กระทรวงสาธารณสุขเริ่มปูทาง living with COVID-19 นับแต่มีแนวความคิดจะปรับให้ โรค COVID-19 ไปเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ 1 ก.ค. นี้ ก่อนที่จะใช้ช่วงเวลา 4 เดือนนับแต่นั้นคลายล็อกมาตรการตามลำดับ
กว่า 2 ปีที่ผ่านมาโรค COVID-19 ขึ้นชื่อเรื่องการไม่เป็นตามแผนมาตลอด ด้วยเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังมีข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย จากที่เคยคาดเดากันว่าวัคซีนจะเป็นตัวช่วยจบวิกฤต ก็ดันมีเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ให้ต้องรับมือเพิ่ม
The MATTER จึงร่วมไขข้อสงสัยไปกับ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ว่าแท้จริงแล้วโรคประจำถิ่นคืออะไร และไทยพร้อมที่จะก้าวไปตามแนวทางดังกล่าวแล้วหรือไม่
“ยังอีกไกลครับ” คือคำยืนยันแต่หนักแน่น ของ นพ.มานพ เมื่อเริ่มต้นด้วยคำถามว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยตอนนี้ กำลังก้าวไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่
เหตุผลประการต้นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ “โรคประจำถิ่น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวางแผนของเรา มันขึ้นอยู่กับไวรัส”
คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เราคงไม่สามารถกำจัดเชื้อได้แน่แล้ว นพ.มานพ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดและติดเชื้อ จะอยู่ในสภาพสมดุล ซึ่งอาจจะมีกรณีติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือลดลงในระดับคงที่ไปเรื่อย ๆ สลับกับปะทุบ้างบางพื้นที่
นิยามของโรคประจำถิ่น
ทางระบาดวิทยาให้นิยามระยะการระบาดของโรค เอาไว้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
- การระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นการระบาดกว้างขวาง ที่ทำให้เกิดผู้ป่วยเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยไม่จำกัดพื้นที่แต่มีลักษณะข้ามพรมแดน จนกระจายไปทั่วโลก
- โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ได้รวดเร็วกว่าโรคตามปกติ แต่ยังคงมีวงพื้นที่จำกัดว่าการระบาดใหญ่
- โรคประจำถิ่น (Endemic) เป็นการพบโรคในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาโรคเหล่านั้นมักสามารถคาดการได้ ทั้งเชิงพื้นที่ รวมถึงช่วงเวลาที่อาจเกิดการกระจายของโรค
อย่างไรก็ตาม นพ.มานพ อธิบายว่า การนิยามระยะการระบาดของโรค อาจไม่ได้มีความจำเป็นต่อการรักษา แต่มีประโยชน์ในแง่ของการสื่อสารต่อประชาชนเสียมากกว่า “อาจวางกลยุทธ์ใหม่ เช่น ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกับมันได้”
เคลียร์ความเข้าใจผิด
นพ.มานพ อธิบายถึง ‘ลักษณะการระบาด’ และ ‘อัตราการป่วยและเสียชีวิต’ ที่มักเกิดขึ้นไปพร้อมกัน จนคนเข้าใจสับสน แต่ทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างอยู่มาก โดยโรคประจำถิ่นนั้น สนใจในรูปแบบของการระบาดเป็นหลัก
สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรค COVID-19 ตอนนี้ หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ อธิบายว่า มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด และความรุนแรงของโรคเมื่อเจ็บป่วย
“เผอิญโอมิครอน กับ BA2.2 มันก็เลยเห็นอัตราตายไม่สูง มันติดง่ายติดเร็ว ฐานมันเลยใหญ่ แต่คนที่ติดเชื้อเอง อาการก็ไม่รุนแรงมากนัก เพราะว่ามีวัคซีนแล้ว”
“อย่าไปยึดมั่นกับคำว่าโรคประจำถิ่น ไวรัสมันระบาดมากน้อยแค่ไหนมันก็เป็นเรื่องของไวรัส กับมาตรการป้องกันและลดทอนการระบาด”
นอกจากนี้โรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้จำกัดเพียงโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อ แต่หมายรวมถึงโรคที่เพิ่มขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หากพบมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็สามารถใช้คำดังกล่าวได้เหมือนกัน
เปิดเกณฑ์พิจารณาเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ย้อนไปในช่วงเดือน ม.ค. ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เปิดเผยเกณฑ์พิจารณา ซึ่งมาจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เอาไว้คร่าว ๆ 4 ข้อ คือ
1.ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน
2.อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน
3.เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10
4.กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีน อย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80
สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค. นั้น ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,024 คน และผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ตรวจด้วย ATK เป็นบวก) อีก 26,768 คน เสียชีวิตสะสมคิดเป็น 0.23% โดยย้อนไป 7 วัน ร้อยละของการตรวจพบเชื้ออยู่ที่ 26.67% นอกจากนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,553 คน
“ติดก็คือติด”
ปัจจัยเรื่องภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน นับเป็นจุดหมายของทุกรัฐบาล เพื่อให้สามารถผ่อนคลายมาตรการได้ ต่างเพียงการฉีดวัคซีนไม่จเป็นต้องแลกด้วยการเจ็บป่วย
“ช่วงแรกไม่มีวัคซีน ประเทศไหนติดเชื้อเยอะภูมิระดับชุมชนก็จะสูง อย่างอังกฤษ ยุโรป อินเดีย อเมริกา ส่วนบ้านเราก็อาจจะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหนัก ๆ ก็ช่วงเดลตากับโอมิครอน”
อย่างที่ผ่านมาคนมักใช้บริบทโรคไข้หวัดใหญ่เปรียบเทียบสถานการณ์ตอนนี้ เพราะเห็นว่าเป็นไวรัส และติดเชื้อทางเดินหายใจเหมือนกัน ทั้งที่ในรายละเอียดต่างกันพอสมควร
มาจนถึงตอนนี้ นพ.มานพ กล่าวว่า ไม่ช้าก็เร็วคนก็ต้องกลับอยู่ในสังคมปกติ ตามอุดมคติที่เคยเป็นก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2563 เช่นสมัยปู่ย่าตายาย ที่มีการระบาดของโรคกาฬโรค หรืออหิวาตกโรค
แต่ระหว่างทางจำเป็นต้องรักษาสมดุลของ 2 ฝั่ง ทั้งภาระทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงภาระทางสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือน “ภาระด้านอื่นก็เริ่มสูงหรือเหนือกว่าสาธารณสุขแล้ว”
นพ.มานพ ย้ำว่า ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเป็นส่วนสำคัญ เช่น เราป่วยก็ไม่ควรเป็นต้นเหตุนำเชื้อไปติดคนอื่นไม่ตั้งใจ หากมีความเสี่ยงก็แยกตัวไม่สุงสิงกับใคร 5 วันเป็นอย่างน้อย ร่วมกับไม่เป็นภาระต่อระบบสุขภาพ ด้วยการเข้ารับวัคซีนตามกำหนด
“No blame” นับเป็นแนวคิดที่ นพ.มานพ ย้ำทิ้งท้ายไว้ “ไม่มีการโทษกัน การที่คนคนหนึ่งติดไม่มีใครตั้งใจไปติดหรอก เราก็พยายามดูแล รักษา ป้องกัน ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม แค่นี้โอเคแล้ว”
Illustratort By Krittaporn Tochan