การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงกันอย่างเท่าเทียม
ประโยคคลาสสิกที่ได้ยินกันหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยอยู่ดี ยิ่งกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ก็กลับเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่เราไม่ควรจะคุ้นชิน
ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังคงรุนแรง และภาครัฐยังไม่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เหล่านักเรียนต้องเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ เมื่อค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยในฝันยังคงราคาไว้เท่าเดิม แต่สถานการณ์เงินของครอบครัวกลับติดลบ
The MATTER ชวนทุกคนไปฟังเสียงของนักเรียน TCAS รุ่น 65 ที่ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ครอบครัวกำลังขาดรายได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ส่งผลอย่างไรกับพวกเขาบ้าง
เข้ามหา’ลัยปี 65 สอบยังไง เสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
“อูย (900 บาท) ไม่แพงเลย ถูกมาก”
คำกล่าวในแถลงข่าวของ พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS ถึงค่าใช้จ่ายในการเลือกอันดับของ TCAS รอบ 3 เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนในสังคม ตามมาด้วยคำถามว่า ยุคนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่าไหร่
อธิบายคร่าวๆ สำหรับคนที่อาจจะไม่ได้ติดตามข่าวสารการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก่อนว่า การสอบ TCAS ในปีนี้ ปรับลดเกณฑ์ใหม่ใหม่ โดยยกเลิกการสอบ O-NET เพื่อลดภาระการสอบให้น้อยลง โดยจะมี 4 รอบ ได้แก่
- รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน เป็นรอบที่ไม่มีการสอบ แต่จะพิจารณาจากผลงานของนักเรียน
- รอบที่ 2 โควตา มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และสาขาวิชาที่เปิดรับ โดยเป็นรอบที่ใช้คะแนนสอบในการยื่นเข้า
- รอบที่ 3 แอดมิชชั่น รอบรับตรงร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ยกเลิกการสอบ O-NET ไปทำให้เหลือเพียงเกณฑ์แบบ Admission 1 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าจะใช้คะแนน GPAX, GAT/PAT, วิชาสามัญ และคะแนนสอบวิชาเฉพาะ
- รอบที่ 4 รับตรงอิสระ โดยมหาวิทยาลัยจะเปิดรับในสาขาที่ผู้เรียนยังไม่เต็มจำนวน จึงไม่ได้เปิดรับทุกมหาวิทยาลัย และมีจำนวนที่นั่งค่อนข้างน้อย
ทีนี้ กลับมาที่เรื่องของค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในส่วนของค่าสมัครสอบนั้น GAT/PAT คิดเป็นวิชาละ 140 บาท สมัครได้สูงสุด 8 วิชา, วิชาสามัญคิดเป็นวิชาละ 100 บาท สมัครได้สูงสุด 7 วิชา, วิชาเฉพาะของ กสพท. ค่าสมัครสอบ 800 บาท ขณะที่แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อสอบตรงของตัวเอง ซึ่งมีค่าสมัครสอบราคา 200 บาทขึ้นไป
แต่ราคา 900 บาทที่เป็นประเด็นนั้น ไม่ใช่ค่าสมัครสอบ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกอันดับ โดยมีค่าสมัครเริ่มต้นที่ 150 บาท อันดับที่ 2-4 จะเพิ่มอันดับละ 50 บาท จากนั้นจะเพิ่มไปวิชาละ 100 ทำให้ค่าสูงสุดในการเลือกอันดับคือ 900 บาท
“เราเห็นสถิติที่ผ่านมา พฤติกรรมของน้อง น้องได้อันดับที่ 10 น้องก็ไม่เอา ผู้ยืนยันสิทธิผ่านการคัดเลือกในอันดับ 10 มีอัตราการยืนยันไม่สูงเลย ดังนั้น ให้ประหยัดทรัพยากรของพ่อแม่ด้วย” อีกหนึ่งคำกล่าวจากพีระพงศ์
อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงวิธีการกำหนดค่ายื่นอันดับเช่นนี้ สะท้อนว่า ผู้จัดสอบอยากให้เด็กเลือกแค่ 4 อันดับเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าคะแนนจะอยู่ใน 4 อันดับ จะเลือกเผื่อกันเหนียวก็ต้องจ่ายเพิ่ม แสดงว่าใครพร้อมจ่ายมากกว่า ก็มีโอกาสติดสักอันดับจาก จำนวนอันดับที่เลือกสำรองไว้ได้มากเท่านั้น
เสียงจากนักเรียน TCAS 65 ถึงค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัย
“ทปอ.บอกว่า 900 บาทไม่แพง แต่พวกหนูมองว่าบางอย่างมันไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเลยด้วยซ้ำ” ศิริลักษณ์ นักเรียนชั้น ม.6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าว
เธอเล่าด้วยว่า การสอบบางอย่าง เข้าใจได้ว่าต้องเสียเงิน เช่น การสอบความถนัด GAT/PAT แต่การให้เด็กต้องเสียเงินค่าเลือกอันดับนั้น เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเสียผลประโยชน์อย่างมาก
คำถามที่เธออยากรู้คือ ทำไมนักเรียนจะต้องเสียเงินเพื่อเลือก 10 อันดับ เพราะถ้าพวกเขาสอบไม่ติด ก็เท่ากับว่าต้องเสียเงินไปฟรีๆ และเพราะต้องเสียเงินสอบจำนวนมาก ทำให้เธอและเพื่อนๆ ตัดสินใจกันว่า คงต้องเลือกอย่างใดอย่างนึงเพื่อให้เสียเงินน้อยที่สุด หรือก็คือจะเลือกสอบแค่รอบหรือสองรอบเท่านั้น เพื่อไม่ให้ไปอยู่ในรอบที่สาม เพราะว่ารอบแรกก็ต้องเสียเงินค่ายื่นพอร์ท และรอบสองมาก็ต้องเสียเงินค่าดูคะแนนสอบอีก
ศิริลักษณ์ลองคำนวณค่าสมัครสอบให้เราฟังคร่าวๆ ว่า เธอจะต้องเสียเงินสำหรับหนทางในการเข้ามหาวิทยาลัยอย่างต่ำ 2,000 บาท และคาดว่าคงจะชวดรอบแรกที่ต้องใช้แฟ้มสะสมผลงานยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เพราะด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมได้
“หนูเดือดร้อนเพราะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หนูต้องใช้เงินเก็บมาจ่ายค่าสอบ ค่าดูคะแนนสอบ และค่าเลือกอันดับ 10 มหาวิทยาลัย ทำให้หนูเครียดมาก ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหนด้วย”
ด้วยภาวะวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มาจากการบริหารจัดการ COVID-19 ล้มเหลวของรัฐบาล ทำให้ฐานะทางการเงินของบ้านศิริลักษณ์ประสบปัญหาหนัก เธอเล่าว่า ตอนนี้เธอต้องอาศัยอยู่กับ น้า ตาและยาย และไม่ค่อยได้เงินใช้ในแต่ละวันมากนัก ถ้าจำเป็นก็ต้องขอยืม แต่ก็ไม่อยากรบกวนคนในบ้าน เพราะพวกเขาก็มีหน้าที่จ่ายค่าบ้าน และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ อยู่แล้ว
“ขนาดค่าเทอมทั้งเทอมนี้กับเทอมที่แล้ว หนูยังไม่ได้จ่ายเลย ปกติพ่อจะเป็นคนส่งเงินให้ แต่ทีนี้พ่อต้องไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะในกรุงเทพฯ ไม่มีงานให้ทำแล้ว แต่ต่างจังหวัดก็ไม่มีงานเลยเหมือนกัน บางวันพ่อต้องรับจ้างตัดไม้เอา แล้วพ่อหนูเอาน้องไปอยู่ด้วย น้องก็ต้องไปเรียน เขาก็ต้องดูแลตรงนั้นด้วย”
นักเรียนหญิงเล่าว่า ปัญหาด้านการเงินที่เกิดขึ้นนี้มีผลมาจาก COVID-19 และแม้ว่าเธอจะไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย เพราะในการศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อยู่ด้วย เช่น ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน เป็นต้น
แถมการเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาที่เราได้ยินกันมาหนาหูตลอด และศิริลักษณ์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่เผชิญกับปัญหานั้น เธอเล่าว่า ในหนึ่งวัน เธอต้องเรียนออนไลน์ทั้งสิ้น 9 คาบเรียน ตั้งแต่ 8.00-16.00 น. ทำให้ต้องใช้งานโทรศัพท์เยอะ จนโทรศัพท์รับไม่ไหว เครื่องร้อนและดับไปอยู่หลายครั้ง ตอนนี้ เธอจึงพยายามเก็บเงินซื้อ iPad เพื่อไม่ให้โทรศัพท์ใช้งานหนักเกินไป เพราะไม่รู้ว่า ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยไปจะยังต้องเรียนออนไลน์อีกไหม ซึ่งจะทำให้เธอมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก
“ที่เขาบอกว่า ระบบ TCAS จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ามหาวิทยาลัย หนูขอตอบว่า ไม่จริง ถ้าเราติดมหาวิทยาลัยก็เพราะช่วยตัวเองกันล้วนๆ ช่วงสถานการณ์แบบนี้ เศรษฐกิจแบบนี้ เราช่วยตัวเองกันหมดเลย ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเราเลย”
เช่นเดียวกับกรณีของ สมชาย นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เล่าว่า ในการระบาดระลอกเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา คนในบ้านของเขาซึ่งมีอยู่ 6-7 คน ติด COVID-19 กันหมด ยกเว้นสมชายคนเดียว ปัญหาที่ตามมาก็คือช่วงที่ต้องกักตัวและรักษาตัว ทุกคนต้องหยุดงาน ทำให้ที่บ้านไม่มีรายได้เลย
เมื่อรายรับหายไป แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่าง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ยังคงดำเนินต่อ ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในชีวิต โดยสมชายเล่าว่า ปกติแล้ว คนอื่นๆ ในบ้านจะคอยทำงานหาเงิน ส่วนเขามีหน้าที่เรียนหนังสือ ดังนั้น การต้องหยุดพักทั้งจากโรคระบาดและมาตรการของภาครัฐส่งผลกระทบอย่างหนักมาก
“ขนาดตัวอยู่โรงพยาบาลก็ยังต้องจ่ายค่าต่างๆ ตอนนี้ก็ยังทยอยจ่ายอยู่ ยังไม่หมดเลย เดือนต่อเดือนจะตกอยู่ที่ 20,000 กว่าต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เยอะ เพราะว่าทุกคนทำงานไม่ได้”
แม่ของเขาทำงานเป็นพนักงานในสวนสาธารณะของภาครัฐ ขณะที่คนอื่นๆ ในบ้านประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง ซึ่งในช่วงที่ COVID-19 ยังคงระบาดหนักอยู่นี้ ก็ทำให้ที่บ้านขาดรายได้ไป พอติด COVID-19 กันเกือบทั้งบ้าน รายได้กลายเป็นศูนย์ ซ้ำพอรักษาตัวกันจนหายและจะกลับมาขายของกันอีกครั้ง ก็ทำไม่ได้ เพราะมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา
พอถามถึงคณะในฝัน สมชายก็บอกว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถ้าไม่ติดก็มองอีกที่เป็นคณะสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งก็เช่นเดียวกับศิริลักษณ์ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบคร่าวๆ ตามการคำนวณของสมชาย อยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท โดยยังไม่ได้นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจมีเสริมเข้ามาอีก
“ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ สถานะทางบ้านผมก็เหมือนเป็นเส้นตรง ขึ้นลง ได้นิดหน่อย แต่ถ้ามีเหตุการณ์อย่าง COVID-19 มันก็ส่งแรงกระเพื่อมค่อนข้างหนัก จำนวนเงิน 2,000 ในปกติอาจจะไม่เยอะ คือยังพอหาได้ แต่พอช่วง COVID-19 มันหาเงินยากขึ้นมากๆ แล้วอย่างที่บอกว่าเรามีภาระอื่นๆ ที่ค้างคาอีก เงิน 2,000 ก็ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย”
สมชายเล่าด้วยว่า ถึงตอนนี้เขาจะเรียนอยู่ชั้น ม.6 แต่ก็อายุได้ 20 ปีแล้ว ด้วยเหตุจากปัญหาทางบ้าน ที่ทำให้เขาต้องดรอปการเรียนไป 2 ปี แล้วต้องมาเรียน ม.4 ใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่า การหางานทำด้วยวุฒิการศึกษา ม.ต้น นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งสมชายก็บอกว่าเขาเองก็ต้องอาศัยคนรู้จักเพื่อหางานเหมือนกัน
“ในสังคมไทย ถ้ามีคนจบ ม.ต้น กับคนถือวุฒิการศึกษาปริญญาตรี แน่นอน เขาก็ต้องเลือกคนจบปริญญาตรีอยู่แล้ว วุฒิฯ แค่ม.ต้น มันหางานยาก เพราะเขาจะมองว่าไม่มีอะไรยืนยันว่าคุณได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนตีคุณค่าของคนคนนึงผ่านการศึกษาว่า คุณสมบัติไม่พร้อม ด้อยกว่าคนอื่น หรือบางทีอาจจะไม่ได้เข้าถึงโอกาสในการทำงานเลยด้วยซ้ำ อย่างผมตอนนั้นกว่าจะหางานทำได้ก็เอาเรื่องอยู่ ต้องฝากเพื่อน ต้องดิ้นรน ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องดิ้นรนมากกว่าคนอื่น”
เราคุยกันไปถึงเรื่องของ ‘ความฝัน’ ที่เด็กหลายคนมักถูกถามจากผู้ใหญ่อยู่เสมอ ซึ่งสมชายเล่าว่า เขาเองก็เคยมีความฝันว่าอยากเป็นทหาร ตำรวจ หรือรับราชการ แม้ว่าพอโตขึ้นมาความคิดจะเปลี่ยนไป แต่คำถามที่น่าสนใจอีกก็คือ การศึกษาจะช่วยให้เด็กคนนึงเดินไปถึงความฝันได้หรือไม่ ซึ่งสมชายกล่าวว่า กว่าตัวเขาเองจะเลือกคณะที่อยากเรียนได้ ก็ต้องไปค้นหาตัวเองอยู่นานพอสมควร
นักเรียนชายคนนี้มองว่า การจะทำให้เด็กคนหนึ่งไปถึงฝันได้เป็นสิ่งที่ยากเย็นมากในระบบการศึกษาไทย พร้อมยกตัวอย่างถึงเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่ยังไม่รู้กันว่าจะไปทางไหนดี ทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาอัดแน่นด้วยอะไรต่างๆ ไว้มากมาย แต่ประสิทธิผลหรือผลลัพธ์ของมันกลับไม่ได้ทำให้เด็กคนนึงรู้ว่า ความใฝ่ฝันของเขาคืออะไร แล้วมันจะเป็นจริงได้แค่ไหน
“ขอฝากถึง ทปอ.ว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ ไม่ใช่ให้สำหรับคนที่พร้อมเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่คุณควรจัดให้เป็นพื้นฐาน และทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม”
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เสียที
ถ้าอยากมีอนาคตสดใส ต้องตั้งใจเรียนให้สูงๆ เข้าไว้ คติประจำบ้านที่เด็กหลายคนคงเคยได้ยินกันมาตลอด ปลูกฝังความคิดที่ว่า ต้องเรียนให้ดี เรียนให้เก่ง เพื่อให้จบไปไม่ลำบาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีความเชื่อฝังหัวกันมาว่า การศึกษาคือตัวกำหนดคุณภาพชีวิตในอนาคต
คำถามคือ เด็กไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยเหรอ ต้องรอให้การศึกษาที่อยู่ปลายทางวัยเรียน เป็นตัวยกระดับคุณภาพชีวิตเท่านั้นเหรอ ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ แล้วเด็กที่เกิดมาพร้อมกับต้นทุนชีวิตต่ำเตี้ยเรี่ยติดดิน ก็ต้องปากกัดตีนถีบช่วยเหลือตัวเองไปอย่างนั้นใช่หรือเปล่า
“จากที่ ดร.พีระพงศ์ พูดว่า การสอบของเขาถูกจัดขึ้นสำหรับเด็กที่พร้อมเท่านั้น แล้วเงิน 900 บาทมันถูกมาก หนูอยากถามว่าแล้วเด็กที่ไม่พร้อม เด็กยากจน ไม่มีเงิน เด็กที่พ่อแม่ไม่ร่ำรวย เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดแบบหนูไม่มีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลยเหรอ ไม่มีสิทธิ์ที่ครอบครัวจะมีอาชีพที่ดีขึ้นเลยเหรอ ไม่มีสิทธิ์เลยเหรอ” เสียงจากนักเรียนที่ต้องเข้าสอบ TCAS รุ่น 64 กล่าวไว้ในวงสนทนา Clubhouse หัวข้อ ‘900 บาท .. อูยยย ไม่แพง’
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาบ่อยครั้ง และทุกคนต่างตระหนักดีว่าประเทศเราประสบปัญหานี้อยู่ ตามที่ผู้จัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างพยายามหาวิธีสอบที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าเรียนให้ได้มากที่สุด จนกลายมาเป็น TCAS รูปแบบการสอบที่เคลมกันว่า จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
แต่การเข้าถึงเทคโนโลยียังไม่ทั่วถึง สวัสดิการขั้นพื้นฐานก็ยังไม่ครอบคลุมให้กับประชาชนทุกคน และภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ยิ่งตอกย้ำให้คนชนชั้นกลางและรากหญ้ายากจนหนักลงไปอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่น และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงอยู่
พูดแบบง่ายๆ ก็คือ ถ้าความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ยังคงปรากฏให้เห็น ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด
ช่วงกลางปีที่ผ่านมา สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจะมีเด็กที่หลุดออกไปอีกเพิ่มขึ้นถึงหลักหมื่นคน และในช่วงสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 65,000 คน
สมพงษ์คาดการณ์อีกว่า เด็กที่หลุดไปจากระบบระดับประถมศึกษาอาจจะมีจำนวนไม่มาก เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับโดย ประมาณการณ์ตัวเลขอยู่ที่ 4% ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% และมัธยมปลายอยู่ที่ 48% ซึ่งในจำนวนนี้เด็กที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยจะมีเพียง 8-10% เท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นี้เป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน
ภาวะยากจนเฉียบพลันนี้ เห็นได้จากกรณีของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเคยเป็นจังหวัดที่ทำรายได้ 440,000 กว่าล้านบาท และมีรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท แต่ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่ารายได้ต่อคนต่อเดือนของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท โดยมีผู้ปกครองตกงานตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วถึง 13-15%
เมื่อรายได้ลดลง ต้นทุนในการศึกษาของเด็กก็ถูกลดลงไปด้วย และเหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังแผ่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ยิ่งกว่านั้น ปรากฎการณ์นี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีสัญญาณล่วงหน้าอะไรเลย เพราะเมื่อปีก่อนเราเคยพูดคุยกับครูผู้สอนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองจูงมือลูกหลานออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากที่บ้านไม่พร้อมเรียนออนไลน์และมองว่าการให้เด็กออกไปช่วยหางานทำเพื่อเลี้ยงปากท้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า
ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ค่าใช้จ่ายแพงแสนแพงนี้ เป็นเหมือนเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเท่านั้น ซึ่ง อ.อรรถพล ยังระบุผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า ถ้าเป็นในปีทั่วไปที่เศรษฐกิจดำเนินไปตามปกติ ก็คงต้องวิพากษ์ตำหนิกับวิธีคิดในแนวทางนโยบายแบบนี้ แต่เมื่อทั้งหมดมาปรากฎในปีที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างหนัก สังคมบอบช้ำจากวิกฤต COVID-19 ยืดเยื้อยาวนาน เด็กๆ และผู้ปกครองได้รับผลกระทบทางตรงทางอ้อมกันถ้วนหน้า ยิ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ของสังคมไทยมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำงานเป็นแรงงานระดับกลาง-ล่าง เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งรับผลกระทบเต็มๆ จากการล็อกดาวน์ครั้งแล้วครั้งเล่าจนสิ้นเนื้อประดาตัว
“ใครที่ยังคิดตัดสินใจจะดำเนินแนวทางอะไรแบบนี้ออกมาได้ แสดงว่าคุณไม่ได้ร่วมรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมสังคมเลย”
การกระเสือกกระสนเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยของนักเรียนทั้งหลาย ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองเป็นมีชีวิตและอนาคตที่สดใส นำไปสู่คำถามที่ว่า หากภาครัฐเชื่อว่าการศึกษาคือไปเบิกทางสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และมองเห็นความสำคัญของการศึกษาจริง ทำไมรัฐบาลถึงผลักภาระในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนดิ้นรนด้วยตัวเอง ทั้งที่หน้าที่ของรัฐบาลคือการจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คำถามว่า เงิน 900 บาทแพงหรือไม่ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากภาครัฐจัดสรรสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าให้กับประชาชน
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก