ยิ่งวันเวลาล่วงเลยผ่านไป ความเครียดจากปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญในช่วงวิกฤต COVID-19 ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้น ความเครียดทวีความรุนแรงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเป็นความเครียดจากความกลัวโรคระบาด ความเครียดจากการต้องแยกตัวและอยู่ในมาตรการ social distancing อย่างไม่มีทีท่าจะจบสิ้น ความเครียดที่ไม่ได้มีชีวิตอยากปกติสุขและไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไงต่อไป รวมไปถึงความเครียดที่เกิดจากเศรษฐกิจ การตกงาน ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ตามที่เคย
ความเครียดเหล่านี้ต่างสะสม รวมตัว และขยายมากขึ้นตามระยะเวลาที่เรายังคงติดอยู่ในวังวนของปัญหาจาก COVID-19 และแน่นอน ในยามที่เรากำลังไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต การได้รับกำลังใจ ได้รู้ว่ามีคนเข้าใจเรา ก็คงดีกว่าการถูกบอกว่าหากทนไม่ได้ก็ตายไป คงดีกว่าการถูกบอกว่าเพราะเราอ่อนแอเกินไปและเป็นการคัดสรรตามธรรมชาติ คงดีกว่าการได้ยินถ้อยคำว่ายังสู้ไม่มากพอ เข้มแข็งไม่มากพอ ทนลำบากได้ไม่มากพอ
เพราะในห้วงเวลานี้ ใครๆ ต่างก็ต้องการได้รับความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้มีแรงเดินต่อไป
ความเห็นอกเห็นใจคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คือความรู้สึกหนึ่งที่เราเข้าไปสัมผัส รู้สึก หรืออย่างน้อยก็รับรู้การมีตัวตนของอารมณ์ผู้อื่น ซึ่งส่งผลต่อการอยู่รอดของเราในการรวมกลุ่ม สร้างมิตร และส่งต่อความรู้สึกดีๆ แก่กัน เราคงไม่สามารถพูดว่าเข้าใจใครได้ 100% แต่การที่เรามีความรู้สึกเพื่อจะบอกว่า “ฉันรู้ว่าเธอมีความรู้สึกแบบนั้น” ก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์สังคมต้องการไม่น้อย ใครสักคนที่จะเข้าใจในยามที่กำลังท้อ เครียด สิ้นหวัง อาจช่วยทำให้ไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก
มีงานวิจัยทางประสาทวิทยาที่กล่าวว่า มนุษย์ 98% นั้นมีความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นผ่านการเชื่อมต่อของสมองอยู่แล้ว แต่ความเห็นอกเห็นใจอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทุกวัน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้ และการมีความเห็นอกเห็นใจก็ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ช่วยเหลือเรา อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่ายังมีเพื่อนในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและลดความเครียดลงไป โดยความเห็นอกเห็นใจนี้อาจฝึกฝนได้จากการที่เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้คน การตื่นตัวและเคารพชีวิตของผู้อื่น ใจดีกับผู้คนรอบข้างให้มากขึ้น และหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นคำพูดดีๆ สักคำส่งต่อให้คนที่ต้องการ
ยิ่งในยามวิกฤตที่ทุกคนกำลังเต็มไปด้วยปัญหา หดหู่ สิ้นหวัง เกิดความเครียด มีข่าวมากมายไหลเวียนในแต่ละวันที่ทำให้เราท้อแท้ ความเห็นอกเห็นใจนี้อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็น และคำพูดที่เป็นพลังบวกก็อาจจะช่วยได้มากกว่าการใช้คำพูดร้ายๆ เพื่อหวังให้เขาลุกขึ้นสู้ เพราะบางครั้งคำพูดทำร้ายจิตใจอาจไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังไปเสียทุกหน และความรู้สึกรวมถึงวิธีรับมือของแต่ละคนก็ไม่ได้เท่ากัน ดังนั้นการลองเข้าอกเข้าใจเขา ลองสวมรองเท้าของเขาเพื่อเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายก่อนพูดอะไรออกไปก็เป็นสิ่งที่ทำได้ในเวลานี้
วิกฤตแบบนี้จึงต้องมีความเห็นอกเห็นใจ
ในวิกฤตแบบนี้ซึ่งเป็นภัยต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ความเห็นอกเห็นใจจึงเป็นอีกเครื่องมือในการเอาชีวิตรอด เพราะนอกจากปัจจัยสี่ที่จะทำให้ร่าางกายเรายังคงสู้กับวิกฤตได้ ในด้านจิตใจเองเราก็ต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้พังทลายลงไปเสียก่อน ซึ่งการส่งความเห็นอกเห็นใจได้กลายเป็นคีย์สำคัญ เพราะเมื่อร่างกายเราต้องห่างด้วยมาตรการ social distancing มนุษย์ต่างก็โหยหาการเชื่อมต่อกันด้วยรูปแบบอื่น อย่างเช่นความรู้สึกที่ได้แชร์ร่วมกัน
สิ่งที่อาจได้เห็นมากขึ้นในวิกฤตนี้คือการที่มีคนแจกอาหารสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน การปรบมือให้กำลังใจบุคลาการ การส่งความรู้สึกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความเห็นอกเห็นใจ และผลตอบรับก็คือเรายังคงเดินต่อไปด้วยกันได้ในยามวิกฤต และนั่นทำให้ในขณะที่ COVID-19 ทำให้มนุษย์ต้องแยกกันในทางกายภาพ การเชื่อมต่อด้านจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการสู้กับโรคระบาดนี้
ความเห็นอกเห็นใจยังเป็นอาวุธสำคัญในการสู้กับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น บทเรียนความเป็นผู้นำที่สำคัญในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ ของ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็พูดถึง ความเข้าอกเข้าใจประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งเธอได้แสดงผ่านการขอบคุณเจ้าหน้าที่และบุคคลากรในหลากหลายอาชีพที่ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือกันในสภาวะแบบนี้ นอกจากนี้อาร์เดิร์นยังแสดงความใส่ใจต่อประชาชนตั้งแต่เรื่องอาหารการกินไปจนถึงการให้ความมั่นใจถึงความปลอดภัยของชีวิต
ในภาวะแบบนี้ใครๆ ต่างก็ต้องการความเห็นอกเห็นใจ ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นรัฐบาลที่สามารถส่งเสียงถึงคนหมู่มากได้เท่าไหร่ การใช้เสียงนั้นส่งความเข้าอกเข้าใจไปถึงคนอื่นๆ อาจจำเป็นมากในห้วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก