ถ้าวันนี้คุณกำลังวางแผนจะมีลูก คุณคิดว่าคุณต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง?
แน่นอนว่าปัจจัยที่เราต้องนึกถึง เมื่อวางแผนเลี้ยงเด็กคนหนึ่งนั้นหลากหลายมาก ทั้งปัญหาสุขภาพ อายุที่มากขึ้น ค่าเทอมลูก หน้าที่การงาน การเงิน สังคม เศรษฐกิจ และอีกมากมายเกินจะบรรยายให้จบในบทความเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเริ่มหันไปฝากไข่ (Egg Freezing) กันมากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นคนรอบตัว หรือคนดังในโซเชียลมีเดีย ที่ต่างเล่าถึงประสบการณ์การฝากไข่ของตัวเองกันมากขึ้น
แล้วปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรเรา? วันนี้ The MATTER ขอชวนผู้อ่านหาคำตอบ ผ่านเรื่องราวของผู้หญิงอีกสามคน ที่ทั้งเคยมีประสบการณ์หรือกำลังตัดสินใจจะฝากไข่
ความพร้อมของคนเป็นแม่
“พออายุเพิ่มขึ้น คนรอบตัวเริ่มถามว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน จะเลยโค้งแล้ว 35 คืออายุ ที่ไข่ยังมีคุณภาพดีโค้งสุดท้าย” หนิม–คนึงพิมพ์ ธนพิชชากรณ์ หรือหนิม AF5 นักร้องนักแสดง ในวัย 37 ปี กล่าวถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจฝากไข่
“ถ้าเราท้องปุ๊บ เราก็จะไม่ได้ทำงาน เพราะเราใช้ตัวเองทำงาน ถ้าเราไม่ทำงานเราก็ไม่มีเงิน” หนิมเล่าว่า ตอนที่เธอตัดสินใจฝากไข่ เป็นช่วงที่งานค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะงานในวงการบันเทิง ที่มีระยะเวลาในการทำงานสั้นมากๆ ทำให้ไม่สะดวกที่จะตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตร
หนิมมองว่าความพร้อมในการมีลูกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเธอ เธอมองว่า “ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเราเองยังดูแลตัวเองลำบากอยู่เลย พอมีลูกมาก็จะทำให้เขาต้องมาลำบากไปด้วย รวมถึงชีวิตเราเองก็ลำบากขึ้นอีก”
นอกจากนี้ ‘การศึกษา’ ยังเป็นอีกหนึ่งความพร้อมที่เธอมองข้ามไม่ได้
“เราเกิดต่างจังหวัด เราเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่ต่างจังหวัด พอเรามาอยู่กรุงเทพ เราเห็นชัดๆ เลยว่ามาตรฐานการศึกษาไม่เท่ากัน และห่างกันอย่างสิ้นเชิง” หนิมกล่าว พร้อมระบุว่าเธอคิดเรื่องการศึกษาอยู่เยอะพอสมควร เนื่องจากเธอต้องการให้ลูกมีการศึกษาที่ดี ซึ่งก็หมายความว่าเธอต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นการฝากไข่จึงกลายเป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์สำหรับเธอ พร้อมกับกล่าวต่อว่า
“การเลี้ยงลูกมันก็ไม่ใช่แค่ว่า เขาเกิดมามีข้าวกิน” — หนิม
เมื่อถามว่าการฝากไข่คุ้มค่าหรือไม่ หนิมบอกกับเราว่าเธอเสียเงินไปราว 2 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก แต่เธอคิดว่าเป็นราคาที่ ‘คุ้มค่า’ เพราะเป็นเหมือน การ ‘ซื้อเปอร์เซ็นต์ในการตั้งครรภ์ในอนาคต’ ที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์และมีลูกได้มากกว่า เพราะหากเวลาผ่านไปแล้ว คุณภาพไข่จะลดลงอย่างรวดเร็วด้วย
การเลี้ยงลูกในประเทศไทยกับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง
“เคยสังเกตจากรุ่นพี่ หลายคนดูแต่งงานช้ามาก กว่าจะเรียนจบ กว่าจะนู่นกว่าจะนี่ กว่าชีวิตจะอยู่ตัว มันก็แก่เกินสามสิบกว่าไปแล้ว” พลอย (นามสมมุติ) นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ในวัยกำลังจะก้าวสู่โลกการทำงาน เล่าถึงสาเหตุที่เธอวางแผนเพื่อฝากไข่ โดยเธอเล่าว่าในสายอาชีพของเธอ ที่ต้องเรียนหลายปี กว่าจะเรียนจบและมั่นคงในหน้าที่การงานก็อาจสายไปเสียแล้ว
“การต้องดูแลอีกชีวิตหนึ่ง มันยิ่งใหญ่ เราต้องมีความรับผิดชอบและเตรียมพร้อมให้คนคนหนึ่ง โตขึ้นมาอย่างดี” พลอยกล่าว
แล้วการดูแลชีวิตคน มีเรื่องอะไรบ้างให้ (ว่าที่) แม่ต้องคิด?
“ทั้งฝุ่น ทั้งรถติด ความเป็นอยู่ สภาพสังคมของประเทศไทย มันยังไม่ค่อยเอื้อในการมีลูกเท่าไหร่” พลอยอธิบายเหตุผลที่ทำให้การตั้งครรภ์ยิ่งกลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเธอ แล้วยังบอกด้วยว่า ด้วยสภาพสังคมแบบนี้เธอรู้สึกว่ามันไม่ได้ดีต่อลูกของเธอที่จะเติบโตในอนาคต
“มันไม่ healthy ถ้าลูกโตมาแล้วยังอยู่ในสภาพสังคมแบบที่เราอยู่ตอนนี้” — พลอย
“พวกสวัสดิการของคนที่เป็นแม่ มันยังไม่ค่อยดีในไทย เคยไปถามพี่เจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าลาได้แค่สามเดือน ที่ลาไปก็ได้เงินเดือนไม่ได้ครบเต็มทุกเดือน เหมือนว่าภาระจะมาตกที่เรา ที่เป็นแม่คนเดียว” อีกทั้งพลอยมองว่าสวัสดิการของคนเป็นแม่ในไทยก็ยังไม่ค่อยพร้อม
การฝากไข่ คือราคาแพงที่ยอมจ่าย?
แน่นอนว่าการฝากไข่นับเป็นตัวช่วยที่ราคาสูง แต่ในแง่เศรษฐกิจการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต อาจมีต้นทุนกว่านั้นมาก
“ก็เคยคิดมาเหมือนกันในอีกมุม ว่าการมีลูกคือการเสียสละชีวิตตัวเอง ทั้งเรื่องเวลา เรื่องการเงิน หรือตัวตนของตัวเองแบบนี้ ไปเยอะมากๆ” ฟ้าใส (นามสมมุติ) นักข่าว ในวัย 20 ต้นๆ บอกถึงสาเหตุที่เธออยากฝากไข่เผื่อไว้ เนื่องจากในอนาคตยังไม่พร้อม
เมื่อถามถึงราคาของการฝากไข่ ฟ้าใสมองว่าสำหรับเธอแล้ว ‘เท่าไหร่ก็คุ้ม’
“ไม่ว่าจะเงินเท่าไหร่ เราก็คิดว่าน่าจะคุ้ม เพราะถ้าเราไม่ฝากไข่ในอายุนั้น ต่อไปเราคงมีลูกไม่ได้อีกแล้วแน่นอน” – ฟ้าใส
เมื่อการฝากไข่มีราคาที่ต้องจ่ายมากถึงหลักแสนบาท นี่อาจจะแปลว่า ต้นทุนเรื่องการเลี้ยงดูก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยอยากไปฝากไข่กันด้วย เพราะต้นทุนนี้เองที่ทำให้คนยัง ‘ไม่พร้อม’ มีลูกในช่วงเวลานี้
เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคน มีอะไรมากกว่านั้น
ฟ้าใสเล่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องกลับมาวางแผนการมีลูก คือเหตุกราดยิงในห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเธอเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
สำหรับฟ้าใสแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้เธอตกใจอย่างมาก และทำให้เธอตระหนักได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มัน ‘ใกล้ตัว’ มากกว่าที่เธอคิด
“ก็เลยนึกถึงในมุมของลูกว่า ทำไมเขาต้องมาอยู่ในสังคมที่มันไม่ปลอดภัยทุกตารางเมตรขนาดนี้ ทั้งๆ ที่แค่มาเดินห้าง มันควรจะปลอดภัยแท้ๆ” ฟ้าใสตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิต พร้อมกล่าวต่อว่า ถ้าลูกเกิดมาแล้วต้องอยู่ในสังคมที่ไม่ปลอดภัย เธอก็คงไม่ต้องการให้ลูกอยู่ในสังคมแบบนั้น
เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ข้างต้นนี้แล้ว จะเห็นว่า ผู้หญิงมีมุมมองเกี่ยวกับ ‘สภาพสังคม’ ในหลายประเด็นที่อาจไม่ได้ทำให้การมีลูกตามธรรมชาติเป็นเรื่องที่ง่ายดายสักเท่าไหร่ แล้วเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง?
ความไม่พร้อมของผู้หญิง ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว
The MATTER พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนงานวิจัย เทคโนโลยีการฝากไข่ : ผู้หญิง ร่างกาย และการทำให้เป็นเรื่องชีวการแพทย์
“ความไม่พร้อมมีลูกมันไม่ใช่ปัญหาแค่ระดับตัวบุคคลหรือเป็นปัญหาส่วนตัวของผู้หญิงเท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมและโครงสร้างสังคมที่ผู้หญิงเหล่านี้อาศัยอยู่ด้วยอย่างมาก” อาจารย์ปาณิภากล่าว
เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ อาจารย์ปาณิภาชวนให้เรามองว่า ความคิดเรื่องการมีลูก ในระดับมุมมองความคิดของผู้หญิง เป็นผลผลิตจากกระบวนการเชิงสังคมโดยเฉพาะการขัดเกลาทางสังคมวัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของผู้หญิง
“การมีลูกถือเป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทความเป็นหญิงและหน้าที่เป็นลูกสาวที่ดีของครอบครัวซึ่งต้องมีลูกเพื่อสืบสกุล” อาจารย์ปาณิภากล่าว และขยายต่อว่า
“การมีลูกจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมาย ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิง และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
ทั้งนี้อาจารย์ปาณิภามองว่า การฝากไข่สะท้อน ‘อุดมการณ์เรื่องความเป็นแม่’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ทางเพศ (gender ideology) ที่แม้ว่าในปัจจุบันการแต่งงานและการมีลูก กลายเป็นเส้นทางผู้หญิงจะเลือกหรือไม่ก็ได้ แต่การฝากไข่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่าอุดมการณ์ดังกล่าวไม่เคยจากไปไหน
“ความเป็นแม่ก็ยังคงเป็นอุดมการณ์ทางเพศที่ยังไม่ได้หายไปจากสังคม” – อาจารย์ปาณิภา
แต่ความเป็นแม่ ก็ไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายดายเสมอไป ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับ ‘บรรทัดฐานความเป็นแม่’ ที่ผู้หญิงต้องแบกรับ
บรรทัดฐานความเป็นแม่ เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังและกลายเป็น “เป็นมาตรฐานที่ผู้หญิงต้องปฏิบัติ” อาจารย์ปาณิภากล่าว และขยายความต่อว่า มาตรฐานดังกล่าว ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้เป็นแม่ต้องให้ความสำคัญ ทั้ง ‘การเป็นแม่ที่ให้กำเนิดลูกจากสายเลือด และการปฏิบัติเลี้ยงดูที่สังคมกำหนด’ รวมถึงอาจมีความคาดหวังให้ ‘ความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับคู่ชีวิต อาชีพการงาน และความมั่นคงด้านอารมณ์’ ของพวกเธอจะอยู่ในจุดที่พร้อมสำหรับการมีลูก
จนในที่สุดบรรทัดฐานเหล่านี้ อาจสร้างเป็น ‘มาตรฐานการเป็นแม่’ (gold standard of motherhood) ที่คนเป็นแม่ถูกสังคมคาดหวัง ให้ทั้ง ‘มีเวลาเลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ’ พร้อมกับ ‘มีความมั่นคงในครอบครัว’ อาจารย์ปาณิภาระบุ
หมายความว่าการฝากไข่ ก็เข้ามาช่วยแบ่งเบาผู้หญิง ให้ยังสามารถทำตามบรรทัดฐานได้จริงไหม? แปลว่าผู้หญิงสมัยนี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?
การฝากไข่ เครื่องมือต่อรองความคาดหวัง
“ผู้หญิงส่วนหนึ่งมักถูกกดดันให้เป็นแม่ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งรู้สึกถูกกดดันทั้งจากคนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง คนที่ไม่พร้อมก็จะรู้ถึงการสูญเสียตัวตน ซึมเศร้า หรือแม้แต่รู้สึกถึงตราบาปที่เกิดจากความแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม การฝากไข่จึงกลายมาเป็นหนทางที่จะช่วยต่อรองกับความคาดหวังในเรื่องดังกล่าว” อาจารย์ปาณิภากล่าว
พร้อมระบุว่าการฝากไข่มักถูกมอง “ในฐานะเป็น ‘ทางเลือก’ อย่างหนึ่งของผู้หญิงสมัยใหม่ เพราะการฝากไข่ให้ทางเลือก (choice) หรือขยายโอกาส (enhance) แก่ผู้หญิง ในการ ‘disrupt’ หรือต่อรองกับความเป็นแม่ตามมาตรฐานความคาดหวังของสังคม (normative process of motherhood)”
อย่างไรก็ดี ทางเลือกนี้อาจไม่ได้เป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิง ‘ทุกคน’ ยิ่งมองในแง่ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่ต้องอาศัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพียงพอ
“เมื่อทางเลือกที่ว่าจะเกิดขึ้นได้ผู้หญิงต้องมีเงินมากพอที่จ่ายค่าฝากไข่ด้วยตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากคู่รัก หรือองค์การที่ทำงาน/สถานให้บริการทางการแพทย์” อาจารย์ปาณิภากล่าว
การฝากไข่อาจขูดรีดผู้หญิง?
อาจารย์ปาณิภาชวนพิจารณาผ่านความไม่เท่าเทียมของอำนาจผู้หญิง ในฐานะแรงงาน ภายใต้องค์กรขนาดใหญ่ ที่การฝากไข่ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นทางเลือก ที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในหน้าที่การงานมากขึ้น แต่ในบางกรณี เทคโนโลยีนี้ “อาจสามารถแปรเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปสู่การขูดรีดแรงงานหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจได้” อาจารย์กำชับ
กล่าวคือ ในกรณีที่มีการกดดันหรือการสนับสนุนจากองค์กรให้ผู้หญิงฝากไข่ เพื่อความเติบโตด้านอาชีพการงาน การเลือกฝากไข่เช่นนี้ อาจสะท้อนให้เห็นถึง ‘อิทธิพลของนายทุน’ ที่เข้ามาควบคุมการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เพราะการให้สวัสดิการฝากไข่ อาจสร้างแรงกดดัน ให้ผู้หญิงยืดเวลาการมีลูกออกไป และมีเวลาทำงานให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น
“ชีวิตพวกเธออาจต้องเข้าสู่สภาวะการแข่งขันตลอดเวลา เพื่อยกระดับชีวิตตัวเองภายในองค์กร” – อาจารย์ปาณิภา
ในตอนท้ายอาจารย์ปาณิภาสรุปว่า การฝากไข่ที่ แม้จะสามารถเป็นทางเลือก ที่ช่วยเพิ่มอำนาจให้กับผู้หญิงในการต่อรองกับบรรทัดฐานความเป็นแม่ แต่การพิจารณาทางเลือกดังกล่าวว่า เป็นทางเลือกที่แท้จริงหรือไม่ เราอาจต้องมองให้ลึกกว่านั้น เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะสามารถเข้าถึงการฝากไข่ได้
“ไม่ใช่สำหรับผู้หญิงทุกคน เพราะมันต้องพิจารณาผ่านบริบทแวดล้อมของผู้หญิง โครงสร้างอำนาจ สถานภาพ และชนชั้นที่มีในสังคมอยู่ด้วย” อาจารย์ปาณิภากล่าว
การเป็นแม่เนี่ย มีอะไรมากกว่าที่เราคิดจริงไหม?