‘วิกฤตหมอกควัน’ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อน (ต้นกุมภาพันธ์) PM2.5 เวียนมาบ่อยยิ่งกว่าละคร remake แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่
ปัญหาหมอกควันดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้ จ.เชียงใหม่ ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก และยอดผู้ป่วยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมีสูงกว่า 30,000 คน
ตลอดหลายปีมานี้ เราได้เห็นนักคิด นักวิชาการ รวมถึงแพทย์จำนวนมาก ออกมาให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง PM2.5 ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ ชำแหละสาเหตุ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข อ่านและฟังกันจนไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ดูเหมือนว่า ปัญหาดังกล่าวยังเหลือ ‘เรื่อง’ ให้ได้สะสางอีกมาก มิหนำซ้ำ พออากาศดีขึ้น ประเด็นนี้ก็หายไปจาก headline ระยะหนึ่ง และสักพัก มันก็วนกลับมา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ Tyler Cowen (นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย George Mason และเจ้าของ blog ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Marginal Revolution) ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Bloomberg ชื่อว่า “Air Pollution Kills Far More People Than Covid Ever Will” โดย Cowen ได้หยิบงานวิจัยชิ้นล่าสุด (ที่ทำโดยนักวิจัยจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย University of Birmingham, Harvard university และ University College London ที่เพิ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research) มาเล่า และตั้งคำถามดังๆ ฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องมลพิษทางอากาศ (ใครกันนะ!?)
โฟกัสของงานวิจัย คือ PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล (Burning of fossil fuels) โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซ และเบนซิน key finding ของงานวิจัยก็คือว่า PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้นี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 10.2 ล้านคน ในปี ค.ศ.2012 โดยที่ 62% ของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในจีน (3.9 ล้านคน) และอินเดีย (2.5 ล้านคน)
แน่นอนว่ามีตัวเลขสำหรับไทย ของไทยนั้น นักวิจัยประมาณผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 กว่า 71,184 คน (สูงเป็นอันดับสามของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม)
นอกจากนั้น ยังได้ประมาณการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปี ที่อาศัยในทวีปอเมริกาและยุโรป จากโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่าง (lower respiratory infection: LRI) ผู้วิจัยมีความเห็นว่า PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ควบคุมได้ง่ายกว่า PM2.5 ที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ฝุ่นและควันจากไฟป่า
10 ล้านคนที่เสียชีวิตจาก PM2.5 นี้ เป็นยอดเสียชีวิต ‘ต่อปี’ ซึ่งเป็นยอดเสียชีวิตที่มากกว่าการตายจากการระบาดของโรค COVID-19 ที่ยอดรวมผู้เสียชีวิต ‘ทั้งหมด’ กว่า 2.6 ล้านคน ทั่วโลก
แม้ว่าผลกระทบจากโรคที่เกิดจาก PM2.5 จะรุนแรงขนาดนี้ การระบาดของโรค COVID-19 ได้แย่งพื้นที่ข่าวและความสนใจไปจนหมด ผลกระทบจากฝุ่นพิษเลยดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองๆ ที่เรามักจะหันมาสนใจเป็นครั้งคราว พออากาศดีขึ้น ก็เลิกสนใจ ประหนึ่งว่า ปีหน้าฝุ่นมันจะไม่กลับมาอีก
เราอาจจะสงสัยว่า การคำนวณของนักวิจัยที่บอกว่า คนเสียชีวิตจาก PM2.5 กว่า 10 ล้านคน มันเป็นตัวเลขที่ถูกหรือเปล่า?
แน่นอนว่า ในเมื่อมันเป็นผลการคำนวณจากงานวิจัย มันก็ ‘ถูกต้อง เที่ยงตรง’ ภายใต้สมมติฐาน (assumption) และ/หรือ สถานการณ์ (scenario) ที่แตกต่างกันไป แต่งานวิจัยจากที่อื่น ๆ ก็พบผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพที่รุนแรงไม่แพ้กัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ประชากรโลก 9 ใน 10 คน สูบอากาศเป็นพิษเข้าไป และในแต่ละปี มีคนกว่า 7 ล้านคนที่เสียชีวิตจากการสูดดมอากาศพิษ
อย่างไรก็ตาม COWEN ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ถ้าคุณเชื่อว่าการสูบบุหรี่มันไม่ดีสำหรับคนและบางครั้งมันอันตรายเสียจนคร่าชีวิตคนได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะสงสัยว่าคุณภาพอากาศแย่ ๆ มันอันตรายหรือเปล่า
เราพูดกันมามากว่า ผลกระทบจาก PM2.5 มันไม่เท่ากัน แน่นอนว่า คนที่รวยกว่า เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เร็วกว่า ก็พอจะเลี่ยงการรับ PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย อาจจะหลบอยู่ในห้องแอร์ที่มีเครื่องฟอกอากาศ หรือย้ายไปทำงานที่อื่น ที่ๆ มีอากาศบริสุทธิ์กว่า ขณะที่บางคน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย คนที่ทำงานในภาคการเกษตรและภาคบริการ (เช่น พนักงานทำความสะอาด พ่อค้าแม่ค้าริมถนน วินมอเตอร์ไซค์) ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์หรือนั่งรถเมล์ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศไปส่งลูกเข้าโรงเรียน หรือมีเงินไม่พอที่จะหาซื้อเครื่องกรองอากาศ/หน้ากากคุณภาพดี ๆ ที่กัน PM2.5 ได้
เรื่องพวกนี้ก็เป็นหนังม้วนเดิม ฉายซ้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ตั้งแต่ PM2.5 จนถึงการระบาดของโรค COVID-19
ดูเหมือนว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของ PM2.5 จะรุนแรง แต่เหตุใดมันถึงไม่ได้เป็น ‘เรื่องใหญ่’ เท่าที่ควร?
แน่นอนว่า COWEN เขียนถึงสภาพสังคมในสหรัฐอเมริกา แต่ผมคิดว่าเหตุผลมันใช้ได้ดีทีเดียวกับบริษัทของไทย โดย COWEN อธิบายว่า ก็เพราะว่าส่วนมากแล้ว ผลกระทบที่เรามักจะเห็นกัน มันเป็นผลกระทบที่เกิดกับคนอื่นๆ เช่น เกิดกับจีนและอินเดีย เราจึงคิดว่า นี่มันไม่ใช่เรื่องของเราโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทย จากงานวิจัยข้างต้น ผู้ที่เสียชีวิตจาก PM2.5 มีประมาณ 70,000 คน (ต่อปี) มากกว่าผู้เสียชีวิตรวมจากโรค COVID-19 ที่ปัจจุบันยังมีไม่ถึง 100 คน ไม่แน่ว่า…หลังจากที่ ‘ใครสักคน’ เห็นผลจากการวิจัยชิ้นนี้ แล้วจะตระหนกและตระหนักกับ PM2.5 มากขึ้นก็เป็นได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่เรื่องของ PM2.5 มันหายไปจากความสนใจ คือ ‘invisibility’ ของผลกระทบ
แม้ว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้คนเสียชีวิต แต่เรามักจะไม่เห็นผลกระทบโดยตรงของมัน เราไม่เห็นข่าวว่าคุณลุง คุณป้า ออกไปยืนหน้าบ้านที่ จ.เชียงใหม่ แล้วเสียชีวิตโดยทันที แต่ผลของ PM2.5 มันซ่อนอยู่ในมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากข้อมูลโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย และคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน ขณะที่คนไทยกว่า 400,000 คน ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีอัตราการตายสูงถึงชั่วโมงละ 2 คน
แน่นอนว่า ตัวเลขคนเสียชีวิตมันน่าจะช่วยเพิ่ม awareness ให้กับคนทั่วๆ ไป รวมไปถึงนักการเมืองได้ แต่คำถามก็คือว่า เราต้องการ evidence อีกสักเท่าไหร่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงจะสางปัญหาอย่างจริงจัง
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง บอกว่า ขอเอาตำแหน่งในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของชาติเป็นเดิมพัน หากไม่สามารถแก้ไข ‘ความจนปัญญา’ ในการแก้ปัญหาหมอกควันที่เชียงใหม่ ได้
แม้ผมจะชื่นชมอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ปัญหา PM2.5 ที่เจอทุกปี มันเกิดมาจาก ‘ความไม่รู้’ หรือ จริง ๆ แล้ว เราพอจะมีองค์ความรู้ แต่มันไปไม่ถึงมือผู้ปฏิบัติ โดย อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด อาจารย์พูดประเด็นนี้ หลายที่ และหลายรอบมากแล้ว) จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บอกกับเรา ปัญหาอยู่ที่การแก้ไขปัญหาที่ช้า-ไม่จริงจัง มีความทับซ้อนและไม่ชัดเจนในเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบ บทบาทขององค์กรท้องถิ่น การขาดแผนงานระยะยาว
PM2.5 ที่ลอยวนอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือ ไม่ต่างอะไรกับนักคิดและนักปฏิบัติที่เวียนว่ายหาทางออกไม่เจอ วันเวลาที่เสียไป คือ ปริมาณ PM2.5 ที่เข้าไปในปอด และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวทั้งต่อตัวเองและลูกหลานในอนาคต
หรือต้องรอ ให้มี ‘สืบ นาคะเสถียร’ แห่ง PM2.5 ปัญหานี้จะหมดไป แต่ก็อย่าลืมความจริงที่ว่า แม้สืบจะจากไปกว่าสามสิบปีแล้ว แต่ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน