วันที่ 7 ธันวาคมนี้ จะเป็นดีเดย์งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่างเป็นทางการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30(6) แห่งพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือเป็นการดำเนินการใดๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน
ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกขัดแข้งขัดขาด้วยกฎหมายของบ้านเมืองตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ มาตรา 32 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา แสดงชื่อ หรือแสดงข้อความอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ (ที่มีการตีความกว้างขวางเท่ามหาสมุทร) ก็ทำให้พวกเขาแทบจะลืมตาอ้าปากกันไม่ขึ้นแล้ว เพราะถ้าพูดถึงโทษหรือค่าปรับของการทำผิดฐานมาตรา 32 นั้น จะเห็นได้ชัดว่าสูงกว่าการกระทำความผิด ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตผู้อื่นเสียอีก แถมความผิดนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อยากจะปรับเมื่อไหร่ก็ได้ โดยมีรางวัลนำจับอันเป็นมูลเหตุจูงใจเข้ามาเกี่ยว
แต่ดูเหมือนจะยังไม่สาแก่ใจรัฐบาลที่ไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการดื่ม มองแอลกอฮอล์เป็นศัตรูตัวร้าย และหวังดีอยากให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง อยู่ในศีลธรรมอันดี ทำให้มาตรา 30(6) ผุดขึ้นมา โดยบัญญัติไว้ว่า เป็นการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีตามที่ ‘รัฐมนตรีประกาศกำหนด’ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งนี่ก็เป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้จู่ๆ รัฐจะสามารถออกข้อบังคับใดๆ ก็ได้ เพื่อควบคุมการจำหน่ายเหล้าเบียร์ โดยไม่มีการรับฟังความเห็นใดๆ จากภาคประชาชนก่อน และในที่สุด กฎหมายนี้ก็พร้อมจะบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคมที่จะถึง
เสียงคัดค้านจากประชาชน
ในวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนจะถึงดีเดย์งดจำหน่ายเหล้าเบียร์ออนไลน์ ได้มีการประชุมชี้แจง “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เพื่อแจ้งรายละเอียดของกฎหมาย และได้มีการเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนี้ร่วมกัน
พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดลงเพจเฟซบุ๊กของสำนักงาน เพื่อให้ประชาชนทางบ้านมีโอกาสได้รับรู้การชี้แจงนี้ด้วย แต่ภายหลังที่การประชุมจบลง คลิปบันทึกการถ่ายทอดสดการประชุม ก็ ‘ถูกลบทิ้ง’ ทันที ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ จึงเลือกที่จะสอบถามความเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุมนี้แทน
ประภาวี เหมทัศน์ ผู้ประสานงานสมาพันธ์คราฟต์เบียร์แห่งประเทศไทย เล่าถึงบรรยากาศการประชุมให้เราฟังว่า มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 75% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อยที่ได้รับผลกระทบ และได้มีการยื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 30(6) ซึ่งในการประชุมพวกเขามีการตั้งถามหลายข้อต่อ ‘ความไม่สมเหตุสมผล’ ของกฎหมายนี้ ที่มีการจำกัดช่องทางการขายออนไลน์ และถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการขับรถออกไปซื้อหรือไปดื่มแอลกอฮอล์ข้างนอกมากกว่าเดิม
