เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมบางครั้งคนรอบข้างถึงตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เมกเซนส์ หรือรู้สึกอะไรกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือจริงๆ ที่มันไม่เมกเซนส์ เป็นเพราะเราต่างหากที่ไม่เข้าใจ?
สมมติเรานั่งดูฟุตบอลเกมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่เรากับอีกหลายคนเชียร์ทีมเอ ไอ้ป้อมดันเชียร์ทีมบี สรุปผลออกมาปรากฎว่าทีมเอชนะ เราและเพื่อนคนอื่นๆ ก็เข้าไปปลอบใจไอ้ป้อมด้วยการตบบ่าแปะๆ และให้กำลังใจว่าซีซั่นหน้ายังมีโอกาส
แต่ไอ้ป้อมดันโวยวาย พร้อมกับเดินออกจากห้องไปด้วยความฉุนเฉียว ทิ้งให้เรากับเพื่อนคนอื่นๆ งงว่า มันจะโกรธอะไรขนาดนั้นวะ ก็แค่ฟุตบอลเกม ส่วนไอ้ป้อมก็หงุดหงิดว่า พวกเอ็งก็พูดได้นี่ ทีมพวกเอ็งไม่ใช่ทีมที่แพ้ ยังจะมีหน้ามาตบบ่าให้กำลังใจอีก
ในสถานการณ์นี้ดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งทั่วๆ ไป ระหว่างคนที่พอใจกับไม่พอใจในผลการแข่งขัน แต่จริงๆ แล้วมันเกิดจาก ‘ช่องว่าง’ บางอย่างต่างหาก ที่ทำให้เราไม่เข้าใจและตีความเจตนาของอีกฝ่ายแบบผิดๆ
ช่องว่างของความไม่เข้าใจ
จริงๆ แล้ว ความขัดแย้งของเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เกิดจาก ‘empathy gap’ ช่องว่างที่ทำให้คนเรายากที่จะเห็นอกเห็นใจ หรือยากที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ด้วยเหตุผลที่ว่า ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกันกับเขา ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับเขา หรือไม่เคยประสบการณ์แบบเดียวกันกับเขามาก่อน จึงทำให้เราจินตนาการไม่ออกว่า ทำไมเขาต้องทำแบบนั้นหรือรู้สึกแบบนั้น แล้วถ้าเป็นเรา เราจะทำยังไง ซึ่งช่องว่างนี้เองก็เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในหลายครั้ง
แต่การจะมีช่องว่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่เราเผชิญหน้ากับ empathy gap นั่นก็เพราะความรู้ ความเข้าใจ และการตัดสินใจของเรา มักจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเรา (mental state) ในเวลานั้น อย่างเช่น เวลาที่เราอิ่ม เรามักจะจินตนาการไม่ออกหรอกว่าตอนหิวเป็นยังไง ปวดท้องไส้แค่ไหน เพราะตอนนี้ท้องเราเต็มไปด้วยของกินแล้ว เหมือนที่เราไม่เข้าใจไอ้ป้อมนั่นแหละ เพราะทีมเราชนะแล้วไง
ซึ่ง empathy gap สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ cold-to-hot และ hot-to-cold หรือกล่าวคือ ไม่ใช่แค่คนที่รู้สึกปกติดีอยู่แล้วถึงจะไม่เข้าใจคนที่รู้สึกแย่เพียงฝ่ายเดียว แต่คนรู้สึกแย่ก็ไม่เข้าใจคนที่รู้สึกปกติเช่นเดียวกัน
cold-to-hot empathy gap เกิดขึ้นเมื่อคนที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ปกติ (cold state) เช่น สงบ สบาย ใจเย็น หรืออิ่ม จะไม่สามารถเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ (hot state) เช่น โกรธ กลัว กังวล หรือหิวได้ หรือในตัวอย่างที่เกริ่นมาตอนเปิด คนที่อยู่ฝ่ายชนะ ก็จะไม่เข้าใจอารมณ์ของคนที่อยู่ในสภาวะผิดหวัง โกรธ หรือเสียใจ หรือคนที่สอบผ่าน ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่สอบตกถึงร้องไห้ แล้วอาจจะเผลอไปบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ เกรดไม่ได้สำคัญขนาดนั้น” เนื่องจากพออยู่ใน cold state เราประเมินอิทธิพลของอารมณ์หรือแรงกระตุ้นของคนที่อยู่ใน hot state ‘ต่ำ’ เกินไป
ส่วน hot-to-cold empathy gap นั้นก็กลับด้านกัน จะเกิดขึ้นเมื่อคนที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ (hot state) ไม่สามารถเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ปกติ (cold state) ได้นั่นเอง อย่างเวลาที่เราเร่งรีบบนฟุตปาธ เราอาจจะหงุดหงิดหรือด่าคนที่เดินข้างหน้าในใจว่า “ทำไมเดินช้าเป็นเต่าเลย” นั่นก็เพราะอารมณ์ของเราขณะนั้นกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลบางอย่าง อาจจะด้วยความกดดัน ความเร่งรีบ ความกระวนกระวาย กลัวจะไปทำงานสาย จึงทำให้เราไม่เข้าใจว่าคนที่เดินช้าเขาใจเย็นขนาดนั้นได้ยังไงกัน
คนหนึ่งร้อน คนหนึ่งเย็น จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ถ้าเธออยู่ในจุดเดียวกัน เธอก็จะเข้าใจฉันเอง” ก็อย่างว่าแหละเนอะ บางครั้งเราจะเข้าใจคนที่โกรธจัดจนทำอะไรบ้าๆ ก็ตอนที่เรามีเรื่องให้โกรธจัดเช่นเดียวกัน
เพื่อสนับสนุนว่าสภาวะ hot-cold ส่งผลต่อความเข้าใจและความเห็นใจ มีผลการวิจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับสาเหตุของการกลั่นแกล้ง (bullying) โดยตั้งทฤษฎีกลางๆ เอาไว้ว่า “คนที่เคยโดนกลั่นแกล้งเท่านั้น ที่จะเข้าใจผลกระทบที่ร้ายแรงของการกลั่นแกล้งได้” ซึ่งผลการวิจัย พบว่า ผู้ที่ไม่เคยถูกกีดกันทางสังคม หรือถูกกลั่นแกล้ง ประเมินความเจ็บปวดออกมาได้ ‘ต่ำ’ เกินไป
และผลการศึกษานี้ก็ได้นำไปสู่นโยบายเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน โดยมีการถามความเห็นของครูผู้สอน ผลปรากฏว่า ครูที่เคยมีประสบการณ์ถูกกีดกันทางสังคมหรือเคยถูกกลั่นแกล้ง มักจะให้คะแนนความเจ็บปวด ‘สูง’ กว่าครูที่ไม่เคยมีประสบการณ์ และยิ่งไปกว่านั้น ครูที่เคยมีประสบการณ์ก็มีแนวโน้มที่จะลงโทษนักเรียนที่ไปกลั่นแกล้งผู้อื่นด้วย
เมื่อเข้าใจเขา ก็จะเข้าใจเรา
ทีนี้ ก็คงทราบที่ไปที่มากันแล้วว่าทำไมมนุษย์ถึงเข้าอกเข้าใจกันยากในบางสถานการณ์ หรือคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมเท่านั้น ที่มีแนวโน้มจะเข้าใจความรู้สึกนั้นจริงๆ แต่การรู้จัก empathy gap ไม่ได้มีประโยชน์แค่ทำให้เราทราบที่มาที่ไปของความรู้สึกและการกระทำของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้เราสามารถเข้าใจการตัดสินใจของตัวเองว่าเกิดขึ้นจากสภาวะใดด้วย
บางครั้งเราก็ไม่ได้ตัดสินใจในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องเสมอไป เพราะบริบทหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย ก็อาจทำให้เราทำเรื่องโง่ๆ ที่ไม่คาดคิด ทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม หรืออันตรายจนเกินไปได้เหมือนกัน ซึ่งการสำรวจสภาวะอารมณ์ของตัวเองนั้น ก็เพื่อไม่ให้การตัดสินใจในขณะ hot state นำไปสู่การกระทำที่ผิดพลาดในอนาคต หรือเพื่อไม่ให้การตัดสินใจในขณะ cold state นำไปสู่การเพิกเฉยต่อปัญหาของคนรอบข้าง
แม้แต่คนที่ฉลาด รอบคอบ หรือซื่อสัตย์
บางครั้งก็ตัดสินใจผิดพลาดได้
ถ้าอยู่ใน hot state
ลองนึกภาพตัวเองในสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป ถ้าใจเย็นเราจะมีการกระทำแบบไหน ถ้าใจร้อนเราจะมีการกระทำแบบไหน เมื่อจำแนกได้แล้ว เราก็จะรู้ว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในอนาคตใช่สิ่งที่เราต้องการทำจริงๆ หรือเป็นเพียงแค่การกระทำที่เกิดจากการตัดสินใจภายใต้สภาวะอารมณ์ที่ถูกครอบงำ เหมือนที่เราเห็นว่าเพื่อนที่ดูซื่อสัตย์ รักแฟนมาก ถึงจุดๆ หนึ่งเขาอาจจะบอกเลิกหรือนอกใจแฟนก็ได้ ถ้าแฟนของเขาทำตัวงี่เง่าให้เขาอารมณ์เสียบ่อยๆ
ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ตัวว่ากำลังอยู่ใน hot state เราอาจจะหยุดใช้เวลาสักครู่หนึ่ง เพื่อไตร่ตรองสิ่งที่กำลังจะทำว่าควรจะทำจริงๆ หรือไม่ หรือหาอะไรเบี่ยงเบนตัวเองให้ออกจากสภาวะอารมณ์นั้นได้อย่างทันท่วงที ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรที่ผิดเพี้ยนขึ้นมาได้
หรือหากเป็นสถานการณ์ที่เราเผชิญหน้ากับคนที่ทำอะไรแปลกๆ เราก็จะเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน เราจะรู้สึกหรือทำอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งและอคติในจิตใจ ไปจนถึงช่วยหาทางออกที่ดีกว่าให้กับคนๆ นั้นได้
ยิ่งเรามองในมุมที่นอกเหนือจากตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลด empathy gap ได้มากเท่านั้น เพราะในแต่ละวัน เราจะต้องรับมือกับผู้คนที่มีสภาวะทางอารมณ์แตกต่างกันไป หรือต้องพบเจอสถานการณ์ที่ทำให้เราร้อนๆ เย็นๆ สลับกันอยู่เสมอ การรู้จักวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการกระทำที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก