แกอย่าไปยุ่งกับมันเลย มันเป็นลูกรักอาจารย์!
สมัยเป็นนักเรียน คุณเป็นคนแบบไหน
- เด็กตั้งใจเรียนที่เพื่อนชอบแซวว่า เป็นลูกรักอาจารย์ ยกมือถามเมื่อไร เพื่อนก็ทำหน้าไม่พอใจเมื่อนั้น ทั้งที่เราก็แค่ถามเพราะไม่เข้าใจ ไม่ได้อยากเอาหน้าหรือประจบครูสักหน่อย
- เด็กที่ไม่เข้าใจว่า ไอเพื่อนคนนั้นจะยกมืออะไรนักหนา อยู่เงียบๆ ไม่เป็นเหรอ ทำไมต้องโชว์ความเก่งให้ครูเห็นตลอด แล้วครูก็ชมแต่มันคนเดียว ทั้งที่เพื่อนคนอื่นก็ตั้งใจไม่แพ้กัน
ติ๊กตอก ติ๊กตอก…กริ๊งงง! หมดเวลา ใครเป็นแบบที่ 1 ใครเป็นแบบที่ 2 กันบ้าง…
ไม่ว่าจะเป็นเด็กแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 ในวันนี้ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับไป เราย่อมเข้าใจดีว่า ไม่มีเด็กคนไหนผิด เพราะต่างคนต่างก็มีมุมมองและเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น สาเหตุแห่งความขัดแย้งในห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระดานดำ คืออะไรกันล่ะ
หากเราจะกล่าวโทษสิ่งหนึ่ง จุดเริ่มต้นของปัญหาคงมาจากลักษณะนิสัย และสภาพแวดล้อมของห้องเรียนไทย ซึ่งหล่อหลอมให้คนที่โดดเด่นกลายเป็นตัวประหลาด
ถ้ายกมือถาม เราก็จะกลายเป็นคนแปลกแยก ถ้าถูกครูชม เพื่อนก็อาจจะหมั่นไส้ กลายเป็นว่าไม่มีใครอยากถูกแปะป้ายว่า เป็นคนเก่ง เพราะกลัวถูกเกลียด ทางฝั่งเด็กที่ชอบแซว เอาเข้าจริงหลายคนก็ไม่ได้อยากทำ แต่ในเมื่อเพื่อนทุกคนพูดแบบนั้นกันหมด ขืนเราอยู่เฉยๆ คนก็คงหาว่าเราเป็นลูกรักของครูไปอีกคน และถ้าไม่เข้าร่วมคงไม่มีเพื่อนคบแน่ๆ
ทั้งที่การเป็นคนเก่งควรจะเป็นเรื่องดี แล้วทำไมห้องเรียนในประเทศนี้ถึงปลูกฝังให้เด็กไม่กล้าที่จะเก่งกันนะ…
นพ.สรวิศ วัยนิพิฐพงษ์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอทฤษฎีที่น่าจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ข้างต้นได้คือ ‘ทฤษฎีความเป็นคตินิยมรวมหมู่’ (Collectivism) ซึ่งพบมากในวิถีชีวิตของชาวเอเชียที่ให้ความสำคัญกับความเป็นพรรคเป็นพวก มากกว่าความต้องการส่วนตัว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความเป็นคตินิยมรวมหมู่ หมายถึงแนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่ม มากกว่าเป้าหมายของตัวเอง ทุกคนเน้นพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงพยายามประพฤติตนให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานที่กลุ่มกำหนดไว้
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ เช่น นักเรียนไทยที่มีแนวคิดแบบคตินิยมรวมหมู่ มักจะจับกลุ่มชวนกันไปเข้าห้องน้ำ ในขณะที่นักเรียนฝั่งประเทศยุโรป ผู้มีความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) จะแยกไปเข้าห้องน้ำแบบตัวใครตัวมัน หลายครั้งแทบไม่ต้องบอกเพื่อนด้วยซ้ำว่าตัวเองไปไหน เพราะพวกเขามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องแจ้งให้เพื่อนรับทราบ
แนวคิดคตินิยมรวมหมู่ซึ่งฝังรากลึกนี้ ค่อยๆ ขัดเกลาให้เด็กไทยทำอะไรเหมือนๆ กัน จนกลัวที่จะลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง และเมื่อใครบางคนแสดงออกในสิ่งที่ดูพิเศษกว่าคนทั่วไป ต่อให้จะได้รับคำชม เขาหรือเธอก็จะถูกมองว่าไม่เข้าพวก จนอาจเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกับกลุ่มสังคมนั้นๆ ได้
ความเป็นคตินิยมรวมหมู่ยังแบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่
- มิติตัวตน – การมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องพึ่งพากัน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามลำพังได้ จึงพยายามปรับตัวตามกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ยอมละทิ้งความเป็นตัวเองบางอย่าง เพื่อให้อยู่กับกลุ่มเพื่อนได้โดยไม่มีปัญหา หรือบางคนอาจทำถึงขั้นฝืนความต้องการเบื้องลึก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม
- มิติเป้าหมาย – ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มจนหลายครั้งลืมไปว่า เป้าหมายที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร อาทิ ถ้าเพื่อนในกลุ่มอยากโดดเรียน แม้เราจะไม่เห็นด้วยแต่ก็อาจยอมตามน้ำไป เพราะกลัวว่าหากไม่ทำตามเป้าหมาย ก็อาจถูกแบนจากเพื่อนในกลุ่ม หรืออีกตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การที่เด็กไทยพากันทำคะแนน เพื่อให้ได้เรียนในคณะแพทยศาสตร์ หรือวิศวกรรมตามค่านิยมของสังคม ทั้งที่อาจจะไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วเราชอบอะไร
- มิติการให้ความสำคัญ – ในขณะที่แนวคิดปัจเจกนิยม จะให้ความสำคัญกับความต้องการส่วนบุคคล สิทธิ และความเป็นอิสระ ทว่าวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ จะให้ความสำคัญไปยังบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ และภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในมุมหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า การยึดมั่นในบรรทัดฐานนั้น ช่วยให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปได้อย่างพร้อมเพรียง มีความรัก ความสามัคคี สามารถป้องกันเหตุแห่งการทะเลาะเบาะแว้งได้อย่างดีเยี่ยม แต่อีกทางหนึ่ง การให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป ก็อาจลดทอนความหลากหลายของชุดความสำเร็จ จนคนในสังคมไม่กล้าแตกแถว และยึดติดในคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ หวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน
- มิติความสัมพันธ์ – วัฒนธรรมที่มีแนวคิดแบบคตินิยมรวมหมู่ จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไว้ เพราะเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าการพึ่งพาอาศัยเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นต่อให้กลุ่มที่คบหาด้วย จะทำให้รู้สึกแย่มากกว่ารู้สึกดี เราก็มักเลือกใช้กลวิธีอย่างการอดทน หรือมองข้ามปัญหาเพื่อให้ยังมีที่ยืนในกลุ่ม ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ส่งผลให้คนเอเชียส่วนหนึ่ง พูดถึงสิ่งต่างๆ อย่างอ้อมๆ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และไม่ค่อยกล้าบอกเล่าความรู้สึกที่แท้จริง
แนวคิดทั้ง 4 มิตินี้เอง ทำให้เด็กเก่งกลัวว่าตัวเองจะแตกต่างจากคนอื่น หรือมากไปกว่านั้น คือกลัวว่าเพื่อนจะไม่พอใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วเพื่อนอาจจะไม่ได้คิดหรือตัดสินอะไรเลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ยังไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่กับเด็กที่เรียนเก่งเท่านั้น เพราะหากเราเป็นคนเดียวที่ถูกลงโทษหรือถูกประจาน สิ่งนี้ก็อาจสร้างแผลใจ ซึ่งบาดลึกและยาวนานได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเก่งเกินก็ไม่ดี แย่ไปก็ไม่ได้
ท้ายที่สุดห้องเรียนจึงหลงเหลือเพียงคนกลางๆ
หันไปทางไหนก็เห็นแต่เด็กที่เกาะกลุ่มและชอบทำอะไรเหมือนๆ กัน สถานศึกษาเปลี่ยนสถานะสู่โรงงานผลิตหุ่นยนต์ ผู้หลงลืมความสามารถและความต้องการของตัวเอง ทางเดียวหากอยากแตกต่าง คือต้องพร้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงเสียดทานจากทั่วทุกสารทิศให้จงได้
“เนี่ยนะทุกคน หัดเอาอย่างภูวิชญ์บางสิ ขยันๆ กันหน่อย”
ถ้าครูสักวิชาหนึ่งพูดออกมาแบบนี้ เชื่อว่าต้องมีนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งคนอิจฉาหรือหมั่นไส้นายภูวิชญ์ แต่หากเราลองเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุเป็นออฟฟิศแห่งหนึ่งแล้ว ถ้อยคำเหล่านี้ดันออกมาจากปากของเจ้านาย มันก็อาจส่งผลร้ายต่อผู้ที่ถูกชมไม่ต่างจากวันที่อยู่ในรั้วโรงเรียน
สิ่งที่เราพยายามจะสื่อคือ ความไม่กล้าที่จะเก่งของคนไทย ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในสังคมโรงเรียน เพราะท่ามกลางที่ทำงานเอง เราก็ไม่ค่อยอยากให้เจ้านายชื่นชมเราต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ แน่นอนว่าหัวหน้าย่อมต้องการให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเขาหรือเธอจะหยิบยกใครสักคนขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ให้คนในทีมเห็นว่าควรพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่ขณะเดียวกัน ความเป็นคตินิยมรวมหมู่ที่ยังไม่สลายไป ก็อาจทำให้คำชมอันหอมหวานกลายเป็นดาบสองคม ซึ่งทิ่มแทงคนถูกชมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
อย่างไรก็ดี สังคมไทยตลอดจนหลายประเทศในเอเชีย ดูจะตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบของแนวคิดนี้มากขึ้น สิทธิ เสรีภาพ และประเด็นความหลากหลาย กลายเป็นเรื่องที่ถูกยกมาถกเถียงอย่างสม่ำเสมอ จากครั้งหนึ่งที่เด็กยกมือในห้องเรียน ถูกมองเป็นตัวประหลาด ไม่แน่ว่าวันหน้า เขาอาจเป็นความแตกต่างที่สังคมตามหาก็เป็นได้
คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องทบทวนกันใหม่ว่า ‘คุณค่าแบบใดที่ควรยึดถือ’ เราไม่ได้บอกว่า ความเป็นปัจเจกนั้นดีกว่าการรวมกลุ่ม แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ทุกคนควรจะรวมกลุ่มกันได้ โดยไม่ต้องมีใครรู้สึกกระอักกระอ่วน หรือได้รับแรงกดทับจนไม่สามารถแสดงออกซึ่งความต้องการของตัวเอง ถ้าจะเขียนให้ชัดๆ คือไม่ควรมีใครต้องเสแสร้งแกล้งเป็นคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และไม่ควรมีมนุษย์คนไหนถูกตำหนิ เพียงเพราะเขากระทำในสิ่งที่โดดเด่นจากเพื่อนในห้อง กระนั้นคนที่ได้รับคำชมเอง ก็ควรวางตัวให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน
จงเป็นในสิ่งที่อยากเป็น บอกในสิ่งที่รู้สึก และยกมือเมื่อสงสัยหรืออยากพูด…
เพราะท้ายที่สุด การเป็นคนเก่งไม่ใช่เรื่องผิด การยกมือถามหรือคิดต่างก็เช่นกัน
อ้างอิงจาก