“มีผู้ประกอบการหลายคนได้ตั้งคำถามต่อทางภาครัฐว่า ก่อนออกกฎหมายมีการศึกษาข้อมูลมาแล้วหรือยัง จริงๆ มันมีวิธีการควบคุมมากมายที่ไม่ใช่การห้ามเด็ดขาด อย่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อ เช่น การลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนในขั้นตอนการซื้อขาย หรือการจัดส่งสินค้า เพื่อที่จะทราบอายุจริงของผู้ซื้อ หรือการโฆษณาในเพจที่สามารถจำกัดอายุผู้เข้าถึงได้ โดยผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 จะไม่มีทางเห็นโฆษณานั้นเลย เพราะอินเทอร์เน็ตหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มันสามารถติดตามรอยผู้ใช้งานได้ง่ายกว่าออฟไลน์มาก”
นอกจากเจตนาของกฎหมาย ความคลุมเครือของเนื้อหาในนั้นก็เป็นปัญหาที่ทางภาครัฐต้องช่วยชี้แจงให้เกิดความกระจ่าง อย่างเช่นคำจำกัดความของคำว่า ‘อิเล็กทรอนิกส์’
“อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่สงสัยนั่นก็คือ คำว่าอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมอะไรบ้าง โทรศัพท์ที่ไม่มีสาย ไลน์คอล หรืออีเมลนี่รวมด้วยมั้ย สมมติถ้ามีคนสั่งซื้อทางนี้ แต่ไปรับของที่ร้าน ในเวลาที่ขายได้ ตรวจบัตรได้ แบบนี้ถือว่าได้มั้ย แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะความผิดมันเกิดตอนสั่งซื้อ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาของคำที่ใช้ เพราะในพ.ร.บ.จำกัดความคำว่า เสนอซื้อและเสนอขายไว้กว้างมาก กว้างกว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีก
เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมพ.ร.บ.นี้ตั้งความหมายไว้กว้าง เขาก็ไม่มีคำตอบให้กับเรา บอกได้แค่ว่ามันเป็นกฎหมายที่ตราเอาไว้ สุดท้ายรายละเอียดต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจน ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้”
อีกทั้ง กฎหมายนี้ไม่มีความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ โดยเจ้าหน้าที่ได้มึการเปิดเผยภายหลังว่า หากเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้ซื้อเหล้าเบียร์ไปดื่มเองย่อมสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการซื้อในปริมาณมากเท่านั้น
“เราก็ถามไปว่า ถ้าเป็นนิติบุคคลล่ะ จะสามารถซื้อไปขายต่อได้มั้ย กว่าเขาจะยอมตอบก็นานมาก เพราะเขาเองก็น่าจะตีความกฎหมายนี้ยังไม่ชัด สุดท้ายเขาก็บอกว่านิติบุคคล ไม่ใช่บุคคล สามารถซื้อขายได้ ถ้าเกิดซื้อไปขายส่งจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วเราสามารถซื้อเหล้าเพียงขวดเดียว นำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ เขาไม่มีความเข้าใจในการทำธุรกิจ และเขาบอกว่านิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์มีบัญญัติไว้ ก็ต้องมาดูอีกทีว่าหมายถึงอะไร ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนสงสัยว่า กฎหมายจะถูกนำมาใช้อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้เลยด้วยซ้ำ”
ซึ่งที่มาของกฎหมายต่างๆ ที่เราเห็นกันเกิดขึ้นจากมุมมองของรัฐที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่ตัวทำลายสุขภาพ และเป็นความเสื่อมเสียทางศีลธรรม จึงทำให้มีการตั้งกำแพงภาษีที่สูง กำหนดเวลาซื้อ งดจำหน่ายในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และตัดโอกาสในการโฆษณาสินค้า โดยประภาวีมองว่ารัฐปิดกั้นเท่านี้ก็มากพอแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายที่ตัดช่องทางการจัดจำหน่ายอีก
“เขาบอกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อสังคม ทำให้ต้องควบคุมเยอะมาก ซึ่งวิธีการควบคุมก็จะมีในเรื่องของการเข้าถึง และเรื่องของการทำโครงสร้างภาษีให้มีราคาสูง ซึ่งเบียร์และไวน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ สคบ. ตั้งภาษีไว้สูง เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
อย่างเราเป็นคนขายคราฟต์เบียร์ หายากมากที่เยาวชนที่ยังเรียนไม่จบจะมาซื้อเบียร์ของเรา เอาง่ายๆ ไม่มีเยาวชนจำนวนมากนักหรอกที่จะมีเงินมาดื่มเบียร์ราคาหลายร้อย เพราะฉะนั้น การที่ราคาหรือโครงสร้างภาษีมันแพงแบบนี้ มันก็ถือเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงไปแล้ว
ทางภาครัฐได้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสูงๆ ไปแล้ววิธีหนึ่ง มีกฎหมายลงโทษคนเมาแล้วขับ มีการตั้งด่าน มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์แบบต่างๆ มีกฎหมายเยอะมาก ถือเป็นกำแพงหลายชั้นแล้ว แล้วก็ออกกฎหมายมาควบคุมเรื่อยๆ คิดว่ามันไม่สมเหตุสมผล ล่าสุดเราเพิ่งดูไป เฉพาะภาษีของเบียร์ก็ปาไปเจ็ดหมื่นเก้าพันล้าน ของเหล้าก็หกหมื่นสองพันล้าน ก็ราวๆ แสนสี่หรือแสนห้าต่อปี คือคุณควบคุมอะไรนักหนา ซึ่งสุดท้ายมันก็ทำให้เจ้าใหญ่อยู่รอดได้เท่านั้นเอง
เจ้าใหญ่ไม่ต้องทำอะไรเลย คนก็วิ่งไปซื้อสินค้าของเขาแล้ว ไม่ต้องมีขายบนออนไลน์ แค่เดินออกไปหน้าปากซอยก็เจอในเซเว่นแล้ว แม้แต่ในซอยก็มีวางขายในร้านโชว์ห่วย แต่เจ้าเล็กขอแค่พื้นที่สื่อสารทางการตลาด ให้ข้อมูลแทบตาย ดีไซน์ขวดสวยแค่ไหน คนก็ยังไม่รู้จักเลย ซึ่งช่องทางหนึ่งที่เราพอจะสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง นั่นก็คือช่องทางออนไลน์ การทำแบบนี้คือการตัดตอนรายย่อยอย่างถึงที่สุด”
“ไม่ใช่แค่ขายไม่ได้
แต่แค่สื่อสารก็ยังไม่ได้เลย”
ความคลุมเครือของภาครัฐ
ในเวลาไม่กี่นาทีต่อมา หลังจากวางสายประภาวีไป เราก็ได้รับคลิปเสียงจากเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ ที่บันทึกเนื้อหาระหว่างการประชุม โดยในพาร์ทถามตอบ ก็ได้มีผู้ประกอบการคนหนึ่งตั้งคำถามว่า
“ทำไมการออกกฎหมายนี้ ถึงไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน มีเพียงแค่รับฟังความเห็นจากภาครัฐเท่านั้น และบังคับใช้กฎหมายเลย ทำไมการประชุมในลักษณะที่มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนเหมือนวันนี้ ถึงไม่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการร่างกฎหมายหรือบังคับใช้ การที่ท่านใช้กฎหมายแบบนี้ เหมือนท่านมีอาวุธอยู่ในมือ และท่านจะเลือกใช้กับใครก็ได้ แบบนี้มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งผู้ประกอบการคนนั้น ก็ได้รับคำตอบกลับมาเพียงแค่ “ทางสำนักงานจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไวั”
และมีอีกหลายๆ คำถาม ที่เกี่ยวกับมุมมองของการออกกฎหมาย เช่น มีการศึกษาหรือทบทวนก่อนนำออกมาใช้แล้วหรือยัง? คมสัน โพธิ์คง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้ตอบคำถามนี้ว่า “วันนี้ผมมีหน้าที่ชี้แจ้งที่มาที่ไปของกฎหมายและชี้แจงรายละเอียดต่างๆ เท่านั้น ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ผมไม่อยากใช้เวทีนี้พูด เพราะเวลาจะล่วงเลยยาวเกินไป ต้องติดตามดูกันอีกที”
เมื่อถามถึงรางวัลนำจับว่ามีอัตราส่วนเท่าไหร่? เหมือนในกรณีมาตรา 32 มั้ย? เพราะมีการกล่าวในกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ามีแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ตีความกฎหมายกว้างเกินกว่าเหตุ คมสันให้คำตอบว่า “ส่วนนี้เป็นการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่” โดยที่ผู้เข้าร่วมการประชุมโต้แย้งกลับไปว่า “แต่มันเป็นสิ่งที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย ตอบในมุมของกฎหมายก็ได้” คมสันกลับให้คำตอบว่า
“ผมไม่ได้เอาข้อมูลเรื่องค่าปรับมา ผมไม่อยากไปผูกพัน ผมไม่ได้มีรายละเอียดเรื่องค่าปรับ เรื่องส่วนแบ่งผมไม่ได้เตรียมมา ผมไม่ได้ใช้พลังงานในการบังคับใช้กฎหมาย เราเป็นเพียงแค่พนักงานที่มาดูในเรื่องของหลักการและวิชาการ ถ้าเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง ให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนตอบดีกว่า”
และได้โยนคำถามเดียวกันให้กับทาง นพ.นิพนธ์ ชินานนน์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ใจความกลับมาว่า
“ขอตอบในฐานะของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผมต้องบอกว่า พ.ร.บ.นี้มีมานานกว่า 10 กว่าปีแล้ว หลักๆ เราไม่อยากให้ใครทำผิดกฎหมาย เรื่องค่าปรับสินบนเพิ่งมามีในภายหลัง ซี่งจริงๆ แล้ว เรื่องสินบนเป็นไปตามบัญชีกลาง ก่อนที่ผมจะมาอยู่ ผมก็ไม่รู้เลยว่ามันเป็นยังไง แต่ในเบื้องต้นขอความกรุณาจากผู้ประกอบการอย่าทำผิดกฎหมาย ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย มันก็ไม่มีค่าปรับ
ส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมก็คือ ค่าปรับชุดนี้เป็นค่าปรับตามมาตรา 30 ซึ่งมาตรานี้เป็นวิธีการขาย พูดตรงๆ ก็คือน้อยกว่าขั้นตอนของกรณีที่เป็นการโฆษณาเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ทำผิด ไม่ขายออนไลน์…” แล้วก็มีเสียงผู้เข้าร่วมท้วงแทรกขึ้นมาว่า “แล้วสรุปเท่าไหร่?” เพื่อดึง นพ.นิพนธ์ ให้กลับมาตอบใจความหลักของคำถาม
จนในที่สุดก็ได้คำตอบว่า “ค่าปรับเบื้องต้นคือ 3,000 บาท ลดแล้วเหลือ 1,000 เจ้าพนักงานที่ทำงานมี 10 คนก็ตกคนละ 100 บาท แต่อันนั้นในกรณีที่มีคนไม่เกี่ยวข้องมาแจ้งความ ถ้าเอาชื่อเสียงมาแลกกับเรื่องนี้ มันไม่คุ้มหรอก ฉะนั้น มาตรการที่สำคัญก็คือ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกส่วน อย่าทำผิดกฎหมาย เราไม่ได้อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นหรอก อย่ามาพูดว่าเราเป็นลัทธิล่าแม่มด มาไล่ปรับ มันเป็นการกล่าวหา” และอีกหลายประโยคที่วนไปวนมาอยู่กับคำว่า ‘กระบวนการตามกฎหมาย’ และ ‘ขอว่าอย่ากระทำผิด’
“ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกส่วน
อย่าทำผิดกฎหมาย เราไม่ได้อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้น
อย่ามาพูดว่าเราล่าแม่มด มาไล่ปรับ มันเป็นการกล่าวหา”
สุดท้าย ในเรื่องของนิยามคำว่า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นข้อสงสัยหลักๆ ของผู้ประกอบการว่า จริงๆ แล้วคำนี้ครอบคลุมเครื่องมือหรือวิธีการประเภทไหนบ้าง?
“ในเบื้องต้นขออนุญาตรับไว้ก่อน เพราะถ้าตอบตอนนี้อาจจะเกิดการคลาดเคลื่อนหรือการผิดพลาด พอเราไปเป็นคนนิยามเอง มันจะไปขัดแย้งกับกฎหมายหลัก เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด เพราะเราไปเจอว่าหลายกรณีที่ศาลตัดสิน มีการใช้นิยามที่อยู่ในประเทศไทยเป็นตัวอ้างอิง ถ้าเราไม่ชัดเจน หรือคำนิยามไม่ชัดเจน สุดท้ายตอนที่ขึ้นศาลต่างๆ กฎหมายที่คาบเกี่ยวจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ขออนุญาตที่จะไม่ตอบในเวลานี้”
นับว่าเป็นการขอไม่ตอบคำถาม ที่ได้เป็นตอบคำถามให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า สุดท้ายกฎหมายมาตรา 30(6) ว่าด้วยการห้ามขายแอลกอฮอล์โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถูกบังคับใช้บนความ ‘ไม่ชัดเจน’ และการ ‘ขอพิจารณาก่อน’ ของภาครัฐ
บทสรุปของการประชุมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าผู้ออกกฎหมายเอง ก็ยังไม่มีความเข้าใจ และไม่สามารถตีความข้อความในมาตรา 30(6) ได้อย่างชัดเจน พอที่จะกำหนดได้ว่าสิ่งไหนทำได้ และสิ่งไหนทำไม่ได้ แม้กระทั่งคำนิยามของ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ เอง ก็ยังต้องขอเก็บไว้พิจารณาก่อน ในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2-3 วัน ก่อนที่กฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้ และเปลี่ยนชะตากรรมของผู้ประกอบการหลายคนไปตลอดกาล
“เขาบอกว่า จริงๆ แล้วหลายเรื่องที่เราถามมาเป็นการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ และเป็นสิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นต่อไป ซึ่งเขาจะเก็บไว้พิจารณาก่อน ก็มีผู้ประกอบการถามว่า ในเมื่อมันไม่มีความชัดเจนหลายอย่าง และมีผู้ประกอบการหลายคนที่ไม่เห็นด้วย แบบนี้จะมีการชะลอกฎหมายมั้ย ซึ่งที่ประชุมก็บอกว่า มันถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าจะบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคมไปแล้ว
แต่ทางทีมก็มีการคุยกันว่า จะมีการยื่นเรื่องไปทางผู้อำนวยการหน่วย ว่าจะขอให้มีการชะลอการบังคับใช้กฎหมาย ทางเราก็ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งในทางระเบียบมันสามารถทำได้ นี่คือสิ่งที่นิติกรแจ้งกับเรา” ปราภาวีทิ้งท้าย และเธอยังได้ฝากคำถามและความเห็นไปถึงภาครัฐ ในนามตัวแทนของผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์รายย่อยว่า
- หลังจากนี้จะมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกมั้ย? ในช่องทางไหน?
- จะมีการชะลอการใช้กฎหมายมั้ย?
- อยากให้ประมวลผลดีผลเสียของกฎหมายแบบชัดๆ
- ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่เสียหายจากมาตรานี้หรือไม่? อย่างไร?
โดยเราก็ได้โทรไปสัมภาษณ์ นพ.นิพนธ์ เพิ่มเติม โดยถามคำถามที่ประภาวีฝากไว้ ซึ่งก็ได้รับคำตอบกลับมาเช่นเดิมว่า ไม่สามารถชะลอกฎหมายนี้ได้ เนื่องจากมีการประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว และไม่มีมาตรการเยียวยา เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามขาย แค่ห้าม ‘วิธีการขาย’ บางอย่าง ที่เหลือก็สามารถขายได้ตามปกติ
