น่าจะราวต้นปี พ.ศ.2562 บังเอิญได้พบหนังสือเก่ายุคทศวรรษ 2470 ซึ่งชวนให้ผมหวนระลึกถึงการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สมัยที่ยังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา กระทั่งต้นปี พ.ศ.2563 ความถวิลหาดังกล่าวก็ยังติดตรึงมิวาย ‘หนังสือ’ เล่มนั้นคือ สรพงษ์คำนวณ
เห็นชื่อก็สะดุดตาไม่เบา
‘สรพงษ์’ คือใคร? และทำไมต้อง ‘คำนวณ’ ?
พอพลิกเข้าไปอ่านข้างในเล่มจึงถึงบางอ้อ เข้าใจแจ่มชัด
‘สรพงษ์’ นั้นมาจากนาม ชั้น ช. สรพงษ์ ผู้ครองบรรดาศักดิ์ขุนสันธานธนานุรักษ์ และเป็นผู้จัดทำหนังสือ ส่วน ‘คำนวณ’ มาจากเนื้อหาอันประกอบด้วยสูตรและมาตราที่จำเป็นต้องใช้คิดคำนวณแต่ละสรรพสิ่งในชีวิตประจำวัน
ขุนสันธานธนานุรักษ์แจกแจงความในใจผ่าน ‘คำนำ’ ของหนังสือ ซึ่งลงวันศุกร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2474 ไว้ว่า
“การที่คิดรวบรวมตําหรับ ‘สรพงษ์คํานวณ’ เล่มนี้ขึ้น ด้วยมีความประสงค์อยู่ 3 ประการ คือ เพื่อจะให้มาตราต่างๆ มารวมอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกันประการ 1 เพื่อรักษาความรู้เบ็ดเตล็ดอันมีอยู่มิให้สาบศูนย์เสียประการ 1 และเพื่อเป็นเครื่องช่วยเหลือการคํานวณบางอย่างให้ง่ายขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่ให้ไว้อีกประการ 1 จึงได้จัดการพิมพ์ขึ้นครั้งที่ 1 นี้มีจํานวนสองพันฉะบับ เป็นสัมมานสักการแก่ท่านทั้งหลาย หากท่านผู้ใดได้พบปะและอ่านหนังสือนี้ เห็นมีการผิดพลาดขาดตกบกพร่องประการใด ซึ่งอาจจะมีเพราะความพลั้งเผลอหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาแต่น้อยแล้ว โปรดชี้แจงให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงเหตุนั้น และเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใช้หนังสือนี้ ไว้เป็นหลักในการคํานวณบางอย่าง จะเป็นบุญคุณแก่ข้าพเจ้าหาที่สุดมิได้.”
ชั้น ช. สรพงษ์ยัง “..ขออุททิศส่วนผลานิสงค์อันจะพึงบังเกิดจากการพิมพ์หนังสือนี้ ให้แก่ผู้ซึ่งวายชนม์ไปสู่ปรโลกแล้ว เพื่อได้รับประโยชน์และความสุข แล้วอนุโมทนาส่วนกุศลนั้น ๆ ตามคติวิสัยและฐานนิยมที่สามารถจะเป็นไปได้ทุกประการ..” พร้อมทั้ง “อนึ่งขอให้ท่านทั้งหลายผู้ซึ่งได้พบอ่านหนังสือนี้ จงเจริญอยู่ด้วยสุขสวัสดีชั่วกาลนาน เทอญ.”
สรพงษ์คำนวณ มีลักษณะรูปเล่มแบบสมุดฝรั่งขนาดเท่าๆ ผ่ามือ ความยาวทั้งหมด 100 หน้า ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2474 โดยโรงพิมพ์เจตนาผล สิ่งที่ขุนสันธานธนานุรักษ์ (ชั้น ช. สรพงษ์) รวบรวมมานำเสนอ ได้แก่
ตารางสูตรคูณ, ตารางการแยกแฟ็กเตอร์, กฎแห่งเครื่องหมายพีชคณิต วิธีสังเกตเลขที่จะหารลงตัว, การคูณโดยวิธีลัด, การหารโดยวิธีลัด, วิธีตรวจผลบวก, วิธีตรวจผลลบ, วิธีตรวจผลคูณ, วิธีตรวจผลหาร (ที่หารลงตัว), วิธีตรวจผลหาร (ที่หารไม่ลงตัว) และวิธีหาผลลัภโดยทวีตัวเองทีละหนึ่ง
มาตราวัด เช่น มาตราวัดระยะสยาม อังกฤษ เมตริก (ฝรั่งเศส), มาตราชั่งน้ำหนักสยาม อังกฤษ เมตริก (ฝรั่งเศส), มาตราวัดพื้นที่สยาม อังกฤษ เมตริก (ฝรั่งเศส)
มาตราตวง เช่น มาตราตวงสยามสำหรับตวงเข้าเปลือกหรือเข้าสาร, มาตราตวงสยามสำหรับตวงน้ำมัน, มาตราตวงอังกฤษสำหรับตวงของแห้ง, มาตราตวงอังกฤษสำหรับตวงของน้ำ, มาตราตวงอังกฤษสำหรับตวงยา, มาตราตวงเมตริก
มาตราลูกบาศก์ เช่น มาตราลูกบาศก์ (วอลุม) สยาม, มาตราลูกบาศก์ (วอลุม) อังกฤษ, มาตราลูกบาศก์ (วอลุม) เมตริก
มาตราชั่ง เช่น มาตราชั่งทองคำสยาม, มาตราชั่งเพ็ชร์สยาม, มาตราชั่งทองคำ, เงิน, เพ็ชร์ อังกฤษ
และการเทียบมาตราทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งแบบสยาม อังกฤษ เมตริก รวมถึงวิธีการเปลี่ยนมาตรา
มาตราที่ผูกโยงกับจำพวกกาลเวลาและนานาศักราชก็ปรากฏเช่นกัน เช่น มาตราเวลา, มาตราจักรราศีสยาม, มาตราจักรราศีอังกฤษ, ชื่อเดือนตามปีสุริยคติ, วิธีหาวันรวมในระวางปี, การเทียบศักราชต่างๆที่ตรงกับ พ.ศ. 2474, วิธีคิดศักราชต่างๆ (พุทธศักราช, จุลศักราช, รัตนโกสินทรศก คริสต์ศักราช ศักราชยิมุของญี่ปุ่น ศักราชยิว และฮิจเราะห์ศักราช),วิธีหาปีสุริยคติหรือปีอธิกสุรทิน, ปีอธิกสุรทินที่มี 366 วัน, วิธีหาปีจันทรคติ, วิธีหาเวลาเทียบกันทั่วโลก และวิธีการเทียบเวลาต่างๆทั่วโลก
ทางด้านสูตรคำนวณคณิตศาสตร์ก็เช่น วิธีหาดอกเบี้ย, วิธีหาเงินรวม, วิธีหาต้นทุน, วิธีหาค่าร้อยละ (เปอร์เซ็นต์), วิธีหาดอกเบี้ยชั่งละเป็นร้อยละ และวิธีเทียบดอกเบี้ยชั่งละต่อเดือนเป็นร้อยละต่อปี มิเว้นกระทั่งสูตรเรขาคณิต เช่น วิธีหาด้านของเนื้อที่, วิธีหาเนื้อที่สี่เหลี่ยมจตุรัส, วิธีหาเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า, วิธีหาเนื้อที่สามเหลี่ยมหน้าจั่ว, วิธีหาเนื้อที่รูปชายธง, วิธีหาเนื้อที่รูปคางหมู, วิธีหาเนื้อที่รูปขนมเปียกปูน, วิธีหาเนื้อที่รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า, วิธีหาเนื้อที่รูปเหลี่ยมด้านไม่เท่าตั้งแต่ห้าเหลี่ยม วิธีหาเนื้อที่รูปวงกลม, วิธีหาเนื้อที่หลายเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ภายในวงกลม, วิธีหาเนื้อที่ของรูปไข่ตัด, วิธีหาเส้นรอบวงกลมรูปไข่ตัด, วิธีหาเนื้อที่ผิวนอกรูปกระบอกตัน, วิธีหาเนื้อที่ผิวนอกรูปกรวยตัน, วิธีหาเนื้อที่ผิวนอกรูปกรวยตัดต้น, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์รูปกระบอก, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์รูปกรวยแหลม, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์รูปกรวยตัด, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์รูปไข่, วิธีหาเนื้อที่เหลี่ยมลูกบาศก์รูปลิ่ม และวิธีหาเส้นวัดผ่าศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ
ยังมีวิธีคิดราคาเฉลี่ยของที่เป็นเถา, วิธีคิดหน้าไม้, วิธีเปลี่ยนปรอทวัดความร้อนหนาว และวิธีเบ็ดเตล็ดต่างๆ
แท้จริง สื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรและมาตรานั้น ดูเหมือนได้ออกเผยแพร่สู่สายตานักอ่านสยามมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2450 แล้ว เฉกเช่น มาตราเมตริค ที่จัดทำโดยกรมราชบัณฑิตในปี พ.ศ.2453, เลขมาตราต่างๆ ผลงานของ อี.เอส. สมิธ กรมศึกษาธิการจัดพิมพ์ในรัตนโกสินทรศก 129 (ตรงกับ พ.ศ.2453) และหนังสือมาตราตวงวัดเล่มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี สูตรและมาตราใน สรพงษ์คำนวณ ซึ่งตีพิมพ์ปี พ.ศ.2474 ย่อมแตกต่างจากที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ยุคต้นทศวรรษ 2450 โดยเฉพาะเรื่องการชั่งตวงวัด ทั้งนี้สืบเนื่องจากบริบทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย นั่นเพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลสยามพยายามนำเอามาตราชั่ง ตวง วัดแบบสมัยใหม่มาใช้อย่างเป็นทางการได้สำเร็จ (ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เคยมีความพยายามนำมาตราชั่ง ตวง วัดระบบเมตริกมาใช้ แต่ไม่สำเร็จ) และนำประเทศสยามเข้าเป็นสมาชิกในอนุสัญญาระบบเมตริก (The International Metric Convention) ในปี พ.ศ.2455 โดยแจ้งความจำนงไปยังสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Measures) ณ ประเทศฝรั่งเศส
ครั้นต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดฉบับแรก หรือ ‘พระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช 2466’ รัฐบาลสยามยังเริ่มให้มีการนับเวลาแบบใหม่เพื่อสอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม ประกาศเปลี่ยนมาใช้เวลาอัตราของไทยก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชั่วโมงนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2463
แน่นอนว่า มาตราชั่ง ตวง วัดและมาตราเวลาในผลงานของชั้น ช. สรพงษ์ จึงเป็นข้อมูลสมัยใหม่ แบบเป็นสากล
ขุนสันธานธนานุรักษ์ หรือ ชั้น ช. สรพงษ์ เป็นบุคคลในอดีตที่ผมปรารถนาทำความรู้จัก แต่พอลองสืบค้นประวัติของท่านขุน กลับไปพบขุนสันธานธนานุรักษ์ที่มีนามว่า ชัยประสิทธิ์ สันธานา แทน ทีแรกก็ตรองคิดว่าจะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ยิ่งค้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ค้นพบว่า ใช่คนเดียวกันนั่นแหละ เดิมทีเคยใช้ชื่อชั้น ช. สรพงษ์ ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น ชัยประสิทธิ์ สันธานา
ท่านขุนเกิดวันศุกร์แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง (ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2436) ณ บ้านเลขที่ 1231 ถนนดินสอ ย่านเสาชิงช้า พระนคร เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของนายเชื้อและนางไย (พี่น้อง 4 คน ซึ่งเป็นชายทั้งหมด มีชื่อ ช. 3 คน คือ ชื้น ชั้น และช้วน) ภายหลังสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็เข้ารับราชการในกรมพระคลังข้างที่จนถึงปลายทศวรรษ 2470 ส่วนบรรดาศักดิ์ ‘สันธานธนานุรักษ์’ ได้รับเมื่อปี พ.ศ.2464
ท่านขุนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2510
ขณะพลิกหน้ากระดาษไล่สายตาอ่านตัวอักษรและตัวเลขใน สรพงษ์คำนวณ บางสิ่งบางอย่างพลันผลิบานท่ามกลางความนึก ยอมรับสารภาพเลยว่าผมหลงลืมสูตรและมาตราสารพัดที่เจอจากหนังสือไปแล้วไม่น้อย ทั้งๆที่สมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาเคยจดจำได้อย่างแม่นยำ เพราะต้องใช้ในการเรียนและการสอบวิชาคณิตศาสตร์เสมอๆ แต่พอผมเติบโตขึ้นและมาเน้นร่ำเรียนหนังสือสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ความที่ผมมิค่อยได้ใช้สูตรและมาตราเหล่านี้ จึงทำให้รู้สึกเลือนรางจางหาย ถ้าจะมีที่ได้ใช้บ้างบ่อยๆในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ก็คือ วิธีคำนวณเปลี่ยนศักราชต่างๆ
ที่ผุดพรายขึ้นมาอีกแวบคงมิพ้นภาพตอนพ่อกับแม่สอนการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาให้ผม ตอนนั้น พ่อกับแม่ก็ต้องนั่งทบทวนจากหนังสือแบบเรียนอยู่สักครู่ กว่าจะสอนให้ผมใช้สูตรหาพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูได้
ครับ นอกเหนือจากการเอื้ออำนวยให้ผมได้ย้อนกลับไปสัมผัสวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งมิได้คลุกคลีมานานแล้ว หนังสือ สรพงษ์คำนวณ ยังช่วยให้ผม ‘คำนึง’ ถึงความทรงจำแห่งวันวาน
ผมยังลองคิดเล่นๆว่า บางที คงได้มาทบทวนความรู้คณิตศาสตร์ที่เผลอลืมไปอย่างจริงจังอีกที ก็ในวันหนึ่งข้างหน้าตอนสอนการบ้านลูกๆ ของผมกระมัง
เอกสารอ้างอิง
- กรมราชบัณฑิต. มาตราเมตริค. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2453
- เซเดส์, ยอช, บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง และ สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ตำนานพระพิมพ์ พระพุทธรูปสมัยต่างๆในประเทศไทย พุทธศิลปในประเทศไทย. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนสันธานธนานุรักษ์ ( นายชัยประสิทธิ์ สันธานา) ณ วัดธาตุทอง สุขุมวิท พระนคร 20 กรกฎาคม 2510. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จำลองศิลป์, 2510
- วิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์),ขุน. 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523. กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์, 2523
- สมิธ, อี. เอส. เลขมาตราต่างๆ. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2453
- สันธานธนานุรักษ์ (ชั้น ช. สรพงษ์), ขุน. สรพงษ์คำนวณ. พระนคร : โรงพิมพ์เจตนาผล, 2474