ลักษณะของหยดเลือดสามารถบอกตำแหน่งของที่มาเลือดได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะความสูงของแหล่งที่มาของเลือด หรือองศาที่เกิดบาดแผลก่อนเลือดตกกระทบพื้น และแน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เราสามารถสืบหาเองได้จริงๆ ไม่ต้องไปพึ่งยอดนักสืบจิ๋วคนไหนหรอกนะ
วิธีการก็คือ เราจะเลือกหยดเลือดที่มีลักณะคล้ายวงรี แล้ววัดความกว้างและยาวของหยดเลือดนั้น ก่อนจะนำไปคำนวณหาค่าตามหลักตรีโกณมิติ แล้วจึงลากเส้นตามองศาเพื่อดูว่า เลือดนั้นมีที่มาจากตรงไหน เมื่อเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะอนุมานได้ว่าบาดแผลบนร่างกายนั้นอยู่ที่ตำแหน่งใดกันแน่
เล่ามาขนาดนี้ หลายคนอาจคิดว่าเรากำลังเรียนนิติวิทยาศาสตร์กันอยู่หรือเปล่า แต่ความจริงแล้ว นี่คือวิชา ‘คณิตศาสตร์’ และเป็นหลักสูตรชั้น ม.ปลายที่ถูกสอนโดย มาสเตอร์วิตรานันท์ นันทผาสุข ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนอัสสัมชัญ และเป็นผู้ที่ทำให้ตรีโกณมิติกลายเป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริงๆ
The MATTER ขอพาไปคุยกับ ‘มาสเตอร์วิตรานันท์’ เพื่อทำความเข้าใจกับที่มาของไอเดีย ซึ่งทำให้นักเรียนได้สนุกสนานกับการเรียนรู้ เข้าใจเนื้อหา และนำไปต่อยอดในอนาคตของเหล่านักเรียนได้จริง
เอา ‘รอยเลือด’ มาใช้ในการเรียนตรีโกณมิติอย่างไร
เราต้องดูตรงลักษณะของหยดเลือด หยดที่กระเด็นเป็นวงรี หยดแบบนั้นเราสามารถวัดความกว้างกับความยาวของรอยเลือด แล้วเอามาใช้มันในการหาค่ามุมที่มันตกกระทบได้ผ่านฟังก์ชัน arcsin ในเรื่องตรีโกณมิติ โดยที่เราเอาความกว้างของเม็ดเลือดหารด้วยความยาวแล้ว กด arcsin ค่านั้นก็จะได้เป็นมุมที่มันตกกระทบออกมา หลังจากที่เราได้มุมแล้ว เราก็สามารถล็อคมุมตรงนั้นแล้วก็ลากเส้นตรงหรือลากเชือกของเรากลับไปที่หุ่นของเราได้ว่า ความสูงเท่าไหร่ที่เลือดกระเด็นออกมา ก็คือใช้สมการในตรีโกณเนี่ยแหละช่วยหาแหล่งที่มาของหยดเลือด
ไอเดียในการสอนมาจากไหน
ที่มาอย่างแรกก็คือ ตัวเราเอง เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าให้บรรยายทั้งหมด ไปไม่รอดแน่ๆ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ อยู่แล้วนะ เราต้องให้นักเรียนเห็นภาพว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วเอาไปใช้ได้อย่างไร ทีนี้ เราก็ค้นคว้าต่อว่าเนื้อหาอะไรบ้างที่เราเอามาใช้แล้วเด็กจะสนใจ ซึ่งแต่ละคนก็มีความสนใจที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนที่เลือกเรื่องนี้มาก็แน่นอนว่า เพราะมันดูตื่นเต้น น่าสนใจ แล้วก็ดูเป็นสิ่งที่เราได้ใช้ได้จริงด้วย อีกทั้งพอเราโยงเข้ากับเรื่องของอาชีพ นักเรียนในช่วงชั้น ม.5 เขาก็อาจจะสามารถนำไปใช้ในการเลือกสายอาชีพต่อได้ ม.6 เขาจะได้เตรียมเนื้อหาไว้สอบได้
การที่เราหยิบเนื้อหาแบบนี้มาทำให้เด็กได้ลองเปิดกว้างกับตัวเองว่า มันมีอาชีพแปลกๆ แบบนี้อยู่นะ แล้วเขาจะได้ศึกษาเพิ่มเติม
ทำไมถึงเลือก ‘รอยเลือด’ มาใช้ในการสอน
จริงๆ ก็ไม่ได้มีแต่เลือดหรอก เรายังมีอย่างอื่นด้วย อันนี้อาจจะเป็นอันที่ได้รับความสนใจมาก เพราะว่ามันตื่นเต้นน่ะ มันดูสนุก ดูสืบสวนดูลึกลับ มันก็เลยได้รับความสนใจมากจากตัวนักเรียนเองหรือตัวสื่อรอบข้าง แต่ในการประยุกต์ใช้จริงๆ แล้วมันมีหลายเรื่องมาก เราสามารถใช้ตรีโกณมิติหาความสูงและขนาดของภูเขาได้ แต่เด็กแต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะสนใจเรื่องโลก แต่บางคนก็อาจจะสนใจเรื่องนี้
ที่ใช้เลือดเพราะบางคนอาจจะชอบ อาจจะสนุกแล้วก็ชอบ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามที่จะจัดการเรียนรู้ให้หลากหลาย ดึงนักเรียนทุกคนที่เรียนกับเราเข้ามาด้วยกันได้ เพราะว่านักเรียนก็มีความหลากหลายในตัวเอง เป้าหมายหลักจริงๆ คือเราเชื่อมกับอนาคตของเด็ก อยากให้เด็กได้เรียนจากเรื่องแล้วคิดว่า เขาเคยทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วด้วย
การทำตามความชอบของเด็ก สำคัญยังไง
จริงๆ ก่อนที่จะทำให้ชอบ ต้องทำให้ไม่รู้สึกแย่ก่อน เราพยายามปรับให้เขาไม่รู้สึกในแง่ลบกับคณิตศาสตร์ก่อนเพราะว่าบางครั้งเราจะได้ยินคำพูดว่า คณิตศาสตร์ยาก ภาษาอังกฤษหรือพละสนุก อ่าว แล้วทำไมพละสนุกล่ะ เราทำให้คณิตศาสตร์สนุกได้ไหม เราก็อาจจะต้องกลับมาแก้ตรงนี้แล้วว่า จะทำยังไงให้มันสนุก ทำให้เขาอยากเรียน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้เด็กชอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องค่อยๆ จับทางไป
แต่อย่างที่ย้ำไปว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ชอบอยู่แล้ว เราจะไม่ไปบังคับว่าคุณต้องทำให้ได้ คุณต้องชอบ เราก็จะเข้าใจในส่วนนี้จริงๆ อย่างตอนสอนเลขให้สายศิลป์ภาษา เรารู้อยู่แล้วว่า มันเป็นอะไรที่คุณใช้น้อยที่สุดเลย เราก็พยายามทำให้เขาไม่รู้สึกลบกับคณิตศาสตร์พอ มีคาบหนึ่งเราไปจ้างรุ่นน้องที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ มธ. ให้เขาแปลนิทานเป็นภาษาจีนแล้วก็ใส่โจทย์เลขเข้าไป เพื่อที่จะมาสอนเด็กภาษาจีน ให้เขารู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ เราคิดว่าเขาชอบอย่างนี้ หรือว่าให้แปลโจทย์เป็นภาษาต่างๆ
แล้วก็ค่อยมาให้เด็กทำ แต่ว่ามีคณิตศาสตร์แทรกอยู่นิดนึงเป็นโจทย์เนื้อหาที่เราใช้ เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกแย่เวลาเรียน เพราะเดิมที เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรียนไปทำไม เราบางครั้งก็ยังตอบไม่ได้เลยว่าเขาเรียนกันทำไม สำหรับเด็กที่ไม่ได้ใช้จริงๆ เราก็พยายามทำให้คาบนั้นเป็นคาบที่เขาได้อะไรเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากคณิตศาสตร์ดีกว่า
ใช้เวลาในการคิดออกแบบการสอนที่เป็นอยู่นี้นานหรือเปล่า
ช่วงออกแบบก็นาน เพราะอย่างแรกคือ เรามีงานประจำต้องทำอยู่แล้ว นั่นก็คือการสอนในห้องปกติ เราก็มีภาระที่เราจะต้องไปทำโจทย์หรือเตรียมการต่างๆ ของเราอยู่แล้ว ทีนี้กิจกรรมใหญ่ๆ แบบนี้จะต้องใช้เวลาสักพักนึง เราใช้เวลาเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มคิดว่าจะทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อคาบ ดังนั้น ก็นานพอสมควร
ถ้าเราจะคิดว่าเราจะทำเรื่องนี้ สัปดาห์แรกก็ต้องหาว่า ต้องทำอะไรมันถึงจะถูกต้อง หลังจากนั้นเราค่อยเอามาย่อยเนื้อหาให้เข้าใจง่าย แล้วก็เริ่มทำซ้ำๆ ทดลองกับตัวเอง และลองจับเวลาทำกิจกรรม ก็จะดูได้ว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่ทำมาไหม ซึ่งมันอาจจะเสียเวลาแค่ครั้งนี้ครั้งแรก แต่เดี๋ยวปีหน้าทำใหม่ เราก็ไม่ต้องเสียเวลาเท่าเดิมอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากบอกว่า ถ้าใครว่างก็ทำเถอะ เราก็พยายามจะทำทุกเดือน
จริงๆ เคยมีช่วงที่สอนเด็กโดยใช้กราฟเกมคอมพิวเตอร์ที่ฮิตๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ที่พิมพ์สมการในคอมแล้วออกมาเป็นลูกปืนยิง ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งที่เด็กมาชวนเราตั้งแต่แรก เขาบอกว่าอยากเล่นเกมนี้ สุดท้ายเราก็พาเขาไปเล่นจริงๆ แต่ว่าก็ยังมีเด็กบางคนที่มองว่า ยากจัง เพราะว่าเราใส่ความจริงจังเข้าไป มันเลยยากขึ้น ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ
มันเหมือนเป็นความท้าทายของอาชีพครูอยู่แล้วที่จะต้องหาอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้เด็กที่ไม่เหมือนกันแต่ละคนได้เจอวิธีการสอนที่ต่างกันไป ซึ่งเรามองว่า แต่ละคนไม่ได้ชอบอะไรเหมือนกัน ครูแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกัน ตัวของผมเองก็อาจจะชอบวิธีการสอนแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ แต่เราต้องเตือนตัวเองว่า เฮ้ย จะทำแบบนั้นทุกคาบไม่ได้
หลักแนวคิดเบื้องหลังในการออกแบบการสอน คืออะไร
จริงๆ แผนและกิจกรรมในแต่ละคาบจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวชี้วัด’ อยู่แล้ว อย่างสมมติในหนึ่งเทอม คุณจะต้องเก็บเก็บตัวชี้วัดให้ได้ 10 ตัว ทีนี้ ในแต่ละกิจกรรมเนี่ยมันก็จะมีตัวชี้วัดที่ต่างกัน เช่น ตัวชี้วัดที่ชื่อว่าการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ แปลว่า การสอนคาบนั้น เราจะต้องทำให้ให้เด็กเข้าใจโจทย์นี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวชี้วัดคุณภาพ และเหมาะสมกับเด็ก
อย่างที่เรียนจากหยดเลือด เราก็จะให้เด็กอธิบายกลับมาให้ได้ว่า ทำไมหยดเลือดถึงบอกเกี่ยวกับตรีโกณมิติได้ ถ้าเกิดเด็กทำได้ ก็จะไปตอบตัวชี้วัดนั้น บางตัวชี้วัดเป็นเรื่องของการแก้สมการ การคิดเลข แม้ว่ากิจกรรมนั้นอาจจะไม่ต้องต้องจริงจังถึงขนาดคิดเลขก็ได้ แต่ว่าเราก็ลองไปเลือกกิจกรรมที่เป็นเกมเพื่อผลัดให้เด็กสนุกบ้าง
เพราะฉะนั้น ถามว่าเอาอะไรเป็นแกนหลัก อันดับหนึ่งก็คือตัวชี้วัด ซึ่งมีทั้งตัวชี้วัดของโรงเรียน และของหลักสูตรแกนกลาง หลังจากนั้นก็คือมาดูเด็กว่าเราจะทำยังไงให้เขาเหมาะกับตัวชี้วัด ให้ตัวนักเรียน ให้กิจกรรมกับตัวชี้วัดนั้นไปได้ด้วยกัน ทำให้เด็กของเราสนุกไปกับกิจกรรมนี้ได้
ที่ต้องเลือกตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์ เพราะถ้าเราเลือกที่จะสอนอะไรกับเด็กก็ได้ มันก็จะไม่มีมาตรฐาน การมีตัวชี้วัดจะช่วยเช็กว่า สิ่งที่เด็กเรียนอยู่นั้น มีเนื้อหาส่วนไหนขาดไปไหม ซึ่งบางเรื่องที่ขาดไปนี้ เราก็ไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะจริงๆ แล้วตัวชี้วัดก็เป็นการมองผ่านพัฒนาการของนักเรียนเหมือนกัน เราก็เชื่อใจในตัวคนเขียนตัวชี้วัดว่า เขาคิดมาแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะกับพัฒนาการของนักเรียน
ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำตามตัวชี้วัดทุกคาบ คือแน่นอนว่า เราต้องทำให้ได้ตัวชี้วัดร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน แต่ว่าคาบไหนที่เราเหลืออยู่เราก็สามารถเติมบางอย่างเข้าไปได้บ้างตามความสนุกของนักเรียน
นอกจากเลือดแล้ว จะเอาอะไรมาสอนแทนบ้าง คิดไอเดียได้จากไหน
ไอเดียต่างๆ เราไม่ได้คิดเอง อาชีพครูต้องมีรายงานใช่ไหมครับ เราได้ไอเดียหลายๆ อย่างมาจากการอ่านเปเปอร์ต่างประเทศ หรือบางทีก็ลองหยิบเนื้อหา ป.โท หรือ ป.ตรี มาย่อยให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่เคยหยิบมาใช้ เพราะเด็กถามตลอดว่าคณิตศาสตร์ ม.ปลาย เรียนไปแล้วจะทำอะไรต่อ คือมันได้ใช้ในระดับปริญญาตรีจริงๆ เราก็เลยไปหยิบเรื่องที่ได้ใช้ตอนเรียน ป.ตรี มาทำให้เห็นว่า เรียนไปแล้วจะได้ใช้แบบนี้นะ
การเอาเรื่องของชั้น ป.ตรี ป.โท จะทำให้ตอบเด็กได้ว่า เราเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม เช่น เราเรียนเรื่องเลือด นิติวิทยาศาสตร์ได้ใช้แน่ ถ้าเราเรียนเรื่องของระบบระบายน้ำ คณะวิศวกรรมก็ได้ใช้แน่ หรือเราเรียนเรื่องของการทำบัญชีด้วยเมติก แปลว่า สายบัญชีก็ต้องได้ใช้แน่ นั่นเป็นแรงบันดาลใจแรกให้นักเรียนได้รู้ตัวเองว่า ความรู้ที่เขาเรียนอยู่นี้จะได้เอาไปใช้ต่อในอนาคต
อีกอย่างคือการที่นักเรียนได้ลองสัมผัสอาชีพต่างๆ มา เขาก็จะมีอาจจะมีแนวโน้มเบื้องต้นว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งเขาจะได้เปิดโลกอาชีพของตัวเองว่ามันมีอาชีพแบบนี้อยู่ หลายคนอาจจะเพิ่งรู้จักอาชีพนี้ในวันนี้ หรือบางคนอาจจะรู้จักแล้ว แต่ไม่เคยลองดูจริงๆ ว่ามันใช้ความรู้อะไรบ้าง เขาก็จะได้ทดลองดู และสำรวจตัวเองมากขึ้น เราพยายามทำให้มันใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะไกลตัวในแง่ที่ว่า ยังไม่ถึงช่วงวัยที่เขาต้องเรียน ซึ่งเราดึงให้มันมาอยู่ในวัยเขาได้โดยการปรับเนื้อหาใหม่ให้เข้าใจง่าย ก็จะใกล้ตัวขึ้น
ได้ยินแบบนี้แล้วจะนึกถึงคําพูดของครูที่มักบอกว่า “เรื่องนี้ไม่ต้องเรียนหรอก ค่อยไปเรียนชั้นปีหน้า”
ต้องบอกว่า บางครั้งการกันเนื้อหาไว้แบบนั้นมันมีประโยชน์ เพราะเนื้อหาอาจจะเยอะไปจริงๆ แต่ในมุมที่ว่าเราอยากให้เขาเห็นการนําไปใช้ก็อีกเรื่อง ถามว่าเนื้อหาจริงๆ มันยากกว่านี้ไหม ยากกว่าเยอะ แต่ว่าหน้าที่ของเราคือการที่เรียบเรียงใหม่ให้มันเหมาะสมกับวัยของนักเรียนจริงๆ
เรารู้อยู่แล้วว่านักเรียนของเรามีศักยภาพเท่าไร เราก็แค่ปรับเนื้อหาเปลี่ยนตัวเลข เช่น เราไม่ต้องให้เด็กคิดเลขร้อยเปอร์เซ็นต์ เราให้เด็กใช้เครื่องคิดเลขได้ในบางช่วงของกิจกรรม ใช้เครื่องคิดเลขไปเลย เพราะว่าในชีวิตจริง คุณมีเครื่องคิดเลขอยู่ในมือ คุณมีโทรศัพท์อยู่ในมือ ทำไมไม่ใช้ล่ะ แล้วก็ให้เด็กใช้เครื่องคิดเลข ใช้อุปกรณ์ เพื่อที่จะให้รู้เขารู้สึกกล้าที่จะทำหรือว่าไม่กลัวที่จะเรียน
บางคนอาจจะคิดว่าใช้เครื่องคิดเลขแล้วจะคิดไม่เป็นหรือเปล่า? อันนี้ต้องแยกเป็นระดับตามช่วงวัย เพราะทักษะในการคำนวณนั้นสำคัญ การที่เราบวกลบคูณหารเลขเป็นนัยยะสำคัญมากๆ คําถามคือมันสำคัญระดับไหน ส่วนตัวผมมองว่า ม.ต้น ยังจำเป็นที่จะต้องคิดเลขร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ แล้วก็ต้องคิดให้คล่องด้วย ส่วน ม.ปลาย มีหลายเรื่องที่คิดเลขปกติยาก ซึ่งก็มีสองวิธีที่จะแก้ปัญหานี้
วิธีแรกคือใช้เครื่องคิดเลขได้ เหมือนวิชาเคมี ม.ปลาย ที่เอาเครื่องคิดเลขเข้าได้ สำหรับคณิตศาสตร์ก็เหมือนกัน หรืออีกวิธีก็คือเราปรับเลขให้มันง่าย โดยยังคงเนื้อหาหรือคงสูตรเดิมที่เป็นแกนของเนื้อหา ม.ปลาย เอาไว้ เรายังใช้สูตรตรีโกณมิติสูตรเดิมเลย มีอยู่ 30 สูตร ใช้สูตรเดิมหมดเลย แต่ว่าเราปรับตัวเลขให้ง่ายขึ้น ใช้เลขที่ลงตัว ก็จะทำให้ภาระของเขาไม่อยู่กับการคิดเลข แล้วไปอยู่ที่เนื้อหาแทน
แบบนี้เราจะใช้การประเมินอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าเด็กเข้าใจเรื่องที่เราสอนจริงๆ
การประเมินในคาบจะเป็นไปตามเกณฑ์ตามแผน อย่างเวลาทำแผนการสอนหนึ่งคาบ เราจะต้องมีแนวทางการประเมินอยู่แล้ว โดยส่วนแรกจะมาจากความร่วมมือในห้องว่าเด็กตอบคําถามเราได้ไหม เขาวัดได้หรือเปล่า เราลองปล่อยให้เด็กทำดูได้ไหม อันนี้ก็เป็นการวัดแบบแรก ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือมาจากใบงาน
เราก็ต้องรีเช็คตัวเองไปด้วย ไม่ใช่ว่าสรุปอย่างเดียว มันก็จะมีหลักเกณฑ์ของการสอน ก็อาจจะต้องมีการประเมินข้อหนึ่ง ข้อสอง ข้อสามในแต่ละคาบ แต่ว่าเราไม่ได้บอกว่า “นี่เดี๋ยวจะประเมินเธอนะ ฉันจะสอบเธอหลังคาบ” ไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่างมันอาจจะออกมาจากการที่เด็กทำออกมาแล้ว เช่น เราคุยกับเด็ก เด็กตอบได้เราก็เห็นอยู่แล้วว่า เด็กตอบได้ เด็กเข้าใจ เด็กอธิบายได้ เขาสามารถเชื่อมโยงตรีโกณมิติเข้ากับเนื้อหาในชีวิตประจำวันได้
พอพูดถึงวิชาคณิตศาสตร์ หลายคนก็จะมองว่ายาก ครูคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
คณิตศาสตร์ยากครับ ไม่แก้ตัว (หัวเราะ) ซึ่งความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่ชอบคณิตศาสตร์ ก็เข้าใจได้ว่าทำไมไม่ชอบ ซึ่งถ้าเป็นการไม่ชอบด้วยตัวเอง เราเข้าใจ แต่บางครั้ง เรากลัวไง บางคนเราได้ยินว่าคณิตศาสตร์ยากทั้งที่ยังไม่ได้ลองเรียน เปิดเทอมมาก็ไม่เอาแล้ว ไม่อยากเรียนคณติศาสตร์แล้ว ซึ่งเราอยากให้ลองเปิดใจดูก่อน ค่อยๆ เรียนดูก่อน ถ้าไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องลองหาเส้นทางไปต่อที่อาจจะไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์เยอะ
แต่ทีนี้พอเราต้องเรียนแล้วล่ะ ถ้าในกรณีที่มันต้องเรียน ก็จะต้องมีวิธีในการที่เราจะสู้ไปกับมันให้ได้ ก็เป็นกําลังใจให้สำหรับเรื่องคนที่มองคณิตศาสตร์ยาก คือเข้าใจจริงๆ ส่วนตัวเราก็มองว่าฟิสิกส์ยาก เพราะฉะนั้นเราก็จะมีวิธีในการหลีกเลี่ยงฟิสิกส์ของเราเอง
ถ้าอย่างนั้น อะไรคืออุปสรรคในการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กบ้าง นอกจากเรื่องความกลัวแล้วมีอย่างอื่นด้วยไหม
วิชาคณิตศาสตร์ คือวิชาที่เราพูดถึงโมเดลของสิ่งๆ หนึ่ง โมเดลของสิ่งนั้นมันทำงานยังไง อย่างในเรื่องการหาค่าเฉลี่ย มันเกิดจากการเอาข้อมูลมารวมกันแล้วก็แบ่งเท่าๆ กัน แล้วเราค่อยเปลี่ยนให้อยู่ในรูปสูตรที่ใช้งานได้ แต่บางคนข้ามไปจำเลย แล้วพอได้ใช้งานจริงๆ เขาก็ลืมว่ามันใช้งานยังไง คล้ายกับว่าเรามีเครื่องยนต์อยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเครื่องยนต์นั้นทำงานยังไง จนกลายเป็นว่าเราก็ไม่สามารถทำงานนั้นได้
เพราะฉะนั้น สำหรับผมคิดว่า เราอาจจะต้องเริ่มจากการเข้าใจก่อนว่า คณิตศาสตร์จริงๆ ทำงานยังไง เนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไรกันแน่ด้วยซ้ำ เพราะคณิตศาสตร์มันไม่ใช่เลข ถ้าเป็นการบวกลบเลข มันจบไปตั้งแต่ ป.สามแล้ว สิ่งที่เราเจอมาตลอด ม.ต้น จนถึง ม.ปลาย มันคือระบบคณิตศาสตร์ คือการมองทั้งระบบของการจัดค่าต่างๆ ก็ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือระบบเมติก หรือว่าพูดถึงตรีโกณมิติ มันก็คือ ความสัมพันธ์ของสามเหลี่ยม ถ้าเราเข้าใจระบบนั้น เดี๋ยวสูตรต่างๆ ก็จะตามมาเอง ไม่ใช่การไปท่องจำ
เราต้องไม่สอนให้เด็กท่องจำอย่างไม่เข้าใจ และต้องไม่เน้นไปที่การคิดเลขอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
บางคนทำถูกหมดเลย มาผิดคิดเลขบรรทัดสุดท้ายแล้วได้ศูนย์คะแนน ก็ไม่ใช่นะ นั่นไม่ใช่หัวใจของคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำ เป็นแค่ความผิดพลาดนิดๆ หน่อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะโดนหักคะแนนแค่นิดเดียว เราพยายามลดความกดดันในเรื่องของการคิดเลข แล้วให้เด็กโฟกัสเกี่ยวกับระบบสูตรว่าอ่านโจทย์แล้วเปลี่ยนมาเป็นสูตรได้รึเปล่า ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญในการเรียน
ถึงอย่างนั้น ก็อาจจะมีบางคนที่พูดว่า เรียนไปแล้วไม่เห็นได้ใช้เลย
ชีวิตประจำวันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขาจะต้องใช้คณิตศาสตร์จริงๆ ซึ่งการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับ ม.ปลาย เราเรียนเพื่อที่จะพัฒนาหรือต่อยอดไปใช้กับชีวิตประจำวันอีกแบบหนึ่ง เช่น เป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นว่าชีวิตประจำวันของเขาต้องใช้คณิตศาสตร์แบบไหน หรือบางคนอยากเป็นวิศวกร ก็ต้องใช้คณิตศาสตร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากใช้ชีวิตประจำวันในอนาคตแบบไหนก็ต้องลองเลือกดู
ถ้าใช้เวลาในการออกแบบการสอนนานแล้ว คิดว่าในระยะยาวจะยังสามารถออกแบบได้อย่างนี้อยู่ไหม
จริงๆ ไม่แน่ใจในอนาคตตัวเองเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ เราทำเป็นเงื่อนไขของตัวเอง เป็นโจทย์ของตัวเอง เรามีปัญหาเป็นข้อท้าทายของตัวเราเองในทุกวันนี้ว่า เราอยากจะทำแบบนี้ให้ได้เดือนละครั้ง ในหนึ่งเดือนเราต้องมีอะไรที่มันแปลกๆ จากการสอนตามปกติในห้องเรียน กำลังทดลองอยู่เหมือนกันว่า เราจะทำได้ไหมถ้าเดือนละครั้ง เราพยายามหามาตั้งเป็นโจทย์ให้กับตัวเองเลยจะได้แบบรู้สึกว่าท้าทาย นี่คือเป้าหมายระยะสั้นในตอนนี้
มีครูหลายคนที่อยากออกแบบการสอนสนุกๆ ให้กับนักเรียนเหมือนกัน แต่เขาทำไม่ได้ ในฐานะที่เป็นครูเหมือนกัน คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครูไม่สามารถออกแบบการสอนอย่างนี้ได้
ปัญหามันมีหลายด้านมากๆ เลย ตั้งแต่ปัญหาเรื่องจำนวนของครูกับนักเรียน บางโรงเรียนชั้นเรียนหนึ่งมีนักเรียน 50 คน การจัดกิจกรรมก็จะค่อนข้างลำบาก เทียบกันกับเราสอนกิจกรรมนี้ มีเด็กนักเรียนประมาณ 30 คนก็ถือว่าค่อนข้างแน่นแล้ว ซึ่งพอนักเรียนเยอะมากก็จะเป็นปัญหากับการสอนในรูปแบบกิจกรรม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่คู่มากับระบบ อันนี้ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อยเลยคือ ระบบข้าราชการและงานเอกสาร เราได้ยินกันบ่อยมากว่าครูต้องไปทำงานเอกสาร ซึ่งก็มีคนรู้จักหลายคนที่เข้าไปเจอกับระบบนั้นแล้วมีปัญหาจริงๆ เรามีรุ่นพี่ที่เขาจัดกิจกรรมเก่งกว่านี้มากๆ บางคนก็ยังสามารถทำแบบนั้นได้อยู่ เพราะอยู่ในโรงเรียนเปิดโอกาสให้ ขณะที่บางคนเก่งในการจัดกิจกรรม ม.ปลาย แต่กลับถูกจับไปสอนในโรงเรียนประถมศึกษาจากการบรรจุของระบบ ซึ่งเราว่าค่อนข้างน่าเสียดาย และเป็นการพาเขาไปอยู่ไม่ถูกจุด
ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หลายแบบนี้ ทั้งให้งานผิดตำแหน่งกับคน ทั้งระบบภาระงานต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงงานจิปาถะที่ดึงครูออกจากห้องเรียน ล้วนเป็นปัญหาต่อครูทั้งหมด มีเพื่อนบางคนตอนนี้ช่วงพักเที่ยงเขาต้องไปยืนอยู่ร้านสหกรณ์ บางคนต้องอยู่เข้าเวรจนดึก ซึ่งดึงเวลาในห้องเรียนออกไปจากครู
อย่างตอนนี้ เราโชคดีที่อยู่โรงเรียนเอกชนที่เราพอจะมีเวลาในการเตรียมตัวมากกว่า เลยยิ่งทำให้เห็นข้อเปรียบเทียบว่า เพราะเรามีเวลา เราถึงสามารถทุ่มเทกับการสอนได้ ไม่ใช่ว่าครูไม่อยากทำ มีครูหลายคนที่เราเชื่อว่าเก่ง แต่มันมีปัญหาที่แต่ละคนต้องเจอ
ส่วนตัวนิยามคําว่า ‘ครู’ ว่ายังไง มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง
ครูมีหลายหน้าที่เลย แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดของการเป็นครูคือ การเตรียมความพร้อมให้นักเรียน เราต้องเตรียมความพร้อมว่า เขาพร้อมที่จะใช้ชีวิตในปีถัดๆ ไปไหม ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
การเตรียมความพร้อมไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องไปสอนทั้งหมด เรารู้อยู่แล้วว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ เราพยายามหาประสบการณ์ต่างๆ ให้ เรามีหน้าที่แค่ให้เขาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัย
หน้าที่ของครูคือการปล่อยให้เขาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัย โดยที่ครูอาจจะคอยยืนกันหลังให้เขา ไม่ให้เขาล้มแรงเกินไป
ส่วนในเรื่องของวิชาการ ปัจจุบันเด็กอยากเรียนเก่งก็เรียนได้อยู่แล้ว ถามว่าสําคัญไหม ก็มีผล แต่ว่าเราลองหาเรื่องอื่น นอกจากวิชาการตรงๆ นอกจากเลเซอร์ตรงๆ พามาลองให้เขาเรียนรู้ดูบ้างไหม อย่างกิจกรรมกลุ่มของเรานอกจากการที่เรียนตามวิชาการแล้ว เราต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องให้ได้ เรามองเห็นว่าเด็กขาดปฏิสัมพันธ์ในห้อง ก็ต้องหาวิธีให้เขาได้สกิลตรงนี้ด้วย เพื่อให้เขามีโซนปลอดภัยในห้องเรียน
คิดว่านิยามความเป็นครูที่พูดมา ตรงกับความคาดหวังของสังคมไทยไหม
เราพูดตรงๆ ว่า ครูก็กินเงินเดือน ซึ่งแปลว่าเรามี job description อยู่ เราก็มีสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่างานของเราคืออะไร พื้นฐานเลยก็คือการสอน การประเมิน การออกข้อสอบ การดูแลนักเรียนประจำชั้น มันเป็นพื้นฐานที่เราทุกคนทราบว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ
แต่บางครั้ง เราก็จะเจอความคาดหวัง อย่างที่บอก การโดนให้ไปยืนเข้าเวรที่สหกรณ์เป็นอะไรที่เพิ่มภาระงานให้ครูได้ การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้คนภายนอกมองว่าครูจะต้องเหมือนกับ ‘ครูในโฆษณา’ ที่สุดท้ายแล้วเขาไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นครูจริงๆ เราอยากเชื่อว่าเราทำเพื่อเด็ก แล้วก็ไม่อยากให้ไปกดดันว่าครูทุกคนต้องทำแบบนั้น ครูแต่ละคนมีปัญหาของตัวเอง มีภาระของตัวเอง เราชื่นชม แต่ในขณะเดียวกันเรายังเห็นครูที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
ที่บอกว่าเป็น ‘ครูผู้เสียสละ’ จริงๆ เขาต้องการความช่วยเหลือมากๆ ในการช่วยจัดการเรียนการสอนให้เขา เพราะฉะนั้น ชื่นชมได้ แต่ว่าอย่างน้อยเราอยากให้ได้เกิดการพัฒนาหรือแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย อย่าให้ครูต้องรับภาระอยู่คนเดียว มันมีแรงกดดันสำหรับสายอาชีพนี้ แล้วก็มีแรงคาดหวังเล็กๆ ว่า จะต้องทำแบบนี้ไหม เสียสละมากกว่านี้ไหม เป็นอาชีพที่โดนผูกกับคําว่าเสียสละอยู่พอสมควร ซึ่งเรามีอุดมการณ์ของเราอยู่แล้ว แต่แค่อย่าคาดหวังจนเอามากดทับ หรือเอาอะไรมากองที่เรา
เล่าเกี่ยวกับตัวเองอีกนิดนึง ว่าทำไมถึงตัดสินใจมาเป็นครู
จริงๆ ทั้งพ่อและแม่จบครู แต่ไม่ได้เป็นครูเลยทั้งคู่ ไม่มีใครเคยเป็นครูมาก่อนเลย ส่วนตัวเรารู้สึกว่าตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมรู้สึกแล้วว่า เฮ้ย เราสนุกกับการที่เราได้อธิบาย ตอนนั้นภาพของภาพครูของเราตอนมัธยมก็ไม่เหมือนกับเราตอนนี้ ก็คือเรามองว่าครูคือคนที่สอนหนังสืออย่างเดียว แล้วเราสอนเพื่อน เราก็รู้สึกสนุก ทีนี้มีช่วงที่ต้องตัดสินใจอีกคือ ม.5-6 ตอนนั้นยังไม่ได้มองด้วยซ้ำว่า ชอบคณิตศาสตร์ เราแค่อยากเป็นครู เป็นครูอะไรก็ได้ แล้วเผอิญคะแนนคณิตเราได้สูง ก็เลยมาเรียน
เราอยากอยู่ในวงการการศึกษานะ แต่ว่ามันมีอีกหลายทางเลือกที่เราเป็นได้ ถามว่าจริงๆ ตอนนี้สนุกกับการเป็นครูไหม ก็สนุกนะ แต่เราก็รู้ตัวว่า เราไม่ได้เหมาะกับการเป็นครูร้อยเปอร์เซ็นขนาดนั้น เราสนุกกับการคิดกิจกรรม แต่เรายังรู้อยู่ว่า เราต้องพัฒนาเรื่องของการสอนในห้องเพิ่มเติม ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปได้ตามช่วงวัยด้วย เราอาจจะยังอยู่ในวงการการศึกษาอยู่ หลังจากเป็นครูแล้วอาจจะไปเขียนหนังสือสอนเด็กต่อ แล้วเราคิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าจะพัฒนาทั้งระบบให้ไปได้ไกลกว่านี้
ตอนที่ตัวเองเป็นนักเรียน มองวิชานี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนมัธยมเราเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ไม่ได้เน้นสายวิทย์คณิตขนาดนั้น เขาจะไปทางสายศิลปะมากกว่า ซึ่งเราก็ยกเครดิตในเรื่องของการคิดสร้างสรรค์รูปแบบการสอนให้กับที่โรงเรียนด้วย ส่วนที่มาได้ออกแบบการสอนจริงๆ มาจากตอนเรียนคณะครุศาสตร์มากกว่า เขามีจัดค่ายกิจกรรม และพยายามบอกเราว่า เราจะไม่สามารถมาสอนปกติได้นะ
มีอาจารย์คนหนึ่งเคยพูดว่า เด็กที่เขามาเรียนกับเราในช่วง เสาร์-อาทิตย์ ถ้าเราสอนเหมือนตอนที่เขาอยู่โรงเรียนแล้วเขาจะมาเรียนกับเราทำไม เลยทำให้รู้สึกว่า เราไม่สามารถสอนแบบธรรมดาเหมือนบรรยายในห้องทั่วไปได้ ต่อให้จะบรรยายได้สนุกแค่ไหนก็ตาม เลยเหมือนกับว่า เราได้เทรนด์ตัวเองในการทำกิจกรรมแบบนี้มาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว ด้วยการที่เราต้องหาวิธีสอนให้แตกต่างเพื่อให้เด็กสนใจ
มีเรื่องไหนไหมที่เป็นสิ่งที่ตอนเรียนเราไม่ชอบ แล้วคิดว่า ตอนที่เรามาเป็นครูแล้ว เราจะไม่ทำแบบนั้น
เราอยากให้เห็นใจครูเหมือนกัน สำหรับบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ โดยหลักเลยมันมีอีกวิธีหนึ่งที่พอทำให้ทำคณิตศาสตร์ได้ คือการทำโจทย์เยอะๆ ให้เราเห็นแพทเทิร์น เป็นการเรียนแบบอุปนัย พอเราเห็นทุกอย่างเยอะๆ เราจะเริ่มเห็นแพทเทิร์นของโจทย์ แล้วเราจะทำได้ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ทั้งหมด การที่เราจะทำอุปนัยทุกๆ คาบ แปลว่าคาบหนึ่งคุณต้องทำโจทย์เป็นร้อยข้อเลย กว่าจะได้แนวเนื้อหา มันเลยเป็นที่มาของปริมาณการบ้านที่ค่อนข้างเยอะ เราเลยพยายามจะเปลี่ยน ไม่ให้ปริมาณมันเยอะ แต่ทำโจทย์ข้อหนึ่งได้นานๆ คาบหนึ่งเอาโจทย์แค่ 2-3 ข้อพอ แล้วเรามาคุยกันว่าถ้าเราเจอถ้าเราเจอโจทย์แบบนี้ เรายังรักษาโครงสร้างของการแก้โจทย์แบบนี้ได้หรือเปล่า แทนที่เราจะปล่อยให้เด็กทำการบ้านมา 20 ข้อ ส่งให้เราตรวจเลยว่า ถูกผิดยังไง มันเป็นภาระทั้งกับเด็กและเราอยู่แล้ว อันนี้มันเป็นสิ่งที่อยากจะไม่ทำ
สิ่งที่อยากย้ำไว้สุดท้ายคือ แต่ละคนเด็กแต่ละคนเขาไม่เหมือนกัน จริงอยู่ว่าหน้าที่ของเราหลักๆ เลยคือการทำให้เด็กผ่านตรงนั้นไปให้ได้ แต่แน่นอนว่า มันต้องมีคนที่ทำไม่ได้ แล้วเราจะทำยังไง ในเมื่อเขาไม่ชอบ เราต้องเข้าใจตรงนั้นก่อนว่า เรามีเกณฑ์ตามสูตรของเราอยู่แล้วแหละ
แต่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันว่าเขาทำได้ ขณะเดียวกัน เด็กที่ทำได้แล้ว เราก็ต้องสนับสนุนเขา เป็นเรื่องของการมองเด็กรายบุคคล ซึ่งยังคิดว่าตรงนี้มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ ห้องเรียนมันดูเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้