ข้อความที่ปรากฏอยู่บนกระดาษลัง ถูกชูขึ้นโดย ‘นักเรียน’ ที่สวมชุดเครื่องแบบ พร้อมด้วยผมยาวประบ่า ระบุว่า “โรงเรียนไม่ให้เรียนต่อ ม.6 เพราะไว้ผมยาว”
นี่ไม่ใช่แค่การต่อต้านเพราะไม่อยากตัดผม ห่วงสวย ห่วงหล่อ ตามที่ผู้ใหญ่บางคนชอบอ้างถึง แต่เป็นการชวนตั้งคำถามว่า ทำไมการจะเข้ารับการศึกษา ถึงต้องมีกรอบกำหนดว่าต้องแต่งกายแบบไหน ไว้ผมทรงอะไร และกฎเกณฑ์อื่นๆ บนเนื้อตัวร่างกายของเราด้วย
การตั้งคำถามเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน เป็นประเด็นที่จะวนเวียนมาเสมอจนกว่าสิทธิและเสรีภาพของเหล่านักเรียนจะเกิดขึ้นได้จริงๆ
The MATTER ขอชวนมาฟังความคิดเห็นของ ข้าวกล้อง นักเรียนชั้น ม.6 ผู้ออกมาถือป้ายประท้วงเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องระเบียบทรงผมในสังคมไทย รวมถึงพาไปสำรวจระเบียบว่าด้วยทรงผมและการแต่งกายของไทยที่มีมาแต่อดีต เพื่อให้เห็นว่า ระเบียบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมเราบ้าง
เมื่อทรงผม กลายเป็นปัญหา (?) ต่อการเข้าเรียน
หลังกลับมาจากการไปเรียนแลกเปลี่ยนที่แคนาดา ข้าวกล้องก็กลับมาทำเรื่องมอบตัวเพื่อรอเข้าเรียนชั้น ม.6 การมอบตัวนี้จะเป็นการตรวจเช็คระเบียบของนักเรียนแต่ละคนก่อนที่จะได้เข้าเรียน
“เราได้ไปที่ห้องปกครอง แล้วก็พูดคุยกันเป็นชั่วโมงเลย ช่วงแรกก็มีการเสนอว่า ไม่ไปเรียนต่อต่างประเทศเหรอ ครูว่าน่าจะเข้ากับเธอมากกว่านะ แล้วก็เสนอแนะให้ไปที่ต่างๆ แต่สรุปการพูดคุยทั้งชั่วโมง เขาบอกว่า วันนี้ที่มามอบตัว ไม่ผ่านนะ ต้องไปตัดผมก่อน ถึงจะสามารถเข้าเรียนได้ ถ้าไม่อยากทำตามกฎระเบียบก็ต้องไปเรียนที่นานาชาติ เพราะเราเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่มีกฎ กฎก็คือกฎ”
ข้าวกล้องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันมอบตัวให้ฟัง พร้อมเสริมว่า เขารู้อยู่แล้วว่าโรงเรียนจะมีกฎแบบนี้ แต่เพราะข้าวกล้องก็หวงผมของตัวเอง เลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องตัดผมด้วยล่ะ ในเมื่อตลอด 1 ปีที่ไปเรียนแลกเปลี่ยนมา ก็ไม่เห็นจะมีการบังคับให้ไว้ผมทรงไหนเลย
เขายังเล่าอีกว่า พอบอกว่าจะกลับมาเรียนที่ไทย ก็มีหลายคนทักท้วงว่า แล้วจะทำยังไงต่อ จะตัดผมเหรอ แม้ข้าวกล้องจะรู้อยู่แล้วว่าหากกลับมาเรียนที่ไทยจะต้องเจอกับอะไร แต่คำถามที่ได้รับจากหลายๆ คน ก็ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามขึ้นมา
“ทำไมมันถึงกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมว่า การที่เราจะกลับไปเรียน (โรงเรียนไทย) เราต้องตัดผมก่อน เราคิดว่า ทำไมมันถึงเป็นเงื่อนไขในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
คำถามนี้ทำให้ข้าวกล้องเลือกที่จะยืนหยัดในทรงผมตัวเอง และเดินเข้ามอบตัวกับโรงเรียนด้วยผมทรงดังกล่าว
พอถามถึงสิ่งที่เห็นตอนไปแลกเปลี่ยน ข้าวกล้องก็เล่าว่า วัฒนธรรมของสองประเทศ ยิ่งทำให้เห็นชัดถึงความแตกต่าง และความไม่จำเป็นของกฎเกณฑ์บางอย่างในโรงเรียนไทย โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งในตลอด 1 ปีที่ข้าวกล้องไปแลกเปลี่ยนมานั้น ไม่ได้มีครูหรือใครก็ตาม มาวุ่นวายกับร่างกายของเขาเลย
