เวลาพูดถึงมาร์กซ เรามักรู้สึกว่า มาร์กซ์เสนอความคิดที่หลงยุค และเป็นไปไม่ได้ในโลกทุนนิยม นี่ไงทุกวันนี้เรายังคงลำบากลำบนอยู่บนโลกทุนนิยม ไหนล่ะการล้มระบบทุนนิยมไปสู่การกระจายทรัพยากร แถมประเทศใหญ่ๆ ที่รับเอาคอมมิวนิสต์ไปใช้ต่างต้องเปิดกลับไปสู่ระบบทุนนิยมทั้งนั้น ในทางความคิด มาร์กซ์เองก็ดูจะถูกครหาว่าพูดแต่เรื่องชนชั้น ซึ่งก็เป็นเพียงมิติหนึ่งของชีวิตที่ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะสลักสำคัญอะไร
ปีนี้มาร์กซกำลังจะครบรอบ 200 ปี (คาร์ล มาร์กซ เกิดวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1818) รัฐ Rheinland-Pfalz ในเยอรมนีได้ผลิตธนบัตรมูลค่า 0 ยูโรเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญดังกล่าว ในโลกทุนนิยมใบนี้ คาร์ล มาร์กซถือว่าเป็นนักคิดและนักปรัชญาที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นคนที่ชี้ให้เห็นความซับซ้อนในการควบคุมผู้คนของระบบทุนนิยม – ระบบที่ควบคุมให้เราทุกข์ทนต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ เป็นรากฐานสำคัญของนักคิดและนักทฤษฎีในยุคต่อๆ มา
ดังนั้น ถ้าเรามองพ้นจากการเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา และมองว่ามาร์กซเป็นนักปรัชญาคนหนึ่ง ความคิดแบบมาร์กซที่พยายามวิพากษ์วิจารณ์และชี้ให้เห็นวิธีการทำงานของระบบที่อาศัยอยู่ โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและวิธีที่ระบบกล่อมเกลาผู้คนให้ทนกับการกดขี่นั้นได้ ตรงนี้เองจึงเป็นสาเหตุที่มาร์กซเป็นนักปรัชญาที่มองข้ามไม่ได้คนหนึ่ง และจริงๆ ก็นับว่าเป็นนักคิดที่ ‘อยู่กับโลก’ ใบนี้คนหนึ่ง
The history of all hitherto existing society is the history of class struggles
พูดถึงมาร์กซ ก็ต้องพูดถึงเรื่องชนชั้น – และการต่อสู้ทางชนชั้น ตรงนี้เองที่เราอาจจะรู้สึกว่า ชนชั้นอีกแล้ว มันยังมีการต่อสู้ทางชนชั้นแบบทาสกับนายทาสอยู่อีกหรอ นอกจากประเด็นเรื่องชนชั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่มาร์กซชี้ให้เห็นคือ ‘ความขัดแย้ง’ – โลกของเรากำลังดำเนินอยู่บนความขัดแย้งไม่ใช่ความกลมเกลียว
วิธีการมองประวัติศาสตร์ของมาร์กซตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบวิภาษวิธี (dialectic) คือเชื่อว่าความเป็นไปต่างๆ เกิดขึ้นบนความขัดแย้ง คำตอบและความคลี่คลายคือคำตอบของความเป็นไป เช่นในมิติของประวัติศาสตร์ มาร์กซมองว่ามันคือการดิ้นรนของคนสองกลุ่ม ของคนที่กดขี่และถูกกดขี่ สุดท้ายการปะทะกันจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์นี้จะนำไปสู่สังคมรูปแบบใหม่ๆ
ถ้ามองแบบกลางๆ วิธีคิดแบบมาร์กซ – โดยเฉพาะในโลกที่ผู้นำเราเน้นเรื่องความกลมเกลียว วิธีคิดเรื่องความขัดแย้งดูจะเป็นแกนและการแก้ปัญหาสำคัญที่ต้องเจอ การจัดการปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ในบ้าน ที่ทำงานไปจนถึงระดับรัฐ ล้วนตั้งอยู่บนปัญหาและความขัดแย้ง ปลายทางคือการที่เราจัดการก้าวผ่านปัญหานั้นไปได้ และอีกด้าน ปัญหาทั้งหลายมักจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ เรื่อง ‘ชีวิต’ เรื่องวัตถุสิ่งของที่เป็นชิ้นเป็นอัน
Life is not determined by consciousness, but consciousness by life
พอพูดถึงนักคิดแล้ว มักมีภาพพวกคนฟุ้งๆ คิดอยู่แต่ใน ‘ความคิด’ กลับกันมาร์กซเป็นนักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับ ‘โลก’ การพูดถึงความขัดแย้งทางชนชั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง สำหรับแนวคิดเรื่อง ‘จิตสำนึก’ มาร์กซเป็นนักคิดที่กลับมาให้ความสนใจกับ ‘ชีวิต’ และ ‘วัตถุ’
วิธีคิดของมาร์กซเรียกว่าแนวคิดแบบ ‘วัตถุนิยม’ (materialism) – ไม่เกี่ยวกับการคลั่งสิ่งของแต่อย่างใด วัตถุนิยมของมาร์กซโต้แย้งแนวคิดแบบจิตนิยม (idealism) แนวคิดแบบจิตนิยมเชื่อว่าเรามีความคิด (หรือกระทั่งเรื่องพระเจ้า) ก่อนแล้วค่อยนำไปสู่ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง แต่มาร์กซ์บอกว่ากลับกัน ชีวิตด้านวัตถุ (material) ต่างหากเป็นสิ่งที่มากำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของเรา ตรงนี้พาย้อนไปที่ประเด็นเรื่องการกดขี่ที่มาร์กซให้ความสำคัญคือ มาร์กซอธิบายว่าการกดขี่ยังคงอยู่ได้เป็นเพราะชนชั้นยอมถูกกดขี่ และที่เป็นแบบนั้นได้ก็เพราะว่ามี ‘จิตสำนึกลวง’ (false consciousness)
ข้อวิจารณ์สำคัญของมาร์กซเลยตั้งอยู่บนฐานความคิดเรื่องโครงสร้างส่วนบน (superstructure) และฐาน (base) เจ้าโครงสร้างส่วนบนคือสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นอุดมคติ – มิติของวัฒนธรรม เช่น กฏหมาย ศาสนา วรรณกรรม ความคิดและความเชื่อล้วนเป็นผลผลิตที่สัมพันธ์กับชีวิตหรือระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน (base) – และมากไปกว่านั้น สิ่งที่เป็นอุดมคติทั้งหลายนั้นแหละที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้การครอบงำกดขี่ยังคงดำรงต่อไปได้ ตรงนี้เองที่นักคิดในยุคหลังต่อจากมาร์กซนำไปพัฒนาเป็นแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (ideology) เป็นการขบคิดและวิพากษ์ว่าระบบทุนนิยมใช้วิธีการที่ซับซ้อนในการหล่อหลอมความคิดความเชื่อ และทำให้เรายินยอมอยู่ในความไม่ยุติธรรมนี้ได้ต่อไป
ตัวอย่างหนึ่งของอุดมการณ์ในโลกทุนนิยมคือเรื่องการประสบความสำเร็จ เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของผู้ประสบความสำเร็จมากมาย และโดยนัยของการเน้นย้ำถึงความสำเร็จนั้นก็เป็นการย้ำคำสัญญาของระบบทุนนิยม คำสัญญาที่บอกว่าในระบบนี้เป็นระบบเปิด เราสามารถต่อสู้ดิ้นรนและประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณขยันพอ คติเรื่องขยันแล้วสำเร็จ เก่งแล้วรวยได้ จึงเป็นวิธีที่เราต่างซึมซับเข้าไป ทีนี้การที่เรารวยหรือจน เราก็มีแนวโน้มที่จะตีความว่า อ๋อ เราหรือใครสักคนนั้นอาจจะขยันหรือเก่งไม่พอ แต่ไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้วระบบอาจจะเต็มไปด้วยการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม การกีดกันแบ่งแยก ไปจนถึงโอกาสของผู้คนที่แตกต่างไม่เสมอภาคกัน
มาร์กซจึงเป็นนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งที่พยายามทะลุกลลวงบางอย่างที่ระบบกลบเกลื่อนความไม่เสมอภาคอันน่าเกลียดเอาไว้ แน่ล่ะว่าชนชั้นหรือระบบทุนนิยมอาจไม่ใช่คำตอบหนึ่งเดียวของปัญหาใดๆ แต่มาร์กซเองย่อมเป็นหิน (stepping stone) ของนักคิดในยุคหลัง ไปจนถึงวิธีคิดแบบมาร์กซก็ถือเป็นแกนความคิดที่ส่งผลต่อเราๆ ท่านๆ ในระบบทุนนิยมอย่างเป็นรูปธรรม
การมองหา วิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นธรรมของระบบทุนนิยมย่อมเป็นขั้นตอนสำคัญในการหาทางออก สุดท้ายเราอาจจะล้มระบบทุนนิยมไม่ได้ แต่ความเข้าใจและมองเห็นปัญหาและการกดขี่ย่อมนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเราขึ้นได้
พวกสวัสดิการที่เรามี ค่าแรงขั้นต่ำ การทำงานที่เป็นธรรมมากขึ้น สุดท้ายเราก็ต้องขอบคุณมาร์กซ์อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Althusser, Louis. “Ideology and Ideological State Aparratuses.” In The Norton Anthology of Theory and Criticism, edited by Leitch Vincent B., Cain William E., Finke Laurie A. and Johnson Barbara E., 1483-509. New York: WW Norton, 2001.
- Edgar, Andrew, and Peter R. Sedgwick. Cultural Theory : The Key Concepts. London: Routledge,2008.
- “Karl Mark and Friedrich Engels.” In The Norton Anthology of Theory and Criticism, edited by Leitch Vincent B., Cain William E., Finke Laurie A. and Johnson Barbara E., 759-63. New York: WW Norton, 2001.
- Marx, Karl, and Friedrich Engel. “The Communist Manifesto.” In The Norton Anthology of Theory and Criticism, edited by Leitch Vincent B., Cain William E., Finke Laurie A. and Johnson Barbara E., 769-72. New York: WW Norton, 2001.
- Marx, Karl, and Friedrich Engel. The Communist Menifesto. edited by David McLellan Oxford: Oxford University Press, 1992.
- Walton, David. Doing Cultural Theory. London: Sage, 2012.
- Zizek, Slavoj. “Introduction: The Spectre of Ideology.” In Mapping Ideology, edited by Slavoj Zizek, 1-33. London: Verso, 1994.
- กาญจนา แก้วเทพ, และ สมสุข หินวิมาน. สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา.กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2551.
- สุภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555