“ก่อนหน้านั้นเรามีการจัดตั้งโพลในเว็บไซต์ เกือบ 2-3 อาทิตย์ แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาดูเลย จริงๆ มันเป็นกฎหมายลูก แต่เขาไม่ได้กำหนดว่าต้องทำ เราก็ทำๆ ไป เพื่อให้มันเป็นไปตามขั้นตอน บางเรื่องที่เราพอทำได้ก็ทำ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการให้ออกกฎหมายนี้ ซึ่งอันนี้มันไม่ได้ห้ามขายนะ ถ้าไปอ่านดีๆ มันเป็นการห้าม ‘วิธีการขาย’ แต่ถ้าสมมติคุณขายแบบประเภทขายส่ง เราก็ไม่ได้เข้าไปยุ่ง ถ้าไปดูให้ชัดๆ จะบอกว่าแต่ละวรรคบอกอะไร” นพ.นิพนธ์ กล่าว
พร้อมทั้งตอบคำถามในเรื่องคำจำกัดความของ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ เพิ่มเติมว่า “ส่วนเรื่องคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการถามมาเยอะๆ จริงๆ มันมีกฎหมายเทียบเคียง นั่นก็คือกฎหมายของกระทรวง DE เรื่องธุรกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่อันนั้นมันกว้างมาก ถ้าไปเอาตามนั้นเดี๋ยวจะเป็นปัญหาเยอะ แต่เวลาศาลตัดสินเขาจะเอามาเทียบเคียง เพราะอย่างนั้นการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีอยู่ปัจจุบันก็กว้างมาก ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ส่วนใหญ่มันไดนามิกนะ ณ เวลานี้อิเล็กทรอนิกส์เป็นแบบนี้ แต่ต่อไปอิเล็กทรอนิกส์อาจจะเป็นอีกแบบก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพูดไปตอนนี้ พรุ่งนี้กฎหมายก็อาจจะเปลี่ยนไปได้
จริงๆ คำว่าอิเล็กทรอนิกส์มันมีเบื้องต้น แต่พอเอามาพูดในที่ประชุมมันมีแค่นี้ ถามว่าคำนิยามมันเป็นยังไง ในเบื้องต้นมันมีกฎหมายเทียบเคียง แต่เนื่องจากบางอันมันไม่เหมือนกันทีเดียว ทำให้สุดท้ายตอนวินิจฉัยเลยเอากฎหมายนี้มาเทียบเคียง เอาง่ายๆ คนผิดกฎหมายอาญา ถามว่าตอนศาลตัดสิน เขาใช้กฎหมายฉบับเดียวในการวินิจฉัยทั้งหมดมั้ย เขาก็ต้องใชัหลายฉบับประกอบกัน ยิ่งตอนนี้การขายออนไลน์ บางคนไม่ได้ผิดแค่มาตราเดียว เขารู้มั้ยว่าสินค้าที่ขายถูกหรือผิดกฎหมาย ได้จดทะเบียบการขายมั้ย มันมีอีกหลายอย่างที่ต้องตรวจสอบไปควบคู่กัน”
และเมื่อถามถึงทางออกของเรื่องนี้ ในแง่ที่ถ้าหากทางผู้ประกอบการมีมาตรการจำกัดอายุหรือมีวิธีตรวจสอบอายุผู้ซื้อ ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ถามหน่อยว่าระบบที่จะตรวจสอบไอที ประเทศไทยใช้แค่กับระบบอะไร เฉพาะธนาคารใช่มั้ย ง่ายๆ คือคุณเดินไป เคยตรวจบัตรกันมั้ย แค่ลานเบียร์ยังไม่ตรวจบัตรเลย ถามว่าเข้าไปในสถานบริการหลัง 4 ทุ่มเคยตรวจบัตรกันมั้ย ระบบตรวจสอบ ระบบไอทีที่เป็นอยู่ สามารถตรวจสอบได้จริงหรอ”
หรือในแง่ของการมองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่ของวัฒนธรรมการดื่มก็ตาม นพ.นิพนธ์ เพียงแค่ถามคำถามกลับมาว่า แล้วเวลาคนเมาแล้วขับ จะทำยังไง? กรณีข่มขืนหรือท้องก่อนวัยอันควร เคยมีคนมารับผิดชอบมั้ย? ไม่คิดหรอว่าเอาเงินไปใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้จะไม่ดีกว่าหรือ? หรือจะต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นตัวที่ทำให้มีความสุข? แต่ไม่ได้ให้ทางออกอื่นๆ ใดนอกจากนี้
แม้จะใกล้ดีเดย์ประกาศใช้กฎหมายมาตรา 30(6) ที่จะส่งผลกระทบขนาดใหญ่แก่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก แต่ภาครัฐก็ยังไม่สามารถขจัดความเคลือบแคลงใจที่เกิดจากความกำกวมของกฎหมายนี้ให้แก่พวกเขาทราบได้ มิหนำซ้ำ หลักฐานจากการประชุมอย่างการถ่ายทอดสดย้อนหลังที่ถูกลบทิ้งไปจากเพจของสำนักงาน ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนสงสัยในเจตนาอันไม่ชัดเจนของกฎหมายนี้เพิ่มมากขึ้น