ปีนี้มาร์กซครบรอบ 200 ปี ในโลกของความรู้และความคิด มาร์กซถือเป็นนักคิดและนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย มาร์กซชวนเรากลับไปคิดและวิพากษ์ระบบทุนนิยม พาไปดูความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกของระบบเงินตราและการจ้างงาน ไปดูอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม ว่าในที่สุดแล้วระบบที่เราบ่นมันทุกวัน ทำไมเราถึงอดทนและยอมรับมันได้
จากฐานความคิดมุมมองของมาร์กซ และด้วยความที่เรายังคงอยู่ในโลกทุนนิยมที่สลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นักคิดในยุคหลังจึงเอาความคิดของมาร์กซมาอธิบายผสมผสานต่อยอดเพื่อทำความเข้าใจทุนนิยมและวิธีการกดขี่ที่แนบเนียนมากขึ้น ไปจนถึงอิทธิพลของระบบที่มีต่อความคิดและจิตใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เรามีนักคิดสำคัญๆ เช่น กรัมชี อัลตูแชร์ เทอร์รี อีเกอร์ตัน เรื่อยไปจนถึงนักคิดสุดป็อป เช่น ชีเช็ค นักคิดเหล่านี้เราเรียกรวมว่า กลุ่มมาร์กซิสใหม่ (Neo-Marxism)
Antonio Gramsci
แน่นอนพูดถึงมาร์กซิส กรัมชีเป็นทั้งนักคิดและคนที่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อิตาเลียน กรัมชีถือเป็นผู้ที่เผยแพร่ลัทธิมาร์กซคนสำคัญ ในด้านความคิดกรัมชีมีชื่อเสียงจากชีวิตอันผกผัน ด้วยความคิดและจุดยืนทางการเมืองทำให้กรัมชีต้องไปอยู่ในคุก โดยในระหว่างถูกจองจำ กรัมชีก็ยังคงเขียนงานออกมาจากในคุก รู้จักกันในนาม Prison Notebooks แนวคิดเรื่อง Hegemony เป็นแนวคิดที่ยังคงถูกใช้เพื่ออธิบายกระบวนการที่คนกลุ่มหนึ่ง/รัฐควบคุมคนส่วนใหญ่ผ่านความคิด ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ
Rosa Luxemburg
โรซ่า ลักเซมเบิร์กเป็นอีกหนึ่งนักคิดและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวโปแลนด์ ตัวโรซ่าเองเป็นทั้งคนที่ผลิตงานเชิงทฤษฎี และเป็นคนที่มีส่วนในการตั้งพรรค Polish democratic party รวมถึงมีช่วงหนึ่งที่เธอถูกตัดสินให้ไปอยู่ในคุก งานเชิงความคิดของโรซ่าว่าด้วยระบบทุนนิยมกับรัฐ (the reason for imperialism) พูดถึงรัฐทุนนิยมที่ขยายเขตแดน การไปหาตลาดต่างชาติ และการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชาติต่างๆ หนึ่งในงานสำคัญของโรซ่าคือพูดเรื่องการสะสมทุนอันเป็นแกนกลางความคิดที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยม
Louis Althusser
มาร์กซพูดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาด หมายถึงวิธีการที่ระบบปลูกฝังความเชื่อให้ชนชั้นแรงงานไม่ลุกขึ้นมารวมตัวกัน มาร์กซพูดถึงการวิพากษ์เชิงอุดมการณ์ หมายถึงการคิดต่อความคิดความเชื่อว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากระบบสร้างขึ้น หลุยส์ อัลตูแซร์ เป็นนักคิดฝรั่งเศสที่อธิบายแนวคิดเรื่อง ‘อุดมการณ์’ อย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่อปกครองผู้คน อัลตูแซร์พูดถึงกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (ideological state apparatus) อัลตูแซร์บอกว่ารัฐไม่ได้ใช้แค่การปราบปราม เช่น ใช้ระบบตำรวจในการควบคุมคน แต่รัฐยังใช้กลไกทางอุดมการณ์ เช่น การหล่อหลอมจากระบบการศึกษา ไปจนถึงการส่งต่อความคิดผ่านศิลปะ วัฒนธรรม และวรรณกรรม
Terry Eagleton
