงคนสำคัญที่ต้องพูดถึงก็ต้องคนนี้เลย โรซ่า ลักซ์เซมเบิร์ก (Rosa Luxemburg) จริงๆ โรซ่าเองเป็นอีกหนึ่งหญิงแกร่ง เธอเองไม่เพียงเป็นนักปรัชญาที่มีคุณูปการต่อวงวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นสุดยอดนักปฏิวัติที่ได้รับการยอดย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เป็นคนที่ใช้ความสามารถและองค์ความรู้เพื่อโจมตีการกดขี่ และร่วมสู้กับแรงงานทั้งในระดับความคิดและการลงไปร่วมสู้จริงๆ
ผลงานสำคัญของโรซ่าคืองานเขียนว่าด้วยเรื่องทุน และความเฟื่องฟูของระบบทุนนิยมในหนังสือ ‘The accumulation of capital’ โรซ่าถือเป็นผู้นำทางความคิดที่โจมตีเส้นทางของสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่ในกลายเป็นเหมือนเผด็จการรูปแบบหนึ่งและเธอเป็นผู้นำทางความคิดแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมที่เน้นหาตรงกลางของเสรีภาพ ของการเลือกตั้ง เน้นเรื่องความยุติธรรมกับคนทุกคนในสังคม โดยเฉพาะแรงงานที่ควรจะมีชีวิตที่ดีโดยเสมอภาคกัน
Mark Fisher
มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) เป็นนักทฤษฎีชาวอังกฤษที่อาจจะไม่ได้เป็นบิ๊กเนมเท่าปรมาจารย์ท่านอื่นๆ แต่งานของฟิชเชอร์ที่ได้อิทธิพลทั้งจากอัลตูแซร์และเจมสันก็ถือว่า ฟิชเชอร์เป็นอีกหนึ่งนักคิดที่พยายามวิพากษ์ และทำความเข้าใจระบบทุนนิยม งานเขียนสำคัญที่สำคัญมากๆ และคิดว่าเป็นคำอธิบายที่นักคิดสายมาร์กซ์พยายามว่าขนาดมีนักคิดมาร์กซ์มากมายแล้วทำไมทุนนิยมมันถึงสถิตสถาวรได้นานหนักหนาขนาดนี้กันนะ
แนวคิดที่ฟิชเชอร์นิยามขึ้นคือคำว่า ‘สัจนิยมทุนนิยม’ หรือ Capitalism Realism เสนอในหนังสือสำคัญชื่อ Capitalist Realism: Is There No Alternative? ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2009 ในหนังสือนอกจากจะอภิปรายตัวระบบทุนนิยมร่วมสมัยแล้ว ฟิชเชอร์ยังชี้ให้เราเห็นว่าการที่ระบบทุนนิยมยังไม่ตายนั้นก็เพราะว่าทุนนิยมกำลังบอกเราว่ามันเป็นระบบเดียวที่เราจินตนาการถึงได้ เป็นสัจธรรมเดียว ซึ่งก็เป็นการสรุปความคิดเรื่องอุดมการณ์ของนักคิดที่ผ่านๆ มาที่ทำให้เห็นอย่างน่าเศร้าว่า เออ ในที่สุดเราเองเกิด โตและมองโลกผ่านแว่นของทุนนิยม เราไม่อาจคิดไปถึงระบบอื่นๆ หรือสลัดพวกแนวคิดเช่นกำไร การแลกเปลี่ยนที่เป็นศูนย์กลางการมองโลกของเราได้เลย
Slavoj Žižek
ปิดท้ายด้วยนักปรัชญาสุดเท่ที่มาพร้อมสำเนียงยุโรปตะวันออกแสนเซ็กซี่และฟังทีก็ปวดหัวที สลาวอย ชีเช็ก (Slavoj Žižek) เป็นนักมาร์กซิสที่น่าจะดังที่สุด เป็นที่รู้จักที่สุด แถมออกสื่อบ่อยและพี่แกแทบจะพูดมันทุกเรื่องได้ในโลกนี้โดยส่วนใหญ่ก็โยงกลับไปที่การทำงานของระบบทุนนิยม ซึ่งจริงๆ ก็ดี แต่แกแมสแล้วอะ
ฐานคิดของชีเช็คค่อนข้างแน่ละเป็นมาร์กซ์ ที่ผสมกับจิตวิเคราะห์แบบลาก็อง ผลงานสำคัญของชีเช็กคือ The Sublime Object of Ideology งานเขียนใช้กรอบคิดจากอัลตูแซร์ผนวกเข้ากับจิตวิเคราะห์แบบลาก็อง อภิปรายการทำงานและอาการของพวกเราที่ว่ายเวียนอยู่ในโลกของความปรารถนา และการผลิต บริโภคและขายแรงงานอยู่ในโลกทุนนิยม
ความแมสของชีเช็กเกิดจากใช้กรอบทฤษฎีเข้าวิพากษ์งานป๊อบคัลเจอร์ ที่พีคมากๆ คือการวิพากษ์หนังโดยทำเป็นหนังสั้นขึ้นมาแบบสุดเท่ ฉากไอคอนก็เช่นการพูดถึงซีนการเลือกยาสีเขียวสีแดงที่อยู่ๆ ลุงหนวดๆ ก็โผล่มาอธิบายว่าการเลือกมันมีนัยนะ มันเลือกจริงหรอใดใด ซึ่งในยุคหลังอย่างที่ว่าแกก็พูดทุกเรื่องเวลาเกิดอะไรขึ้นเช่นเกิดการประท้วง ไปจนถึงเรื่องโรคระบาด
อ้างอิงข้อมูลจาก