หนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิต คือช่วงเวลาที่เราต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเวลาที่ใครหลายคนต้องเผชิญจากแรงกดดันต่างๆ มากมาย ทั้งจากคนรอบข้างและตัวเอง
แต่ปีนี้ นอกจากจะต้องรับมือกับความเครียดตามปกติแล้ว เหล่านักเรียนชั้น ม.6 หรือก็คือ ‘เด็ก 64’ ยังต้องเจอกับการเลื่อนเปิดเทอม และการปรับเปลี่ยนเวลาเรียนเพราะ COVID-19 อีกด้วย
The MATTER เลยมาพูดคุยกับเหล่าเด็ก 64 เพื่อฟังความคิดเห็นของพวกเขาที่มีต่อการเปลี่ยนเวลาเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีการเรียนและการวางแผนเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กรุ่นนี้กัน
เวลาเรียนของปีการศึกษา 2563 ที่อาจเปลี่ยนไป
เดิมที การจะก้าวจากโรงเรียนไปสู่มหาวิทยาลัย ก็ต้องเจอกับความยากและความกดดันมหาศาล ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้างกันอยู่แล้ว แต่หลังจากการมาของโรคระบาด กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเลื่อนเวลาเปิดเทอม และกำหนดเวลาในการเรียนใหม่ โดยทั้งเวลาเรียนและเวลาพักลดน้อยลง ทำให้เหล่านักเรียนทั้งหลาย โดยเฉพาะเหล่านักเรียนชั้น ม.6 ที่ต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนเวลานี้ พากันแสดงข้อกังวลมากมาย
“กังวลกับเนื้อหาที่ต้องเรียนในเวลาที่ลดลงเล็กน้อย แล้วก็กังวลว่าหยุดนาน พอเปิดไปจะกลับเข้าสู่โหมดการเรียนได้ช้า เพราะลืมเนื้อหาตอน ม.5”
เวลาที่ลดน้อยลงนั้น หากเทียบกับช่วงเวลาเปิดเทอมตามปกติ จะพบว่า ภาคเรียนที่ 1 จะมีเวลาเรียนน้อยลง 7 วัน และภาคเรียนที่ 2 จะมีเวลาเรียนน้อยลง 12 วัน ซึ่งทางกระทรวงฯ ก็ขอให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนชดเชยช่วงเวลาที่หายไปนี้ด้วยเช่นกัน
“ตอนนี้เครียดเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเลื่อนเปิดเทอมแล้ว ก็อยากรู้ว่า ตารางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นยังไงต่อ”
ขณะเดียวกัน ก็มีบางคนที่กังวลกับตารางการสอบในโรงเรียน ที่มักจะปรับให้เด็ก ม.6 เรียนจบเร็วกว่าชั้นปีอื่นๆ เพื่อให้ทันกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
“เขาจะให้เทอมที่ 2 เรียนยาวไปถึงเดือนเมษายนเลย ซึ่งตามปกติโรงเรียนจะจัดให้ ม.6 สอบปลายภาคในโรงเรียนให้ได้เร็วที่สุดช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อที่เขาจะได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยสนามแรกได้ทัน แต่ตอนนี้ พวกเราจะเรียนจบตอนเดือนเมษายน เลยอยากรู้ว่าหน่วยงานที่จัดสอบจะมีมาตรการตรงนี้ยังไง มันแปลว่า พวกเราต้องสอบช้าไปอีกหรือเปล่า หรือว่าต้องสอบในขณะที่เรียนในโรงเรียนไปด้วย”
แน่นอนว่า ปัญหาเรื่องเวลาเรียนนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่นักเรียนชั้น ม.6 เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายชั้นปี ที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนเวลาเรียนด้วยเช่นกัน
“พอปิดเทอมใหญ่ อีกไม่นานก็จะเป็นปีการศึกษาใหม่ โรงเรียนต้องรับสมัครนักเรียนใหม่ แล้วก็จะเปิดเทอมใหม่ในเดือนพฤษภาคม แต่เขาจะจัดการกับการรับเข้าใหม่ของเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่ออย่าง ชั้น ม.1 และ ม.4 อย่างไร จะจัดการยังไง จะเปิดรับทันไหม เด็กต้องเตรียมตัวกันยังไงบ้าง”
“มองว่า ไม่ได้มีแค่เด็ก ม.6 ที่ได้รับผลกระทบ แต่ชั้นปีอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเลื่อนเวลาเรียนเช่นกัน คิดว่าเวลาเรียนน้อยแต่ว่าเนื้อหาที่ต้องเรียนยังเท่าเดิม ไหนจะกิจกรรมอื่นๆ อีก ทำให้เสียทั้งเวลาและพลังงานในแต่ละวันมากๆ แทนที่จะได้อ่านหนังสือเตรียมสอบหรือพักผ่อน กลายเป็นว่าต้องเอาเวลาที่เรามีทั้งหมดไปทุ่มให้กับการเรียน และการบ้านที่เยอะมากๆ ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือหรือทำโจทย์เตรียมสอบ อีกอย่าง ถึงจะเลื่อนเวลาเรียน แต่ไม่รู้ว่าเลื่อนเวลาสอบ O-NET, GAT-PAT, 9 วิชาสามัญ, กสพท.และอื่นๆ อีกไหม กระทรวงฯ ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้”
ขณะที่ นักเรียนชั้น ม.6 อีกคนก็เล่าว่า ตอนแรกมีข่าวว่าภาคเรียนที่จะถึงนี้จะไม่มีการปิดเทอม และนักเรียนต้องเรียนติดต่อกันหลายวัน แต่หลายคนไม่พอใจ และออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย จนมีการปรับเปลี่ยนเวลาเรียนใหม่ ทำให้บางคนมองว่า ต้องมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก่อน กระทรวงฯ ถึงจะหาแนวทางรับมือให้กับพวกเขาได้
ในระยะเวลาแบบนี้ต้องวางแผนสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร?
พอระยะเวลาเปลี่ยนไป รูปแบบการเตรียมความพร้อมเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของแต่ละคนก็แตกต่างออกไปเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการประกาศว่ากำลังหารือแนวทางสำหรับการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เด็ก ม.6 ต้องหาทางเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงนี้
“ปรับแผนเรื่องเรียนพิเศษเป็นอย่างแรกเลย เพราะหนูเรียนสายศิลป์ แล้วที่เรียนพิเศษสำหรับสายศิลป์ก็ยังไม่ทำระบบเรียนให้จากที่บ้านได้ ทำให้ช่วงนี้ ที่ตามปกติควรจะเป็นช่วงเรียนเก็บเนื้อหา ก็ต้องอ่านเอง เอาเนื้อหา ม.5 มาทวนก่อน แต่หนูทวนเองไม่ค่อยเก่ง ก็จะใช้เวลามากขึ้นหน่อย แล้วก็เปลี่ยนเอาวิชาที่ตอนแรกตั้งใจจะเรียนช่วงเดือนตุลาคมขึ้นมาเรียนก่อน เพราะเป็นวิชาที่เขาเปิดสอนออนไลน์ ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังคล้ายแผนเดิมเพราะยังไม่เห็นประกาศเปลี่ยนแปลงเรื่อง TCAS64”
ขณะที่ บางคนก็ต้องเตรียมอ่านหนังสือตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม เพราะมองว่าเมื่อเปิดเทอมแล้วจะต้องเรียนหนักขึ้น เนื่องจากครูจะพยายามสอนเนื้อหาให้ครบตามหลักสูตร ทำให้ไม่มีเวลาทบทวนบทเรียนเพิ่มเติม ประกอบกับ ต้องวางแผนโดยคิดถึงระยะเวลาการเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แล้วจัดเวลาสำหรับการเตรียมตัว
“อีกอย่างคือ มันส่งผลกับช่วงเวลาพักของพวกเราด้วย เพราะจากที่เราจะไม่จำเป็นต้องเครียดขนาดนี้ แต่กลายเป็นว่ามันต้องเครียดมากกว่าเดิม ทุกอย่างมันต้องรัดกุม เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะปรับเปลี่ยนอะไรอีกไหม”
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับแผนการเตรียมตัวสอบได้ทันที บางคนก็ต้องใช้เวลาในการตั้งหลักใหม่เช่นกัน
“ตอนนี้แผนเตรียมสอบทุกอย่างพังหมด เพราะเราไม่รู้อะไรเลยว่าจะมีการสอบเกิดขึ้นในเดือนไหน จากแผนที่เราวางไว้ว่าปิดเทอมนี้ (มีนาคม-พฤษภาคม) เราจะเตรียมอ่านสอบตรง สอบซัมเมอร์ของ ม.รามคำแหง (Pre-degree) ให้จบและเรียนพิเศษ ช่วงเปิดเทอมจะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหา ม.ปลายทั้งหมด แล้วปลายปีจะได้ฝึกทำโจทย์ แต่ตอนนี้แม้แต่เรียนพิเศษก็ไม่ได้เรียน เพราะออกจากบ้านไม่ได้ แล้วก็ต้องเลื่อนแผนออกไปเพราะปิดเทอมไปจนถึงกรกฎาคม เลยต้องวางแผนอ่านหนังสือใหม่หมดเลย”
สิ่งที่อยากให้เปลี่ยน หรือต้องการได้เพิ่มเติมจากการปรับเปลี่ยนเวลาเรียน?
เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง แรงสนับสนุนและมาตรการดูแลที่ชัดเจน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการปรับตัวของเด็กๆ หลายคน
“อยากให้ลดชั่วโมงเรียนลง หรือวิชาไหนที่พอลดลงได้ เข้าใจว่าทุกวิชามีความจำเป็นหมด แต่ถ้าลดได้ก็อาจจะปรับให้เวลาเรียนยืดหยุ่นมากขึ้นได้ เพราะการเรียนที่มากเกินไปมันก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็กอยู่แล้ว ปกติก็เรียนหนักอยู่แล้ว ยิ่งบางคนแบ่งความหวังของครอบครัวไว้ ก็ยิ่งกดดันอีก”
ซึ่งเมื่อเร็วๆ มานี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ออกมาเล่าถึงแผนการปรับการเรียนการสอนว่า จะเน้นการเรียนรู้ในวิชาที่เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก เพื่อลดภาระในการเรียนของเด็กๆ ลง
ขณะเดียวกัน หนึ่งในเด็ก ม.6 ที่เราพูดคุยด้วยก็เล่าว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบประกาศเรื่องการปรับเปลี่ยน TCAS64 ทั้งเรื่องข้อสอบที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเพิ่มข้อสอบ ปรับรอบยื่นคะแนน และประกาศเรื่องกำหนดการสอบต่างๆ รวมถึงเนื้อหาที่จะออกในปีนี้ เพราะเริ่มมีข่าวลือต่างๆ ออกมาบ้างแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขากังวลใจอย่างมาก
“อยากได้ความชัดเจนว่าพวกเขาจะรองรับกับเด็กที่อยู่ในช่วงต่อ เช่น ป.6 ขึ้น ม.1, ป.3 ขึ้น ม.4 หรือ ม.6 เข้ามหาวิทยาลัย อย่างไรบ้าง อยากให้เขาชัดเจนว่าจะให้สมัครตอนไหน สอบตอนไหน เปิดเทอมอีกทีเมื่อไหร่ เพราะมันค่อนข้างที่จะกระทบมาก เพราะพวกเราก็ต้องเตรียมตัวสอบเหมือนกัน”
เช่นเดียวกับเด็กอีกคนหนึ่ง ที่เล่าว่า “อยากให้แจ้งการเตรียมตัวสอบเข้าล่วงหน้า ระบุวันที่ชัดเจนมาเลย เพราะถ้ามาเปลี่ยนกระทันหัน มันจะปรับตัวแล้วก็วางแผนไม่ทัน เพราะเด็กเองก็ต้องวางแผนอ่านหนังสือ หรือคำนวณเรื่องค่าสมัครสอบ แล้วถ้าปรับเปลี่ยนเวลากระทันหัน อาจจะปรับแผนเหล่านี้ตามไม่ทัน”
นอกจากเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว บางคนก็มองไปถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนที่เปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์ และเวลาเปิดเทอมที่เปลี่ยนไป
“เราอยากให้กระทรวงฯ นึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน ทุกชนชั้น ให้มากกว่านี้ จากที่เห็นว่าตอนนี้อาจจะมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์และทางโทรทัศน์เกิดขึ้น แต่คำถามคือ ถ้าครอบครัวนึงไม่มีความพร้อมในด้านนี้จะทำอย่างไร? เพราะการจะเรียนแบบนี้ต้องใช้อุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นในการเรียนแบบออนไลน์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต นั่นแปลว่าถ้าต้องการให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนตรงนี้”
ยิ่งกว่านั้น เขายังเล่าว่า บางครอบครัวได้รับผลกระทบจากการโดนเลิกจ้าง โดนสั่งให้หยุดงาน ไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำให้ไม่มีรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกเรียนหนังสือ
นอกจากนี้ ยังมีคนที่อยากให้เลื่อนเปิดเทอมต่อไปอีกเช่นกัน เพราะกลัวว่าการกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเหมือนกรณีสนามมวยลุมพินีได้
“อยากฝากถึงผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการบริหารส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการให้คิดถึงเด็กนักเรียนทุกคนให้มากที่สุด ไม่อยากให้เปลี่ยนคำสั่งไปมา ส่วนตัวมองว่า เรื่องเรียนก็สำคัญ แต่ถ้าติดเชื้อกันมากขึ้นก็ไม่คุ้ม เสียเวลาสัก 1 ปี คงไม่เสียหายถ้าต้องแลกกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตนักเรียนและคุณครู”
การเป็นนักเรียนม.6 ในรุ่นที่เจอกับ COVID-19
ความแตกต่างของเด็กรุ่น 64 คือการเผชิญจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากโรคระบาดในครั้งนี้ด้วย ทำให้หลายคนมองเห็นถึงความแตกต่าง และสิ่งที่ต้องปรับตัว ซึ่งแตกต่างจากไปนักเรียนชั้น ม.6 รุ่นอื่นๆ
เด็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ระยะเวลาเป็นสิ่งที่แตกต่างกับเด็ก ม.6 รุ่นอื่นๆ อย่างชัดเจนที่สุด เพราะปิดเทอมก็นานกว่า เวลาเรียนก็เรียนแบบต่อเนื่องกันนานกว่า ทำให้พวกเขาต้องปรับตัว และเปลี่ยนแผนต่างๆ เยอะ ซึ่งไม่สามารถใช้แผนการเตรียมตัวแบบเดียวกับเด็กรุ่นก่อนๆ ได้
“ม.6 รุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นก่อนมากๆ จากแต่ก่อนที่เด็ก ม.6 เขาจะเรียนกันช่วงปิดเทอม ซึ่งถ้าเป็นตามปกติก็จะเริ่มกลับไปเรียนกันแล้ว แต่ตอนนี้สังเกตเห็นว่า มีเพื่อนหลายคนที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะมีมาตรการห้ามออกจากบ้านด้วย ทำให้บางคนไม่ได้ออกไปเรียนพิเศษตามกวดวิชาต่างๆ ที่เขาสอนแบบสดเลย เพื่อนก็จะได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะไปเรียนไม่ได้”
ไม่ใช่แค่แผนการกวดวิชาเท่านั้น แต่กำหนดการสอบที่ยังคาดเดาไม่ได้ ก็เป็นอีกจุดที่ทำให้พวกเขารู้สึกกดดันมากขึ้นกว่าปกติ
“ม.6 รุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นตรงที่เริ่มเรียน ม.6 จริงๆ ช้ากว่า และยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ แต่ยังคงเหมือนรุ่นอื่นๆ ตรงที่จะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อาจจะมีเรื่องกังวลเพิ่มเพราะไม่ได้ห่วงแค่เรื่องคะแนนสอบ แต่ต้องห่วงด้วยว่าจะได้สอบเมื่อไหร่”
“การปรับเปลี่ยนเวลาเรียนและการเลื่อนเปิดเทอม ทำให้ ม.6 ปีนี้ ได้รับผลกระทบมากกว่ารุ่นที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของสภาพจิตใจ ความเครียดสะสม ความกังวลที่เกิดขึ้นมันมากเป็นเท่าตัว เพราะเราต้องอยู่ที่หน้าจออย่างเดียวเป็นเวลานานถึง 6-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ทำให้ ม.6 ปีนี้ ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมากกว่าทุกปี”
เตรียมตัวแบบไหน รับมืออย่างไร เมื่อ COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนกำหนดการ
เมื่อพูดถึงการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชื่อที่ปรากฎขึ้นมาในใจใครหลายคนก็คือ พี่ลาเต้ หรือ มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไชต์ Dek-D.com ที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการเรียน และการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กๆ มาหลายปี ซึ่งพี่ลาเต้เล่าว่า ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกำหนดการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กรุ่น 64 จึงไม่รู้ว่า จะออกกำหนดการตามปีก่อนๆ หรือจะเลื่อนตามการเปิดเทอมของน้องๆ ในปีนี้
“ที่ทางกระทรวงศึกษาคุยกันคือ เดี๋ยวจะไปหารือกัน แต่ก็ยังไม่มีอะไรออกมา อันนี้เข้าใจว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันอยู่ช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ทางกระทรวงฯ ก็เลยดูแล ม.1 และ ม.4 ที่จะมีการรับเข้าในช่วง พฤษภาคม-มิถุนายนนี้ไปก่อน”
ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้น ม.6 ปีนี้ พี่ลาเต้ให้ความเห็นว่า ควรจะโฟกัสกับการเรียนในชั้นเรียนไปก่อน เพราะการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจะเริ่มปีหน้า แต่ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องมีเกรดและความรู้ไปสอบก่อน จึงควรเตรียมส่วนนี้ให้พร้อม
ขณะเดียวกัน พี่ลาเต้ก็มองว่า เด็ก ม.6 ปีนี้อาจจะต้องเรียนไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล 2 อย่าง คือเวลาเรียนที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว และกำหนดที่ทางกระทรวงออกมาบอกว่าจะปรับการเรียน ให้เน้นเรียนในวิชาที่เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ดังนั้น เด็ก ม.6 จะต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเรียนในรูปแบบใหม่นี้ให้พร้อม
“ส่วนผลกระทบจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกำหนดการต่างๆ ออกมาแล้ว ถ้าหากกำหนดการที่ออกมาเป็นเหมือนเดิมก็จะกลายเป็นว่า เด็กต้องเรียนแบบ non-stop ไม่มีช่วงให้หยุดหายใจเลย แต่ถ้าเลื่อนออกไป ก็ต้องดูอีกว่าจะเลื่อนไปตอนไหน เพราะการที่เด็กจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย มันไม่ใช่แค่สอบเข้าเดือนหน้า ไปสมัครสอบ แล้วไปสอบได้เลย บางคนต้องเตรียมแฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งพอมี COVID-19 โอกาสที่เขาจะได้ไปงาน open house ไปค่าย ไปร่วมกิจกรรม มันแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น น้องก็อาจจะเสียโอกาสตรงนี้ไป”
แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็มองว่า นี่เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัว เพราะสังคมเปลี่ยนไป และเกิด new normal เพิ่มขึ้นในสังคมและชีวิตประจำของเราเปลี่ยนไปมากกว่าเดิม ทำให้หลายคนต้องหันกลับมาศึกษาเรื่องต่างๆ ให้มากกว่าเดิม เพราะบริบททุกอย่างในสังคมมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว
การมาของโรค COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับเหล่านักเรียนที่กำลังจะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่กำลังกังวลกับระยะเวลาการเรียนที่เปลี่ยนไป รวมถึง การสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของพวกเขา
เพราะนอกจากเด็กรุ่นนี้จะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตตัวเองแล้ว พวกเขายังอยู่ในยุคที่โรคระบาดเข้ามาเปลี่ยนสังคมโลกอีกด้วย