พบยาเสพติดล็อตใหม่เป็นประวัติศาสตร์ ถอดกัญชาพ้นจากการเป็นยาเสพติด ข่าวคราวเกี่ยวกับยาเสพติดเกิดขึ้นมากมายในประเทศของเราปีนี้ รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ยาเสพติดสร้างปัญหาเป็นขบวนในระดับสังคม แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาที่ดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดมาในประเทศไทย ปัญหายาเสพติดเหมือนจะไม่ทุเลาลงเลย
โดยเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ไทยระบุว่า ในเรือนจำมีนักโทษคดียาเสพติดทั้งหมด 266,095 ราย จาก นักโทษทั้งหมด 344,161 ราย หรือนักโทษ 7 ใน 10 คนเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด
นอกจากนี้ ภายในตัวเลขกว่าสองแสนคนของนักโทษคดียาเสพติด ยังมีนักโทษประหารชีวิตอยู่ทั้งสิ้น 131 ราย แบ่งเป็นชาย 105 ราย และหญิง 26 ราย
ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอันดับต้น ดังนั้น The MATTER อยากชวนมองโมเดลกฎหมายยาเสพติดของประเทศเหล่านี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าไทยเราตอนนี้รับมือกับปัญหายาเสพติดอย่างมีคุณภาพเพียงพอหรือยัง
ไทย
สำหรับประเทศไทย ปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาก และมากยิ่งขึ้นเมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ไทยมีนักโทษคดียาเสพติดที่อยู่ในเรือนจำทั้งหมด 266,095 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 77.32 ของนักโทษทั้งหมด 344,161 ราย กล่าวคือ 7 ใน 10 คนเป็นนักโทษคดียาเสพติด
โดยในตอนนี้ประเทศเราควบคุมยาเสพติดอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้แยกประเภทยาเสพติดออกเป็น 5 ประเภท และกำหนดโทษสูงสุดสำหรับการผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 1 หรือจำพวก แอมเฟตามีน (ยาบ้า) เฮโรอีน ไว้ที่การประหารชีวิต
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2478 ไทยเคยบังคับใช้โทษประหารชีวิตมาแล้วทั้งหมด 326 ครั้ง และขณะนี้ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2563 ของกรมราชทัณฑ์ชี้ว่า ขณะนี้ยังมีนักโทษประหารชีวิตอยู่ทั้งสิ้น 240 ราย โดยแบ่งเป็นคดียาเสพติดทั้งสิ้น 131 ราย แบ่งเป็นชาย 105 ราย และหญิง 26 ราย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อนำกัญชง, กัญชา, กระท่อม, ฝิ่น และเห็ดขี้ควายออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว โดยอนุญาตให้ใช้ในเชิงการแพทย์เท่านั้น ยังไม่ใช่ในเชิงสันทนาการ
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายยาเสพติดที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยฟิลิปปินส์แบ่งประเภทของยาเสพติดออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภทเหมือนกับไทย ซึ่งปัญหายาเสพติดที่ฟิลิปปินส์พบมากที่สุดคือ ยาไอซ์ หรือ Shabu
และแม้ฟิลิปปินส์จะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2006 แต่ความพยายามนำโทษประหารชีวิตกลับมาก็มีให้เห็นเรื่อยๆ โดยล่าสุดในปี 2018 สมาชิกรัฐสภาฟิลิปินส์ได้เสนอให้มีการนำบทลงโทษประหารชีวิตกลับมาอีกครั้ง สำหรับนักโทษคดียาเสพติด แต่เรื่องตลกคือ วันรุ่งขึ้น รัฐสภาฟิลิปปินส์ก็มีการหยิบยกประเด็น ‘กัญชาทางการแพทย์’ ขึ้นมาพูดถึงเป็นลำดับถัดไป และแม้ ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต จะเคยพูดไว้ตอนหาเสียงว่าตัวเขาสนับสนุนกัญชาในทางการแพทย์เพราะมันเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ ในขณะนี้ก็ยังไม่มีมูฟเมนต์เกี่ยวกับกัญชาเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เท่าใดนัก
นับตั้งแต่ โรดริโก ดูเตอร์เต เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ หนึ่งในนโยบายที่เขาชูและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาตลอดคือ การทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเขาอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการสืบสวน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายจากความเด็ดขาดแบบนี้
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากนโยบายสงครามยาเสพติดของ ดูเตอร์เต นับตั้งแต่ปี 2016 – 2020 ยังไม่มีความแน่นอน โดยทางการฟิลิปปินส์เผยว่ามีผู้เสียชีวิต 8,663 ราย ขณะที่ UN กลับชี้ไปที่ตัวเลขที่มากกว่านั้นถึงสามเท่าคือมากกว่า 25,000 ราย และเป็นเด็กหรือเยาวชนอย่างน้อย 122 ราย
สหรัฐอเมริกา
ย้อนกลับไปในปี 1971 ริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด และประกาศใช้กฎหมายยาเสพติดที่มีชื่อว่า The Controlled Substances Act (CSA)’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เรียกได้ว่าท้าชนกับปัญหายาเสพติดอย่างเต็มตัว และตัดวงจรการผลิตยาเสพติดทั้งหมด ไม่ว่าในแง่วิทยาศาสตร์ หรือการแพทย์
กระทั่งในปัจจุบัน กฎหมายกลางของสหรัฐฯ ได้แบ่งยาเสพติดออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภท และยังคงบทบัญญัติสูงสุดคือการประหารชีวิตเอาไว้ ในกรณีที่มีการลักลอบนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดในปริมาณมาก ทั้งนี้ แต่ละรัฐของสหรัฐฯ ก็มีการออกแบบบทลงโทษที่แตกต่างกันไป
กัญชาเป็นตัวอย่างที่ดีต่อมุมมองที่แตกต่างของประชาชนแต่ละรัฐต่อยาเสพติด โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บางรัฐได้แทรกกระดาษบางแผ่นเพิ่มลงไปเพื่อจัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ซึ่งผลประชามติออกมาว่า สี่รัฐ ได้แก่ แอริโซนา มอนแทนา นิวเจอร์ซีย์ และเซาท์ดาโคตา เห็นด้วยกับการให้กัญชาถูกกฎหมายในระดับการแพทย์และสันทนาการ ขณะที่รัฐมิสซิสซิปปีเห็นด้วยกับการให้กัญชาถูกกฎหมายในเชิงการแพทย์
นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสภาคองเกรสก็ได้มีมติโหวตผ่านร่างกฎหมาย ‘The Marijuana Opportunity, Reinvestment, and Expungement (MORE) Act’ ที่ยกเลิกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดของรัฐบาลกลาง และยกเลิกโทษอาญาแก่การครอบครอง ผลิต หรือแจกจ่ายกัญชา อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางรัฐสภาของสหรัฐฯ ยังมีอีกหลายขั้น และยังมีกำแพงหนาขวางกั้นอยู่คือ เหล่าวุฒิสภาพรรครีพับลิกันที่ออกมาค้านเรื่องนี้กันอย่างสุดตัว อย่างไรก็ดี การเข้ามาของ โจ ไบเดน และ คามาลา แฮริส ซึ่งประกาศทั้งคู่ว่าพร้อมสนับสนุนกัญชา อาจเป็นทิศทางที่ดีต่อทั้งกัญชาและนโยบายยาเสพติดของสหรัฐฯ ในปีหน้า
โปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีมุมมองต่อปัญหายาเสพติดแตกต่างออกไป โดยนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โปรตุเกสได้ออกกฎหมายที่มีชื่อว่า กฎหมายลดทอนความผิดอาญา หรือ Law 30/2000 ซึ่งมีผลทำให้การครอบครองยาเสพติดทุกประเภทเพื่อใช้สำหรับเสพส่วนบุคคลไม่มีความผิดทางอาญา
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวระบุว่าการครอบครองยาเสพติดในปริมาณไม่เกินที่ใช้เสพ 10 วัน (แตกต่างกันไปตามชนิด เช่น กัญชา 25 กรัม, เฮโรอีน 1 กรัม, โคเคน 2 กรัม) ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา แม้หากใครก็ตามที่ทำผิดจากนี้ ก็ยังไม่กลายเป็นนักโทษและถูกตัดสินอยู่ดี เพราะพวกเขาจะต้องถูกส่งไปให้คณะกรรมการพิเศษที่ประกอบไปด้วย แพทย์, นักสังคมสงเคราะห์ และนักกฎหมาย ซึ่งจะพิจารณาถึงแรงจูงใจและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการติดยาเสพติด ก่อนตัดสินลงโทษ เช่น ทำงานบริการสังคม, เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และปรับเงินถือเป็นโทษขั้นสูงสุด
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เพราะยาเสพติดในโปรตุเกสเพียงแค่ถูก ‘ลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization)’ ไม่ใช่แปลว่า ‘ถูกกฎหมาย (Legalization)’ กล่าวคือ ในขณะนี้โปรตุเกสยังมีบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ค้า นำเข้า ผลิต ส่งออกยาเสพติดอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ประเทศโปรตุเกสไม่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต ในคดีทุกประเภท ซึ่งรวมถึงคดียาเสพติด
นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของโปรตุเกส ยังส่งผลทุเลาปัญหาอื่นๆ ที่มาพร้อมยาเสพติด อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสเฮชไฮวีและโรคเอดส์จากการใช้เข็มเสพยาร่วมกัน โดยจากรายงานของ Drug Policy Alliance เมื่อปี 2018 ชี้ว่า ในปี 2012 มีผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด 16 ราย/ปี ลดลางจากปี 2001 ที่มีมากถึง 80 ราย/ปี จำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ลดลงเหลือปีละ 74 ราย/ปี และตัวเลขผู้กระทำผิดฐานค้ายาเสพติดที่ถูกส่งดำเนินคดีลดลงร้อยละ 60
เนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นมิตรมายาวนานกับยาเสพติดแบบอ่อน หรือที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ใน กฎหมายฝิ่น (Dutch Opium Act) ซึ่งแบ่งประเภทของยาเสพติดไว้ 2 แบบคือ ยาเสพติดร้ายแรง ได้แก่ เฮโรอีน, โคเคย หรือยาอี กับยาเสพติดไม่ร้ายแรง อาทิ กัญชา
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังคงโทษทางอาญาแก่ผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดประเภทร้ายแรง แต่ผ่อนผันให้ประชาชนสามารถใช้ยาเสพติดไม่ร้ายแรงได้ อาทิ สามารถมีกัญชาได้ไม่เกินบุคคลละ 5 กรัม
โดยเมื่อปี 2548 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกกฎหมาย ‘Amasterdum Drug Laws’ อนุญาตให้มีการเปิดร้านคล้าย Coffe Shop เพียงแต่ไม่ขายกาแฟ แต่ขายกัญชาแทนให้กับประชาชน โดยผู้ที่จะใช้บริการจำเป็นต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป เพื่อขอใบอนุญาตที่เรียกว่า ‘Weed Pass’ เสียก่อน
ทั้งนี้ ในปี 2008 เนเธอร์แลนด์มีผู้ติดยาเสพติดร้อยละ 2.5 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 323,000 ราย โดยส่วนมากเป็นผู้เสพกัญชา
ขณะนี้เนเธอแลนด์ประสบปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง ขาดแคลนนักโทษในเรือนจำ จนต้องเปลี่ยนให้ห้องขังกลายเป็นโรงแรมชั่วคราว โดยนับตั้งแต่ปี 2014 พวกเขาปิดเรือนจำไปแล้วถึง 14 แห่ง และอัตราการทำความผิดก็ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2018 พวกเขามีนักโทษเฉลี่ย 54.4 ราย ต่อประชากร 100,000 คน
อ้างอิงจาก
กฎหมายยาเสพติดของประเทศโปรตุเกส: ต้นแบบความท้าทายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด – ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธุ์
กฎหมายควบคุมยาเสพติดเปรียบเทียบ – ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