“เราจะใส่ไปรเวทยังไงก็ได้ ใส่กระโปรง ใส่เอวลอย ย้อมสีผม หรืออยากตัดผมสั้น ไว้ผมยาว ใส่เครื่องประดับ ทำได้หมด ตลอดเวลา 1 ปีที่ไปอยู่ที่นั่น ไม่มีใครมายุ่งกับร่างกายของเราเลย”
ข้าวกล้องย้ำว่า ระเบียบต่างๆ ในโรงเรียนไทย ยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงความล้าหลัง เพราะกฎเหล่านี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใดๆ ให้กับผู้เรียนเลย แต่เป็นกฎที่ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อนานมาแล้ว และก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในข้ออ้างที่มักถูกใช้เพื่อคงไว้ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ คือ เป็นกฎที่กันมานานแล้ว และเป็นไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความมีวินัย ซึ่งข้าวกล้องมองว่า ท้ายที่สุดแล้ว การมีระเบียบวินัยที่สังคมไทยต้องการ ก็คือการทำให้ทุกๆ คน ‘เหมือนกัน’ ทั้งทรงผมและชุดเครื่องแบบ
ว่าด้วยระเบียบทรงผมในอดีตถึงปัจจุบัน
แล้วระเบียบทรงผมตามกระทรวงศึกษาธิการ เป็นยังไง?
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการออก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มาบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายให้ให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกไว้ทรงผมมากขึ้น แต่ก็ยังคงข้อจำกัดบางอย่างเอาไว้
ตัวอย่างของข้อจำกัดเหล่านี้ ได้แก่ ระเบียบข้อที่ 4 ที่ระบุว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ขณะที่ นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ ยังห้ามนักเรียนดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา หรือการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น เช่น เป็นข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เป็นต้น
แม้ระเบียบกระทรวงจะพยายามผ่อนปรนลง แต่ก็ยังกำหนดข้อห้ามต่างๆ เอาไว้มาก จนทำให้สังคมตั้งคำถามกันว่า เหตุใดยังต้องมีกฎระเบียบเรื่องทรงผมอยู่อีก ทั้งที่การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทรงผมเลย
The MATTER เคยพูดคุยกับ ประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ข้อแตกต่างของกฎระเบียบใหม่นี้ คือการให้แต่ละโรงเรียนกำหนดเกณฑ์กันเอาเอง โดยมีกระทรวงฯ เป็นผู้กำหนดขั้นพื้นฐานเอาไว้ ส่วนสาเหตุที่ยังคงระเบียบทรงผมบางอย่างเอาไว้ ก็เพราะกระทรวงศึกษาธิการกังวลว่า การไม่กำหนดกฎเกณฑ์เลย จะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบพื้นฐานเอาไว้ ให้แต่ละสถานศึกษานำไปปรับใช้เพิ่มเติม
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของกฎระเบียบการบังคับทรงผมในรั้วสถานศึกษา อ้างอิงจากหนังสือเรื่อง เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงโทษในโรงเรียนไทย ก็จะพบว่า ไม่ได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ มีเพียงข้อความในหนังสือพิมพ์สยามนิกร เมื่อปี 2490 ว่า “กระทรวงศึกษาธิการจึงมีคำสั่งกำชับไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนชายตัดผมสั้นอย่างที่เคยมา” แต่ไม่ปรากฏว่าต้องสั้นถึงขนาดไหน
