สุขเมื่อไหร่ก็เหล้า เศร้าเมื่อไหร่ก็เบียร์ กับบางคนไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนของชีวิต ก็ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาประกอบ แต่น่าแปลกที่พอเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังคมกลับมองในภาพลบ เมื่อเทียบกับชานมไข่มุกที่ทำร้ายสุขภาพร่างกายพอๆ กัน แต่ทำไมกลับไม่มีกฎหมายงดจำหน่ายชานมบ้าง?
อาจจะเป็นเพราะภาพของคนที่เมามาย อ้วกเรี่ยราดเต็มขอบชักโครก พร้อมอุบัติเหตุที่มาจากความไม่มีสติ ทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้ จัดอยู่ในสิ่งที่ ‘ผิดศีลธรรม’ จนต้องมีกระบวนการสั่งห้ามตามกฎหมาย แต่ความจริงแล้ว มนุษย์เรามีแรงจูงใจที่จะดื่มแอลกอฮอล์อยู่มากมาย นอกเหนือไปจากความอยากมึนเมา หรือเพราะเขาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
เหตุผลร้อยแปดของคนดื่มแอลกอฮอล์
สมัยปี ค.ศ.1950 นักวิจัยหลายคนพยายามศึกษาถึง ‘เหตุผล’ ในการดื่มแอลกอฮอล์ ผ่าน self-report ที่ผู้เข้าร่วมวิจัยรายงานออกมาด้วยตัวเอง แม้ในสมัยนั้น ผู้คนจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องปัจจัยทางสรีรวิทยา จิตวิทยาสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตัวเองมากเท่าไหร่นัก แต่ผลการรายงานก็ได้เผยความสอดคล้องของข้อมูลเชิงลึกทางสภาพจิตใจ ที่สัมพันธ์เชิงประจักษ์กับระดับการบริโภคออกมาให้เห็น
ด้วยความที่อยากรู้ว่านอกเหนือไปจากการเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว มีแรงจูงใจไหนอีกบ้างที่ทำให้คนเราชอบดื่มแอลกอฮอล์ นักวิจัยส่วนใหญ่จึงโฟกัสไปที่การศึกษากลุ่มตัวอย่างทั่วไป ซึ่งเป็นประชากรในวัยผู้ใหญ่และนักศึกษา มากกว่าจะศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ติดสุราหรือเดิมมีปัญหาในการดื่มอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างอื่นๆ ที่จูงใจให้ผู้คนเลือกดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และพิจารณาว่าแรงจูงใจประเภทไหนที่ทำให้ระดับการบริโภคเพิ่มสูงบ้าง
และจากการศึกษาก็พบว่า แรงจูงใจในการดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเพื่อเข้าสังคม ดื่มเพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ดื่มเพื่อเพิ่มพลังในการทำกิจกรรมบางอย่าง ดื่มเพื่อหลบหนีปัญหาหรือคลายความกังวล ดื่มเพื่อความเพลิดเพลิน และดื่มเพื่อเหตุผลทางพิธีกรรม
แม้จะมีเหตุผลที่หลากหลายก็ตาม แต่นักวิจัยก็ได้ทำการแบ่งแรงจูงใจออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ‘แรงจูงใจส่วนตัว’ (personal-effect motives) และ ‘แรงจูงใจทางสังคม’ (social-effect motives)
ว่าด้วยแรงจูงใจส่วนตัว คือการที่คนๆ หนึ่งเลือกดื่มแอลกอฮอล์เพื่อขจัดความรู้สึกเชิงลบในจิตใจของตัวเอง เป็นแรงจูงใจที่ได้รับการระบุว่า เป็นการดื่มเพื่อ ‘รับมือ’ กับปัญหาในชีวิต ซึ่งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วยแรงจูงใจประเภทนี้ มีแนวโน้มที่จะดื่มเพื่อหลบ หลีกหนีปัญหา หรือควบคุมอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์
ในส่วนของแรงจูงใจทางสังคม ที่เรียกอีกอย่างว่าเป็นการดื่มเพื่อ ‘เข้าสังคม’ คือการดื่มเพื่อความสนุกสนาน ดื่มเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ หรือเวลาที่มีช่วงเวลาดีๆ กับคนอื่น ด้วยเหตุนี้ การจะตีความการดื่มเหล้าเบียร์ของคนทั่วโลกว่าเป็นเพราะการเสพติด หรือโรคพิษสุราเรื้อรังเพียงอย่างเดียว ก็ดูจะเป็นการตีความที่ไม่ครอบคลุมเท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจในการดื่มทั้งสองประเภท ก็นำไปสู่การเสพติดแอลกอฮอล์ได้ เพียงแต่ใช้ระยะเวลาในการเสพติดที่ไม่เท่ากันเท่านั้นเอง
กฎหมายงดจำหน่ายสุรา และภาพลักษณ์ของนักดื่มผู้โดดเดี่ยว
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้มาพร้อมกับการถูกตีตราทางสังคม โดยเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนา เครื่องดื่มเหล่านี้มักจะถูกงดให้จำหน่าย เนื่องด้วยกฎหมายส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากศีลธรรม และในประเทศไทย เหล้าเบียร์ก็ถูกมองในแง่ของการกระทำที่ ‘ผิดศีลธรรม’ มานานแสนนาน ไม่ได้ถูกมองในแง่ของวัฒนธรรมอาหารหรือไลฟ์สไตล์แต่อย่างใด
จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 หนึ่งในมาตรการรับมือของประเทศไทยก็คือ การงดจำหน่ายสุรา เพื่อลดการพบปะ ลดการรวมตัว และสังสรรค์กันเป็นกลุ่ม ทำให้ก่อนหน้านั้นมีผู้คนจำนวนมากแห่กันไปกักตุนเหล้า เบียร์ และไวน์เผื่อไว้ จนถูกพาดหัวว่าเป็นขี้เหล้าบ้าง สายเมาบ้าง เป็นแอลกอฮอลิซึ่มบ้าง ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าเราสามารถลบล้างอคติ หรือภาพลักษณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับสินค้าประเภทนี้ได้ การกักตุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการกักตุนทิชชู่ หรือปลากระป๋องในยามวิกฤตหรือเปล่า (ซึ่งพวกเขาอาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องกักตุนก็ได้ แต่กักตุนไว้เพื่อให้มีกินหน่อยก็ดี)
แต่ในที่สุด มาตรการนี้ก็ได้ถูกผ่อนปรนหลังจากผ่านไปหลายสิบวัน ด้วยการอนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามบริโภคภายในร้าน ต้องซื้อกลับไปกินที่บ้าน แต่ถึงอย่างนั้น การซื้อกลับไปดื่มก็ยังถูกมองในภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอยู่ดี
“การที่ให้ซื้อกลับบ้านและหวังว่าคนจะซื้อไปดื่มคนเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ คนดื่มสุราเพื่อบรรยากาศ คนที่จะดื่มสุราคนเดียวก็คือคนที่ติดสุราเท่านั้น” ประโยคจากบทสัมภาษณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาท่านหนึ่ง ที่เกรงว่าการเลื่อนจำหน่ายสุราเร็วขึ้น จะทำให้เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกสอง และมาตรการที่ให้ซื้อสุรากลับไปดื่มคนเดียว ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้
ความเห็นของนายแพทย์ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในหมู่คนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถึงแม้การงดจำหน่ายสุราเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยจากโรคระบาดจะเป็นที่ยอมรับได้ แต่การถูกมองว่าซื้อกลับไปดื่มคนเดียว แปลว่าคนผู้นั้นมีพฤติกรรมการติดสุรา ก็ได้ทำให้ใครหลายคนไม่พอใจในคำกล่าวนี้
ด้วยภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นตัวแทนของความสนุกสนาน มิตรภาพ และการสังสรรค์ ทำให้การซื้อกลับไปดื่มคนเดียวที่บ้าน ถูกมองเป็นเรื่องแปลกในสังคม เพราะคนส่วนใหญ่จินตนาการถึงคนนั่งกุมขมับ หน้าเครียด แล้วยกแก้วดื่มอย่างโดดเดี่ยว เหมือนกำลังเจอมรสุมลูกใหญ่ในชีวิต แบบในโฆษณาดังเมื่อสมัยก่อน ‘จน เครียด กินเหล้า’
ซึ่งถ้าถามว่าการดื่มคนเดียวนำไปสู่โรคพิษสุราเรื้อรังได้หรือไม่ เป็นไปได้อย่างแน่นอนแบบไม่อาจปฏิเสธ เพราะถ้าหากบางคนใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องเยียวยาความเศร้า และทางออกของทุกปัญหาในชีวิต จนไม่รู้ตัวว่างานที่ทำหรือสุขภาพที่เป็นอยู่กำลังถูกกระทบอย่างสาหัส เช่นนั้นแล้ว คนนั้นก็ยากที่จะควบคุมปริมาณในการดื่ม และนำไปสู่อาการเสพติดในเวลาต่อมา แต่ถ้ามองสถานการณ์ตอนนี้ ถามว่าผู้คนเลือกอะไรได้บ้าง นอกจากการทำตามที่ราชกิจจานุเบกษาระบุไว้ ไม่มีเลย ทำให้ผู้คนที่ชื่นชอบในการดื่มแอลกอฮอล์ขณะนี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งในแง่ของข้อกฎหมาย และตราประทับทางสังคมพร้อมๆ กัน
ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่พวกเขาอยากสื่อสารในขณะนี้ก็คงจะเป็น… หากใครสักคนเลือกที่จะหาช่วงเวลานั่งดื่มคนเดียวเป็นครั้งคราวที่บ้าน โดยไม่มีปัจจัย หรือภาวะผิดปกติใดๆ นั่นก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไรนัก เพราะแท้จริงแล้ว การเลือกที่จะดื่มคนเดียว เป็นเรื่องของความสามารถในการเลือกช่วงเวลา สถานที่ และปริมาณในการดื่มด้วยตัวเอง โดยไม่มีแรงกดดันทางสังคมเข้ามาเกี่ยว และเป็นการตัดสินใจใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างเงียบๆ ของคนๆ หนึ่งเช่นกัน
และหากลองเปิดใจและมองให้กว้างกว่านั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีแค่รสชาติที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ผลิตออกมาเท่านั้น แต่ยังมีคราฟต์เบียร์ คราฟต์ไวน์ จากผู้ประกอบการรายย่อย ที่ซ่อนเอากลิ่น สี และเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันเอาไว้ ซึ่งพวกเขากำลังต้องการโอกาสในการเข้าสู่ตลาด เพื่อพิสูจน์ว่าครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่แค่น้ำเมาที่เอาไว้ดื่มหัวราน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมและตัวตนของคนๆ หนึ่ง เช่นเดียวกันกับแฟชั่นการแต่งกาย หรือสไตล์เพลงที่ชอบ
การนั่งดื่มเหงาๆ คนเดียวที่บ้าน หรือดื่มเพื่อผ่อนคลายบ้างบางครั้งบางคราว หลังจากวันที่ยาวนานและเหนื่อยล้า จึงไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะต้องเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเสมอไป เขาอาจเสพเพื่อศิลปะหรือสุนทรียะ
เพราะถ้าหากมองให้เป็นไลฟ์สไตล์ ของเหลวในแก้วหรือขวดที่ว่านี้ ก็แค่หนึ่งในวัฒนธรรมการดื่ม ไม่ต่างไปจากน้ำอัดลมหรือชานมไข่มุก
อ้างอิงข้อมูลจาก