ปิดเทอมกันมายาวนาน จนอดคิดไม่ได้ว่า ย้ายไปเรียนโฮมสคูลเลยดีไหมนะ?
ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนกันไป แต่การเรียนรู้ของเด็กๆ ยังคงต้องดำเนินต่อ ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจการศึกษาแบบโฮมสคูล (Home school) กันมากขึ้น
แต่ก็มีคำถามที่อาจสงสัยกันว่า โฮมสคูลคืออะไร ต้องทำยังไงบ้างถึงจะเรียนได้ แล้วมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างหรือเปล่า?
เราเลยขอพาทุกคนไปร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโฮมสคูลในไทยกับ ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน และวรวัส สบายใจ นักพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียน ศึกษาเรื่องการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ที่คอยขับเคลื่อนการศึกษาแบบโฮมสคูล เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้กัน
ความหมายของคำว่า โฮมสคูล คืออะไร
ธรรณพร: จะบอกว่า เป็นการเรียนรู้ที่บ้านก็ไม่ได้ เพราะเราใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับสรรพสิ่งรอบตัวเด็ก มันแปลตรงตัวว่า ‘โรงเรียนที่บ้านไม่ได้’ เพราะมันจะเหมือนพูดถึงแค่วัตถุ จริงๆ แล้วบ้านต้องเป็น ‘วิถี’ เลย ไม่ใช่แค่ตัววัตถุที่เป็นบ้าน เป็นการเรียนบนวิถีชีวิตของครอบครัว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในตัวเด็กให้มีการเรียนรู้ โดยมีบ้านเป็นตัวเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงสังคมรอบตัว และสิ่งแวดล้อม
วรวัส: การเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการเรียนจากประสบการณ์ตรง เรียกว่า experiential learning ซึ่งการเรียนแบบนี้ ไม่ได้เรียนจากการตั้งกรอบ ตั้งจุดประสงค์การเรียนรู้ขึ้นมา แล้วให้เด็กไปถึงกรอบนั้น แต่เป็นการเรียนที่ให้เด็กค้นพบตัวเอง แล้วก็ค่อยๆ ให้เด็กพัฒนาไปถึงจุดๆ หนึ่งด้วยตัวเอง
เรียนจากประสบการณ์ คือเรียนยังไงบ้าง?
วรวัส: ยกตัวอย่างการเรียนโฮมสคูล เช่น เรื่องของการซักผ้า ซึ่งมีกระบวนการตั้งแต่ใส่เสื้อผ้า เอาตระกร้ามาแยกผ้าใส่ ไปจนถึงใส่เครื่องซักผ้า เอาผ้าไปตาก แล้วกลับมาใหม่ คือไซเคิลของกิจกรรม ซึ่งก็ต้องมาดูว่าเด็กแต่ละคน จัดการกับกระบวนการนี้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น วิธีการเลือกซื้อผงซักฟอก เด็กจะเลือกจากอะไรบ้าง คุณภาพ ราคา หรือปริมาณ ก็แล้วแต่การวิเคราะห์ของเขา
หรืออีกอันคือ เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราตากผ้าในเดือนมกราคม เดือนพฤษภาคม แล้วก็เดือนธันวาคม มุมแดดมันไม่เหมือนกัน เราไม่ต้องเรียนเรื่ององศา ลิปดา เวกเตอร์ หรือเส้นแวงเลย สุดท้ายแล้ว พอเราทำสิ่งนั้นบ่อยๆ มันก็จะมีคำถามว่า ‘เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่ฉันทำอยู่’ นี่ก็เป็นโจทย์จริงๆ ของนักการศึกษาว่ามันไม่ใช่แค่คุณสอนว่า การซักผ้าคือวิชาการงานอาชีพ แต่มันเป็นกิจกรรมที่มีความหมายอยู่ในตัว
ตอนนี้ การทำโฮมสคูลในไทยเป็นอย่างไร?
ธรรณพร: ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในครอบครัว ซึ่งตามกฎหมายแล้ว จะเป็นการศึกษาที่สามารถรับรองสิทธิที่พ่อแม่สามารถจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง ตาม มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โฮมสคูลจึงถูกรับรองให้เป็นสถานศึกษารูปแบบหนึ่ง
ถ้าเราตัดสินใจจะทำโฮมสคูล ก็ต้องศึกษาว่า ในการเตรียมเอกสารเพื่อจะไปขออนุญาตกับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเขาดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละระดับ ตั้งแต่ประถม มัธยม ก็ไปดำเนินการ จะมีเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน แล้วก็แผนการศึกษา
แผนการศึกษาของแต่ละบ้านจะแตกต่างกันออกไป เพราะต้องออกแบบมาจากวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว การเรียนโฮมสคูลเป็นการเรียนที่เน้นตามความต้องการของเด็ก ประกอบกับการทำตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องให้เด็กมีองค์ความรู้และชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง แล้วเอาหมวดหมู่นี้มาออกแบบให้เข้ากับเด็กแต่ละคน
ก่อนเรียนเราจะวางแผนว่าวันนี้เราจะทำอะไรกัน แล้วเราก็ทำลงมือทำ จากนั้นก็คอยสังเกตว่าเขาเรียนรู้อะไร สนุกไหม มีความสุขไหม พัฒนาอะไร ในหนึ่งวันก็จะมีหลายกิจกรรม พอหลายกิจกรรมก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้รอบตัวเด็ก ทำให้เกิดกลไกในการเรียนรู้ในตัวเด็กอย่างต่อเนื่อง แล้วพอไม่มีเทอม ไม่มีภาคการเรียน ใครก็จะทำก็ได้ เพราะมันเป็นการเรียนที่ไม่แยกออกจากวิถีชีวิต แต่เราสามารถวางแผนได้ว่าช่วงเวลาไหนจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้หมด
แบบนี้ถือว่าไม่มีปิดเทอมหรือเปล่า?
ธรรณพร: ส่วนใหญ่ไม่มีปิดเทอม และเด็กก็จะถือว่าเป็นการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตกับการเรียนรู้เป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่บ้านหรือนอกบ้านก็เรียนรู้ได้หมด ขึ้นอยู่กับบริบทและกิจกรรมที่ทำ
อย่างลูกชายเราตอนเขาเด็กๆ เวลาเดินทาง เขาจะชอบบันทึกหลักกิโลฯ แล้วก็ดูเข็มไมล์รถของพ่อ โดยทำเรื่อง consumption ของน้ำมันกับคุณพ่อ เพื่อดูว่าจากจังหวัดนี้ถึงจังหวัดนี้ใช้น้ำมันไปเท่าไหร่ กี่ไมล์แล้ว เขาออกแบบเองหมดเลย เราก็ปล่อยให้พื้นที่การเติบโตมาจากไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ของเขา
เราต้องให้อิสระในการที่เขาจะได้ใช้ตรงนั้นให้มันงอกงาม มีวิธีคิด วิเคราะห์ และค่อยมาทำ มาเสริม เขาต้องการรู้อะไรเราก็มาเสริม
เราต้องย้อนกลับไปคิดถึงว่า ถ้าเราไม่มีโรงเรียนเราจะทำยังไง? เราก็ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ของเราในการดำเนินชีวิต แล้วเราก็ใช้ตรงนี้พัฒนาตนเองร่วมกับเด็กได้
เห็นว่าทำงานอยู่ในสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และเป็นนักพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียน เข้ามาทำงานในแวดวงนี้ได้อย่างไร?
ธรรณพร: จริงๆ ทำงานกับสมาคมบ้านเรียนไทยมาก่อน แล้วก็เข้าไปรวมกับกลุ่มพ่อแม่ที่รวมตัวที่อยากจะจัดโฮมสคูลกัน ตั้งเป็น ‘กลุ่มบ้านเรียนปัญญากร’ ก็มีกิจกรรมการบ้านก็ทำของตัวเองไป แล้วก็นัดพบกัน วางแผนกันว่า 1 สัปดาห์เราจะทำอะไรร่วมกันบ้าง โดยมีกิจกรรมที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเป็นตัวตั้ง
พอทำสมาคมบ้านเรียนไทย แล้วลูกชายเริ่มเข้าเรียนมัธยม ก็รู้สึกว่า เราเริ่มช่วยคนอื่นได้แล้ว เลยมาเป็นที่ปรึกษาของสมาคม แล้วก็มาพบว่าคุณครูยังมีปัญหาที่การจดทะเบียนอยู่ เลยกลับมาช่วยแก้ปัญหา ด้วยการหาทางพัฒนาโฮมสคูลให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจการทำโฮมสคูล
แล้วก็มีงานต่อมาคือ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เพราะว่าเป็นสภาเฉยๆ ไม่ได้ เป็นสภาเป็นแค่องค์กรของการเชื่อมของประชาชน มันไม่สามารถเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายได้ เราทำงานกับภาครัฐ เราต้องทำให้ภาครัฐยอมรับในระบบงานของเรา เราก็เลยขยับจากสภาการศึกษาทางเลือก เป็นสมาคมการศึกษาทางเลือก ช่วงปี 2553 – 2554 เราเป็นเหมือนฮับตรงกลางที่คอยให้คำปรึกษากับกลุ่มพ่อแม่ที่จัดการศึกษา แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ
วรวัส: ขอเล่าจาก pain point ที่เจอร่วมกันระหว่างเรากับคุณครูในโรงเรียน เช่น เราเรียนโฮมสคูลมา ก็คือเรียนตามความสนใจของเรา แต่เวลาประเมิน เขาจะเอากรอบ เอาอะไรก็ไม่รู้มาบล็อคเราไว้ เราก็ต้องกลับไปทำเรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทั้งที่สิ่งที่เราเรียนมา หรือสิ่งที่เราสนใจ หรือรู้มา มันเป็นเรื่องเชิงปฏิบัติ เชิงประยุกต์แล้ว
พอโตมาแล้วไปทำงานเรื่องการศึกษา ก็จะมีครูหลายๆ คนที่พยายามตั้งโจทย์นี้เหมือนกันว่า ทำยังไงให้เด็กได้เติบโตจากสิ่งที่เด็กสนใจจริงๆ ทำยังไงให้เป็นห้องเรียนสถานที่ที่น่าเรียน แล้วปรากฎว่า ไม่ว่าเขาจะพยายามเปลี่ยนแปลงยังไง จุดติดขัดสำคัญก็อยู่ที่เรื่องการวัดผล ประเมินผลนั่นแหละ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องนโยบายที่ไทยเราเน้นเรื่องการทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐาน (standardized test) เลยมีการเพิ่มขึ้นของข้อสอบแบบ O-NET หรือ GAT-PAT ซึ่งเป็นสิ่งที่เราลอกมาจากสหรัฐฯ จากกฎหมาย No child left behind ฉบับนั้น
แต่สิ่งนี้ทำให้เกิดการคอร์รัปครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาของสหรัฐฯ ซึ่งเมืองไทยก็หยิบมาใช้ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านั้น แล้วตอนนี้ สหรัฐฯ เขาเริ่มพยายามคลี่คลายแล้ว แต่เมืองไทยก็ยังคงใช้ระบบนี้อย่างเหนียวแน่น หนักกว่านั้นคือ เราเอาไปผูกกับเงินเดือนครูด้วย ถ้าเด็กทำข้อสอบไม่ได้ เงินเดือนครูจะน้อยลง
ตัวคุณครูเองที่อยู่ภายใต้ระบบรัฐ ซึ่งหน้าที่ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี อันนี้หมายถึงคอนเซ็ปต์ทั่วไปเลย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแบบในหรือนอกระบบ รัฐก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เด็กคนนึงเติบโตเป็นพลเมืองหรืออะไรก็ได้ที่เป็นขั้นต่ำที่สุดที่ทุกคนจะโตมา
พอมีมาตรฐานที่จะต้องไปถึงก็ตามมาด้วยคำถามว่า แล้วจะวัดผลและประเมินผลยังไง มันต้องไม่ใช่การจับคนไปเข้าโรงงาน แล้วคัดว่าอันนี้ใช้ได้ อันนี้ใช้ไม่ได้ ผมเชื่อว่า มีอย่างอื่นที่สามารถมาแทนการทำข้อสอบมาตรฐานได้ หลายประเทศก็ใช้การสอบอัตนัย ซึ่งช่วยสะท้อนคุณภาพการศึกษา สะท้อนได้ว่าเด็กรู้หรือไม่รู้จริงๆ
แล้วการเรียนแบบโฮมสคูลที่ให้เด็กเรียนเอง เรียนจากประสบการณ์ ซึ่งต้องใช้การประเมินที่เน้นประเมินตามศักยภาพจริง ซึ่งจริงๆ ระเบียบวิธีวัดผลประเมินแบบกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นแบบนี้ แต่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมกรอบของโครงสร้างในระบบการศึกษาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ถึงยึดติดกับการทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งเราไม่ยอมรับ พราะมันไม่ยุติธรรมกับเด็ก เป็นการสอบที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น สิ่งที่เราเสนอกลับไปก็คือ การประเมินตามสภาพจริง
จากที่ทำมาตลอด พอเห็นความเปลี่ยนแปลง หรือเทรนด์อะไรบ้างไหม?
ธรรณพร: ปีนี้คนสนใจเยอะมาก ในช่วง COVID-19 มีพ่อแม่สนใจเยอะมากขึ้น มีคนที่ทำเครือข่ายโฮมสคูลก็มีคนมาขอเข้าตลอด แต่ก็พยายามคัดกรองว่าเขาสนใจโฮมสคูลแค่ไหน เพราะการเรียนมันไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นความรับผิดชอบที่เราจะต้องดูแลเด็ก ถ้าเรายังมี mindset ของการเรียนแบบที่โรงเรียน มันก็จะทำให้ติดๆ ขัดๆ
ในขณะเดียวกัน ฝั่งของภาครัฐก็มีความไม่เข้าใจเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเจ้าหน้าที่ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ก็ยิ่งทำให้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น
แล้วผู้ปกครองต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถึงจะทำโฮมสคูลได้
ธรรณพร: ต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า เราจะใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกอย่างไร บางบ้านสนใจเพราะเห็นว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ พอไม่ตอบโจทย์ก็ต้องกลับมาดูบริบทของตัวเองว่าเป็นยังไง
ถ้าทำงานทั้งสองคนจะดูลูกยังไงดี มีบางบ้านที่พ่อกับแม่ทำงานทั้งคู่ ก็สลับกันพาลูกไปที่ทำงาน ต้องไปคุยกับที่ทำงาน มันจัดการได้หมด เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ บ้านไหนมีครอบครัวใหญ่ ก็อาจจะฝากกับครอบครัว ซึ่งมันก็ดี เป็นเรื่องของความสัมพันธ์และการได้ความรู้จากคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายด้วย แล้วก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนได้
แปลว่าต้องมีความพร้อมในเรื่องบริบท เวลา และสภาพครอบครัว?
ธรรณพร: ต้องวิเคราะห์ได้ แต่เราคิดว่า ถ้าผู้ปกครองตั้งใจแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค อย่างครอบครัวนึงที่เข้ามาปรึกษา เขาบอกว่า บริบทของเขาลูกไปโรงเรียนกลายเป็นเด็กเกเรแน่ แล้วก็ไม่รู้จะฝากลูกที่ไหน แต่ถ้าให้เรียนขั้นพื้นฐานแบบโฮมสคูลของ ป.1-ป.6 ทำได้แน่นอน เราก็ต้องมาคุยกันว่า พ่อแม่ต้องออกมาจากกรอบคิดเดิมก่อน เพื่อจะเปิดรับวิธีการที่จะให้เด็กมีพื้นที่อิสระในการเชื่อมโยงตัวเองไปสู่การเรียนรู้
เด็กบางคนสนใจหนังสือ อ่านหนังสือเยอะมาก ชอบทำแบบฝึกหัด เด็กบางคนชอบเรียนแบบบู้ๆ เล่นกีฬาอย่างเดียว ถามว่า มีทักษะขององค์ความรู้ได้ไหม ก็มีได้ เรียนได้หมด พ่อแม่ต้องตีโจทย์ แล้วให้ลูกเป็นคนขับเคลื่อนการเรียนรู้ ซึ่งเราสนับสนุนการเรียนและการเติบโตนั้น
มนุษย์ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ แต่มีความแตกต่างหลากหลาย มีธรรมชาติ มีความถนัดและความสนใจไม่เหมือนกัน โฮมสคูลเน้นตรงนี้ เพราะฉะนั้น เด็กๆ ที่เรียนโฮมสคูลจะสามารถไปต่อได้ทุกคน เพราะมันเริ่มต้นจากธรรมชาติที่ต่างกัน แล้วเราก็อนุญาตให้ธรรมชาติที่แตกต่างกันนั้น เติบโตในทางของเขา
อย่างนี้เหมือนพ่อกับแม่ต้องทำความเข้าใจกับคำว่าการศึกษาใหม่ด้วยหรือเปล่า?
ธรรณพร: โฮมสคูลที่จะลื่นไหลไปกับตัวเด็ก ต้องขึ้นอยู่กับบริบท วิถีชีวิต แล้วก็จัดการทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของลูกได้ เลยไม่ใช่การเรียนแต่ตัวหนังสือในโรงเรียนอย่างเดียว ทั้งพ่อแม่และเด็กต้องเข้าใจบริบทของบ้านตัวเอง เช่น พ่อแม่ทำอาชีพอะไร เด็กต้องทำอะไรถึงจะช่วยเหลือครอบครัวได้ ซึ่งมันจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกับการเติบโตต้องเติบโตทั้งสองทาง พ่อแม่ก็ต้องเติบโตด้วย เรียนรู้ร่วมกับลูกไปด้วย
เช่น เด็กคนนึงจะเปลี่ยนจากเรียนในโรงเรียนมาเรียนโฮมสคูล แล้วเขาอยู่ในวิถีของครอบครัวที่ประกอบอาชีพค้าขาย แล้วการค้าขายออนไลน์ก็สร้างประโยชน์กับให้เขาได้เหมือนกัน คือมันต้องคุยกัน แล้วทำให้โลกของเด็กกับโลกของครอบครัวกลับมาเชื่อมกันด้วยการต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทิศทางในการไปต่อของเด็ก ส่วนพ่อแม่ก็มาสนับสนุนให้เขาไปต่อได้
จุดนี้ ถือเป็นความแตกต่างระหว่างโรงเรียนกับโฮมสคูลหรือเปล่า?
ธรรณพร: ใช่ มันคือการเริ่มต้นจากตัวเอง ไม่ถูกครอบด้วยกรอบหรือคอนเทนต์ คอนเทนต์ถูกสร้างมาจากตัวคนเรียนเอง ถ้าสนใจก็ไปสืบค้นความรู้มาได้ เก็บสะสมในตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าคุณต้องรู้เรื่องนี้ คุณต้องอ่านเรื่องนี้ ต้องไปท่องมา แต่ถ้าวันนึงเราไปอ่านไปท่องมาแล้วไม่ได้ใช้เลย ความรู้นั้นก็หายไป เพราะระบบสมองของมนุษย์เชื่อมต่อกับกลไกอวัยวะภายในทั้งหมด ถ้าองค์ความรู้นั้นไม่ถูกเชื่อมและบันทึกไว้ เพราะมันเชื่อมด้วยวิธีการท่องข้อสอบให้ผ่าน วันนึงที่เด็กไม่ต้องท่องเพื่อให้สอบผ่านแล้ว ความรู้ก็จะเชื่อมต่อไม่ติด มันเป็นแค่เปลือก ถูกบันทึกอัตโนมัติไว้แบบนั้น
พอเป็นแบบนั้น ถ้าวันนึงจะต้องไปทำอะไรเอง ก็ต้องไปฝึกใหม่ แล้วกว่าที่จะฝึกใหม่ กว่าที่สมองจะกลับไปเชื่อมเอาความรู้กลับมาก็ยาก ทั้งๆ ที่เรามีอยู่แล้ว แต่บางทีมันอยู่ลึก หรือหายไปแล้ว แต่การเรียนโฮมสคูลเป็นอีกแบบ เพราะความรู้จะถูกฝึกไปเรื่อยๆ เราถึงบอกว่า เป็นกลไกการเรียนรู้ต่อเนื่อง แล้วมันเป็น lifelong learning ที่เราค้นพบว่าเป็นกลไกที่ทำให้เด็กคนนึง รับผิดชอบชีวิตตัวเองต่อเนื่องตลอดชีวิต
โรงเรียนในระบบเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเยอะมาก แล้วของโฮมสคูลเจอแบบนี้ด้วยไหม?
วรวัส: เราเคยทำวิจัยแล้วเข้าไปคุยกับเด็กหลายคนที่หลุดออกมาจากระบบโรงเรียน ซึ่งบางคนไม่ชอบทักษะวิชาการ แต่ชอบการลงมือปฏิบัติ เราสามารถแปลให้การปฏิบัติเป็นความรู้วิชาการได้ แต่ถ้าองค์ความรู้นี้อยู่ในระบบโรงเรียน เด็กพวกนี้ก็จะเจอกับความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เขาไม่สามารถเรียนรู้ด้วยความสนใจ และต่อยอดการเรียนรู้ได้ เหมือนกับกรอบการเรียนรู้ได้ถูกปิดลงแล้ว ทำให้เขาไปต่อไม่ได้
อีกอย่างคือ ในระบบชั้นเรียนที่ใช้วิธีการตัดเกรด มันเป็นการตัดสินว่าเด็กคนนี้ ได้ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งไปทำร้ายจิตใจข้างในของเด็กเยอะมาก เพราะเป็นการเรียนที่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง แต่กลายเป็นมายกคนๆ นึง เพื่อให้อีกคนนึงรู้สึกด้อยค่า ซึ่งตรงนี้ เด็กโฮมสคูลไม่เจอ เพราะเราใช้การเรียนแบบ personized learning แล้วก็วัดประเมินผลตามสภาพเด็กจริงๆ แต่ละคนมีสเต็ปของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ถ้าในโรงเรียนสเต็ปของการเรียนรู้ที่ต่างกันจะสร้างความเหลื่อมล้ำมาก เพราะถูกวัดด้วยข้อสอบ แต่สเต็ปการเรียนรู้ที่ต่างกันของโฮมสคูลจะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และเติมเต็มไปเรื่อยๆ
ธรรณพร: เราไม่เจอความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้นะ แต่เจอความเหลื่อมล้ำของระบบโครงสร้างการศึกษา มันเกิดขึ้นมาตอน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพราะเขาเอาเรื่องโฮมสคูลไปแปะไว้กับโครงสร้างของระบบโรงเรียนของ สพฐ. ซึ่งมันมีวิธีการเรียนรู้ วิธีการทำหลักสูตรที่แตกต่างกันมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจการทำงานและการเรียนรู้แบบโฮมสคูล สพฐ.ก็ยังไม่เข้าใจว่าระบบที่เขาต้องบริหารจัดการโรงเรียนมันแตกต่างจากเรา จึงเป็นความเหลื่อมล้ำของระบบการจัดการมากกว่า
แต่ส่วนของโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากข้างในตัวเด็กจริงๆ เช่น เด็กไม่พร้อม ฐานะทางบ้านไม่ดี เด็กที่พลาดกระทำความผิด ก็ตกหล่นจากระบบการศึกษาหมดเลย เพราะถือว่าเป็นเด็กที่ไม่เก่ง
ทำไมถึงมีปัญหาเรื่องการจัดการ ทั้งที่มีกฎหมายรองรับมานานแล้ว?
ธรรณพร: เราเพิ่งรู้ว่า มาตรา 12 ที่อยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่มีเจ้าภาพ ตัว พ.ร.บ.นี้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วม มีอยู่ 4 หลักการ คือ การปฏิรูปการมีส่วนร่วม, ปฏิรูปเรื่องหลักสูตร, ปฏิรูปเรื่องการเรียนรู้ และปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง
ในส่วนการปฏิรูปอื่นๆ เราทำไปบ้างแล้ว แต่เรื่องปฏิรูปโครงสร้าง เราหายไปเลย เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในโครงสร้างใดๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ น่าตกใจมาก เพราะว่าใน มาตรา 12 มีกฎกระทรวงอยู่ 6 กฎกระทรวง แล้วโฮมสคูลก็เป็นหนึ่งในกฎกระทรวงนั้น
กลายเป็นว่า พอไม่มีเจ้าภาพ ก็เบิกเงินอุดหนุนให้เด็กๆ ไม่ได้ เด็กไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค แต่ว่าเด็กที่อยู่ใน มาตรา 12 กลับไม่มีเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้ สพฐ.ไม่ทำให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ทำให้ มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย?
พอไม่มีคนดำเนินงาน เราก็เหมือนเอางานของเราไปฝากแปะไว้ที่ สพฐ. ซึ่ง สพฐ.ก็มีโครงสร้างงานของระบบของเขาที่ทำดูแลเรื่องการศึกษาในโรงเรียน กลายเป็นว่าเราไปฝากแปะไว้ แล้วเขาไม่ทำงานให้เรา เพราะมันไม่ใช่งานของเขา
เราไม่อยากเรียกว่าเป็นประชาชนที่ถูกรัฐทิ้ง แต่ว่ารัฐลืม .. ลืมทำโครงสร้างรองรับความเสมอภาค ความเท่าเทียมการที่จะดูแลการศึกษา คือมี มาตรา 12 แทรกเข้าไปใหม่ใน พ.ร.บ. แต่ไม่มีโครงสร้างมารองรับ ต่อไปนี้เราก็ต้องเรียกร้องจากรัฐ เพราะที่ผ่านมาเราก็สงสัยกันว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงานเรา พอเราจะทำโฮมสคูลเจ้าหน้าที่ดุครอบครัว คุณมีสิทธิอะไรมาดุครอบครัว เราทำงานตามกฎหมาย เรามีสิทธิตามกฎหมาย
ปัญหานี้ ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กยังไงบ้าง?
ธรรณพร: กรณีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับครอบครัว เด็กอยู่ที่บ้านอาจจะไม่เกี่ยวมาก แต่จะมีในเรื่องของการใช้อำนาจในการประเมินผล วิจารณ์เด็ก ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นผู้ทรงสิทธิ์ ในการที่จะปกป้องลูกจากเหตุการณ์นั้นๆ เราต้องช่วยบอกพ่อแม่ให้เขาเข้าใจ และเพิ่มศักดิ์ศรีในการเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งให้กับครอบครัวด้วย
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรายอมจำนนกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจากไหน แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่การศึกษาถึงใช้อำนาจกับประชาชนเยอะ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ สะท้อนกลับไปที่ครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวปรับตัวเอง ถ้าราชการไม่พอใจ นั่นก็เป็นหน้าที่ที่เขาต้องปฏิบัติ
นอกจากเรื่องของระบบการจัดการและการวัดผลแล้ว มีด้านอื่นๆ อีกไหม
วรวัส: บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมด้วย หมายถึงว่า หลักสูตรที่ถูกเขียนในโลกทัศน์แบบคนกรุงเทพฯ เราก็จะไปจินตนาการว่า เด็กๆ เขาน่าจะต้องเรียนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาจากงานวิจัยเชิงนามธรรมว่าต้องมีทักษะนั่นนี่ แต่จากที่ไปทำวิจัยกับเด็กๆ ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือ เรื่องของภาษาก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเราคุยกับเด็กในกรุงเทพฯ เราใช้ชุดคำที่ดึงมาจากหลักสูตร เขาก็เข้าใจ
แต่ที่แม่สะเรียง มันใช้ไม่ได้เลย เพราะในเชิงวัฒนธรรมมันไม่ได้มีคำนี้ในวัฒนธรรมของเขา เป็นเรื่องของภาษากับบริบท จริงๆ ในหมู่บ้านนั้นมันไม่มีเรื่องคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ยากๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย เพราะด้วยความที่เราไปปกครองเขา ภาษาของเขาไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อไปอธิบายเรื่องอื่นที่มันซับซ้อนขึ้น เขาต้องใช้ภาษาของเรา เพราะงั้นเด็กเขาก็จะมีความไม่กล้าพูด
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าในประเทศไทย มันไม่ใช่เรื่องเนื้อหาคุณภาพเข้าไม่ถึงเด็ก แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรม เราไม่เคยสนใจวัฒนธรรมที่หลากหลายของเด็ก อย่างแรกคือเชื้อชาติ ชุดภาษาในแต่ละกรอบสังคม เช่น ทางเหนือกับทางอีสาน เวลาไปทำงานเราเห็นชัดมากว่า ทางอีสาน อะไรก็ได้ขอโจ๊ะไว้ก่อน แล้วที่เหลือเดี๋ยวเขาตามมา ทางเหนือมันจะมีความอ่อนน้อม มันจะค่อยๆ เอนเนจี้จะไม่เหมือนกัน ทางใต้ก็จะขอหนักๆ เน้นๆ เพราะฉะนั้นด้วยความที่วิธีคิด ชุดภาษา วัฒนธรรมของทั้ง 4 ภาคมันไม่เหมือนกัน เวลาเรียนที่มันเป็น 1 ชั่วโมงของเหนือ กับ 1 ชั่วโมงของอีกสานก็ไม่ตรงกันแล้ว
เรื่องที่สองคือ บริบทแวดล้อมที่ไม่ถูกเอามาคิดคำนวณในการออกแบบการศึกษา และเรื่องที่สามคือการรับฟัง ด้วยความที่การศึกษาไม่เคยลงไปทำความเข้าใจจริงๆ ว่าเด็กเติบโตขึ้นมาได้ยังไง การศึกษาตั้งขึ้นมาว่าเป้าหมายคุณภาพของชาติจะไปทางไหน แต่ว่าเด็กจะโตอย่างไร เขายังไม่เคยตั้งคำถามกลับมาถึงขั้นพื้นฐานตรงนี้
การจะพัฒนาไปสู่สากลได้ ต้องมีคุณภาพชีวิตให้แข็งแรงก่อนที่จะพัฒนาต่อไป ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมกับความเหลื่อมล้ำเรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน เราถึงต้องเคารพความแตกต่างทางการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เขาพัฒนาต่อยอดไปได้
ปัญหามันเกิดจากอะไร?
วรวัส: เราคิดว่า คนที่กุมบังเหียนหรือคิดว่าตัวเองเป็นคนมีการศึกษาไม่ค่อยเท่าทันว่าตัวเองโตมายังไง แล้วก็คนอื่นโตมายังไง บางทีเขาก็นึกว่า วิธีที่เขาโตมาเป็นวิธีที่จะส่งมอบวิธีการโตของเขาให้คนอื่นเช่นกัน เขาไม่รู้ว่าบริบทครอบครัวมันคนละอย่างกัน
เราอยากให้เขาลองคิดว่า สิ่งที่คิดว่าดี สิ่งที่เขาโตมา มันเหมาะกับการเติบโตของคนอื่นไหม ซึ่งถ้าตั้งคำถามนี้ก่อน เราคิดว่าจะเข้าหากันได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าการเติบโตของเขาไม่ดี แต่มันก็ไม่ใช่การเอาสิ่งนี้เข้าไปให้อีกคนทันที
หลายคนเข้าใจว่า มาตรฐานการศึกษาต้องเหมือนกันหมด จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกัน มีความรู้เหมือนกัน ยกระดับไปเหมือนกัน มุมมองที่มันสะท้อนกันว่าโรงเรียนมันคนละมาตรฐานมันเกิดจากมุมมองนี้ แต่มาตรฐานการศึกษามันไม่ได้หมายความแบบนั้น ถ้าเราไปศึกษาหลักสูตรแกนกลางดีๆ ก็จะเห็นว่ามันมีมาตรฐานคุณภาพอยู่
แล้วทำไมโฮมสคูลถึงไม่เจอปัญหานี้?
ธรรณพร: การทำโฮมสคูลจะจัดหลักสูตรที่เรียกว่า กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เราสามารถสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ไปสู่การค้นพบคุณภาพและศักยภาพ เพื่อสะท้อนมาตรฐานตรงนั้นเองได้ แต่การศึกษาในโรงเรียนจะไปหยิบเอาตัวชี้วัดแสดงคุณภาพตรงนั้น กลับมาให้เป็นคอนเทนต์ กลับมาเป็นทักษะให้เด็ก ทำเพื่อให้เด็กไปถึงตัวชี้วัดนั้น ซึ่งอันนี้ยากมาก แล้วเรากำลังทำสิ่งที่ยากทั้งๆ ที่เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ง่ายมาก
เราคิดว่ามันค่อนข้างละเมิดสิทธิเด็กพอสมควร เพราะเด็กถูกกดทับจากโครงสร้างการบริหารจัดการที่ทำให้เขาไม่สามารถเติบโตหรือมีความภาคภูมิใจในตัวเองได้ เรื่องนี้สำคัญมาก การศึกษาควรจะเคารพสิทธิเด็กด้วย
อย่างการจะเล่นกีฬา ถ้าเด็กๆ ไปซ้อมกีฬามากเกินไปแล้วไม่ได้เข้าเรียน ก็จะถูกตัดเวลาเรียน ทำให้เวลาเรียนไม่พอ จนสุดท้ายต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ออกจากระบบโรงเรียนไป แต่ถ้าเป็นโฮมสคูล การเล่นกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเรียนรู้ การเล่นกีฬาสร้างคุณภาพการเรียนรู้ซึ่งเอากลับมาประเมินผลได้ และยังเอาไปเชื่อมกับองค์ความรู้อื่นๆ ได้อีก เพราะทุกอย่างมันเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด
แต่ว่าถ้าเราถูกบล็อกด้วยวิธีการเรียนแบบโรงเรียน เด็กมีความรู้ แต่โรงเรียนไม่ประเมิน ก็กลายเป็นอยู่นอกกรอบ เด็กจะไม่ได้เติบโตอย่างภาคภูมิใจแล้วก็ไม่มีความสุข
แล้วการทำโฮมสคูลต้องใช้เงินเยอะจริงไหม?
ธรรณพร: บอกไม่ได้ว่าใช้เงินเยอะหรือน้อย เพราะมันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบ้าน แต่การทำโฮมสคูลต้องขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของเรา ถ้าลูกสนใจอะไรก็ต้องมาคุยกันว่า เราสามารถสนับสนุนเขาในเรื่องนั้นๆ ได้ไหม ซึ่งก็จะทำให้เด็กๆ วิเคราะห์ตัวเองไปได้ด้วยว่า เขาสามารถเลือกทำอะไรได้บ้าง
หรือสมมติ บางบ้านบอกว่าอยากให้เด็กอ่านหนังสือ แต่ที่บ้านไม่มีให้ ก็สามารถไปห้องสมุดชุมชน ไปห้องสมุดตรงนั้นตรงนี้ได้ มันสามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับเศรษฐานะของครอบครัวได้
วรวัส: หรืออาจจะพูดได้ว่า ใช้เงินเยอะก็ได้ถ้าอยากเหมือนคนอื่นๆ เพราะบางคนอาจจะคิดว่า บ้านฉันจัดการศึกษาไม่ได้หรอก มันจะต้องมีหลักสูตร คิดเหมือนกับว่าจะต้องส่งลูกไปโรงเรียนที่ดี บ้านฉันถ้าจะจัดเอง ก็ต้องจัดให้ดี ซึ่งไม่ผิดที่คิดแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้ว มนุษย์เราก็ต้องกลับมาหาทรัพย์สินของเราจริงๆ อันนี้ไม่ได้พูดเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นต้นทุนเชิงการเรียนรู้ว่าเราเห็นสิ่งที่อยู่แวดล้อมของเรา เอามาทำเป็นเรื่องการเรียนรู้ได้เยอะขนาดไหน เพราะงั้นคำถามแรกที่ต้องถามพ่อแม่ที่อยากทำโฮมสคูลก็คือ เห็นสิ่งรอบตัวอย่าง ดิน น้ำ ป่ารอบบ้าน รวมถึงแหล่งเรียนรู้ ห้องสมุดชุมชน มาเป็นต้นทุนการเรียนรู้ของลูกได้ไหม
ส่วนเรื่องค่าเสียโอกาส มองว่าอาจจะต้องดูว่า พ่อแม่อยู่ในจุดไหน มองเส้นทางตัวเองแบบไหน มองว่าการเติบโตไปพร้อมกับลูกเป็นโอกาส หรือมองว่าคุณจะเสียประโยชน์บางอย่างจากเป้าหมายชีวิตเรื่องอื่น ถึงบอกว่ามันเชื่อมกับความพึงพอใจในการเลือกใช้ชีวิตของแต่ละบ้านด้วย
แล้วถ้าเด็กมีทรัพยากรรอบตัวน้อยล่ะ?
ธรรณพร: ก็มีหลายบ้านที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะดี พ่อแม่ก็ถึงขนาดไม่มีอาชีพหลักด้วย แต่รู้ว่าการไปโรงเรียนก็จะเป็นภาระมากขึ้นกว่า เด็กเขาก็เติบโตและรู้ดีว่า ตัวเองและครอบครัวต้องเติบโต มีการสร้างสัมพันธ์ยังไง แล้วเด็กร่วมเรียนรู้ และช่วยหาของมาขาย ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างนึง ก็เป็นกระบวนการช่วยเหลือครอบครัว และเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองไปด้วย
วรวัส: แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกบ้านจะทำโฮมสคูลได้ แต่ละบ้านก็จะมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ต้องดูด้วยว่า เรามองเห็นต้นทุนในการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมของเราไหม ซึ่งแต่ละบ้านก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกันออกไปด้วย
ธรรณพร: จริงๆ ต้องบอกว่า มันเป็นสิทธิครอบครัวที่อยู่ในกติกาสากลระหว่างประเทศ ทั้งสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของเด็ก แล้วก็มันอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ วัฒนธรรมสังคมที่กำหนดว่า พ่อแม่เป็นบุคคลเบื้องต้นในการให้การศึกษาที่เหมาะสมกับลูก ถ้ารัฐไม่มีการศึกษาที่เหมาะสมให้กับเด็ก พ่อแม่สามารถเปิดสถานศึกษาเองได้ โดยที่มีข้อกำหนดว่า สถานศึกษานั้นต้องเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยรัฐจะมากำกับดูแลเฉพาะเกณฑ์ขั้นต่ำของหลักสูตรที่รัฐกำหนด
การศึกษาก็มีอีกหลายรูปแบบที่ประเทศไทยยังไม่ได้ระบุอีก มันมีส่วนที่จะช่วยสร้างและพัฒนาคนได้จริง ไม่ใช่ทุกคนต้องเข้า track เดียวกันหมด แล้วถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็กลายเป็นความล้มเหลวหรืออะไรอย่างนั้น เพราะงั้นกลไกของสังคมต้องไปสนับสนุนการศึกษา รูปแบบ ทุกช่วงอายุของคน ให้คนสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา ซึ่งโฮมสคูลก็เป็นรูปแบบการศึกษาแบบหนึ่ง
ในอนาคตมีแนวทางโฮมสคูลที่อยากเห็นไหม
ธรรณพร: ถ้าในภาพของกระบวนการแล้ว เราอยากเห็นอะไรไม่ได้ นอกจากให้มันพัฒนาไป ส่วนสิ่งที่เราอยากเห็น คือการที่มีเครื่องมือที่ซัพพอร์ทการทำโฮมสคูลได้มากขึ้น ขยายฐานคนที่มีองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มที่ต้องการทำโฮมสคูลได้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วก็ถูกต้องตามหลักวิชาการ
วรวัส: หรือจริงๆ อีกหน่อยมันไม่ต้องมีโฮมสคูลก็ได้นะ ถ้าโรงเรียนดีจริงๆ ถ้าระบบการศึกษามันเปิดจริงๆ ทุกวันนี้ ติดแค่วิธีบริหารจัดการที่เป็นโมเดล 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเราก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด โดยไม่เคยตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วมันจำเป็นต้อง 5 วันไหม หรือแค่ 2 วันก็พอไหม ทั้งหมดมันเป็นที่การจัดการ ถ้าอีกหน่อยระบบการศึกษามันสามารถรองรับความหลากหลายได้มากพอ มันไม่ต้องมีโฮมสคูลก็ได้
ตอนนี้มันเหมือนถูกบีบให้ต้องเลือกชอยส์ว่าจะไปเรียน 5 วันหรือไม่ไป พอถูกบีบให้ต้องเลือกชอยส์มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า โรงเรียนรัฐ โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนเอกชน เราอยากเห็นโครงสร้างรัฐที่มันเห็นทุกคนอยู่ในนั้น ไม่ใช่มาแบ่งว่าอันนี้ทำไม่ได้ ก็แบ่งให้ไปเรียนเอกชนทำแทน ทุกวันนี้มันเหมือนเป็นรัฐสัมปทาน ทั้งที่จริงคือ รัฐควรจะมอนิเตอร์ทั้งหมด
พอเป็นการแบ่งแยกด้วยรูปแบบและประเภทของการศึกษา เลยทำให้มีการปฏิบัติที่แตกต่าง แต่มันต้องมีระบบการศึกษาที่รองรับบริบทของเด็กซึ่งมีความแตกต่างทั้งทางศักยภาพ และบริบทที่เสริมความต้องการและความพร้อม ให้เด็กทุกคนมีโอกาส และมีพื้นที่การเติบโตอย่างมีความสุข เราอยากให้การศึกษาไปถึงตรงนั้น
ช่วงนี้คนเริ่มมาสนใจโฮมสคูล หลังจาก COVID-19 มากขึ้น คิดว่ามันจะเป็น new normal ของการศึกษาได้ไหม?
วรวัส: เราว่ามันชั่วคราว เพราะเดี๋ยวทุกคนก็พร้อมจะกลับไปเรียนที่โรงเรียนเหมือนเดิม ช่วงปิดเรียน พ่อแม่ต้องปรับตัวกันเยอะมาก บางคนก็ทำได้ บางคนทำไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจจะตื่นเต้น แต่เรามองว่า สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัวมากกว่า ทุกวันนี้ คนก็รอจะกระโจนกลับไปหาความสัมพันธ์แบบเดิมแล้ว
เผลอๆ หลังจากนี้ โรงเรียนอาจจะทำงานหนักขึ้นก็ได้ เพราะงั้นจะถือว่าเป็น new normal ไหม เราไม่คิดว่ามีนัยยะสำคัญขนาดนั้น แต่ว่าเป็นพาร์ทที่ทำให้คนในระบบต้องปรับตัว ซึ่งอาจจะทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้นก็ได้
แต่ก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้าระบบยังจัดการแบบศูนย์รวมอำนาจอย่างนี้ ทุกอย่างจะต้องทำตาม สพฐ.ในระยะเวลานี้ โดยที่เราไม่สามารถยอมรับวิธีคิด วิธีการเรียนรู้เด็กๆ ที่อยู่ที่บ้านให้ออกมาเป็นผลการเรียนในโรงเรียนได้ ทั้งที่ความจริงคุณสามารถมอบหมายโปรเจกต์ไปที่บ้าน หรือคุยกับครู กับชุมชน ครอบครัว ว่าเขาพร้อมที่จะทำอะไร แล้วพอโรงเรียนเปิดก็ค่อยเอาเรื่องพวกนี้กลับมาเป็นผลการเรียนรู้ เอามาแชร์กัน แล้วตีกลับเข้ามาในหลักสูตร แต่ตอนนี้เขาไม่ได้ทำแบบนั้น เขาถูกทำให้ทุกอย่างมันส่งตรงมาจากส่วนกลาง แล้วก็ให้เด็กไปเรียนออนไลน์ ด้วยชั่วโมงเรียนที่เท่าเดิม ซึ่งขนาดผู้ใหญ่ประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom ในเวลา 2 ชั่วโมงยังจะตายเลย
อีกอย่างคือ เทคโนโลยีอาจจะช่วยเหลือให้เด็กในเมืองได้ แต่สำหรับในชนบท บางครอบครัวอินเทอร์เน็ตไม่มา สัญญาณไม่ถึง หรือครอบครัวเองไม่พร้อมก็มีเยอะมาก
หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็น new normal แต่ถ้าเราสังเกตุดีๆ ชีวิตของชุมชนแออัด เช่น คลองเตย ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย จริงๆ มองว่ามันคุยแค่เรื่องการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ปัจจัยเรื่องครอบครัวมันมีเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอื่นๆ มาเกี่ยวด้วย