ยิ่งกว่านั้น สาเหตุของการตัดผมสั้นที่มีมาตั้งแต่ครั้งเก่าของเหล่านักเรียน ก็เป็นเรื่องของสุขอนามัย ที่ต้องป้องกันการแพร่ระบาดของเหา ไม่ใช่เรื่องของความเป็นระเบียบเรียบร้อยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เนื้อหาในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ระบุให้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการจะควบคุมร่างกายของนักเรียน ด้วยข้อความว่า
“เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนฟุ้งเฟ้อในการแต่งกายมากไปกว่าการศึกษา และภายหลังสงครามนี้ระเบียบข้อบังคับได้หย่อนลงไปมาก เป็นเหตุให้นักเรียนชายหญิงแต่งกายสำรวยกันทั่วไป โดยเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการจึงมีคำสั่งกำชับไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนชายตัดผมสั้นอย่างที่เคยมา และไม่ให้นักเรียนหญิง ดัดผม เขียนคิ้ว ทาเล็บให้ผิดไปจากธรรมชาตินี้ ทั้งให้รักษาระเบียบนี้โดยเคร่งครัดสืบไป”
ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2500 ที่วัฒนธรรมของสหรัฐฯ เริ่มเข้ามาแพร่หลายในสังคมไทย ทำให้เกิดภาพแทนว่าเป็นความเสื่อมเสียของศีลธรรมอันดีในสังคม นำมาสู่การพยายามควบคุมนักเรียนอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการแต่งกายนักเรียน พ.ศ.2500 ยังเพิ่มคำนิยามสำหรับการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนด้วยว่า เป็นการไว้ผมยาวเกินควร การดัดผม การไว้เล็บ แต่งเล็บ ทาเล็บ การแต่งหน้า รวมไปถึง การสวมใส่เครื่องประดับด้วย”
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัยณ์ ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว อธิบายปรากฏการณ์นี้ ผ่านระเบียบที่เกี่ยวกับการแต่งกายและเครื่องแบบนักเรียน ในปี 2500-2518 ซึ่งให้อำนาจโรงเรียนในการดำเนินการกับนักเรียนที่ผิดระเบียบว่า
“เมื่อเทียบกับการจัดหลักสูตรและแผนการศึกษาชาติ ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจหลักของการศึกษาแล้ว การออกระเบียบเช่นนี้แสดงถึงความหมกหมุ่นที่จะจัดการควบคุมเด็กและเยาวชนผ่านเครื่องแบบและเรือนร่าง”
“…การให้อำนาจตีความอย่างกว้างขวางต่อผู้บริหารโรงเรียนและครู ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ต่อมาจะทำให้โรงเรียนมีแนวโน้มไม่ไปกับคุณค่าที่ตั้งคำถามต่อการควบคุมในยุคหลัง…”
เมื่อรัฐพยายามควบคุมเรือนร่างนักเรียน
การพยายามควบคุมเรือนร่างของนักเรียน ผ่านระเบียบทรงผม เครื่องแต่งกาย ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกบังคับใช้มาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้จะมีการต่อสู้จากฝั่งนักเรียนมากมาย ที่ชวนให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับกฎระเบียบเหล่านี้ก็ตาม
อย่างเมื่อปี 2563 ก็มีแคมเปญ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ที่จัดโดยภาคีนักเรียน KKC ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตั้งคำถามกับกฎการแต่งชุดเครื่องแบบไปโรงเรียน ทำให้เกิดคำถามในวงกว้างว่า ชุดนักเรียนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่จริงๆ เหรอ?
