คนเราผิดพลาดกันได้เสมอ นั่นคือสิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ เวลาใครสักคนพูดปลอบใจคนที่ทำพลาด แน่นอนว่าคนเรามีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ทุกเมื่อ แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอาชีพที่ ‘no mistakes allowed’ หรือความผิดพลาดไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะมันอาจแลกมาด้วยชีวิตของผู้คน และนั่นก็คืออาชีพ ‘แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน’ ที่มักจะแบกรับความกดดันนี้อยู่ตลอดเวลา
จากซีรีส์การแพทย์ชื่อดังฝั่งสหรัฐอเมริกา ‘ER’ ที่เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1994 ไล่มายังฝั่งญี่ปุ่น ‘Code Blue: Doctor Heli Kinkyu Kyumei’ จนมาถึง ‘My Ambulance’ ของไทยที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ ทำให้แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (emergency medicine physician) กลายเป็นที่รู้จักในฐานะอาชีพที่ต้องอาศัยความชำนาญและความแม่นยำสูง เพราะทุกกระบวนการรักษาของพวกเขาสามารถต่อชีวิตให้กับผู้ป่วย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นลงได้หากเกิดความผิดพลาด
The MATTER ได้ชวน รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หรือ ‘อาจารย์เปิ้ล’ รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ โรงพยาบาลรามาธิบดี มานั่งพูดคุยถึงกระบวนการทำงานของอาชีพแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และเจาะลึกถึงความเครียดความกดดันที่ทำให้คนอาชีพนี้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) เป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ชีวิตคนไข้เป็น 0% แต่ถ้าหมอช่วย มันจะเป็น 1%
– ซีรีส์เรื่อง My Ambulance
‘แผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน’ เปรียบเสมือนด่านหน้าของโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยที่เข้ามาในสภาวะวิกฤตเสี่ยงตาย เต็มไปด้วยความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่คาดคิดหลายอย่าง การเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าจึงต้องอาศัยคนที่กล้าตัดสินใจ รอบคอบ และมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งนั่นก็คือแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี และพร้อมจะลงสู่สนามเพื่อรักษาชีวิตผู้คน
เมื่อความเป็นความตายอยู่ในกำมือ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากผิดพลาดหรือประมาทไปแม้แต่นิดเดียว นั่นอาจหมายถึงการแลกมาด้วยลมหายใจของหนึ่งชีวิต เห็นแบบนี้แล้วดูจะเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยแรงกดดันค่อนข้างสูง แต่ทำไมหลายคนถึงอยากที่จะเป็นแพทย์ฉุกเฉิน
“คิดว่ามันมีหลายเหตุผล ปกติเวลาจบแพทยศาสตร์บัณฑิตหกปี เราจะดูแลคนไข้ทั่วไป แต่หลังจากนั้นก็จะมีหมอส่วนหนึ่งที่อยากเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งแพทย์ฉุกเฉินก็เป็นสาขาเฉพาะทางสาขาหนึ่ง เป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทยเพราะเริ่มเปิดการอบรมครั้งแรกในปี พ.ศ.2547 การที่คนเราจบทั่วไปแล้วอยากจะเรียนต่อสาขาเฉพาะทาง มันก็คงขึ้นอยู่กับหลายเหตุผล เช่น ความชอบ แรงบันดาลใจ หรือไลฟ์สไตล์ที่อยากจะเป็นในอนาคต
“แพทย์ส่วนหนึ่งอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากตอนเรียน โดยเฉพาะในช่วงปี 4-6 ที่เรียกว่าชั้นคลินิก เขาจะได้เจอคนไข้ตามแผนกต่างๆ รวมถึงแผนกฉุกเฉินด้วย เขาจะได้เห็นว่าอนาคตเขาอยากเป็นแพทย์แบบไหน อีกส่วนหนึ่งที่พอจบไปแล้วเขาต้องไปทำงานใช้ทุนสามปี เวลาเขาไปทำงานแล้วเขาก็อาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากตอนทำงานตรงนั้นอีกที พอไปทำงานส่วนไหนในโรงพยาบาลแล้วเขามีความสุขที่สุด เขาก็เลือกอันนั้น
“จากที่ได้ฟังเด็กๆ มาสัมภาษณ์ก็พบว่า เขาชอบ ‘งานที่เป็นกะ’ คือลงเวรแล้วก็จบ ไม่มีภาระผูกพันอะไรมาก ซึ่งต่างจากแพทย์แผนกอื่นๆ เช่น แพทย์อายุรกรรม แพทย์ศัลยกรรม หรือแพทย์ดูแลผู้ป่วยใน เพราะแพทย์ฉุกเฉินส่วนมากจะดูแลผู้ป่วยนอก เมื่อเราส่งต่อผู้ป่วยให้กับแผนกอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เราก็ไปต้องปรึกษาแพทย์อายุรกรรมให้มาดูต่อ เพราะฉะนั้นแพทย์หนึ่งคนอาจจะต้องดูแลผู้ป่วยตลอดทั้งวัน ทุกวัน ต่างจากแพทย์ฉุกเฉิน ถ้าเป็นคนที่ชอบอะไรที่เป็นกะแล้วจบ ไม่มีภาระอะไรยืดเยื้อเรื้อรังมาก ก็อาจจะชอบแพทย์ฉุกเฉิน
“อีกเหตุผลก็คิดว่าเป็นเพราะ ‘ภาพลักษณ์’ เด็กส่วนหนึ่งที่ชอบงานที่ลุย คล่องแคล่ว ว่องไว ก็อาจจะชอบแพทย์ฉุกเฉิน จริงๆ เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่เริ่มเปิดการอบรมรุ่นแรกๆ สมัยนั้นจะมีซีรีส์เรื่อง ‘ER ห้องฉุกเฉิน’ ยอมรับเลยว่าสื่อก็มีผลเหมือนกัน ช่วงนั้นมีซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉินเยอะ ตั้งแต่อเมริกาไปจนถึงญี่ปุ่น เด็กรุ่นแรกๆ ที่มาสัมภาษณ์ก็จะถือม้วนวิดีโอของอเมริกามาแล้วบอกว่าอยากเป็นแบบนี้ อยากเป็นฮีโร่ดูบ้าง”
ปัญหาความไม่เข้าใจในแผนกฉุกเฉิน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าแพทย์ฉุกเฉินหรือแผนกฉุกเฉินคืออะไร อยู่ดีๆ มีอาการปวดท้องหรือไข้ขึ้น แบบนี้เรียกว่าฉุกเฉินได้ไหม เข้ารับการรักษาที่แผนกนี้ได้ทันทีเลยหรือเปล่า อาจารย์เปิ้ลบอกว่าตรงนี้เป็นปัญหาที่อยากให้หลายคนทำความเข้าใจใหม่
“ผู้ป่วยมักจะไม่เข้าใจว่าแพทย์ฉุกเฉินคืออะไร เขาจะคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายต้องมาห้องฉุกเฉิน แล้วก็เข้าใจว่าเมื่อมาห้องฉุกเฉินก็จะได้รับการตอบรับที่ดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการ การเข้าใจความรู้สึก หรือความต้องการทางแพทย์ทั้งหมด ซึ่งความต้องการนั้นเยอะเกินกว่าที่บุคลากร แพทย์ หรือพยาบาลจะรองรับได้ จริงๆ ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉุกเฉินถึง 60-70% เป็นกลุ่มที่โอเวอร์โหลดค่อนข้างมาก และมีความต้องการที่เราไม่สามารถตอบสนองได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะแผนกฉุกเฉิน ทีนี้พอเขาคาดหวังว่ามาห้องฉุกเฉินแล้วต้องได้รับบริการ มันก็จะนำไปสู่ความผิดหวังได้เหมือนกัน”
ทุกคนเข้ามาด้วยอาการที่ตัวเองมองว่าฉุกเฉินร้ายแรง และคิดว่าจะต้องได้รับการรักษาทันทีจากแพทย์และพยาบาล เพราะความคาดหวังตรงนี้ จึงทำให้หลายคนไม่พอใจการให้บริการของแผนกฉุกเฉิน แต่หากได้ลองทำความเข้าใจกับระบบและเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วย ก็อาจทำให้พวกเขาลดความคาดหวังลงได้
“มันมีเกณฑ์ที่กระทรวงประกาศใช้แล้ว เราจะแบ่งการประเมินออกเป็นห้าระดับ ซึ่งพยาบาลหน้าห้องฉุกเฉินจะเป็นคนคัดแยก ระดับที่ 1 คือสีแดงหรือขั้นวิกฤต ถ้าไม่รักษาทันทีที่มาถึงผู้ป่วยอาจจะตายได้ เช่น หัวใจหยุดเต้น ออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือต้องรีบใส่เครื่องช่วยหายใจ ก็จะย้อนกลับไปเรื่องเมื่อกี้ ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินก็จะไม่เข้าเกณฑ์ข้อนี้ เพราะผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงเขามักจะพูดไม่ค่อยได้ และไม่ต้องการการสื่อสารอะไรมากมายนัก เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมากแต่ต้องการการพูดคุยเยอะก็อาจจะไม่ได้เหมาะที่จะมาห้องฉุกเฉิน
ผู้ป่วยทุกคนคาดหวังว่าเราจะต้องดูแลเขาดี พูดจาดี เข้าใจอะไรเขาทุกอย่าง
ก็เลยจะเป็นประเด็นในโลกโซเชียลว่าแพทย์พูดจาไม่ดี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
“ต่อมา ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ระดับที่ 1 ก็จะมาดูว่ามีความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้มั้ย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ค่อนข้างซึม หรือปวดรุนแรงบริเวณช่วงกลางตัวหรือเปล่า ถ้าเสี่ยงต่อการเป็นอะไรแบบนี้ก็จะเป็นระดับที่ 2 สีส้ม ถ้าไม่ได้เป็นระดับ 1-2 ก็จะมาดูว่าเขาต้องใช้ทรัพยากรกี่อย่าง ถ้าต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ หรือใช้เครื่องมือมากกว่าหนึ่งอย่าง สัญญาณชีพยังพอโอเคอยู่ก็จะเป็นระดับที่ 3 โดยทั่วไป 3 ลำดับแรกเท่านั้นที่ควรมาห้องฉุกเฉิน แต่มันจะมีระดับ 4-5 ระดับ 4 นี่แทบไม่ต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมเลย แค่ตรวจร่างกายและจัดยา จริงๆ ผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินแต่ไม่ได้มีอาการฉุกเฉินแล้วมาโวยวายเยอะๆ ยอมรับเลยว่ามันทำให้เราทำงานไม่ได้ เราก็จะต้องมาตรวจให้ก่อน นั่นเท่ากับว่าคุณแซงคิวและแย่งโอกาสรอดของผู้ป่วยอีกระดับ 1-2 ซึ่งจริงๆ เขารอไม่ได้เลย เพราะทุกๆ หนึ่งนาทีหลังหัวใจหยุดเต้นถ้าไม่ได้รับการกดหน้าอกทันที ผู้ป่วยจะเสียชีวิต โอกาสในการรอดจะลดลง 10% ทุกๆ หนึ่งนาที พอมีคนมาด่าทอแพทย์และพยาบาลในห้องฉุกเฉินเยอะๆ เขาก็ไม่มีสมาธิทำงาน
“ระดับที่ 5 ก็คือกลุ่มที่มาขอใบรับรองแพทย์ มาฉีดวัคซีน หรือผู้ป่วยไม่ได้มาแต่ญาติมารับยาแทน อันนี้ไม่ควรมาห้องฉุกเฉินเลย จริงๆ แล้วต้องไปแผนกผู้ป่วยนอก แต่ห้องฉุกเฉินยังไงก็เร็วกว่าอยู่ดี มันก็จะเกิดการเบียดเบียนผู้ป่วยห้องฉุกเฉินคนอื่นๆ”
แต่การปฏิเสธผู้ป่วยก็ถือเป็นสิ่งที่แพทย์ฉุกเฉินไม่อยากทำเท่าไหร่นัก สุดท้ายก็ต้องรักษาให้อยู่ดี อาจารย์เปิ้ลเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยไปทำงานที่ฮ่องกงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วนมารักษาที่แผนกฉุกเฉิน ซึ่งเขาต้องเสียค่าบริการห้าเท่าเมื่อเทียบกับไปแผนกผู้ป่วยนอกทั่วไป ส่วนที่สิงคโปร์มีนโยบายว่า ถ้าอาการของคุณอยู่ในระดับ 4-5 ให้คุณไปที่ OPD-GP (แผนกตรวจโรคทั่วไป) หรือคลินิกใกล้บ้านก่อน ถ้าคลินิกใกล้บ้านบอกว่าคุณเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจริง เร่งด่วนจริง แล้วต้องส่งต่อไปยังห้องฉุกเฉิน คุณสามารถมาเคลมเงินคืนได้ที่แผนกตรวจโรคทั่วไปได้ หรือที่เรียกว่า GP first
“ในต่างประเทศเขาปฏิเสธเลยนะ ในหลายๆ ประเทศไม่ปฏิเสธแต่บอกว่าคุณต้องรอ ในการพัฒนาคุณภาพเขาจะมีการประกันเวลาตรวจ ระดับที่ 1 ร้อยละร้อยต้องตรวจทันที ระดับที่ 2 จะรอไม่เกิน 15 นาที ส่วนใหญ่เราจะประกันแค่สองระดับแรก ระดับ 3 ลงไปเราจะไม่ประกันแล้ว เพราะฉะนั้นระดับ 4-5 เราไม่รับประกันเวลารอนะ ตามคิวไป แต่ในหลายๆ ประเทศมีการคิดราคาผู้ป่วยในระดับ 4-5 ที่ต้องการเข้ารับบริการแพงกว่าแผนกผู้ป่วยนอก
“ตอนนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะให้ผู้ป่วยสามารถไปรับยาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านเพื่อลดความซับซ้อนลง ก็จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย เพราะมันเกิดการเบียดเบียนระบบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่ฉุกเฉินมาห้องฉุกเฉิน แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการเบียดเบียน แต่เขาไม่มีทางเลือก เพราะตอนกลางวันเขาไม่มีเวลาว่างมาพบแพทย์ ต้องยอมรับว่าแผนกผู้ป่วยนอกทั่วไปเปิดในเวลาที่ผู้ป่วยบางคนกำลังทำงาน ไม่สามารถมาตรวจได้ พอเลิกงานแผนกอื่นๆ ก็ปิดหมดแล้ว เลยจำเป็นต้องมาห้องฉุกเฉิน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาหาทางออกอื่น อาจจะต้องขยายเวลาของแผนกผู้ป่วยนอกหรือเปล่า แต่ตอนนี้ทางกระทรวงยังไม่ได้กำหนดออกมาชัดเจน”
เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยอาจจะต้องทำความเข้าใจว่าแพทย์ฉุกเฉินคือแพทย์อะไร ภาระหน้าที่ของเขาคืออะไร กลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร แล้วเราที่เป็นผู้ป่วยอาจจะต้องประเมินอาการเบื้องต้นว่าจัดอยู่ในผู้ป่วยฉุกเฉินกลุ่มไหน เพราะการด่าทอหรือโวยวายในแง่หนึ่งก็เป็นการบั่นทอนให้เจ้าหน้าที่มีสภาพจิตใจที่แย่ลง ไม่พร้อมทำงาน ถ้าสามารถเข้าใจตรงนี้ได้ก็อาจจะช่วยลดความวุ่นวายในแผนกฉุกเฉินลง
จาก ‘ภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วย’ สู่ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงานของแพทย์’
เพราะทุกการตัดสินใจมีผลต่อชีวิตผู้ป่วย แพทย์ฉุกเฉินจึงต้องอาศัยความรู้ความสามารถในเรื่องการรักษาที่แม่นยำ โดยเฉพาะการทำหัตถการต่างๆ ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นทักษะจำเพาะที่ต้องได้รับการฝึกและอบรมจนชำนาญ รวมไปถึงทักษะอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ‘soft skill’ ซึ่งเป็นทักษะด้านอารมณ์ เพราะนอกจากการช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินแล้ว การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติก็ถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของแพทย์ฉุกเฉินที่จะต้องได้รับการฝึกฝนเช่นเดียวกัน
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับฉากที่แพทย์ออกมาแจ้งข่าวร้ายให้กับญาติผู้ป่วย แน่นอนว่าผลตอบรับก็มักจะออกมาในเชิงลบ ทั้งความโกรธ ความโมโห และความเสียใจที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
“ผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินส่วนหนึ่งเขาเกิดอาการเจ็บป่วยโดยที่เขาไม่คิด ไม่เหมือนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับยาทั่วไป เช่นบางคนเพิ่งโดนรถชนมา เขาก็จะมีความเครียด ความตกใจ พอคนเราเครียดและตกใจ เขาจะเซนซิทีฟกว่าปกติ หรือมีญาติ มีคนใกล้ชิดที่เจ็บป่วยด้วยโรคฉุกเฉินที่หนักจริงๆ แบบหัวใจหยุดเต้น ต้องยอมรับว่ามันเป็นความเครียดที่รุนแรงมากสำหรับผู้ป่วยและญาติ พวกเขาจึงต้องการการซัพพอร์ตที่นอกเหนือจากการตรวจรักษา อย่างความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ
ที่เคยเจอก็คือถูกชี้หน้าแล้วบอกว่า “มึงฆ่าพ่อกู” เหมือนในหนังเลย
“ผู้ป่วยก็มีหลายกลุ่ม บางคนมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ โวยวาย ด่าทอ จริงๆ ในหนังก็ถอดเรื่องราวมาจากที่เราเจอ คือผู้ป่วยคนนี้เขาเป็นอาแปะที่ป่วยมาหลายปี แล้วก็ยาหมด หัวใจหยุดเต้นตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล อัตราการตายก็มากกว่า 90% แล้ว มีโอกาสรอดต่ำ เราปั๊มหัวใจ กู้ชีพกันเป็นชั่วโมง ญาติที่มาด้วยเขาก็เข้าใจว่าแพทย์พยายามเต็มที่แล้ว แต่ญาติอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วยเลยแต่มาโวยวาย เขาก็จะบอกให้ปั๊มหัวใจต่อ แต่ผู้ป่วยคนนั้นเขาตัวแข็งไปแล้ว ผิวเริ่มคล้ำแล้ว ทำต่อก็เท่ากับเราทำให้ศพบอบช้ำมากกว่าเดิม ไม่มีประโยชน์อะไร เราก็ต้องออกมาอธิบาย
“มันมีทฤษฎี 90-10 โอกาสที่เราจะเจอเหตุการณ์ที่ญาติไม่พึงพอใจในการสูญเสียมี 10% แต่อีก 90% ที่จะทำให้ผลลัพธ์ของเรื่องนี้มันดีหรือร้ายนั้นขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเรามีความเข้าใจ เราจะจบมันได้ด้วยตัวเอง
“ตรงนี้มันเป็นเรื่องของความเศร้าโศก (grief) ความพลัดพรากสูญเสียมันเป็นเรื่องที่มนุษย์เรายอมรับได้ยาก โดยเฉพาะเคสที่เฉียบพลัน เราก็ต้องแบ่งทีมไปพูดคุยกับญาติให้พวกเขาทำใจ ถ้าญาติโอเคเราก็จะหยุดปั๊ม ถ้าเราซัพพอร์ตญาติได้ดีและเร็วเท่าไหร่ เราก็จะหยุดได้ไวเท่านั้น คีย์เวิร์ดคือ ‘ความเข้าใจ’ ว่าทำต่อไปมันทำให้ผู้ป่วยบอบช้ำเปล่าๆ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น อีกวิธีหนึ่งที่พูดกับญาติแล้วทำให้เรื่องมันจบง่ายก็คือ ถ้าเป็นญาติหมอ หมอไม่ทำแล้ว คือส่วนหนึ่งเขากลัวว่าจะได้รับความไม่เท่าเทียม สองมาตรฐานหรือเปล่า ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าเราเสนอว่าถ้าเป็นญาติเรา เราก็ทำแบบนี้ เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกของญาติหลายๆ อย่าง เช่น ความรู้สึกผิด (guilt) ที่ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยไม่สบายมาหลายวันแต่ไม่ได้พามารักษาเลย มีความรู้สึกสูญเสียและเสียใจประเดประดังเข้ามา ถ้าเราจัดการกับความรู้สึกตรงนี้ได้ไว มันก็จะจบไว บอกเขาว่าคุณทำดีที่สุดแล้ว คุณได้ดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุดแล้ว ซึ่งภาวะนี้มันเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ไม่มีใครรู้หรอก และสิ่งที่เราทำตอนนี้มันดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแล้ว”
อย่างฉากหนึ่งในซีรีส์เรื่อง My Ambulance ที่แพทย์ถีบเตียงผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งโวยวายในโรงพยาบาลและมีการใช้วาจาไม่สุภาพ เลยถามอาจารย์เปิ้ลไปว่าเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ แพทย์ควรจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจารย์ก็เล่าให้ฟังว่าแพทย์ทุกสาขาจะต้องมีการเรียนรู้ทฤษฎีตรงนี้
“นอกจากเรียนการวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วย แพทย์ทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับทักษะด้านอารมณ์ด้วย เป็นทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ แม้กระทั่งคำว่ากูมึงก็ไม่ควร แต่แพทย์หรือนักศึกษาแพทย์เขาก็มีความวัยรุ่น ก็มีชีวิตเหมือนคนปกติ เขาก็พูดคุยกันเองกับเพื่อน ไม่ได้เอามาใช้กับอาจารย์หรือผู้ป่วย ปกติจะมีแพทย์สภาที่เข้ามาตรวจสอบจรรยาบรรณวิชาชีพ แน่นอนว่าพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวนั้นไม่เหมาะสม ถึงจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่มันก็ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ก็เข้าใจว่าซีรีส์ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความกดดันของแพทย์ ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราเครียดมากๆ เราอาจจะทำอะไรแบบนี้ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งมันเป็นภาวะของ workplace stress
ความเครียดในที่ทำงาน แพทย์ฉุกเฉินจะเจอเป็นอันดับหนึ่งเลย
อัตราการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานก็สูง
รู้สึกท้อแท้ แยกตัวออกจากคนอื่น หรือแม้กระทั่งก้าวร้าว
“มันมีทฤษฎี breaking bad news หรือปฏิกิริยาต่อข่าวร้าย การที่เขารักษาไม่หายหรือตรวจเจอโรคมันถือเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ป่วย พอมีข่าวร้ายเข้ามา ปฏิกิริยาแรกคือ โกรธ โกรธแพทย์และพยาบาล ตอนที่เราไปแจ้งว่าเขาเป็นมะเร็ง เขาจะโกรธว่าเราพูดจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเรารู้ว่าสเต็ปถัดไปเขาจะเริ่มทำใจ เริ่มปรับตัวได้ เริ่มหายโกรธ เริ่มยอมรับความจริง และเริ่มเข้าการรักษา เราก็จะไม่ไปดราม่าโต้ตอบพวกเขา เพราะเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป มันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพ
“แต่มันก็ทำให้เกิดอาการ burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน รวมถึงภาวะซึมเศร้า พอ burnout มันก็กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์หลายคนลาออก ลองนึกดูว่าเวลาที่เราหมดไฟ เราไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากไปทำงาน แต่เราต้องไปทำงานและเจอผู้ป่วยด่าอีก มันก็รู้สึกแย่ไปใหญ่ ซึ่งมันก็มีระบบในการจัดการดูแลแพทย์ เช่นการจัดภาระงานที่เหมาะสม ความปลอดภัยต้องดี ห้องฉุกเฉินต้องออกแบบอย่างเหมาะสม เพราะการศึกษาในอเมริกาพบว่าผู้ป่วยมีการพกอาวุธมาห้องฉุกเฉิน แพทย์ฉุกเฉินส่วนหนึ่งเวลาลงเวรจะถูกติดตาม ถูกสะกดรอยตาม เพราะผู้ป่วยบางคนมีอาการไม่ปกติ บางคนเสพยา บางคนมีอาการทางจิต แผนกผู้ป่วยในเขามีการคัดกรองมาแล้ว จึงไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ แต่แผนกฉุกเฉินเป็นด่านแรกที่ต้องคัดกรองผู้ป่วย ก็เลยเจอสิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่อย อย่างพกน้ำกรดมาก็มี อันตรายมาก”
การรับผิดชอบต่อความสูญเสีย
เมื่อแพทย์ฉุกเฉินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของผู้คน ความสูญเสียย่อมเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะช่วยเหลือไม่ทันหรืออุบัติเหตุจากการทำหัตถการ จนบางครั้งอาจถึงขั้นฟ้องร้องและสู้คดีกันบนชั้นศาล ขอบเขตความรับผิดชอบของแพทย์ฉุกเฉินมีมากน้อยแค่ไหนในเรื่องเหล่านี้
“เวลาที่เราให้การรักษา ผลลัพธ์มันอาจจะไม่ตรงกับความจริงที่อยากจะให้มันเกิด เช่น เรากู้ชีพเราก็อยากให้เขารอด แต่ว่าส่วนหนึ่งนั้นไม่รอดเพราะด้วยหลายเหตุหลายปัจจัย ถ้าถามว่าต้องรับผิดชอบอะไรไหม ถ้าเราสื่อสารดี ญาติเข้าใจดี มันก็จบตรงนั้น แต่ก็มีกรณีที่ญาติไม่เข้าใจ ยอมรับไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องหรือดำเนินคดี
แน่นอนสิ่งที่แพทย์ต้องแบกรับคือความเครียดที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้อง
เพราะแพทย์ทุกคนเชื่อว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว
“แต่พอถูกฟ้องร้อง ความรู้สึกของพวกเขาก็จะถูกทำร้าย ส่วนใหญ่ศาลจะเป็นคนตัดสิน ดูว่าเราประมาทอะไรมั้ย ถ้าเราไม่ได้ประมาทแล้วมันเป็นไปตามเหตุและผล ศาลก็จะเข้าใจและไม่มีปัญหา ว่ากันตามรูปคดี ซึ่งแพทย์ก็ไม่ใช่คนดี 100% มีครั้งหนึ่งที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่แพทย์ไม่เข้ามาดูโดยที่ไม่มีเหตุอันควร แบบนี้ถือว่าประมาทและละเลยหน้าที่
“แต่ถ้าสมมติว่ามีผู้ป่วยสองเตียงที่หัวใจหยุดเต้น แต่แพทย์เลือกช่วยเหลือคนใดคนหนึ่ง อันนี้จะบอกว่าประมาทไม่ได้หรอก เพราะว่ามันเกินแก่การที่มนุษย์จะรับไหว แต่การรับผิดชอบก็ขึ้นอยู่กับสังกัด ปกติเขาก็จะฟ้องโรงพยาบาล หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง เขาก็จะฟ้องกระทรวง ขึ้นอยู่กับองค์กรที่อยู่ แล้วก็ดูว่าญาติเรียกร้องค่าเสียหายเท่าไหร่ แต่ถ้าเขาฟ้องส่วนตัว อันนี้ก็อาจจะต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา แล้วแต่ศาลจะพิจารณาว่ามันเป็นยังไง”
ชีวิตผู้ป่วยเป็นเรื่องใหญ่ แต่สุขภาพร่างกายของแพทย์ก็สำคัญ
นอกจากจะช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่แพทย์ฉุกเฉินจะต้องดูแลนั่นก็คือสุขภาพของตนเอง เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งร่างกายและแรงในการทำงาน หากร่างกายไม่พร้อม ก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดถึงขั้นที่อันตรายได้
“เรามีระบบในการดูแลแพทย์ อย่างภาระงานต้องไม่โอเวอร์โหลดเกินไป ห้ามอยู่เกินสองเวรหรือเกิน 24 ชั่วโมง เพราะมันเกินกว่ามนุษย์จะทนไหว แล้วเวรที่เราไม่อนุญาตให้อยู่ติดกันบ่อยๆ คือช่วงบ่ายโมง เพราะมันเป็นช่วงที่โอเวอร์โหลดมากๆ เวลาเราทำงานมันเป็นเวลาที่คนทั่วไปนอน เป็นไลฟ์สไตล์ที่ต่างออกไป ซึ่งมันเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นภาระงานจะต้องไม่โหลดเกินไป ต้องมีเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ต้องมีกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย แล้วสำหรับนักศึกษาแพทย์ก็ต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาด้วย”
อาชีพที่ยังขาดแคลนอยู่มากในไทย
ไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลจะมีแผนกฉุกเฉินเหมือนกันหมด จะมีเพียงแค่ในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิตอนปลายไปจนถึงระดับตติยภูมิเท่านั้นที่มีแผนกนี้ อาจารย์เปิ้ลบอกว่า ประเทศเรายังด้อยพัฒนาในเรื่องนี้อยู่มาก ซึ่งเทียบกับบางประเทศ เขาไม่ยอมให้ห้องฉุกเฉินไม่มีแพทย์ฉุกเฉินเลยด้วยซ้ำ
เมื่อจำนวนของผู้ป่วยมากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรของแผนกฉุกเฉินจะรับไหว ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหมู่หรืออุบัติภายที่มีคนเจ็บเข้ามาพร้อมกันเยอะๆ แบบนี้ที่แผนกจะมีวิธีการรับมืออย่างไร
“ปกติในห้องฉุกเฉินเราจะมีกำลังสำรองระดับหนึ่ง แต่เมื่อไหร่ที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดและคนไม่พอ เราก็จะต้องระดมกำลังกันมากกว่านั้น โดยจะมีการกำหนดว่าใครเป็น first call หรือ second call ถ้าคนแรกไม่ว่าง คนต่อไปก็ต้องมาแทน เราจะไม่มีการสำรองไว้คนเดียว
อย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้กลับบ้านเลย ห้าวัน ห้าคืน คือ ช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองหลายๆ ปีก่อน
ตอนที่เหตุการณ์ยังไม่นิ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง เราก็ต้องอยู่ช่วยกันเพื่อเตรียมกำลังสำรอง
“ทุกห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลจะมีแผนที่เรียกว่า ‘แผนอุบัติภัย’ ซึ่งทันทีที่เราประกาศใช้แผนนี้ เราจะต้องรวมแพทย์ทั้งหมดมาเพื่อรักษาผู้ป่วย จะไม่ได้อยู่แค่เฉพาะแผนกฉุกเฉินแล้ว อย่างโรงพยาบาลรามาธิบดีก็จะมีโค้ด 000 หรือ 111 ต่างกันที่จำนวนผู้ป่วย สมมติมีเหตุไฟไหม้ ผู้ได้รับบาดเจ็บมี 50 คน เราก็จะเตรียมทีมรักษาไว้ ไม่รอให้ 50 คนนั้นมาถึงก่อนแล้วค่อยใช้แผน เพราะมันจะวุ่นวาย แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่เตรียมไว้รอเลยก็เพราะค่อนข้างสิ้นเปลือง แพทย์คนอื่นๆ ก็ต้องไปทำงานแผนกอื่นๆ
แล้วถ้ามีกรณีแบบนี้จริงๆ เกณฑ์ในการคัดแยกผู้ป่วยห้าระดับเราก็ยังใช้อยู่ แต่มีการเปลี่ยนนิดหน่อย เดิมสีแดงคือคนที่หัวใจหยุดเต้น ถ้าเป็นภาวะปกติเราจะปั๊มก่อน แต่ถ้าเป็นอุบัติภัยหมู่ที่เราไม่คาดคิดว่าจะเข้ามาพร้อมๆ กัน จนเกินกว่ากำลังที่จะซัพพอร์ตได้ เราอาจจะไม่ได้ปั๊มหัวใจในกรณีที่เราคิดว่าเสียชีวิตแล้ว เราต้องเลือกคนที่มีโอกาสรอดก่อน เพราะเมื่อไหร่ที่มีทรัพยากรจำกัด เราก็ต้องสงวนไว้สำหรับคนที่มีโอกาสรอด
“ถ้าเคยดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Descendants of the sun ฉากในสนามรบตอนที่ตึกถล่ม อันนั้นเขาก็ใช้ระบบการคัดแยกแบบนี้ จริงๆ มันก็มีที่มาจากสนามรบฝรั่งเศสนั่นแหละ เขาจะคัดว่า ใครที่รักษาแล้วเขาจะวิ่งกลับไปรบได้เร็วสุด เขาก็จะรักษาคนนั้น แต่ถ้าใครที่มาถึงแล้วไม่หายใจ ชีพจรไม่เต้น ก็ต้องยอมรับว่าผู้ป่วยแบบนี้ต้องการทรัพยากรเยอะมาก การที่หัวใจหยุดเต้นเราต้องการเครื่องมือและแพทย์เยอะมาก แล้วเราก็ไม่ได้พกของไปเยอะขนาดนั้น การที่จะเททรัพยากรเยอะๆ ไปให้คนที่ไม่แน่ใจว่าจะรอดหรือไม่รอดก็ได้ อาจทำให้คนอื่นที่มีโอกาสรอดไม่มีทรัพยากรเพียงพอ”
ก่อนจบการพูดคุยกัน อาจารย์เปิ้ลก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หากยังจำเหตุการณ์เรือไททานิกล่มเมื่อปี ค.ศ.1912 กันได้ ขณะนั้นเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้ถือกำเนิดขึ้นในอเมริกาก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แต่เป็นเพียงแค่ห้องฉุกเฉินเล็กๆ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาชีวิตผู้คน ดังนั้น ถ้าปัจจุบันเกิดเหตุการณ์แบบเรือไททานิกขึ้นอีกครั้ง ก็คงจะไม่เกิดความสูญเสียมากมายขนาดนั้น แม้แพทย์ฉุกเฉินจะเป็นอาชีพที่กดดันและมีความเครียดสูง แต่สำหรับใครที่ชอบอาชีพที่ลุย คล่องแคล่ว และมีจิตสาธารณะ ก็อยากจะให้เข้ามาช่วยกันเยอะๆ เพราะประเทศเรายังด้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับอเมริกาที่มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมา 40-50 ปีแล้ว
นอกจากจะยื้อชีวิตผู้คน แพทย์ฉุกเฉินยังเป็นอาชีพสำคัญที่ช่วยสะท้อนระดับการพัฒนาของระบบสาธารณสุขในประเทศ ที่ตอนนี้ประเทศไทยยังถือว่าตามหลังประเทศอื่นอยู่อีกมาก หากในอนาคตอาชีพนี้มีเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับการพัฒนาเท่านั้น แต่อาจจะช่วยลดความกดดันในตัวแพทย์ฉุกเฉินแต่ละคนลง ด้วยจำนวนที่มีเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย และความรู้ความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น