ใกล้วันเข้าพรรษา บางคนเตรียมของทำบุญตักบาตร บางคนไปหล่อเทียนพรรษา บางคนถวายผ้าอาบน้ำฝน แล้วก็มีบางคนเตรียม ‘ตุนเหล้าเบียร์’ เก็บไว้ เพราะวันนั้นจะหาดื่มได้ยากกกกกกกกกกกกกกมากกกกกกกกกก
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนจะมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญ ร่วมกิจกรรมกับคนในชุมชน หาศิริมงคลเข้าตัว ปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด ด้วยความเชื่อที่ว่าวันพระจะทำให้บุญแรงขึ้น
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นวันเกิดของยัยฟ้าใส เพื่อนสาวชาวคริสต์ที่นานๆ ทีจะได้เจอ เพราะมัวแต่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง เวลาว่างไม่ตรงกันซะที อะ ไหนๆ ก็วันเกิดนางแล้ว ถือโอกาสนี้ไปจิบเหล้าฉลองซะหน่อย ไป! ฟ้าใส ออกรถ!
แต่สามวินาทีต่อมาก็ตระหนักได้ว่า เข้าพรรษาร้านเหล้าไม่เปิด! เลยรีบโทรหาฟ้าใส เปลี่ยนแผนไปกินหมูจุ่มแทนแบบเซ็งๆ
จากหลักคำสอนทางศาสนา สู่กฎหมายงดจำหน่ายเหล้าเบียร์
‘งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา’ เป็นแนวคิดที่อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง หลายครั้งที่หน่วยงานภาครัฐมีเป้าหมายหลักเพื่อลดสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย เสริมสร้างสุขภาพที่ดี และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากความมึนเมา
ที่ผ่านมามีการพยายามก่อตั้งโครงการมากมาย ผ่านการสื่อสารหลายรูปแบบ และเมื่อความเป็นห่วงของภาครัฐและความเป็นเมืองพุทธมารวมกัน ก็เลยออกมาเป็นพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ถ้าหากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ในวันสำคัญทางศาสนาดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อคุมเข้มร้านค้าทั่วเมือง พร้อมกับกระดาษติดอยู่หน้าตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อว่า ‘ขออภัย งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด’
เห็นแบบนี้แล้วก็ดีจังเลยนะ ที่มีคนเป็นห่วงสุขภาพเราขนาดนี้ แถมยังอยากให้เราได้บุญได้กุศล นุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์ และเคร่งปฏิบัติในศีลข้อ 5 อีก แต่คำถามคือ แล้วคนที่นับถือศาสนาอื่น หรือคนที่ไม่มีศาสนาล่ะ?
กฎหมายที่หลงลืมความหลากหลายทางสังคม
จากการสำรวจสภาวะทางสังคมจากครัวเรือนตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือน ในปี พ.ศ.2561 โดยสำนักงานสถิติฯ เผยว่า ประชากรในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 93.5 รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลามร้อยละ 5.4 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 1.1 และไม่มีศาสนาน้อยกว่าร้อยละ 0.1
แม้เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธคือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือ แต่เหตุผลในการนับถือศาสนาของคนเรา บางทีก็อาจจะเป็นแค่การนับถือตามผู้ปกครอง กรอกไว้ในบัตรประชาชนเฉยๆ หรือเขียนไว้ในประวัติ เพื่อที่จะได้สมัครงานง่ายๆ แต่ถ้าถามถึงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเขาจริงๆ อาจไม่ใช่ศาสนาก็ได้ แต่เป็นของกินอร่อยๆ เพลงเพราะๆ หนังสนุกๆ
หรือถ้าวันนึงโลกนี้มีศาสนาเบียร์ ศาสนาไวน์ ศาสนาคอนเสิร์ต ก็คงมีสัดส่วนของประชากรที่น่าตกใจอยู่พอควร
เมื่อกฎหมายครอบคลุมโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางสังคม หรือวิถีชีวิตที่สร้างความผ่อนคลาย ก็ย่อมส่งผลให้คนบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ กล่าวคือ ถ้าฉันนับถือศาสนาที่ไม่ห้ามดื่มเหล้าเบียร์ ฉันจะไปหาซื้อได้จากที่ไหนล่ะเนี่ย? จึงได้ลองไปถามความเห็นคนที่ไม่นับถือศาสนาว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับข้อห้ามนี้บ้าง
“ทั้งๆ ที่เราอยากให้ทุกคนในสังคมเท่าเทียมกัน แต่ทำไมเราถึงเอาหลักศาสนาเดียวมากำหนดการกระทำของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาอย่างประเทศไทย”
“การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าเบียร์ 3 เดือนเป็นเรื่องที่ดี แต่การงดจำหน่ายไปเลย อันนี้คิดว่ามันไม่น่าจะต้องครอบคลุมขนาดนั้น เพราะประเทศเราไม่ได้มีศาสนาเดียว”
“ไม่ควรนำศาสนามาตั้งกฎหมาย ขนาดอิสลามไม่กินเนื้อหมู เราก็ยังขายเนื้อหมูกันได้ มันก็เป็นทางเลือกของเขาที่จะไม่กิน แต่ทำไมพอเป็นเหล้าเบียร์ เราถึงเอาศีลข้อ 5 ของศาสนาพุทธมากำหนดพฤติกรรมของคนศาสนาอื่นด้วย เราคิดว่าการทำด้วยใจมันน่าดีกว่าการโดนบังคับ”
การบังคับที่อาจใช้ไม่ได้ผล
การลดนักดื่มหน้าเก่าหน้าใหม่ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีเจตจำนงเพื่อลดอุบัติเหตทางรถยนต์หรือความประมาทอื่นๆ ที่ตามมา แต่การห้ามดื่มสุราในวันสำคัญทางศาสนา ถึงขึ้นที่งดจำหน่ายให้กับคนศาสนาอื่นด้วยนั้น ดูจะเป็นกฎหมายที่ริดลอนสิทธิกันเกินไป
อีกทั้งกฎหมายนี้ยังทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่ทุกวัน กตัญญูต่อบุพการีมาทั้งปี กินเบียร์ในวันเข้าพรรษาวันเดียว จะกลายเป็นคนบาปเลยรึเปล่า?
แล้วการบังคับเช่นนี้ ท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่อะไร? ในเมื่อกินเบียร์มาทั้งปี งดกินแค่วันเข้าพรรษาหรือวันอาสาฬหบูชาเพียงไม่กี่วัน หรือจริงๆ แล้วรัฐมองว่า ‘อย่างน้อย’ ก็ลดได้ 1-2 วันแหละนะ แต่ยังไงก็ฟังดูไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ในระยะยาวอยู่ดี เพราถ้าคนเราอยากดื่มจริงๆ ก็จะหาทางดื่มให้ได้ในที่สุด (จากใจคนที่เคยยืนเปิดกระป๋องเบียร์หน้าร้านของชำในซอยลับ เมื่อคืนวันเข้าพรรษา)
ทฤษฎี Nudge Theory ของริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) หรือทฤษฎีผลักดัน เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนแบบแยบยล หรือจูงใจคนด้วยการไม่ออกคำสั่งบังคับ แต่เป็นการออกแบบสถานการณ์ สภาพแวดล้อม หรือสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้คนมีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวังไว้ เช่น การติดจำนวนแคลอรี่ในแต่ละขั้นบันได เพื่อชักชวนให้คนอยากเดินขึ้นบันไดมากขึ้น หรือการทำถังขยะให้มีลูกเล่น เพื่อดึงดูดให้คนอยากทิ้งขยะลงถังมากขึ้น
ทฤษฎีนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อประโยชน์ของสังคมหรือส่วนรวม เนื่องจากเป็นไอเดียที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกหรือการกระทำ แต่ขณะเดียวกัน การเลือกหรือการกระทำที่เป็นอิสระนั้น ก็อยู่ภายใต้การควบคุมบางอย่างของคนบางคนแบบไม่รู้ตัว
ที่พูดถึงทฤษฎีนี้ขึ้นมา เพราะการตัดสินใจของมนุษย์บางครั้งต้องก็พึ่งพา ‘แรงเสริม’ เข้ามาช่วย ไม่ใช่แค่ชี้สั่งเพียงอย่างเดียวเช่นเดียวกันกับการงดเหล้า ซึ่งควรเป็นทางเลือกที่เกิดจากจิตสำนึกของคนเรามากกว่า ถ้าเราเล็งเห็นปลายทางของความพยายาม เราก็จะกระทำสิ่งนั้นด้วยความเต็มใจ และก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการแปะกระดาษหน้าตู้แช่ในเซเว่นว่า ‘วันนี้งดจำหน่ายสุรา’ แต่สุดท้ายคนก็แอบเดินไปซื้อที่ร้านโชว์ห่วยของอาแปะข้างๆ ได้อยู่ดี เพราะการทำด้วยจิตสำนักที่แท้จริง อาจได้ผลในระยะยาวกว่าการถูกบังคับ
กฎหมายทุกข้อเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดีเสมอ และรัฐก็มีหน้าที่ดูแลประชาชน ให้ประชาชนเติบโตมาอย่างสุขภาพดี เพื่อที่จะมีแรงพัฒนาประเทศชาติต่อไป แต่การชวนกันให้ขบคิดเกี่ยวกับกฎหมายที่บังคับคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างและความหลากหลายของสังคม ก็ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้เช่นกัน อย่างน้อยๆ ก็เอาสิทธิเสรีภาพในการผ่อนคลายของตัวเองกลับมาแหละนะ