เรื่องของทรงผมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกตั้งคำถามควบคู่กันมา อย่างเมื่อปี 2563 พลอย เบญจมาภรณ์ นิวาส นักเรียนชั้น ม.ปลาย ก็ออกมาตั้งคำถามกับระเบียบทรงผม ด้วยการนั่งอยู่บนเก้าอี้พร้อมด้วยมือที่ถูกมัดไว้ เทปกาวปิดปาก บนอกมีป้ายแขวนไว้ว่า “นักเรียนคนนี้ประพฤติผิดกฏโรงเรียน ไว้ผมยาวเกินติ่งหู และไว้ผมหน้าม้าทำลายเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย เชิญลงโทษนักเรียนคนนี้” เรียกกระแส #เลิกบังคับและจับตัด ให้พุ่งติดเทรนด์ในโลกออนไลน์
กลับมายังปี 2565 การต่อสู้เพื่อสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายนักเรียน อันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ก็ยังคงดำเนินอยู่ อย่างกรณีของข้าวกล้อง ที่ยังคงไว้ผมยาวทรงเดียวกับตอนเรียนแลกเปลี่ยน และออกมาชูป้าย เพื่อกระตุ้นให้สังคมกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง
“ชอบมีคำพูดที่ชอบบอกว่า เราอยากให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ออกนอกกรอบ มีความแตกต่าง หลากหลาย อะไรก็ว่าไป แต่ว่าทุกอย่างที่กระทรวงศึกษาหรือว่าโรงเรียนทำกับนักเรียน ไม่ได้มีอะไรที่เอื้ออำนวยให้นักเรียนทำอย่างนั้นเลย ตั้งแต่ที่เราเข้าไปในระบบการศึกษา”
ข้าวกล้องย้ำว่า การไว้ผมยาว หรือทรงผมตามใจผู้เรียน ทำให้นักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง ทำให้พวกเขามีทางเลือก และยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ ซึ่งจะนำมาสู่ประโยชน์ในด้านต่างๆ อีกมากมายมาย
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ข้าวกล้องก็ได้เข้าไปพูดคุยกับคณะกรรมการการศึกษา และคณะผู้บริหารโรงเรียนอีกครั้ง ถึงทางออกของเรื่องนี้ ซึ่งข้าวกล้องเล่าว่า โรงเรียนยังคงยืนยันคำเดิมคือต้องตัดผมเท่านั้นจึงจะเข้าเรียนได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปเรียนต่อที่อื่น พร้อมบอกว่า ผู้ปกครองหลายคนไม่พอใจกับการที่จะให้เขาไว้ผมยาว และต้องทำกฎกระทรวง
“เราแย้งไปว่า การที่คุณบอกว่าจะยึดกฎกระทรวง ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เห็นจะยึดเลย ผมเคยถูกกล้อนผม เคยถูกตี กระทรวงศึกษาฯ ไม่เคยอนุญาตให้ทำแบบนั้น โรงเรียนก็ยังทำมาตลอดโดยที่ไม่ใครโดนอะไรด้วยหลังจากนั้น”
“การที่คุณจะเห็นถึงสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน คุณจะได้รับผลกระทบอะไรเหรอ แต่สิ่งที่นักเรียนคนหนึ่งต้องเจอกับการที่อยากไว้ทรงผมตามที่เขาต้องการ อยากตัดสินใจตามเนื้อตัวร่างกายของเขา คือการไม่ได้รับการศึกษา”
ถึงอย่างนั้น โรงเรียนก็ยังคงแย้งมาด้วยเหตุผลเดิม ทำให้ข้าวกล้องไม่เหลือทางเลือกมากนัก
“อย่างน้อยๆ เราก็ทำให้เกิดการพูดถึง เกิดการตั้งคำถามในสังคม กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม นี่คือประโยชน์น้อยสุดที่จะได้ ในด้านอื่นๆ เราก็หวังว่า แรงกดดันจากสังคมจะทำให้โรงเรียนเปลี่ยนใจรับเราเข้าไป ให้ผู้มีอำนาจหรือคนในสังคมสนใจว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่นะ แล้วนำไปสู่การตั้งคำถามว่า กฎทรงผมมันควรจะมีอยู่จริงๆ เหรอ”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2565). เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงโทษในโรงเรียนไทย (พิมพ์ครั้งแรก). สำนักพิมพ์มติชน.