ตัดผมสั้นแค่ไหนก็ได้ หรือจะไว้ผมยาวขนาดไหนก็ไร้ปัญหา เมื่อ ‘เพศ’ ไม่ได้เป็นกำแพงในการกำหนดเกณฑ์การไว้ทรงผมนักเรียนอีกต่อไป
การให้เด็กทำผมทรงไหนก็ได้ตามเพศวิถีของตนนั้น ดูจะเป็นที่ฮือฮาขึ้นมาทันทีเมื่อเกิดขึ้นในประเทศที่เหล่านักเรียนต้องไปโรงเรียนภายใต้กฎระเบียบทรงผมอยู่ตลอดเวลา และแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไปแล้ว แต่ก็มีอีกหลายโรงเรียนที่มองว่า นักเรียนทั้งหลาย ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบทรงผมนักเรียนต่อไป
ถึงอย่างนั้น โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ก็ออกประกาศให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมตามเพศวิถีของตัวเองได้ เพื่อตอกย้ำสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมี ตามที่รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติเอาไว้
“หนึ่งอย่างที่ได้ตัวเลขเลยก็คือเด็กโรงเรียนเรามาสายน้อยลง มาเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ขาดเรียนบ่อย เพราะว่าเราไม่ตรวจผม เด็กไม่ต้องหนีหน้าเสาธง เด็กไม่ต้องหนีเรียนคาบแรก เด็กเราติด 0 / ร. / มส. น้อยลง เด็กขาดคาบแรกน้อยลง เด็กมาทันเข้าแถวเพิ่มมากขึ้น ทันโฮมรูมเพิ่มมากขึ้นเพราะเขาไม่ต้องหนีการตรวจผมหน้าเสาธงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
คำกล่าวจาก ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล ครูฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการปรับแก้ระเบียบทรงผมนักเรียนได้มีอย่างหลากหลายมากขึ้น The MATTER จึงขอชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้เข้าใจว่า ทำไมโรงเรียนดังกล่าวถึงปรับแก้ระเบียบให้นักเรียนมีเสรีภาพมากขึ้น
ประกาศเรื่องทรงผมของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
ประกาศของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เรื่องระเบียบทรงผม เขียนเอาไว้ว่าอย่างไรบ้าง เราขอสรุปไว้ตามนี้นะ
ข้อ 1 นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม โดยสามารถไว้ทรงผมตามเพศวิถี ดังนี้
- นักเรียนชาย และเพศวิถีชาย จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านหน้า และกลางศีรษะ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย
- นักเรียนหญิง และเพศวิถีหญิง จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบผม ติดโบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองให้เรียบร้อย
ข้อ 2 นักเรียนต้องห้ามปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้
- ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม
- ไว้หนวดหรือไว้เครา
- การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย
และข้อ 3 ที่ระบุว่า ข้อความด้านบนนั้นไม่ให้นำมาบังคับแก่นักเรียนที่มีเหตุผมความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนหรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา
ในประกาศของโรงเรียนยังบอกด้วยว่า ครูจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม กำกับ ดูแลให้นักเรียนสามารถเลือกทรงผมให้เข้ากับบุคลิกภาพ และความมั่นใจของตัวเอง รวมถึงสุขอนามัยที่ดีด้วย ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน
ทันทีที่ประกาศนี้ออกมา ก็ได้เสียงตอบรับในเชิงบวกจากผู้คนในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม หลายคนชื่นชมที่โรงเรียนออกมาย้ำถึงสิทธิที่นักเรียนพึงมี บางคนระบุว่า “ชอบที่ไม่ได้แค่แยกเป็นนักเรียนชายหรือหญิง แต่มีการกล่าวถึงกลุ่มนักเรียนที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกับเนิด” หรือบางคนก็แสดงความเห็นว่า “ถือเป็นการวางรากฐานใหม่เป็นการวางมาตรฐานใหม่ให้เห็นเด่นชัดเป็นลายลักษณ์อักษร”
แต่เบื้องหลังของประกาศนี้ ไม่ได้มาโดยง่าย เพราะต้องใช้เวลาทำราว 2-3 ปี โดยครูก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล กิจการนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนประเด็นนี้ กล่าวว่า หลังจากช่วงที่เด็กปิด COVID-19 ไป แล้วกลับมา on-site 100% ก็เห็นเด็กผมยาวขึ้น แล้วมันก็ดูดีนะ เราก็ออกประกาศฉบับแรกเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว
ประกาศฉบับแรกนั้น ออกมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยระบุว่า สำหรับนักเรียนหญิง ให้ไว้ “สั้นหรือยาวก็ได้ ถ้ายาว ยาวตาม ‘ความเหมาะสม’ รวบให้เรียบร้อย ติดโบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง” ส่วนนักเรียนชาย “สั้นหรือยาวก็ได้ ถ้ายาว ด้านข้าง ด้านหลัง ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะ ให้เป็นไปปตาม ‘ความเหมาะสม’”
ความเหมาะสม? – คำนี้ถูกตั้งคำถามอยู่ในโลกออนไลน์เช่นกัน ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ชี้แจงในคอมเมนต์ใต้โพสต์ว่า “ความเหมาะสมของนักเรียนที่เขาได้เลือกทรงผมให้เข้ากับหน้าตาเขาเองค่ะ”
ส่วนในประกาศฉบับล่าสุดนั้น ออกมาหลังจากที่กระทรวงศึกษายกเลิกระเบียบทรงผมไปเพียงไม่กี่วัน โดยบอกว่า ให้โรงเรียนเป็นคนพิจารณาเอง
“พอกระทรวงศึกษายกเลิกประกาศ ทางโรงเรียนเราก็เลยประชุมผู้ปกครอง ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน ตัวแทนกรรมการสถานศึกษา คณะครู สภานักเรียน ก็เลยออกเป็นประกาศฉบับนี้มา”
เจตนารมณ์ของการให้เด็กทำผมตามเพศวิถีได้
“เราจะไปสอนเด็กว่าเธอต้องเข้าใจในความหลากหลาย เธอต้องเข้าใจว่าโลกเราไม่ได้มีแค่ผู้หญิง ผู้ชาย เราสอนเขาให้ตาย พูดไปในห้องเรียนให้ตาย เขาไม่เข้าใจหรอก เราก็เลยทำเป็นภาพให้เขาเห็นเลยว่าจริงๆ” ครูก้าวกรณ์กล่าว
เมื่อโรงเรียนก็เป็นสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง ครูก้าวกรณ์จึงมองว่า การทำให้คนเข้าใจเรื่องความหลากหลายนั้น เริ่มได้จากที่โรงเรียน โดยทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตามแต่ ดังนั้น ระเบียบทรงผมของโรงเรียนขึงไม่ได้จำกัดเขาแค่ว่าผู้ชายต้องเป็นผมสั้นเท่านั้น ผู้หญิงต้องไว้ผมยาว ผมบ๊อบ หรือมัดผม ซึ่งเจตนารมณ์สำคัญของระเบียบดังกล่าว คือการให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบตัวเอง
ครูก้าวกรณ์เล่าว่า เมื่อก่อนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเมื่อ 4-5 ปีก่อนเขาเองก็เป็นคนที่ตัดผมเด็ก แต่ก็รู้สึกว่าเด็กมาโรงเรียนสาย เด็กไม่มาโรงเรียนเพราะเด็กไม่อยากตรวจผม แต่พอกฎระเบียบยืดหยุ่นขึ้นและเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็กลายเป็นเด็กอยากมาโรงเรียน
“การที่เขามาโรงเรียนแล้วเขามีความสุข นี่คือเจตนารมณ์สำคัญของเรา คือเราทำยังไงก็ได้ที่เปลี่ยนจากมือเราที่จับกรรไกร จับแบตตาเลี่ยน เป็นดึงเขากลับเข้ามาให้เขาอยากมาเรียน นี่คือเจตนารมณ์สำคัญ”
“ให้เขาเรียนรู้และยอมรับในความหลากหลาย และทำให้การมาโรงเรียนของเขา เป็นการมาโรงเรียนที่เขาอยากมาเรียน อยากมาโรงเรียนแบบมีความสุขไม่ต้องคอยหลบ ไม่ต้องคอยหนีจากฝ่ายปกครอง”
ไม่เพียงเท่านั้น ครูก้าวกรณ์ยังมองว่า ในวันหนึ่งเด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้านด้วยซ้ำ อย่างน้อยเด็กอยู่โรงเรียน 6-7 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้ามา กินข้าว เล่นกับเพื่อน เรียนหนังสือ จนกลับไปถึงบ้านตอนเย็น หนึ่งส่วนสี่ของชีวิตคนคนนึงอยู่ในโรงเรียน จึงเชื่อว่าโรงเรียนหรือสังคมในโรงเรียนเป็นอย่างไร ก็จะไปหล่อหลอมให้เขาเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น
ครูก้าวกรณ์ยังเล่าอีกว่า ในโรงเรียนไม่ได้มีแค่นักเรียน แต่มีทั้งครู เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน นักการภารโรง รปภ. คนขายอาหาร แม่ค้า ซึ่งถือเป็นอาณาบริเวณหนึ่งที่มีคนหลากหลายอยู่ร่วมกัน
“เพราะฉะนั้น เหมือนอย่างที่เราจะเห็นกันว่าความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ยอมรับในความหลากหลายมันสอนกันไม่ได้หรอก มันต้องทำให้ดู ให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่เขาได้ปฏิบัติจริงๆ”
ยิ่งกว่านั้น ความเป็นครูสังคมยังทำให้ก้าวกรณ์มองว่า การเปลี่ยนระเบียบทรงผมให้มีเสรีมากขึ้นนั้น ยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นพลเมืองในสังคม ทำให้นักเรียนได้รู้จักตัวเอง ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย และให้เหล่านักเรียนได้เติบโตไปในแบบที่เขาได้เลือกอะไรสักอย่างหนึ่งให้กับตัวเอง
ครูก้าวกรณ์ยังย้ำว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนเรามีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือมีเพศวิถีเยอะมาก จึงควรให้นักเรียนได้แสดงออกในสิ่งที่เขาเป็น และให้เขาสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมเล็กๆ นี้ได้ นี่คือความต้องการของทางโรงเรียน ระเบียบออกมาจริงๆ ตอนแรกก็เป็นแค่เรื่องทรงผม แต่พอกระทรวงฯ ประกาศยกเลิก ทางโรงเรียนจึงขยายให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องเพศวิถีด้วย
อย่างไรก็ดี การยกเลิกประกาศทรงผมนักเรียนของกระทรวงฯ ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย อย่าง พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ที่กล่าวว่า เรื่องนี้อาจทำให้เป้าหมาย ‘เสรีทรงผม’ ห่างไกลกว่าเดิม
“เพราะการยกเลิกกฎระเบียบส่วนกลางเกี่ยวกับทรงผม และโอนความรับผิดชอบและการตัดสินใจทั้งหมดไปที่โรงเรียน จะยิ่งเปิดช่องให้โรงเรียนแต่ละแห่งออกกฎเกณฑ์เรื่องทรงผมที่ละเมิดสิทธิผู้เรียนอย่างไรก็ได้แบบไร้ขอบเขต เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งสามารถออกกฎให้เด็กทุกคนต้องโกนหัวก็ได้”
“ดังนั้น ถ้าอยากแก้ปัญหาจริงๆ กระทรวงควรออกระเบียบหรือมาตรฐานขั้นต่ำจากส่วนกลางให้ชัด ห้ามไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบตนเองที่บังคับเด็กเรื่องทรงผม” พริษฐ์กล่าว
