“ถ้าการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ให้ความสำคัญและไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่ส่งเสริมให้คนคิด มันก็จะมาสู่การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับแนวความคิดทางการศึกษา แนวความคิดในการสร้างคน ในศตวรรษที่ 21”
ใครๆ ก็อยากให้ประเทศมีระบบการศึกษาที่ดี ก้าวหน้า เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพกันทั้งนั้น แต่การศึกษาที่มีคุณภาพนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากขาดการฟังเสียงประชาชน?
ทั้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับกฤษฎีกาที่กำลังจะเข้าสู่สภา โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาอีก 2 ฉบับ ที่มีที่มาจากประชาชนและพรรคฝ่ายค้านถูกคว่ำไปแล้ว และการจัดการศึกษาในวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้เด็กจำนวนมหาศาลต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ล้วนเกี่ยวโยงกับระบบการเมืองในปัจจุบันอย่างแยกจากกันไม่ขาด
The MATTER พูดคุยกับ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงปัญหาสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ อำนาจนิยมที่ยังคงอยู่ และการจัดการศึกษาในช่วง COVID-19 ระบาดหนัก เพื่อฟังความเห็นและทำความเข้าใจว่า สภาพการเมืองมีผลต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาอย่างไร
มอง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่กำลังจะเข้าไปพิจารณากันในสภาว่าอย่างไรบ้าง
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ นี้ต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วก็ รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ที่ให้มี คณะกรรมการอิสระขึ้นมาออกแบบเรื่องการศึกษา แต่ว่าจริงๆ เขาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแค่บางด้าน แล้วต่อมาก็พัฒนามาเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและมีปัญหา ข้อดีคือมีความพยายามที่จะทำบางเรื่อง เช่น ส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการให้มีสถาบันเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนรู้ เรื่องการประเมินครูตามผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ความพยายามที่จะกระจายอำนาจ หรือให้ความเป็นอิสระแก่โรงเรียน อันนี้ถือเป็นความตั้งใจที่ดี
แต่ว่าส่วนที่มีปัญหา คือ การบัญญัติกฎหมายบางเรื่องก็ครอบคลุมลงไปในรายละเอียดอย่างมาก บางเรื่องก็พูดไว้กว้างๆ อย่างการบริหารบุคคลอาจจะพูดไว้กว้าง แต่หลายเรื่องลงรายละเอียดมาก แล้วรายละเอียดเหล่านั้นเป็นเรื่องในทางบริหาร ในทางเทคนิค เช่น การจัดการเรียนการสอน การกำหนดสมรรถนะของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งกำหนดไว้อย่างละเอียดเกินไป
อย่างเรื่องการกำหนดสมรรถนะว่าคนในวัยไหน ควรจะมีคุณลักษณะยังไง ก็อาจจะผิดได้ และพอเป็นกฎหมายแล้ว ก็แก้ไขปรับปรุงยาก แล้วเรื่องในทางบริหาร เรื่องที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ เช่น ทักษะของเด็กในปี 2015 กับปี 2020 แค่ 2 ช่วงนี้ 5 ปีเท่านั้น ที่ทั่วโลกเขาคิดกันซึ่งก็เปลี่ยนไป แต่พอเราไปบัญญัติในกฎหมาย จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำตามปฏิบัติตาม แต่เวลาแก้ก็จะแก้ยาก
ทำไมถึงแก้ได้ยาก?
กฎหมายครั้งนี้ เป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งตามระบบรัฐธรรมนูญปัจจุบันต้องให้สภาสองสภาร่วมกันพิจารณา โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นหลัก มีอำนาจค่อนข้างมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะงั้นก็จะกลายเป็นการออกแบบระบบการจัดการศึกษาทั้งหมด โดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจจริงๆ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย กลายเป็นว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย อยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็แก้ยาก ฝ่ายบริหาร ก็แก้ยาก คนจัดการศึกษาที่อยากจะแก้ ก็แก้ยาก
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาที่มากๆ คือ การไปรับรองคำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกไว้ เช่น ระบบบริหารในภูมิภาคที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในแต่ละจังหวัด การเปลี่ยนจาก super board ที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยตั้งไว้ โดยคำสั่ง คสช.มาเป็นคณะกรรมการที่นายกฯ เป็นประธาน การโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูป ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
พอโยงเข้ายุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องล้าหลังและปรับยาก เพราะงั้น การออกกฎหมายลักษณะนี้ มีความเสี่ยงมากที่จะทำให้เกิดความยุ่งยาก สับสน โกลาหลไปหมดในการจัดการศึกษา แล้วเรายังไม่รู้ด้วยว่า พอเข้าไปในสภาแล้ว สองสภาจะร่วมกันพิจารณาตั้งกรรมาธิการมาแล้วจะพิจารณาไปยังไง จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปอีกยังไงก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เรื่องจำนวนมากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เป็นเรื่องของฝ่ายจัดการศึกษา แต่เราเอาฝ่ายนิติบัญญัติที่กำลังสำคัญไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาเป็นผู้กำหนด พอกำหนดไปแล้ว ต่อไปฝ่ายบริหาร จะเป็นข้าราชการประจำ หรือเป็นรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง หรือนักการศึกษาต้องการจะแก้ไขปรับปรุง จะทำยาก เมื่อเป็นปัญหามากๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะแก้กันยังไง แนวโน้มคือจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการศึกษาอย่างมาก
ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษานี้ มีเขียนว่า ต้องจัดการศึกษาให้ยึดโยงกับแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติด้วย ถ้าอย่างนี้แล้ว การศึกษาจะเป็นยังไง
ยุทศาสตร์ชาติ อาจไม่ได้พูดเรื่องการศึกษามากนัก ส่วนแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็จะต้องมีแผนปฏิรูปในด้านการศึกษา แต่แผนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แผนปฏิรูปประเทศไม่ได้คืบหน้าไปไหน เพราะฉะนั้น พอไปบอกว่าต้องสอดคล้องกันหมด ก็กลายเป็นไปสอดคล้องกับอะไรที่ว่างเปล่า แล้วก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ ทำให้ยุ่งยากมาก ร่าง พ.ร.บ.ก็ยุ่งยากอยู่แล้ว แล้วยังไปโยงกับแผนปฏิรูปซึ่งอาจจะมีปัญหามากขึ้นไปอีก และตามกฎหมายแบบนี้ ตามระบบ ตามรัฐธรรมนูญแบบนี้ การจัดการศึกษาก็จะต้องไปสอดคล้องกับแผนปฏิรูปด้านการศึกษา เพราะงั้น เรียกว่า ปัญหาประดังทับซ้อนกันมาก
กลายเป็นว่า นี่จะเป็นการจัดการศึกษาที่ล้าหลัง ไม่ทันโลก ไม่ตรงกับ ปัญหาของประเทศ และที่สำคัญมันจะไปจำกัดการพัฒนาคน ตั้งแต่เด็กเล็ก ปฐมวัย ไปจนถึงอุดมศึกษา แล้วจริงๆ ก็ไปถึงการศึกษาตลอดชีวิตด้วยซ้ำ ทั้งระบบจะเสียโอกาส ก็คือ คนของเราจะไม่ได้พัฒนาเต็มศักยภาพ เพราะระบบผิดหมด
ไม่นับเรื่องการไม่ได้ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความทันสมัยอย่างสมรรถนะ เขาก็จะไม่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเท่าไหร่ รวมถึง เรื่องเสรีภาพ การที่คนจะพัฒนาเต็มศักยภาพ ต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางความคิด แต่เรื่องนี้ก็ไม่เน้น
ที่ไปเน้นคือ บัญญัติ 12 ประการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีให้กับกระทรวงศึกษาธิการ แล้วยังบวกด้วยคุณลักษณะซึ่งจะเอาค่านิยม ความคิดทางการเมืองใส่เข้าไปในนั้นอย่างมาก ก็ไปจำกัดเสรีภาพทางความคิด การพัฒนาคนที่ไม่ตรงกับโลกสมัยใหม่ นี่คือการบัญญัติสมรรถนะ โดยไม่คำนึงเรื่องโลกสมัยใหม่ว่าเขาต้องการสกิลแบบไหน ต้องการคนไปทำอาชีพแบบไหน
พอไปเขียนในรายละเอียดอยู่ในกฎหมาย แล้วเดี๋ยวยังจะไปยำกันอยู่ในสองสภา ถ้ามีปัญหามากๆ คราวนี้ผู้จัดการศึกษาทั้งหลาย ไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หรือรัฐมนตรีอุดมศึกษา จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้แล้ว เพราะมีรายละเอียดอยู่ในกฎหมายไปแล้ว การจัดการศึกษาก็จะมีปัญหามาก
การจัดการศึกษาที่ล้าหลังอยู่แล้ว ปรับตัวช้า ปรับตัวน้อย มีปัญหาในด้านสำคัญๆ ทั้งหลายอยู่แล้ว ทำให้คุณภาพการศึกษาของเราต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็จะเป็นปัญหาต่อไปแน่ๆ ซึ่งผมดูแล้วยากมากที่จะมีคนมารื้อให้กลับมาถูกต้องได้ เพราะว่าเขาก็จะโยงมากับแนวความคิดตามรัฐธรรมนูญ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามแผนปฏิรูป
จากที่อ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษามา มีคีย์เวิร์ดไหนที่รู้สึกสะดุดตาเป็นพิเศษไหม
คำว่า super board คณะกรรมการที่นายกฯ เป็นประธาน แล้วมีปลัดกระทรวงต่างๆ มาเต็มหมด แล้วก็มีฝ่ายสภาการศึกษา ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนการศึกษา เป็นวิวัฒนาการของ super board ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งไว้ และพิสูจน์ไปแล้วว่า มันไม่ได้ผลอะไรเลย คราวนี้พอมาทำอย่างนี้ ในฐานะที่ผมเคยเป็นรองนายกฯ กำกับสภาการศึกษา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นเลยว่า คณะกรรมการแบบนี้ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็จะลำบาก ทำอะไรได้ยากมาก แล้วถูกกำกับโดยคณะกรรมการที่ไม่มีเวลา ซึ่งหลายคนก็ไม่มีความรู้เรื่องการศึกษา นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก
ถ้าพูดตรงๆ หลายเรื่องก็ตรงกับที่ผมเคยเสนอนะ เช่น สถาบันหลักสูตรการเรียนรู้ การอุดหนุนโรงเรียนโดยคำนึงถึงความเป็นโรงเรียน ไม่ใช่คำนึงต่อหัว เพื่อให้โรงเรียนเล็กๆ อยู่ได้ ส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชน แต่ปัญหาคือ มันควรเขียนอยู่ใน พ.ร.บ.หรือไม่ เพราะว่าความคิดที่ว่าดีอาจจะเหมาะสมแค่ชั่วขณะ ไปอีกระยะอาจจะไม่เหมาะสมแล้ว เราต้องเปลี่ยนอีก พอถึงตอนนั้นจะยาก เพราะเราไปเขียนไว้ในรูปของกฎหมาย จริงๆ พ.ร.บ.ไม่ควรลงรายละเอียดแบบมากขนาดนี้ แล้วอันนี้คือ อาจจะมีเจตนาดีเรื่องไหนก็เขียน เรื่องไหนสนใจมากหน่อยก็เขียนลงไป เรื่องไหนไม่ได้สนใจทั้งๆ ที่ก็สำคัญ ก็จะไม่ได้เขียนรายละเอียด กลายเป็นความลักลั่น
แต่ที่สำคัญคือ มันเอาเรื่องที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนักการศึกษาควรจะไปคิดในรายละเอียดแล้วเปิดช่อง สังคมต้องเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องผู้มีความรู้ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคเอกชน ธุรกิจต่างๆ ภาคประชาสังคมที่เขาสนใจเรื่องการศึกษา ต้องมาร่วมคิด แต่พอไปเป็นเรื่องกฎหมายแบบนี้ มันไม่ได้แล้ว
อีกคำคือ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และที่เห็นเป็นปัญหามากๆ นอกเหนือจากนั้นคือ การกำหนดอะไรที่ค่อนข้างอนุรักษ์ไป ความคิดที่จะส่งเสริมความคิดที่เป็นอิสระ สร้างสรรค์ เสรีภาพ หรือไอเดียใหม่ๆ สะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นี้น้อยเกินไป
ในเรื่องของการเป็นพลเมืองโลก ต้องเสริมอย่างไร ให้เด็กเป็นพลเมืองโลกได้จริง
ถ้าถึงขั้นว่ากำหนดการศึกษาเพื่อให้คนไทยทุกคนมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองของโลก เรื่องใหญ่มาก การจะไปถึงขั้นนั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่หรือเปล่า แต่การรับรู้โลกกว้าง รับรู้ว่าโลกเขาไปถึงไหน อันนี้สำคัญ รับรู้ว่าเขาต้องการสกิลทักษะแบบไหน อาชีพแบบไหน แล้วการจัดการการเรียนการสอนในโลกนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว อันนี้ในร่าง พ.ร.บ.อาจจะกำหนดไม่ชัดเจนนัก
จริงๆ เรื่องการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ การเข้าถึงความรู้มันง่ายมาก แต่ก็ไม่เท่าเทียมกัน คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ไม่มี wi-fi เขาก็เข้าไม่ถึง แต่ถ้าเข้าถึงได้แล้ว การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนไปยังไง อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยจะต้องปรับ จะต้องมาจัดการกันใหม่ คำถามคือ จะเขียนยังไงในเชิงหลักการเพื่อเปิดทางและเปิดช่องให้ส่งเสริมการเรียนการสอนแบบนี้ได้ แล้วให้นักการศึกษา ให้คนในวงการศึกษาทั้งครู ทั้งนักเรียนไปร่วมกันคิด แต่ไม่ใช่ไปกำหนดอะไรจนตายตัวอยู่ในกฎหมายไปจนหมด
คิดว่าสภาพการเมืองส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการศึกษายังไง
การออกกฎหมายควรจะต้องรับฟังความเห็นประชาชน ก็เป็นหลักการที่ดี โดยระบบรัฐสภามีพรรคการเมืองแล้วก็มี ส.ส.ซึ่งเขาจะต้องพูดจากับประชาชนอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งต้องนำเสนอในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง แล้วเขาก็ต้องแลงเป็นนโยบายต่อสภา พรรคการเมืองก็เสนอไว้ ก็เป็นระบบแบบหนึ่งที่ประชาชนจะไปเสนอต่อพรรคการเมือง ต่อนักการเมือง
แต่ระบบที่เราใช้ ที่เป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ อันนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง มาจากคำสั่ง คสช.ให้มี super board ให้มีอะไรแก้ไขเข้าไปในกระทรวงศึกษาหลายเรื่อง คำสั่งเหล่านี้ที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ที่มีอยู่ในขณะนั้น ก็มีสถานะเป็น พ.ร.บ.ไปแล้ว ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ก็จะมีเรื่องว่าด้วยการมีคณะกรรการมาปฏิรูปการศึกษาในบางด้าน แต่เขาก็พัฒนาไปเป็นการร่างกฎหมาย ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องและไม่ได้มีระบบที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน คือไม่ต้องมาฟังเสียงว่า ถ้าทำแล้วประชาชนไม่ชอบ เดี๋ยวไม่เลือกเขาอีก ไม่มีแบบนี้ เขาทำแล้วเขาก็ไป ออกแบบไว้แล้วก็ส่งต่อมาจนมาเป็นร่างที่กระทรวงศึกษาฯ ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบ ส่งไปกฤษฎีกา ส่งเข้า ครม.กลับไปกลับมา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาจริงๆ ไม่มีหน้าที่พิจารณาในเชิงนโยบายเลย แต่ก็เอากฤษฎีกามาช่วยคิดในเรื่องเชิงนโยบาย ก็ผิดฝาผิดตัวไปหมด
ทีนี้ เรากำลังพูดถึงกฎหมายซึ่งมีที่มาที่ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยอย่างยิ่ง แล้วกำลังจะเข้าไปสู่สภา ที่พอเป็นกฎหมายปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องพิจารณาในสองสภาร่วมกันนะ ไม่ใช่กฎหมายปกติ คือในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎร แล้วส่งไปวุฒิสภา จากนั้นจะมีการคานกันไป ซึ่งสุดท้ายสภาผู้แทนจะเป็นตัวตัดสิน แต่ ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าไปพิจารณาร่วมกัน ตั้งคณะกรรมการร่วม พอเป็นคณะกรรมการร่วมไปดูแล้ว คนที่มีอำนาจจริงๆ คือ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนเลย เพราะงั้น โดยระบบทั้งหมดจึงเป็นระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง แล้วมาจัดการกับการจัดการศึกษาของคนทั้งประเทศ โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่จะได้รับผลประทบมากที่สุด
วัฒนธรรมที่รวบไว้ศูนย์กลาง สะท้อนออกมาในการศึกษายังไง
ในระยะใกล้ การมีการบริหารในส่วนภูมิภาคที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของกระทรวงศึกษาคือ โรงเรียนแต่ละโรงเรียนรับคำสั่งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือจากกระทรวง ปีนึงเป็นพันๆ ฉบับ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ส่วนกลางสั่งการไป แล้วพอมาบวกเข้ากับ คสช.ซึ่งรวบอำนาจเข้ามาเป็น super board เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่เขาไม่ถนัดเรื่องการศึกษา ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาแต่มาเป็นประธาน แล้วร่าง พ.ร.บ.นี้ก็มารับรองระบบนี้อีก ก็กลายเป็นวัฒนธรรมรวมศูนย์อำนาจ บัญชาการสั่งการ ผู้ว่าก็ฟังรัฐมนตรีมหาดไทย ไม่ฟัง รัฐมนตรีศึกษาฯ หรอก
แปลว่า แทนที่เราจะลดการสั่งจากส่วนกลาง กลายเป็นกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดอะไรไปหมด ถึงจะมีส่วนดีเรื่องความเป็นอิสระของโรงเรียน แต่ถ้าไปดูรายละเอียดก็จะไม่เข้าใจว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีอิสระในการจัดการเรียน จัดวิธีการเกี่ยวกับการเรียนการสอนแค่ไหน ซึ่งมันคงโกลาหลมากถ้าแต่ละโรงเรียนจะคิดกันเองว่าจัดการเรียนการสอนยังไง ไม่มีแนวตรงส่วนกลาง
เพราะฉะนั้น จึงคล้ายๆ กับว่า คิดเรื่องไหนได้ก็ใส่ๆ เข้าไป แต่ภาพรวมยังไม่ชัดเจน แล้วก็จะไม่แก้ไขวัฒนธรรมที่ตอกย้ำวัฒนธรรมรวมศูนย์อำนาจซึ่งจะมากขึ้นอีก
ปฏิรูปการศึกษา เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยมาก แล้วที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างไร
ใน 10 กว่าปีมานี้ ยังไม่มีการปฏิรูปการศึกษา ใน 7-8 ปีนี้ กลับทำให้ระบบการศึกษายิ่งล้าหลัง และต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และที่กำลังทำอยู่นี้ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง
การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญเอาตัวตั้งมาจากว่า โลกเขาไปถึงไหน การร่วมมือระหว่างประเทศ การแข่งขันระหว่างประเทศเป็นยังไง ประเทศเราอยู่ตรงไหน เราจะต้องสร้างคนของเรายังไง ทั้งในแง่อยู่ในโลกได้ แล้วก็อยู่ในประเทศเราได้อย่างมีความสุข มีคุณค่า มีค่านิยม
แล้วก็ต้องมาดูว่า การเรียนการสอนเราเป็นยังไง คุณภาพเป็นยังไง ความเหลื่อมล้ำเป็นยังไง ถ้าจะเปลี่ยนต้องดูที่หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเพราะโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มาก วิธีเรียนต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่ให้จำ ไม่ใช่เอาความรู้ไปยัดใส่สมองเด็ก ต้องส่งเสริมให้เขาหาข้อมูลเองได้ ส่งเสริมให้รู้ว่าจะใช้ความรู้จากข้อมูลข่าวสารยังไง เรื่องการประเมินผลก็ต้องเปลี่ยน รวมถึงเรื่องการพัฒนาครูด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องปฏิรูป และต้องทำไปพร้อมๆ กัน
ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา 2 สมัย ก็ตั้งใจจะทำ มีแผนกำหนดแนวทางในการปฏิรูปแล้ว แต่พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็ยุบสภา โดนยึดอำนาจ 2 ครั้งเหมือนกันเลย แล้วพอมายึดอำนาจครั้งหลัง เขาก็มีคณะกรรมการที่คิดเรื่องการปฏิรูป คิดมาเรื่อยๆ จนออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.นี้แหละ ก่อนหน้านั้นก็ไม่มีอะไร นอกจาก คำสั่ง คสช.ที่รวบอำนาจเข้ามา ไปสร้างวัฒนธรรมทางอำนาจ
แล้วสิ่งที่ทำก็คือ ไปลดเวลาเรียนโน่นนี่ แต่ไม่แก้หลักสูตร แทนที่จะส่งเสริมการเรียนอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีที่จะเลียนแบบจากอินเทอร์เน็ต สมาร์ทคลาสรูม เปลี่ยนมาเป็นเรียนจากทีวีทางไกลซึ่งเป็นประโยชน์น้อยมาก ก็กลายเป็นว่ามันเปลี่ยนเรื่องการสอบไปแบบไม่มีทิศทาง
อย่างในร่าง พ.ร.บ.การศึกษานี้ ก็มีเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกัน แต่เขาใช้คำกว้างๆ ว่า ห้ามออกข้อสอบเกินหลักสูตรที่เรียน ซึ่งเอาจริงๆ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหามากกว่านั้นอีก แล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยเป็นระบบที่การคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่ธรรม โดยเฉพาะกับคนจนซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ไม่มีปัญญาจะไปตระเวนสอบ แล้วยังต้องกวดวิชา ซึ่งคนจนไม่มีสิทธิ์เลย ดังนั้น ในระบบคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย คนจนจึงไม่มีสิทธิ์
เสร็จแล้วยังทำลายระบบการเรียนการสอนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะไม่สนใจการเรียนในระบบ จะสนใจว่า จะทำยังไงถึงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งก็ต้องส่งลูกไปกวดวิชา ส่งลูกไปตระเวนสอบทั่วประเทศ ใน 5-7 ปีมานี้ ก็ยังไม่แก้สิ่งเหล่านี้ นี่แปลว่า ใน 10 กว่าปีมานี้ เราเสียโอกาสในการที่ไม่ได้ปฏิรูปการศึกษาเลย
ในปัจจุบัน มีกระแสการเคลื่อนไหวจากเด็กและเยาวชนมาเยอะมาก มองกระแสการเคลื่อนไหวนี้ยังไงบ้าง
ก็เป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย ที่เขาเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างกาย การแต่งตัว สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการลดระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ในสถานศึกษา แล้วความจริงเขาก็เสนอเรื่องปฏิรูปการศึกษาด้วย เพราะโยงกับคำพูดที่ว่า ประเทศนี้ไม่มีอนาคตสำหรับเด็กเยาวชน เพียงแต่ว่า อันหลังเขาไม่ได้เสนอสาระสำคัญว่าจะมีอะไรบ้าง
แต่ก็สะท้อนว่า ประเทศไทยในปัจจุบันล้าหลังมาก เด็กและเยาวชนมองไปข้างหน้าเขาไม่เห็นอนาคต ที่จบไปรุ่นก่อนก็ตกงานหลายแสนคน ที่กำลังจะจบ ก็ทยอยออกไป ยิ่งไม่มีอนาคต ซึ่งปัญหานี้เชื่อมโยงกับระบบการศึกษาที่พวกเขาเผชิญอยู่
ทีนี้ ที่บอกว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย คือเยาวชนรุ่นนี้เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องราวทางสังคม เรื่องของบ้านเมือง ในระหว่างที่ประเทศเป็นเผด็จการ ยึดอำนาจ 2 รอบ รอบหลัง 5 ปี เต็มๆ ซึ่งยาวนานมาก เขาเจอกับระบบอำนาจนิยมที่เข้มข้นมากขึ้น เขาเจอกับบทบัญญัติ 12 ประการซึ่งล้าหลัง มันไม่มีทางทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ แล้วระบบเผด็จการมันก็ส่งเสริมระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน
ความจริงเรื่องแก้ระเบียบการแต่งกาย ก็มีมาตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนแล้ว แต่ช่วงหลังมันแหลมคมขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้โลกกว้าง ได้เห็นว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เพราะงั้น ข้อเสนอเหล่านี้ ถ้าทำความเข้าใจดีๆ ก็เป็นเรื่องของยุคสมัย เป็นเรื่องของความเป็นจริง ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็กเยาวชน ทั้งในปัจจุบัน และสิ่งที่เขามองว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าคุณยังดำรงตำแหน่งอยู่ แล้วเด็กออกมาเรียกร้องแบบนี้ จะทำยังไงบ้าง
ถ้ามาเจอกับ พ.ร.บ.การศึกษานี้ ผมคงรีบจับรื้อเสียก่อน ไม่ใช่ให้เอาไปยำกันในกฤษฎีกา แล้วจะเข้าไปในสภาแบบนี้ ไม่ได้ ต้องรื้อใหม่เท่าที่จะทำได้ ไม่งั้นรัฐมนตรีศึกษาฯ จะทำอะไรไม่ได้เลย จะไปติดที่กฎหมายแบบนี้ แล้วก็รีบปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ที่พูดกันไปแล้ว หลักสูตร การเรียนการสอน การประเมิน ทดสอบ เรื่องการสร้างการพัฒนาครู เพื่อให้สามารถรับกับการเรียนการสอนแบบใหม่ได้
เรื่องสิทธิเสรีภาพ ต้องส่งเสริมให้มีการพูดจากัน เปิดโอกาสให้หลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เขาเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ และไม่สามารถไปสั่งว่า ต้องมีเสรีภาพ ต้องส่งเสริมเสรีภาพได้ เพราะไม่รู้ว่าบุคลากรทางการศึกษาเราจะเข้าใจแค่ไหน ต้องใช้การสร้างความเข้าใจกัน
ส่วนการใช้อำนาจ การไปละเมิดสิทธิของเด็ก เยาวชน ต่อร่างกาย ต่อการแต่งกาย ไปกล้อนผม อันนี้ผมคิดว่า มีทั้งยากและง่าย ยากคือค่านิยม ค่านิยมของครูซึ่งยังมีอยู่มาก อันนี้ต้องพูดจากัน ต้องส่งเสริมให้แลกเปลี่ยนกันมากๆ อย่างที่พูดไป แต่ในทางกฎหมายมันไม่ยาก ถ้าคิดว่าระเบียบของกระทรวงศึกษายังไม่ชัดเจน ก็ออกระเบียบกฎระเบียบให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะไปกล้อนผมเด็กไม่ได้ หรือเรื่องการแต่งตัวให้เปิดเสรีมากขึ้น ก็ออกระเบียบให้ชัดว่า ไปละเมิดไม่ได้
ส่วนที่บอกว่าง่าย คือต้องถึงขั้นที่เอานักกฎหมายมาปรึกษาเลยว่า ถ้าผู้ปกครองเด็กหรือเด็กไปฟ้องศาลปกครองในเรื่องละเมิดสิทธิ ต้องให้เด็กและผู้ปกครองชนะครูและผู้บริหารโรงเรียน เช่น ถ้าเกิดกล้อนผมเด็ก เด็กไปฟ้องศาล เด็กต้องชนะ คือออกระเบียบมาให้ชัด แล้วกระทรวงศึกษาก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเลยใน สพฐ.ในสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ก็ได้ ไว้ไปให้การเวลามีคดีปกครองขึ้น ผู้ปกครองหรือเด็กไปร้องศาลปกครอง กระทรวงศึกษาจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไปให้การช่วยเด็กกับผู้ปกครอง ซึ่งเรื่องแบบนี้ ในทางกฎหมายทำได้
เรื่องการแต่งตัว แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่ ซึ่งผู้บริหารมักจะไปเน้นจนไม่มีเวลาที่จะไปคิดว่า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเยอะแบบนี้ จะทำยังไง ให้เด็กเรียนรู้จาก iCloud หรือเข้าเรียนคลาสของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ซึ่งผู้บริหารไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้ มาเน้นเรื่องจะทำยังไงให้เด็กต้องฟังคำสั่ง เด็กต้องอยู่ในอำนาจ
พอคิดอย่างนี้ ก็เลยไปสะท้อนอยู่ในการเรียนการสอน ครูก็จะไม่ออกข้อสอบประเภทที่ ออกแล้วเด็กตอบไม่เหมือนกัน ต้องตอบให้เหมือนครู หรือต้องท่องจำมา ซึ่งหมดสมัยแล้ว การท่องจำก็ยังมีความสำคัญนะ แต่การเรียนการสอนสมัยใหม่ ต้องเน้นที่วิธีคิด วิเคราะห์ ให้คนกล้าคิด กล้าสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหา ทำงานร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้น ถ้าระบบการศึกษาอยู่ภายใต้ความคิดแบบอำนาจนิยม
แปลว่า ถ้าวัฒนธรรมการเมืองเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่การศึกษาจะไปข้างหน้าได้ ใช่ไหม?
มันก็ยาก วัฒนธรรมการเมืองของเรามีทั้งรวมศูนย์อำนาจ super board รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้ว่า รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กระทรวง และ สพฐ. แล้วก็ยังเรื่องจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการครอบงำทางความคิดอยู่ในหลักบัญญัติ 12 ประการ รวมถึงเรื่องอะไรอีกเยอะแยะที่อยู่ในสมรรถนะ เขาก็จะมีเรื่องพวกนี้อยู่
ถ้าการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ให้ความสำคัญและไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่ส่งเสริมให้คนคิด มันก็จะมาสู่การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับแนวความคิดทางการศึกษา แนวความคิดในการสร้างคน ในศตวรรษที่ 21
ในช่วงนี้ที่ COVID-19 ระบาด มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะมาก ควรจะช่วยเหลือเขายังไง
เรื่องการเยียวยาผู้ปกครองเขา ที่ตกงาน ขาดรายได้ ก็ต้องทำจริงจัง ซึ่งเวลานี้ทำน้อย พอทำน้อย เขาลำบาก ก็กระทบมาถึงลูก แต่ว่าเรื่องใหญ่คือต้องเปิดเรียนแบบปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าพูดกันโดยไม่ทำความเข้าใจดีๆ คนจำนวนไม่น้อยอาจจะรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ แต่ต้องตั้งหลักกันก่อนว่า การปิดเรียนอย่างที่ทำอยู่ เปิดก็เปิดแบบให้ไปเรียนครึ่งนึง เป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าเปิดเรียน ทั้งในเรื่องการป้องกัน COVID-19 และอันตรายจากเรื่องอื่น
ทั่วโลกเขาศึกษากันมาแล้วว่าในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาด ทำให้เด็กได้รับผลเสียทั้งขาดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาช้าแค่ 3 เดือน ก็มีผลเป็นปีแล้ว เด็กจะหลายเป็น learning loss generation เสียโอกาสในการพัฒนามหาศาล เสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต คนใกล้จะจบก็เสียโอกาสจะไปทำงานเพราะขาดทักษะบางอย่างไป
แต่ว่า ที่น่ากลัวอีกอย่างคือ เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าจาก COVID-19 เยอะมาก ในโรงเรียนบ้านนอกเวลานี้ ปิดเรียนเด็กก็อยู่กับชุมชน มีเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งเทียบกับเด็กในสหรัฐฯ ที่ตายทั้งปีจาก COVID-19 น้อยกว่าเด็กไทยตายจากขี่มอเตอร์ไซค์ ทั้งๆ ที่คนสหรัฐฯ ตาย 600,000 คน มีเด็ก 19 ปีลงมาตายน้อยกว่าเด็กไทยขี่มอเตอร์ไซค์แล้วถูกรถชนตายเสียอีก แล้วเราก็ปิดโรงเรียนให้เด็กไปอยู่กับบ้าน ไปขี่มอเตอร์ไซค์ ไปเล่นน้ำข้างบ้านแล้วจมน้ำตายกันอยู่ แถมยังมีเด็กที่ขาดอาหารอีกหลายแสนคนด้วย แล้วในนั้นก็คือ ไปช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่ก็ยากจน ไม่มีการเยียวยา เขาเลยดึงลูกออกไปจากระบบการศึกษาอีก
ถ้าทำความเข้าใจตรงนี้ได้ ต้องหาทางเปิดเรียนให้เร็วที่สุด โดยเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน การกระจายวัคซีน ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ฉีดวัตซีนก่อน ซึ่งทั้งประเทศมีบุคลากรทางการศึกษาตั้งแต่ชั้นปฐมวัยถึงอุดมศึกษามีประมาณ 1,250,000 คน โดยประมาณ ก็ใช้วัคซีน 2,500,000 โดส ซึ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่พูดกันว่า 150 ล้านโดส แต่ถ้าไปกระจาย ไปค่อยๆ ทำ บุคลากรทางการศึกษาก็ไม่ได้เสียที ก็รอไปด้วยกันจนถึงต้นปีหน้า แล้วจะเปิดเรียนยังไง
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเรื่อง COVID-19 ถ้าถามผม ให้ผมตัดสินใจ ผมจะทำแตกต่างจากที่ทำอยู่นี้มาก แล้วก็ไม่ใช่จะมาคิดว่า เอ๊ะ จะทำยังไงให้ครูมาอบรมเรื่องการเรียนอินเทอร์เน็ตยังไง เข้าไม่ถึงจะมาจับเป็นกลุ่มยังไง รายละเอียดแบบนี้ มันผิดทิศทางหมด ทำไงให้ทีวีทางไกลดีขึ้น เป็นไปไม่ได้มันเป็นการเรียนทางเดียว มันเป็นการสอนทางเดียว มันไม่ใช่สื่อสารสองทาง สำคัญที่สุด เปิดเรียนให้เร็วที่สุด ด้วยการฉีดวัคซีนครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ให้เร็วที่สุด
คือการขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เรื่องลักษณะการแพร่ระบาดของโรค?
ขาดการใช้ข้อมูล ความรู้ แล้วไปคิดง่ายๆ บางทีคนก็คิดว่า ถ้าให้เด็กมาเดี๋ยวก็จะติดกัน เดี๋ยวก็จะติดกันใหญ่ ก็สถิติทั่วโลกฟ้องอยู่แล้ว กับอีกอย่างคือการให้เด็กอยู่บ้าน เขาจะได้เจอผู้ใหญ่ก็มากกว่า ผู้ใหญ่เป็นมากว่าเด็ก โอกาสที่จะติดเชื้อยิ่งมากกว่าไปโรงเรียนนะ แล้วก็เด็กเล็ก ให้อยู่กับยาย อยู่กับตาที่ไม่มีเรี่ยวมีแรงแล้ว บางคนก็ให้ลุกจากเตียงก็ยังจะไม่ค่อยได้ ดูแลหลานแทนพ่อแม่ เป็นอันตรายต่อเด็กมาก แล้วก็สูญเสียการพัฒนา โอกาสในการพัฒนา เอาไปศูนย์เด็กเล็ก ฉีดวัคซีนให้ผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กและครูในศูนย์เด็กเล็ก แล้วก็ให้เด็กไปเรียน เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ปลอดภัยต่อเด็ก มากกว่าอย่างที่ทำกันอยู่
แต่ก็ไม่เข้าใจและน่าตกใจมากว่า นักการศึกษาของไทย ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควรกับความเสียหายต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ที่เกิดจากการปิดเรียน หยุดเรียน ในขณะที่ประเทศหลายประเทศทั่วโลกรณรงค์กันเป็นเรื่องจริงจังมากที่จะให้เด็กไปเรียนตามปกติมากที่สุด เร็วที่สุด แบบต้องมีมาตรการ new normal ไม่ใช่อย่างที่ประเทศไทยทำอยู่
แล้วพอเราพูดถึงเด็ก ก็มักจะพูดกันเร็วๆ มีอะไรขึ้นมาหน่อยก็สั่งปิดเรียน บางจังหวัดจนบัดนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อเลย ก็พลอยปิดเรียนกันไปด้วยแล้วไม่คิดบ้างเลยว่า การปิดเรียนจะเสียหายต่อการพัฒนาเด็กเยาวชนยังไง ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตยังไง พวกเขาออกจากระบบการศึกษาไปยังไง ประสบอุบัติเหตุ ถูกทำร้ายในครอบครัวยังไงบ้าง เราไม่ได้ดูปัญหาในมิติเหล่านี้กันเลย
คิดว่า สภาพการเมืองที่เป็นอยู่ ส่งผลต่อวิธีคิดในการจัดการศึกษาอย่างไร
ก็มีปัญหา คือการบริหารประเทศ บริหารโดยขาดความรู้ ขาดข้อมูล ขาดการรับฟัง ที่สำคัญคือ เขาไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง และไม่ต้องสนใจประชาชน เพราะเป็นรัฐบาลที่มีภูมิต้านทานในตัวเองจากระบบ เช่น ส.ว. 250 คนมีสิทธิเลือกนายกฯ คนอื่นมาเป็นรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลนี้ก็ได้เป็นต่อ ไม่ว่าจะบริหารยังไงก็ ถ้าไม่อยากออกเสียอย่างก็ไม่ต้องออก เมื่อเป็นอย่างนี้ พอมาคิดเรื่องการศึกษา เขาก็ไม่ต้องแคร์อะไรมาก
นักการศึกษาก็เสียงไม่ดังเท่าไหร่ด้วย คนในที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ปกครองก็ดี เด็กก็ดี ก็อาจจะเสียงไม่ดัง หรือส่งเสียงมาแล้ว เขาก็ไม่ต้องฟัง พอเป็นปัญหามากๆ แล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องสนใจ เหมือนกับอีกหลายๆ เรื่องที่เขาไม่จำเป็นต้องสนใจ
จริงๆ ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ ที่ไม่มีภูมิต้านทานพิเศษอย่างนี้ อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเยอะแยะไปหมด การจัดการ COVID-19 การจัดการกับเศรษฐกิจ การจัดการกับการศึกษา ผิดทิศผิดทางไปหมด เป็นความเสียหายมหาศาล แต่ว่ารัฐบาลแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ เพราะเขามีภูมิต้านทานพิเศษ โดยมีรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้ เป็นเหมือน Pfizer Moderna 3 เข็ม เลยทำให้เขามีภูมิต้านทาน แต่เป็นภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล