พักหลังมานี้ ประเด็นเรื่อง ‘ความตายของวิชาวารสารศาสตร์’ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวว่า ม.กรุงเทพ เตรียมปิดฉากภาควิชาวารสารศาสตร์ที่อยู่คู่กับสถาบันมานานกว่า 40 ปีลงไป
ถึงแม้ผู้บริหารจะยืนยันเป็นเสียงแข็งว่า ไม่ใช่เรื่องจริง ยังไง๊ ยังไง วิชาวารสารศาสตร์จะยังคงได้ไปต่อ เพียงแค่มันจะถูกควบรวมไปอยู่กับภาควิชาอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปรับตัวในครั้งนี้ก็สะท้อนได้ว่า สถานะของหลักสูตรวารสารศาสตร์ในบ้านเราตอนนี้ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
อันที่จริง เป็นที่รับรู้เข้าใจกันอยู่เนืองๆ ว่าในหลายปีที่ผ่านมา หลักสูตรวารสารศาสตร์ได้เดินมาถึงจุดที่เริ่มจะ ‘ไม่ป๊อป’ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว จากเดิมที่เป็นวิชายอดฮิตติดอยู่ในหัวใจนักศึกษา เริ่มกลายเป็นว่าทุกวันนี้หาคนที่อยากเรียนวิชานี้จริงๆ ได้น้อยลงขึ้นทุกที
มันเลยน่าตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วกำลังเกิดอะไรขึ้นกับวารสารศาสตร์?
ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนเร็ว หลักสูตรปรับตามไม่ทัน
จริงอยู่ ทุกสิ่งย่อมต้องเปลี่ยนแปลง แต่เวลากระแสมันมาเร็วเกินไป บางทีเราก็รับมือมันไม่ไหวเหมือนกันเนอะ โดยเฉพาะกับสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ที่ทยอยกันปิดตัวกันทีละรายสองราย ไหนจะยอดขายที่ตกลงฮวบฮาบ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์เพื่อความอยู่รอดในเชิงธุรกิจ การนำเสนอข่าวสารในวันนี้จึงผสมกันไปหมด (บางคนเรียกว่า สื่อยุคหลอมรวม) คือสื่อออฟไลน์และออนไลน์ได้ไหลมาเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรทางด้านวารสารศาสตร์บางแห่งยังอยู่ในจุดเดิม พูดให้ชัดขึ้นก็คือ แต่ไหนแต่ไร บ้านเราก็มักสอนวิชาสื่อแบบแยกแพลตฟอร์มกันมาตลอด คือแยกวิชา วิทยุ – โทรทัศน์ – หนังสือพิมพ์ ออกจากกันอย่างชัดเจน เรียนกันแบบตัวใครตัวมัน วิชาเรา วิชาแก ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน อะไรทำนองนี้
มันก็เลยกลายเป็นปัญหา เพราะการแยกหลักสูตรแบบเดิมๆ มันดูเหมือนว่าไม่สามารถตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปอีกแล้ว วันนี้คนที่เรียนสื่อสิ่งพิมพ์ จำเป็นต้องรู้ทักษะอื่นๆ ที่จะถ่ายทอด ‘เรื่องราว’ เหล่านั้นในรูปแบบของแพลตฟอร์มโทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงออนไลน์ด้วย
โอเค วารสารศาสตร์บางแห่งอาจจะโต้แย้งว่า เราก็สอนให้นักศึกษาทำข่าวในรูปแบบอื่นแล้วนะ นี่ไง เราสอนให้นักศึกษาสมัครเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำเพจของตัวเองแล้ว ที่เหลือก็แค่แปะลิ้งค์ข่าวลงเพจ แค่นี้จบ (ทำเสร็จแล้วก็มาเช็คชื่อแล้วกลับบ้านได้) แต่ถามกันจริงๆ ทักษะเหล่านี้เพียงพอแค่ไหนกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในเมื่อทุกคนก็สามารถทำเรื่องพวกนี้ได้แทบไม่ต่างกัน?
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง นักวิชาการอิสระ ผู้เคยร่างหลักสูตรวิชาสื่อมวลชนให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เคยสะท้อนว่า หลักสูตรนิเทศฯ-วารสารฯ แบบเดิมๆ ทำให้นักศึกษากลายเป็น ‘เป็ด’ ที่ไม่มีความถนัดเฉพาะทาง เน้นเฉพาะแค่เรื่องพื้นฐานการสื่อสาร ส่วนการคิดเนื้อหาค่อยไปปรับกันเองในอนาคต
“เมื่อมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีความพร้อม จึงเลือกผลิตบัณฑิตเป็นนิเทศศาสตรบัณฑิตเฉย ๆ โดยเรียนทุกอย่าง ไม่ลงลึกในสาขาใดสาขาหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่าเข้าใจปรัชญาของนิเทศศาสตร์มากน้อยแค่ไหน” นักวิชาการอิสระ อธิบายเรื่องนี้ไว้กับสำนักข่าวอิศรา
ขาดแคลนครูผู้สอน ขาดความรู้เฉพาะทาง
ถือเป็นปัญหาคลาสสิคที่หมักหมมวงการศึกษามาเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนในการเรียนการสอนหลักสูตรวารสารศาสคร์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อันที่จริงแล้ว ปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบโดดๆ เพียงลำพัง แต่เชื่อกันว่าได้รับผลกระทบมาจากสภาพแวดล้อมในวงการสื่อที่เปลี่ยนไปด้วยอีกทีหนึ่ง
อย่างที่รู้กันเนอะ วงการสื่อฯ ตอนนี้ดุเดือดเลือดพล่านกันขนาดไหน บางทีการทำงานในโลกของการปฏิบัติจริงก็ล้ำหน้าเนื้อหาในตำราเรียนไปหลายสเต็ป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การเรียนการสอนแบบเดิมๆ เริ่มอยู่ยากมากขึ้น เพราะผู้สอนเองก็ขาดแคลนความรู้เฉพาะทางด้วยเช่นกัน เราจึงได้เห็นภาพของ ‘นักข่าว’ และ ‘กองบรรณาธิการข่าว’ หลายต่อหลายคนถูกเชิญให้ไปเป็น ‘อาจารย์พิเศษ’ ในวิชาต่างๆ กันมากขึ้น
สอดคล้องกับที่คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ ยอมรับว่า
“สังคมอาจมองว่านักศึกษา นิสิตเยอะ แต่คนที่จะตัดสินใจมาทำงานอาจารย์กลับมีไม่มาก และไม่สามารถดึงดูดให้คนที่มีศักยภาพทุกคนเป็นอาจารย์ได้ ตอนนี้ ใช้ทรัพยากรจากวิชาชีพมาช่วยสอน เพราะนิเทศศาสตร์ เป็นสายวิชาชีพ อาชีพทางด้านข่าว การตลาด การสื่อสารอื่นๆ ช่วยทำให้หลักสูตรดำเนินการไปได้อย่างคล่องตัว”
อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธได้ยากว่าเรื่องเช่นนี้จำเป็นต้องมี ‘คอนเนคชั่น’ ที่ดีกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ในระดับหนึ่ง ส่วนสถาบันที่ขาดคอนเนคชั่นก็ต้องหาทางเอาตัวรอดกันด้วยวิธีอื่นแทน
ติดภาพลักษณ์ ‘เรียนวารสารฯ จบมาแล้วตกงาน’
ภาพลักษณ์ของวิชาวารสารศาสตร์ในหมู่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ยังติดอยู่กับมุมมองที่ว่า เรียนวารสารศาสตร์ = เรียนสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้เด็กหลายคนกลัวว่าเรียนไปแล้วจบมาไม่มีงานทำ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เป็นพักใหญ่แล้ว คือมุมมองที่ว่าเรียนวารสารศาสตร์จบไปก็เป็นแค่ นักหนังสือพิมพ์และนักข่าวเท่านั้น ซึ่งเป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่เยอะ แถมยังต้องทำงานหนักไม่ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ ต่างจากคนที่เรียนสื่อด้านการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรียนแล้วได้เงินเดือนสูงกว่า
สถาบันการศึกษาที่รู้ตัวกันแต่เนิ่นๆ จึงมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ หลายแห่งเปลี่ยนชื่อหลักสูตรจาก วารสารศาสตร์เฉยๆ ไปสู่ ‘วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนต์’ และ ‘วารสารศาสตร์ดิจิทัล’ เพื่อเพิ่มความเซ็กซี่ให้กับหลักสูตร ดึงดูดใจนักศึกษาว่าเข้ามาเรียนแล้วจะไม่น่าเบื่อ และให้คำสัญญาว่าจะมอบความรู้และทักษะไว้ฟาดฟันกับคู่แข่งในตลาดแรงงานได้
วารสารศาสตร์ควรไปต่ออย่างไรในยุคดิจิทัล?
ท่ามกลางปัญหาอันมากมายเช่นนี้ คงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่านี่วารสารศาสตร์เดินมาถึงจุดจบแล้วจริงไหม? เมื่อเราโยนคำถามนี้ไปให้กับ นิธิดา แสงสิงแก้ว อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำตอบที่ได้คือมันยังไม่จบกันง่ายๆ หรอก!
มิหนำซ้ำศาสตร์ในด้านนี้ยังจำเป็นมากๆ ด้วยในสังคมปัจจุบัน
“วารสารศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาโดยตลอด อย่างที่ธรรมศาสตร์จะมีการปรับใหญ่ในทุก 5 ปี ถึงแม้ชื่อวิชายังเหมือนเดิม แต่เนื้อหาข้างในมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ถ้าลงไปดูในวิชาการเขียนข่าว ก็จะเพิ่มเรื่องการเขียนข่าวบนแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าไป หรือ วิชาวิเคราะห์ผู้รับสารแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ อาจจะต้องศึกษาผู้ส่งสารด้วย เพราะทุกวันนี้ใครก็เป็นผู้ส่งสารกันได้หมด นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีเคสที่เกิดขึ้นจริงมาให้นักศึกษาวิเคราะห์ด้วย”
Data Journalism ทางเลือกฟื้นชีวิตวารสารศาสตร์
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ อยู่ที่ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่เริ่มปรับปรุงหลักสูตรการสอนไปสู่ ‘Data Journalism’ หรือ ‘วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล’ นอกจากนิสิตต้องมีทักษะทางด้านการข่าวแบบทั่วไปแล้ว ยังจำเป็นต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฎในโลกอินเทอร์เน็ตมารายงานได้ด้วย
หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พิจิตรา สึคาโมโต้ บอกกับเราว่า
“ศาสตร์ที่เราสอนยังเหมือนเดิม คือสอนให้นิสิตรู้ว่าต้องหาแหล่งข้อมูลจากไหน แต่จะต่อยอดในแง่ที่ว่า การผลิตสื่อไม่ใช่มีเรื่องแค่เรื่องแพลตฟอร์มอีกต่อไป เขาต้องมีทักษะที่หลากหลายในการนำเสนอด้วย ต้องถ่ายภาพได้ เล่าเรื่องได้ สามารถใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอ รู้จักระบบอัลกอริทึมของโซเชียลเน็ตเวิร์ค”
“ตอนนี้เริ่มจะทำในเรื่อง Data Journalism ในเชิงลึกมากขึ้น เมื่อก่อนนักข่าวจะเป็นคนที่เข้าไปทำประเด็นข่าว แต่ความจริงมันไม่ได้มาจากการสัมภาษณ์อย่างเดียวไง เราเลยต้องให้เด็กสามารถเล่าเรื่องในลักษณะการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และนำเสนอให้น่าสนใจได้ด้วย Data มันจะเป็นตัวตอบโจทย์การทำข่าว มันเป็นมากกว่า ‘ข่าวดราม่า’ ที่หาคำตอบในเชิงข้อเท็จจริงไม่ได้”
สรุปว่า ถึงแม้ ‘วารสารศาสตร์’ จะยังไม่ล้มหายตายจากไปไหน สิ่งที่ตายอาจเป็นแพลตฟอร์มบางชนิด แต่คอนเทนต์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมเราเอ่อล้นไปด้วยข้อมูลมหาศาล ไหนจะปัญหาเส้นแบ่งระหว่างข่าวจริง กับ ข่าวปลอม ที่สับสนวุ่นวายกันไปหมด
สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่สังคมเรา ควรยื้อชีวิตวารสารศาสตร์ให้อยู่ได้ต่อไป ในฐานะวิชาความรู้ในการนำเสนอข่าวสาร ค้นหาข้อเท็จจริง รวมถึงวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม
คำถามจึงอยู่ที่ว่าแล้วสถาบันการศึกษามีวิสัยทัศน์ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนกันจริงๆ แค่ไหน?
อ้างอิงจาก
https://www.posttoday.com/social/edu/508288
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/286819