แต่ครูก้าวกรณ์มองว่า นี่ไม่ใช่การผลักภาระให้โรงเรียน แต่เป็นโอกาสที่โรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน และครู จะมาหาจุดกึ่งกลางร่วมกัน และทำให้ทุกคนเจอกันคนละครึ่งทางได้ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีอีกหลายโรงเรียนที่ทำเช่นนี้ แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ออกมา
ถึงอย่างนั้น ครูก้าวกรณ์ก็ไม่ได้มองว่า ต้องเอาสิ่งที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองทำ มาเป็นไม้บรรทัดหรือเป็นบรรทัดฐานว่าโรงเรียนทั้งประเทศต้องทำแบบนี้ แต่ทางโรงเรียนก็อยากจะส่งแมสเสจบางอย่างไปในการพีอาร์ ข่าว หรือในสิ่งที่ปฏิบัติออกไปว่า ‘ฉันทำได้ เธอก็น่าจะทำได้นะ’
“จริงๆ มันเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ แค่สังคมไทยเราคุ้นเคยและเคยชินกับวัฒนธรรมทรงผมแบบนี้มานาน จนทำให้เรารู้สึกว่าพอมีเรื่องอะไรแบบนี้ออกมา มันดูเซอร์ไพรส์ ดูแปลกประหลาด แต่จริงๆ แล้วมันคือความปกติด้วยซ้ำ”
หน้าที่ของครู คือการปกป้องสิทธิให้นักเรียน
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ประกาศเรื่องระเบียบทรงผมนี้ ยังย้ำว่า ครูจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม กำกับ ดูแล ให้นักเรียนสามารถเลือกทรงผมให้เข้ากับบุคลิกภาพและความมั่นใจของตนเอง รวมถึงการรักษาสุขอนามัยที่ดีให้เหมาะสมกับความเป็นนักเรียนและจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ประเด็นนี้ครูก้าวกรณ์มองว่า เด็กอยู่กับครูเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่กับ ผอ.หรือ รอง ผอ. ฉะนั้น ครูเป็นส่วนสำคัญที่จะคอยชี้แนะ ส่งเสริม กำกับดูแลเขา
“ทุกวันนี้ก็มีเด็กที่แต่งหน้ามา สมมติเด็กทาปากสีเลือดหมูมา เรามีหน้าที่ชี้แนะส่งเสริมได้ ครูผู้หญิงทุกคนแต่งหน้าอยู่แล้ว everyday look เราทำยังไง เราแต่งหน้าเหมือนไม่แต่งเราทำยังไง ให้ดูสวยสมไวน่ารัก ปัดแก้มได้ ปัดยังไงให้ดูไม่เยอะจนเกินไป ทาปากยังไงให้ปากดูอมชมพูสุขภาพดี เรามองว่าครูมีส่วนสำคัญที่จะชี้แนะและส่งเสริม”
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าครูจะสามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเด็กได้ทันที เพราะครูเองก็ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์อยู่ ซึ่งครูก้าวกรณ์มองว่า ครูจะต้องเข้าใจในความแตกต่างและความหลากหลายของผู้เรียนซึ่งไม่ได้มาจากเบ้าหลอมเดียวกัน แต่มาจากครอบครัวที่หลากหลาย การอบรมเลี้ยงดู สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อม สารพัดหลากหลายปัจจัย
“ครูจะต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนไม่ได้เป็นผ้าสีขาวที่ครูจะแต่งแต้มสีอะไรลงไปก็ได้ แต่เด็กทุกคนเป็นผ้าที่สีไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเป็นสีแดง สีม่วง ผ้ากากเพชร ผ้าเลื่อม ผ้าสีรุ้ง ครูมีหน้าที่ที่จะทำยังไงก็ได้ให้ผ้าแต่ละผืนแสดงความสวยงามของตัวเองออกมา แต่ไม่สามารถทำให้ผ้าทุกผืนเป็นสีเดียวกันได้”
แต่ครูก้าวกรณ์ก็เข้าใจว่า ที่หลายคนประหลาดใจกับระเบียบทรงผมใหม่นี้ เป็นเพราะทุกคนเติบโตมาด้วยกรอบของสังคมไทย วัฒนธรรมไทยว่านักเรียนจะต้องตัดผม นักเรียนชายต้องตัดผมทรงนี้ ทรงนักเรียน รองทรงสูง รองทรงต่ำ เด็กผู้หญิงต้องไว้ผมบ๊อบ หรือมัดผม ถักเปีย มันจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดทันที ถ้าเด็กผู้ชายไว้ผมยาวหรือมัดผม หรือเด็กผู้หญิงตัดผมรองทรง ผมสั้นแบบผู้ชาย
“เรามองว่ามันคือความปกติด้วยซ้ำ ในความไม่ปกติที่เราถูกกรอบมาเป็นระยะเวลายาวนานหลาย 10 ปี จริงๆ แล้วถ้ากลับไปเปิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของตัวเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จริงๆ แค่นี้ก็ชัดแล้วว่ามันคือสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของคนๆ นึง เพียงแค่เราถูกกรอบมาตลอดชีวิต”
ว่าง่ายๆ ก็คือ เราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ถูกทำให้ตระหนักเรื่องสิทธิของตัวเอง ซึ่งครูก้าวกรณ์ก็กล่าวว่า คนมักจะชอบพูดว่า ‘หน้าที่บกพร่อง อย่ามาเรียกร้องสิทธิ’ หรือ ‘ไปเรียนให้ดีก่อน แล้วค่อยมาคิดเรื่องทรงผม’ แต่ ณ วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าทรงผมไม่ได้ส่งผลกับการเรียน เด็กจะเรียนดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเขาและศักยภาพของครูที่จะสอน เรามองว่าอันนี้ส่งผลกับการเรียนโดยตรงมากกว่าทรงผม
ผลพิสูจน์ที่ว่านั้น มาจากผลจากการที่เปิดเสรีทรงผมที่ครูก้าวกรณ์เห็นว่า นักเรียนที่มาสายมีจำนวนน้อยลง นักเรียนมาเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ขาดเรียนบ่อย เพราะว่าครูไม่ตรวจผม ไม่ต้องหนีหน้าเสาธง ไม่ต้องหนีเรียนคาบแรก
“เด็กเราติด 0 / ร. / มส. น้อยลง เด็กขาดคาบแรกน้อยลง เด็กมาทันเข้าแถวเพิ่มมากขึ้น ทันโฮมรูมมากขึ้นเพราะเขาไม่ต้องหนีการตรวจผมหน้าเสาธงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
เครื่องแบบนักเรียน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับการเรียกร้องเรื่องเสรีทรงผม ซึ่งครูก้าวกรณ์ก็เห็นด้วยว่า ประเด็นนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดันเช่นกัน โดยครูอยากทดลองให้ในหนึ่งสัปดาห์ นักเรียนสามารถแต่งชุดพละได้ 1 วัน นักเรียน 1 วัน ไปรเวท 3 วัน ในทั้งหมด 5 วันที่เขามาเรียน
“สมมติว่านี่คือการทำวิจัยเชิงทดลองหนึ่งเรื่อง เราอยากรู้ว่าถ้าเด็กเราได้แต่งแบบนั้น การเรียนเขาจะแย่ลงไหม เด็กจะสนใจกับการแต่งกายมากกว่าการเรียนไหม แต่ด้วยว่าโรงเรียนรัฐบาลมันอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. ในเมื่อเขายังไม่อนุญาต ร้อยทั้งร้อยผู้บริหารก็ยังไม่กล้าที่จะให้ทำ เราก็อยากเห็น เราอยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไงถ้าสักวันนึงเด็กสามารถที่จะใส่ชุดไปรเวทมาได้”
ครูก้าวกรณ์ยังย้ำว่า หากบทความชิ้นนี้ไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ หรือใครสักคนนึงที่อยู่ในกระทรวงฯ ก็อยากจะฝากนักวิชาการทางการศึกษา ให้มาลองทำวิจัยว่า การแต่งกายส่งผลต่อการมาโรงเรียนของนักเรียนแค่ไหน หากผลออกมาแล้วไม่เวิร์ก ก็ให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนต่อไป แต่ครูก้าวกรณ์ก็มองว่ามันต้องมีเหตุผลมารองรับว่าทำไมยังคงต้องมีชุดนักเรียนอยู่ ทำไมยังให้ใส่ไปรเวทไม่ได้
“ทุกอย่างมันคือการลองผิดลองถูก ชีวิตเด็กเกิดมาครั้งหนึ่ง once in a life ให้เขาได้ลองใช้ชีวิต ลองผิดลองถูกดู กระทรวงศึกษาธิการก็สามารถที่จะทำการทดลองแบบนั้นได้ ทรงผมท่านยังทำมาแล้วเลย ทรงผมดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ต่างอะไรกับเครื่องแบบเลย ถ้าพูดตรงๆ มันก็ดูเป็นระเบียบ เป็นกรอบพอๆ กันเลย ในเมื่อถ้าทรงผมทำได้แล้ว แล้วเครื่องแบบทำไมจะทำไม่ได้”