เรากำลังจะได้โบกมือลาผมสั้นเท่าติ่งหูและผมเกรียนๆ กันแล้วใช่ไหม?
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบฉบับใหม่เอี่ยม โดยระบุว่าเป็นการเพิ่มอิสระในการไว้ทรงผมและเคารพสิทธิ เสรีภาพของของนักเรียน
แต่ก็ยังมีคำถามที่ค้างคางใจกันอยู่ว่า ระเบียบที่ออกมานั้นจะสามารถใช้งานได้จริงหรือเปล่า และเป็นการให้อิสระอย่างเต็มที่หรือยังคงข้อจำกัดอะไรเอาไว้กันแน่ เราเลยขอพาทุกคนมาร่วมกันดูว่า ระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผม
ระเบียบนี้คืออะไร ต่างจากของเดิมอย่างไร?
ขอเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการออก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มาบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายให้ให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกไว้ทรงผมมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงข้อจำกัดบางอย่างเอาไว้
อย่างในข้อ 4 ของระเบียบนี้ ที่ระบุว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ขณะที่ นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ ในข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าว ยังระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามนักเรียนดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา หรือการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ก็มีการกำหนดไว้ว่า อนุโลมระเบียบข้อที่ 4 และ 5 ให้กับนักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน หรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณา
ก่อนที่ระเบียบที่เล่าไปข้างต้นจะออกมานั้น กระทรวงศึกษาได้พูดคุยกันเป็นเวลา 2 เดือนกว่าแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นเรื่องผมหน้าม้าของนักเรียน ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าไว้ได้หรือไม่ ทำให้ทางกระทรวงต้องพิจารณาระเบียบทรงผมนักเรียนใหม่
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดระเบียบดังกล่าวออกมานั้น ประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้เราอยู่ในโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องออกระเบียบให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ประเสริฐ อธิบายว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นการยกอำนาจให้กับสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาในชุมชนเป็นผู้ออกระเบียบเพิ่มได้ เพราะเข้าใจดีว่า วัฒนธรรมในแต่ละท้องที่นั้นแตกต่างกัน การจะเขียนรวมเป็นประกาศกระทรวงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกฎระเบียบใหม่ที่ออกมานี้ แตกต่างจากกฎระเบียบเดิมที่เราปฏิบัติกันมาเนิ่นนานอย่างไร?
“เราก็ให้โอกาสแต่ละที่ไปกำหนดเอง แต่ก็มีเกณฑ์กำหนดพื้นฐานเอาไว้ เหมือนอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในตอนนี้ ที่ให้เปิดร้านอาหาร ร้านตัดผมได้เหมือนกันทั้งประเทศ แต่จังหวัดไหนจะเคร่งกว่านั้น ก็ออกระเบียบได้ โดยมีระเบียบเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ เรื่องทรงผมนักเรียนก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า ห้ามยาวเลยตีนผม อันนี้คือขั้นต่ำ แต่สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน หรือนักเรียน จะประชุมกันแล้วกำหนดเพิ่มกันเองว่าให้ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตรก็ได้ ไม่ติดใจ หรือให้สั้นเลย เหมือนตำรวจ เขาก็ออกเองได้เช่นกัน”
สาเหตุที่ยังต้องคงระเบียบทรงผมบางอย่างเอาไว้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการกังวลว่า การไม่กำหนดกฎเกณฑ์เลย จะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบพื้นฐานเอาไว้ ให้แต่ละสถานศึกษานำไปปรับใช้เพิ่มเติม
ระเบียบฉบับใหม่นี้จะใช้ได้จริงไหม?
ประเสริฐ ยืนยันว่า โรงเรียนไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับใดๆ ที่ขัดกับกฎกระทรวง หรือละเมิดสิทธิ์ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่แต่ละโรงเรียนต้องปฏิบัติตาม
“เด็กสามารถยื่นหนังสือเข้ามาได้ที่กระทรวง ถ้าโรงเรียนทำผิดจริง ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว เขาต้องรับผิดชอบตามระเบียบข้าราชการ”
นอกจากนี้ ประเสริฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระเบียบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนพูดคุยกัน โดยคณะกรรมการสถานศึกษาก็เป็นผู้ปกครอง และเป็นคนในชุมชนของพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว แต่ละพื้นที่จึงสามารถออกระเบียบเพิ่มเติมเองได้ โดยอิงจากฐานที่กระทรวงฯ กำหนดไว้
แม้จะได้รับคำยืนยันเช่นนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายฝ่ายที่กังวลว่า ระเบียบดังกล่าวยังมีช่องทางให้โรงเรียนกำหนดกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่ลิดรอนสิทธิ์ของนักเรียนหรือเปล่า เนื่องจาก ตอนท้ายของข้อ 6 ในระเบียบดังกล่าว ระบุเอาไว้ว่า ‘ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต’
องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย กล่าวถึงการนำไปใช้จริงของระเบียบที่ออกมาว่า กฎที่ออกมานั้นจะใช้ได้จริงหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้ควบคุมสถานศึกษา โดยยกกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือกำหนดแนวทางการปฏิบัติกฎทรงผมนักเรียน เมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกทรงผมนักเรียน และอนุญาตให้ไว้ทรงผมอย่างรองทรงได้ แต่ก็ยังมีหลายสถาบันยังคงมีการบังคับตัดผมทรงนักเรียนอยู่ดี
“ในกรณีนี้ก็เหมือนกัน เชื่อได้ว่าหลายสถาบันจะยังมีการบังคับให้ตัดผมทรงเรียนอยู่ เราจึงอยากให้ผู้ควบคุมสถานศึกษาปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงฯ”
อีกทั้ง องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย ยังระบุว่า ระเบียบนี้ถือเป็นอีกก้าวของกฎระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ระเบียบดังกล่าวก็ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนอยู่ เพราะนักเรียนควรมีสิทธิ์ไว้ผมยาวหรือสั้น และหรือกระทำการใดๆ กับผมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัด แต่ง หรือย้อมสีผมก็ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือการถูกบังคับใดๆ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน
“การที่กระทรวงฯ ยังมีกฎข้อห้ามในเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านใดๆ ถือว่าไม่เป็นการเคารพในเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นักเรียนควรได้รับเสรีภาพ เช่นเดียวกับนักเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว การให้เสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ควรมีในประเทศที่เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย นี่จึงถือว่าเป็นการให้เกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังเล่าด้วยว่า เร็วๆ นี้จะมีหนังสือเพิ่มเติมฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการเซ็นอนุมัติ โดยกำหนดให้นักเรียนแต่งชุดท้องถิ่นหรือชุดไทย 1 วันต่อสัปดาห์อีกด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในทางตรงกันข้าม องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย มองว่า ในอนาคตอยากให้กระทรวงฯ ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน
รวมไปถึงยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่สำคัญ เช่น ห้ามสวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่ผิดระเบียบ เพราะอยากให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้พัฒนาศึกษาเล็งเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าการออกกฎระเบียบควบคุมวินัย