มาถึงสายวรรณคดีศึกษาบ้าง อีเกอร์ตันเป็นคิด นักวิจารณ์วรรณกรรม และนักวิชาการทางทฤษฎีวรรณกรรมชาวอังกฤษ อีเกอร์ตันเป็นคนที่ใช้มุมมองแบบมาร์กซไปศึกษาตัวงานวรรณกรรม Criticism and Ideology ถือเป็นคัมภีร์สำคัญของคนที่จะศึกษาทั้งขนบความคิดทฤษฎี พาเราไปสำรวจสายธารความคิดตั้งแต่ เลนิน อาดอร์โน ซาร์ต และการใช้ทฤษฎีมาร์กซิสในการอ่านงานวรรณกรรมสำคัญ เช่น งานของจอร์จ อีเลียต ชาลส์ ดิคเคนส์ หรือ โจเซฟ คอนราด งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นงานเชิงทฤษฎีวรรณกรรมที่สำคัญชิ้นและครบถ้วนที่สุดหนึ่งชิ้นหนึ่งในขนบการวิจารณ์วรรณกรรมแบบมาร์กซ
Fredric Jameson
เจ้าพ่อแนวคิดว่าด้วยหลังสมัยใหม่ (postmodernism) เจมสันอธิบายภาวะหลังสมัยใหม่โดยนิยามว่าเป็น ‘late capitalism’ คือแน่ล่ะว่า ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่วิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน – ยุคของสื่อสมัยใหม่และระบบธุรกิจที่ซับซ้อน เจมสันอธิบายโลกสมัยใหม่โดยใช้มุมมองแบบมาร์กซที่วิพากษ์ระบบทุนนิยม พูดถึงการก่อตัวขึ้นของบรรษัทข้ามชาติ ระบบการเงิน ไปจนถึงการเกิดขึ้นของสื่ออันเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่นายทุนเข้าควบคุมครอบครองชีวิตและทัศนวิสัยของผู้คน
Pierre Bourdieu
มาสู่สายสังคมวิทยา บูร์ดิเยอถือเป็นอีกหนึ่งนักคิดที่พัฒนาความคิดแบบมาร์กซเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และระบบของสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนึ่งในไอเดียแบบมาร์กซคือความคิดเรื่อง ‘โครงสร้าง’ ที่มองโครงสร้างเป็นตัวหล่อหลอมความคิดของคน บูร์ดิเยอพยายามหาจุดตรงกลางเพื่ออธิบายกระบวนทางวัฒนธรรม อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายังคงรับความคิดต่างๆ ที่สังคมมอบให้ ในแนวคิดเรื่องปฏิบัติการณ์ (theory of practice) ปัจเจกบุคคลจะทั้งถูกหล่อหลอมความคิดความเชื่อผ่านวิธีการที่ซับซ้อน แกนสำคัญที่บูร์ดิเยอพูดถึงคือการหล่อหลอม ‘รสนิยม’ อันเป็นเครื่องมือที่ผู้คนแยกแยะตัดสินกันและกัน
Mark Fisher
นักคิดสายมาร์กซทั้งหลายก็รู้สึกว่า ในเมื่อทุนนิยมมันแย่จริงๆ แล้วทำไมระบบนี้มันถึงสถิตสถาวรได้ขนาดนี้ มาร์ก ฟิชเชอร์ นักทฤษฎีชาวอังกฤษเสนอแนวคิด ‘capitalist realism’ ในหนังสือ Capitalist Realism: Is there no alternative? เมื่อปี 2009 เสนอความคิดและข้อสังเกตว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่กลายเป็นสัจธรรม นิยามตัวเองว่าเป็นระบบที่เป็นไปได้เพียงระบบเดียว เป็นระบบที่ผลิตซ้ำตัวเองอย่างซับซ้อนทั้งในมิติทางวัฒนธรรม และการควบคุมชีวิตในแง่ต่างๆ ทั้งการทำงานและการศึกษา
Slavoj Žižek
พูดถึงมาร์กซ ชีเช็คถือเป็นนักปรัชญาและนักคิดที่ออกสื่อ ออกหน้าออกตา และพิจารณาตัวเองว่าเป็นมาร์กซิส วิธีคิดสำคัญชองชีเช็คเป็นการรวมแนวคิดเรื่องอุดมการณ์เข้ากับมุมมองแบบจิตวิเคราะห์ของฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) ชีเช็คโด่งดังจากการวิเคราะห์วัฒนธรรมร่วมสมัย เหตุการณ์ และหนัง เชื่อมโยงการวิพากษ์เข้ากับผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อความคิดของเรา งานเขียนสำคัญได้แก่ The Sublime Object of Ideology (1989) ไปจนถึงมีหนังที่วิจารณ์หนังด้วยมุมมองแบบมาร์กซที่พี่แกลงทุนแสดงเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก