ริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลาและโซลา ไม่ไกลจากเมืองคราเคา นาซีเยอรมนีกำหนดพื้นที่ราว 40 ตารางกิโลเมตร ที่เรียกว่า ‘Interessengebiet’ หรือ ‘zone of interest’ เปรียบเสมือนเขตปกครองพิเศษ ที่ควบคุมโดยกองกำลังชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel) หรือ SS และคนภายนอกไม่อาจเข้าถึง
บนสุดของห่วงโซ่อำนาจของพื้นที่นั้นคือ รูดอล์ฟ เฮิสส์ (Rudolf Höss) นายทหาร SS ที่ใช้ชีวิตในฝันกับภรรยา เฮ็ดวิก เฮิสส์ (Hedwig Höss) ผู้เลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 5 คน จากบ้านสองชั้นราววิมานที่เพรียบพร้อมด้วยของอำนวยความสะดวกและคนรับใช้ ในชนบทแห่งยุโรปตะวันออก ตามแบบอย่างอุดมคติของนาซี
ในยามว่าง ครอบครัวเฮิสส์จะไปปิกนิกริมทะเลสาบ พาเด็กๆ เล่นน้ำ หรือไม่รูดอล์ฟก็จะพาลูกชายคนโตไปขี่ม้า พลางขณะเฮ็ดวิกดูแลสวนขนาดใหญ่โตของบ้าน ที่ประกอบด้วยดอกไม้นานาพรรณ กับผักสวนครัวที่เก็บไว้ให้ลูกๆ กิน
“สวรรค์วิมาน” คนในวิลลาเอาชวิทซ์เรียกบ้านหลังนี้ไว้อย่างนั้น
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถูกเล่าผ่านภาพยนตร์ The Zone of Interest (2023) โดยผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) ภาพยนตร์ค่าย A24 ที่ว่าด้วยครอบครัวชาวเยอรมันในบ้านที่ดูเหมือนอบอุ่นหลังนี้
หากแต่ประเด็นสำคัญซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ รูดอล์ฟคือผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิทซ์ (Auschwitz concentration camp) ค่ายมรณะอันเลื่องชื่อในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังเป็นนายทหารนาซีผู้ควบคุมและตัดสินใจนำแก๊ส ซือโคลน เบ (Zyklon B) มาใช้ในห้องรมแก๊ส – เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเสียจนค่ายกักกันแห่งนี้คร่าชีวิตชาวยิวและนักโทษกลุ่มอื่นๆ นับล้านคน
เหตุใดชายผู้รักครอบครัวอย่างรูดอล์ฟ จึงสามารถกระทำการอันป่าเถื่อนได้ถึงเพียงนั้น?
ฮอโลคอสต์: อีกใบหน้าของสังคมสมัยใหม่
ในใจกลางของ ‘zone of interest’ ที่เมืองออชฟีแยญชิม (Oświęcim) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์ คือ ค่ายกักกัน 3 แห่งหลักๆ ของระบอบนาซี ประกอบด้วย เอาชวิทซ์ I (Auschwitz I) ศูนย์กลางบริหารจัดการ เอาชวิทซ์ II-เบียเคอเนา (Auschwitz II-Birkenau) ค่ายหลักในการสังหารหมู่ และ เอาชวิทซ์ III (Auschwitz III) หรือ โมโนวิทซ์ (Monowitz) ค่ายซึ่งเป็นที่พักอาศัยสำหรับแรงงานทาส
ล้อมรอบด้วยรั้วลาดหนาม สอดส่องโดยผู้คุม ในสภาพทรุดโทรมสกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรค ทารุณกรรม และความอดอยาก ค่ายเอาชวิทซ์ในช่วงปี 1940-1945 เป็นที่กักกันนักโทษชาวยิว ชาวโปแลนด์ กลุ่มชาติพันธุ์โรมาหรือยิปซี เชลยศึก นักโทษการเมือง และกลุ่มอื่นๆ ราว 1.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ คาดว่า 1.1 ล้านคนถูกสังหารด้วยห้องรมแก๊สและการประหารชีวิตวิธีอื่นๆ ภายใต้การดูแลของ SS
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีระบบราชการอันสุดแสนจะมีประสิทธิภาพของระบอบนาซี
ซิกมุนต์ เบามัน (Zygmunt Bauman) นักสังคมวิทยาชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวผู้ล่วงลับ เสนอ ในบทความ “Sociology after the Holocaust” ซึ่งจะกลายมาเป็นบทนำของหนังสือ Modernity and the Holocaust ว่า แทนที่ฮอโลคอสต์ (Holocaust) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว จะเป็นความล้มเหลวของอารยธรรมสมัยใหม่ เขากลับมองว่ามันคือ ผลผลิตโดยแท้ (legitimate outcome) ของความก้าวหน้าของมนุษยชาติ1 ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ การใช้เหตุผลแบบเครื่องมือ (instrumental rationality) ในระบบราชการ ที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ โดยไม่ได้สนใจคุณค่าทางศีลธรรม ผลลัพธ์ปลายทาง หรือบางครั้งก็หลงลืมความเป็นมนุษย์ไป
ฮอโลคอสต์เอง จึงเป็นอีกใบหน้าหนึ่งของสังคมสมัยใหม่:
ความสยองขวัญที่ไม่ถูกพูดถึงซึ่งปกคลุมความทรงจำร่วมของเราที่มีต่อฮอโลคอสต์ … คือความระแวงที่มีอยู่ตลอดเวลาว่า ฮอโลคอสต์อาจเป็นมากกว่าแค่ความผิดปกติ มากกว่าการเบี่ยงเบนจากความก้าวหน้าที่ควรจะเป็นเส้นตรง … [หากแต่เป็น] อีกหนึ่งใบหน้าของสังคมสมัยใหม่เดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วยอีกหนึ่งใบหน้าที่คุ้นเคยกว่าและเราชื่นชมเหลือเกิน และสองใบหน้านั้นก็เชื่อมติดกับลำตัวเดียวกันอย่างไม่ยากเย็น2
เบามัน เห็นด้วยกับแนวคิดของ ริชาร์ด แอล. รูเบ็นสไตน์ (Richard L. Rubenstein) นักเทววิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ที่ว่า บทเรียนของฮอโลคอสต์ก็คือ มันสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของ ความก้าวหน้าของอารยธรรม (advance of civilization) อย่างแท้จริง เพราะในฮอโลคอสต์ “ศักยภาพทางอุตสาหกรรม และความรู้ทางเทคโนโลยี ที่อารยธรรมของเราชอบคุยโวโอ้อวด ได้ถูกนำมาใช้ได้สำเร็จลุล่วง กับการจัดการงานชิ้นหนึ่งซึ่งมีขนาดมหึมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน”3 และงานชิ้นนั้นก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
การใช้เหตุผลของมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) อันเป็นรากฐานของสังคมสมัยใหม่ ได้นำมาสู่เทคโนโลยีและระบบระเบียบที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่นอกจากสิ่งเหล่านั้นจะนำมาสู่ความศิวิไลซ์ มันยังอาจนำมาสู่ความโหดร้ายป่าเถื่อนได้ด้วย4
วิมานสองชั้นของครอบครัวเฮิสส์ ข้างค่ายกักกันเอาชวิทซ์ น่าจะสะท้อนใบหน้าสองใบของอารยธรรมสมัยใหม่ได้ดี
ข้างนอกรั้วค่ายคือความปกติสุข ครบครันด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก อาจแต่งแต้มด้วยทานตะวัน กุหลาบ และดอกไม้สีสันเพื่อสุนทรียะ ส่วนอีกข้างของรั้ว – ในค่ายมรณะ – ก็คืออีกหนึ่ง ‘ความปกติ’ ของสังคมสมัยใหม่เช่นกัน ที่เทคโนโลยียังคงทำงานไม่ต่างจากในโรงงาน หากแต่เทคโนโลยีนั้นถูกนำมาใช้เพื่อทำลายมวลมนุษย์ด้วยกันเอง
ระบบราชการ กับการมุ่งเน้นประสิทธิภาพ (ในการฆ่าคน)
หน่วยงานของ SS ที่ดูแลเรื่องค่ายกักกัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รูดอล์ฟสังกัด มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Main Economic and Administrative Office มองเผินๆ ดูไม่ต่างจากองค์กรทางราชการทั่วๆ ไป ใครจะรู้ว่านี่คือหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยตรง – แต่นั่นยิ่งสะท้อนความเป็นระบบราชการของการสังหารหมู่
เบามันใช้ศัพท์แสงตามนักสังคมวิทยาเยอรมัน มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ในการอธิบายระบบราชการสมัยใหม่ – คือ มีความแม่นยำ รวดเร็ว ไม่คลุมเครือ จัดระเบียบเอกสาร ต่อเนื่อง เป็นเอกภาพ มีสายบังคับบัญชาเข้มงวด ฯลฯ เพื่อมุ่งเน้นการคำนวณผลลัพธ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการใส่ใจศีลธรรม หรือความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หน้าที่หลักของมัน5
ประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่นายทหาร SS อย่างรูดอล์ฟ หรือข้าราชการทุกคนใน Main Economic and Administrative Office ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา “ผมมัวแต่ยุ่งคิดว่าจะรมแก๊สทุกคนในห้องได้ยังไง ยากมาก ในทางโลจิสติกส์ เพราะเพดานที่สูงของมัน” รูดอล์ฟ ซึ่งรับบทโดย คริสเตียน ฟรีเดล (Christian Friedel) กล่าวตอนหนึ่งในภาพยนตร์ The Zone of Interest
อันที่จริง การสังหารหมู่ชาวยิวไม่ใช่แผนดั้งเดิมของนาซี หากแต่เกิดขึ้นเพราะการคิดคำนวณโดยการใช้เหตุผลแบบระบบราชการด้วยเช่นกัน
ในตอนหนึ่งของ The Zone of Interest เฮ็ดวิก ซึ่งรับบทโดย ซานดรา ฮึลเลอร์ (Sandra Hüller) กล่าวกับรูดอล์ฟว่า “นี่คือบ้านของเรา เรากำลังใช้ชีวิตแบบที่เราเคยฝัน … ทุกอย่างที่ฟือเรอร์บอกว่าเราควรจะใช้ชีวิตยังไง คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ออกไปทางตะวันออก Lebensraum ก็นี่ไง”
Lebensraum หรือพื้นที่อยู่อาศัย (living space) ที่เฮ็ดวิกพูดถึง คือนโยบายของนาซี ที่จะขยายจักรวรรดิไรช์ที่สามออกไปทางยุโรปตะวันออก โดยการยึดครองอาณานิคมในพื้นที่ดังกล่าว และกำจัดชนชาติอื่นๆ ผู้ต่ำต้อย (แน่นอนว่ารวมถึงยิว) ออกไป เพื่อขยายพื้นที่อยู่อาศัยให้กับชนชาติอารยัน ซึ่งนาซีอ้างว่าเป็นนโยบายที่จำเป็นในทางเศรษฐกิจ
ที่ต้องกล่าวถึงนโยบาย Lebensraum เพราะมันทำให้เห็นว่า เมื่อระบอบนาซีขยายออกไปทางตะวันออก วิธีการในการกำจัดชาวยิวก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลของระบบราชการอย่างเข้มงวด
เบามันชี้ให้เห็นว่า แรกเริ่มเดิมที นาซีเลือกการเนรเทศยิวเยอรมัน ซึ่งดูเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลที่สุด ในการสร้างเยอรมนีที่ปราศจากยิว แต่เมื่ออาณาเขตของนาซีขยายออกไป วิธีนั้นกลับไม่มีประสิทธิภาพอีกแล้ว ระหว่างนั้น ระบบราชการพยายามหาแนวทางอื่นๆ เช่น แผนมาดากัสการ์ (Madagascar Plan) ที่จะขนชาวยิวทั้งหมดไปไว้ที่เกาะมาดากัสการ์ แต่เป้าหมายนั้นก็ไกลเกินไป ยิวมีจำนวนเยอะเกินไป และมีกองทัพเรืออังกฤษเป็นอุปสรรคขัดขวาง สุดท้าย ในช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บัญชาการ SS จึงสั่งหยุดการเนรเทศยิว และให้หันมาใช้การสังหารหมู่แทน ในฐานะวิธีที่สมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด6
รูดอล์ฟ – ในฐานะหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของระบบราชการนาซี – จึงถูกมอบหมายให้ฆ่าชาวยิวในยุโรปตะวันออกหลักหลายแสนคน ในชื่อปฏิบัติการที่เขาเอ่ยมันด้วยความภาคภูมิใจทุกครั้งว่า ปฏิบัติการเฮิสส์ (Operation Höss)
เมื่อศีลธรรมถูกอำพราง
แม้แต่คนที่หย่อนสารเคมี ซือโคลน เบ ลงในห้องรมแก๊สที่เอาชวิทซ์ ก็ยังไม่เห็นว่าตัวเองกำลังหย่อนมันใส่อะไร
เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ The Zone of Interest ที่เราแทบไม่ได้เห็นชาวยิว จะเล็ดลอดให้เห็นก็เพียงสิ่งของเครื่องใช้ของพวกเขา และควันไฟพวยพุ่งที่คาดว่ามาจากการเผาศพ – ส่วนที่เหลือคือเสียงแห่งความสยองขวัญที่ก้องกังวานตลอดเรื่อง
มุมมองของผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงไม่ต่างจากมุมมองของชาวเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยิ่งนาซีกำหนดพื้นที่ ‘zone of interest’ รอบๆ ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า การสังหารหมู่คือสิ่งที่นาซีไม่ต้องการให้คนเห็น
เบามันชี้ว่า นี่คือการผลิตสร้างปรากฏการณ์ การมองไม่เห็นศีลธรรม (moral invisibility) ด้วยการทำให้เหยื่อล่องหนในทางจิตใจ หรือบดบังความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ (เช่นเจ้าหน้าที่ที่หย่อนสาร ซือโคลน เบ ซึ่งมองไม่เห็นชาวยิวยืนอยู่ข้างล่าง และดังนั้น จึงไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขา) ทำให้คนทั่วไป หรือกระทั่งคนที่ทำงานในระบบราชการนาซี เชื่อมโยงไม่ได้ว่าการกระทำของพวกเขานำไปสู่ผลลัพธ์อะไรบ้าง (วิธีนี้ไม่ต่างอะไรจากคนกดยิงมิสไซล์ในสงครามสมัยใหม่ ที่มองไม่เห็นว่าการกระทำของตัวเองคร่าชีวิตคนไปแค่ไหน)7
ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนสั่งการโดยตรงอย่างรูดอล์ฟ สามารถสั่งฆ่าคนนับล้านโดยมองมันเป็นเพียงภารกิจที่ได้รับมอบหมายและต้องทำให้ลุล่วงได้ เบามันอธิบายว่าเป็นเพราะอีกหนึ่งกระบวนการที่ทำให้เกิด ความเมินเฉยทางศีลธรรม (moral indifference) ของระบบราชการ
พึงสังเกตว่า ระบบราชการของ SS มีความเป็นระบบระเบียบอย่างมาก มีรูทีน และทำตามสายบังคับบัญชาอย่างเข้มงวด นั่นคือการทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีความไม่เป็นบุคคล (impersonal) อย่างถึงที่สุด น้อยครั้งที่จะเห็นทหารนาซีฆ่ายิวเพื่อตอบสนองอารมณ์ป่าเถื่อนในจิตใจของตัวเอง (การทำอย่างนั้นยิ่งไม่ได้รับรางวัล หากแต่ถูกลงโทษ) ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด8
เมื่อแรงจูงใจไม่ได้มาจากภายใน หรือเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว อุดมคติที่ระบบราชการยึดถือ ซึ่งอธิบายโดยเวเบอร์ ก็คือ การยึดถือเกียรติยศแบบข้าราชการ (honour of the civil servant) นั่นคือ การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างมีระเบียบวินัยเข้มงวดจนสำเร็จลุล่วง แม้อาจจะขัดกับอุดมการณ์ภายในก็ไม่เป็นไร เพราะท้ายที่สุด ผู้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแต่เพียงผู้เดียว9
นั่นจึงทำให้คนที่ วิตนีย์ แฮร์ริส (Whitney Harris) อัยการชาวอเมริกันในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ค (Nuremberg trials) มองว่า ดูเป็นคน ‘ปกติ’ หรือแม้กระทั่งเหมือน ‘พนักงานร้านขายของชำ’ อย่างรูดอล์ฟ สามารถรับคำสั่งมา และสั่งการฆ่าคนหรือทรมานคนเป็นล้านๆ ต่อไปได้
เมื่อมองว่า ระบบราชการของนาซีดำเนินไปอย่าง ‘ปกติ’ เหมือนกับระบบราชการอื่นๆ ที่มีอยู่อย่างทั่วไปในโลกสมัยใหม่ ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและความเป็นระบบระเบียบ ในการบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ศีลธรรมกลับถูกทำให้เป็นเรื่องรอง จึงทำให้เบามันสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์อย่างฮอโลคอสต์อาจเกิดที่ไหนบนโลกนี้อีกก็ได้:
ถ้ามันเกิดขึ้นสักที่ไหนบนโลกในสเกลระดับมหึมาได้ ดังนั้น มันก็สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ทั้งหมดนี้อยู่ในขอบเขตความเป็นไปได้ของมนุษย์10
หลังปิดกล้อง The Zone of Interest เกลเซอร์เดินทางกลับไปพิพิธภัณฑ์เอาชวิทซ์-เบียเคอเนา (Auschwitz-Birkenau Memorial and Museum) เพื่อเข้าร่วมการฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ของประเทศโปแลนด์
ไม่ต่างจากข้อสรุปข้างต้น เกลเซอร์กล่าวหลังฉายภาพยนตร์ในรอบนั้นว่า
“เราพยายามถ่ายทอด [ภาพยนตร์เรื่องนี้] ในฐานะบางสิ่งที่ยังคงอยู่ในโลกของเรา และยังอยู่ในตัวเราในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งผิดปกติหรือเหตุการณ์บางอย่างที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก มันรู้สึกสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องบอกเล่าเรื่องราวว่ามนุษย์สามารถจะกระทำความรุนแรงได้ขนาดไหนบ้าง”
อ้างอิง
- Zygmunt Bauman, “Sociology after the Holocaust,” The British Journal of Sociology 39, no. 4 (December 1988): 494, https://doi.org/10.2307/590497.
- Ibid, 475.
- Ibid, 477.
- Ibid.
- Ibid, 481-482.
- Ibid, 483.
- Ibid, 490-492.
- Ibid, 487.
- Ibid, 488.
- George Kren and Leon Rappoport, The Holocaust and the Crisis of Human Behavior (New York: Holmes & Meier, 1980), 126, quoted in Bauman, “Sociology,” 479.