นั่งรถยนต์จากคูเมืองไปถนนนิมมานเหมินทร์โดยใช้เวลาเฉลี่ยแค่ 11 นาที แค่นี้ก็น่าจะบอกเล่าความไม่เหมือนเดิมของเมืองเชียงใหม่ได้อย่างหมดจด
สองสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จังหวัดอันเป็นที่รักของใครหลายคนเพิ่งจัดงาน Chiangmai Design Week 2020 ไป น่าใจหายที่จำนวนผู้รวมงานไม่คึกคักเหมือนหลายปีที่ผ่านมา หลังข่าวการระบาด COVID-19 ระลอกสองที่ภาคเหนือถูกรายงานออกไป เศรษฐกิจเชียงใหม่ก็แจ็กพ็อตอีกครั้ง นักท่องเที่ยวบางส่วนตัดสินใจยกเลิกทริปทันที
โรงแรมที่เราไปพักเองก็โทรมาถามเหมือนกันว่าจะยกเลิกการจองไหม แต่เพราะมีงานที่ต้องทำ เราก็ยังตัดสินใจเดินทางไปเชียงใหม่อีกครั้ง
ใกล้จะครบปีแล้วที่โรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ การมาเชียงใหม่หลังข่าวใหญ่ เราเห็นได้ชัดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวบางตาอย่างไม่จำเป็นต้องตั้งใจสังเกต
“กำลังจะไฮซีซันเลย เดือนก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวเพียบ” เราคุยกับ วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่เจ้าหนึ่งในย่านช้างม่อยที่จะเปิดร้านอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ เขาเป็นหนึ่งคนที่เลือกเปิดร้านแม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าอย่างไร – เชียงใหม่ยังเป็น Beloved City ของชาวไทยอยู่
เขาก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดการระบาดระลอกสองขึ้น ก่อนหน้านี้ชาวเชียงใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำธุรกิจในภาคส่วนท่องเที่ยว ก็ปรับตัวกันยกใหญ่ไปแล้ว วีรธัชเล่าให้ฟังว่า พวกไกด์หรือหัวหน้าทัวร์ซึ่งตกงานจาก COVID-19 ได้รวมตัวขับรถเปิดท้ายไปขายกาแฟ อาหาร และเครื่องดื่มกันบริเวณสี่แยกด้านข้างพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ภายในคูเมืองเชียงใหม่ กลายเป็นคอมมูนิตี้ใหม่เล็กๆ สำหรับคนตกงานที่มาเปิดท้ายขายของร่วมกันมาหลายเดือน
ในช่วงเวลาปกติ เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 4 ล้านคนต่อปี และทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้เดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และคนไทยจากหลายจังหวัดที่ต้องการเสพบรรยากาศความผสมผสานของเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างความทันสมัย ธรรมชาติ และกลิ่นอายประวัติศาสตร์
แต่ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นไฮซีซันหน้าหนาว จำนวนนักท่องเที่ยวกลับแย่อีกครั้ง หลังจากความเป็นห่วงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ นฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้บริหาร ‘เชียงใหม่ ซู อควาเรียม’ จ.เชียงใหม่ บอกกับ PPTV ว่า ยอดนักท่องเที่ยวตกลงถึง 40-50% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ชีพจรเมืองเชียงใหม่คงเต้นอย่างอ่อนล้ากว่านี้เป็นแน่
นอกจากที่ท่องเที่ยวใหญ่ที่รับกลุ่มทัวร์ ไม่ว่าจะสวนสัตว์ หรืออควาเรียม ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ อีก 2 พื้นที่ที่ได้รับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจไม่แพ้กัน ก็คือย่านคูเมืองเก่า และนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นโซนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความนิยม
“สองพื้นที่หลักๆ ที่แย่คือย่านคูเมืองเก่าและนิมมานเหมินทร์ เพราะเป็นย่านท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ที่หนักกว่าคือแถวคูเมืองเก่า ย่านท่าแพ เพราะเป็นแหล่งของชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ส่วนนิมมานทร์เหมินทร์นั้นยังพอจะทำการตลาดกับชาวไทยได้อยู่เพราะมีความป๊อบกว่า แต่คูเมืองเขาไม่รู้จะขายให้ใคร” อินทพันธุ์ บัวเขียว ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เชียงใหม่ พูดคุยกับ The MATTER เขาคือหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงาน Chiangmai Design Week 2020 เพื่อพยายามดึงนักท่องเที่ยวไทยกลับมาจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดนี้
“แต่ผู้เช่าที่นิมมานทร์ฯ ก็ลำบาก เพราะค่าเช่าสูงมาก บางเจ้าไม่ไหวก็ต้องปิดตัวไป”
สุดท้ายแต่ละพื้นที่ก็เผชิญความยากลำบากไม่เหมือนกัน เราพูดคุยกับ พลอยพราว – ปวิภา วิจิตรโชติ เจ้าของ ‘ลานเริงปอย’ ร้านอาหารกึ่งบาร์ที่นิมมานทร์ฯ ซอย 7 เธอก็บอกว่า โรคระบาดทำให้รายได้หายไปพอสมควร แต่ร้านเธอทำโปรโมชันอัดเต็มเหนี่ยว ดึงคนท้องถิ่นทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้รายได้กลับมาวิ่งอีกครั้ง แต่พอการระบาดรอบที่สองเกิดขึ้น ก็หนักหนาสำหรับเธออยู่พักหนึ่ง
“ตอนแรกก็เหมือนจะกลับมาฟื้นแล้ว นักท่องเที่ยวกลับมา คนเริ่มออกจากบ้าน ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ระลอกสองมันกระทบจริงจังจริงๆ วันที่ข่าวออกปุ๊บ ลูกค้าไม่เข้าเลย รายได้ลดลง 70% จากรายได้ปกติ (ก่อนการระบาด) ที่เกือบจะแตะแสนทุกวัน” เธอบอก
“ถ้าก่อน COVID-19 ลูกค้าเราหลักๆ ก็มาจากต่างชาติ 80% เพราะร้านเราติดถนนใหญ่”
สิ่งที่ปวิภาทำได้ตอนนี้ก็คือการให้ความร่วมมือกับภาครัฐที่ขอความร่วมมือ ในการสร้างมาตรการรับมือ COVID-19 ให้กลับมาเข้มกว่าเดิม และหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเร็วๆ
“ถ้าถามว่าอยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแล้ว แน่นอนว่าทุกคนก็อยาก เพราะถ้าเทียบนักท่องเที่ยวจีนกับคนไทย นักท่องเที่ยวจีนเขาจะมีกำลังทรัพย์มากกว่า ตั้งใจมาใช้จ่าย เราเป็นร้านอาหารกึ่งผับ คนจีนเข้ามาแน่นอนว่าเขาค่อนข้างจะหนักสั่งอาหาร ซึ่งสร้างรายได้ให้เราเยอะมากกว่า ตอนนี้เราอยู่ได้ แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น”
ข้ามฝั่งมายังพื้นที่ย่านคูเมืองเก่า และรอบนอก – ซึ่งเต็มไปด้วยเกสต์เฮาส์ โฮสเทล ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับและบาร์ ที่ตกแต่งแบบที่เราเห็นแล้วก็รู้ว่า มันคือร้านที่อ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนอกประเทศ
เพราะธุรกิจในย่านนี้แทบทั้งหมดพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียว พอปิดประเทศปั๊บ หลายร้านก็อยู่ไม่ได้ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมเมื่อเราเดินเลียบถนนราชดำเนิน ฝั่งประตูท่าแพเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร กะด้วยสายตาคร่าวๆ ร้านค้า ร้านของฝากที่ขึ้นป้ายตัวอักษรจีน ร้านอาหาร และโรงแรม ปิดหน้าร้านไปกว่า 80%
รถแดงจอดและคนขับนอนรอลูกค้าริมถนนท่ามกลางแดดจัด ไม่มีรถติดรอบคูเมืองอีกต่อไป…
“ร้านนวดใหญ่ๆ แถวนี้ปิดไปครึ่งหนึ่ง จาก 8 ร้านเหลือ 4 ร้าน ร้านพี่ยังเปิดอยู่” พี่แหม่ม (นามสมมติ) พนักงานนวดแผนไทยจากร้านในถนนตรงข้ามประตูท่าแพบอกเล่าให้ฟัง เธอเป็นคนตากที่มาอยู่เชียงใหม่ได้ 5-6 ปีแล้ว
“ก่อนมันจะระบาดระลอกสอง อาทิตย์หนึ่งพี่ยังทำเงินได้ 2,000-3,000 บาท มันก็ยังอยู่ได้ เดี๋ยวนี้น่ะเหรอ แทบหาลูกค้าไม่ได้” เธอเล่าย้อนด้วยว่า สมัย 5 ปีก่อนที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่บูมมาก เธอทำเงินได้เดือนละราว 40,000 บาท “พี่ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน สบาย”
จากแต่ก่อนที่รับลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก พอปิดประตูประเทศ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย พอมาวันนี้เจอระลอกสอง นักท่องเที่ยวหดหายไปหมด
“เมื่อคืน (5 ธันวาคม) ถนนคนเดินท่าแพเงียบมาก ไม่มีคนเลย เกิดมาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” เธอบ่น เราถามต่อเมื่อเห็นป้ายร้านติดโปรโมชันจากรัฐบาลโครงการคนละครึ่ง ถามเธอว่า นโยบายนี้ช่วยเหลือกันบ้างไหม?
“ก็ช่วยแหละ สำหรับคนมีเงินน่ะนะ
แต่คนที่มันไม่มีเงิน เขาจะเอาเงินที่ไหนเข้าไปเติมล่ะ”
อย่างไรก็ตามพี่แหม่มก็ยังอยากจะมองในแง่ดีว่า ปีหน้านักท่องเที่ยวคงจะกลับมาได้แล้ว ก่อนจากกันเธอยิ้มให้แล้วบอกว่า “ว่าก็ว่าไป ลูกค้าพี่จากภูเก็ตที่มานวดเนี่ย เขาก็ยังบอกอยู่นะ ว่าเชียงใหม่เจอ COVID-19 ยังดูมีโอกาสจะทำอะไรได้มากกว่าที่ภูเก็ต”
เพราะ 60% ของรายได้เชียงใหม่คือการท่องเที่ยว อีกที่เหลือเป็นของภาคเกษตรและการลงทุน ขณะที่ภูเก็ตพึ่งพาการท่องเที่ยวแทบจะเต็มตัว
อย่างไรก็ดี ทางรอดของเชียงใหม่ในวันนี้ ยังคงไม่ชัดเจนนัก เมืองที่การท่องเที่ยวบูม สิ่งที่ขับเคลื่อนคือกระเป๋าเงินของนักท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งที่จะสร้างได้คือความเชื่อมั่นว่าเที่ยวเชียงใหม่ยังคงปลอดภัย นักเดินทางในประเทศความหวังหนึ่งเดียว จึงจะยอมที่จะเดินทางมา
แต่มันก็ไม่ง่ายเท่าไหร่ ข่าวสะพัดออกไป ความกลัว ความกังวลใจ ก็จุดติดราวไฟลามทุ่ง
ก่อนหน้านี้ อาคม ศุภางค์เผ่า ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ ผู้บริหารองค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชนพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เคยในสัมภาษณ์ โดยเสนอว่า ในการประคองธุรกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะรายย่อยในจังหวัดให้อยู่รอด นอกจากรัฐบาลต้องอัดฉีดการเยียวยาเพิ่มเติมอย่างถูกจุดแล้ว ความร่วมมือของเอกชนในการจัดโปรโมชันลดคนที่พัก 50-70% ปลุกการท่องเที่ยว และการหันกลับไปสร้างรายได้เกษตรอย่างยั่งยืน และปั้นเมืองเป็นฮับสมาร์ทซิตี้สำหรับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพนั้น คือเรื่องที่ต้องทำ และอาจจะเป็นไอเดียที่ยั่งยืนที่สุด
ไม่ใช่เพื่อแค่รับมือกับสถานการณ์เลวร้ายในวันนี้ แต่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เมืองหากเจอสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายได้กว่านี้อีกในวันข้างหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก