ปัญหาปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกินเกณฑ์อยู่กับคนกรุงมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยเฉพาะรอบนี้ที่มีปริมาณฝุ่นหนาแน่นมาราวๆ 1-2 สัปดาห์ติดต่อกัน และดูไม่มีทีท่าจะลดลงด้วย
ฝุ่นขนาดเล็กทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมายอย่างที่เรารู้กัน ซึ่งนอกจากปัญหาด้านกายภาพอย่างโรคทางเดินหายใจแล้ว อีกประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กันเลยก็คือ PM 2.5 ยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคทางจิตเวชอย่างภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
บทความจากสำนักข่าว CNN ระบุว่า นิตยสารด้านสิ่งแวดล้อมฉบับหนึ่งได้ทำการศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณมลพิษทางอากาศสอดคล้องกับความผิดปกติทางจิตของผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้นด้วย
CNN ให้ข้อมูลว่า นิตยสารดังกล่าวได้ศึกษาเก็บรวบรวมสถิติติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี จนพบว่า อนุภาคไมครอนเล็กๆ ของฝุ่นจิ๋วมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตในวัยผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ทีมค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยซินซินนาติและศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกายังได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลผลกระทบของเด็กๆ ภายในพื้นที่ที่มีปริมาณ PM 2.5
พวกเขาพบว่า เมื่อไหร่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นติดต่อกัน จำนวนเด็กๆ ที่เข้าพบสถาบันจิตเวชในไม่กี่วันถัดมาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเคสที่เกี่ยวกับการปรับความคิดของเด็กๆ ที่มีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย
สาเหตุที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส มีทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ก็จะยิ่งส่งผลกับความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งหมดจึงทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะวิตกกังวลและความคิดการฆ่าตัวตายสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
ตรงกับที่กลุ่มนักวิชาการจาก University College of London ได้ทำการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับสภาวะทางจิต ได้ทำการศึกษากลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ปิดที่มีฝุ่น PM 2.5 มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดกว่าสองเท่าพบว่า กลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่นี้มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นราวๆ 10% ที่อาจจะพัฒนาไปสู่อาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
หากเราไปดูเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO จะเห็นข้อกำหนดเรื่องปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ ในขณะที่กรุงลอนดอนมีปริมาณฝุ่นเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13 ไมโครกรัม และในกรุงนิวเดลีมีปริมาณสูงถึง 133 ไมโครกรัม ซึ่งในบทความของ New Scientists ก็พบว่า การสัมผัสกับฝุ่นในระยะสั้นๆ สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่ออัตราฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นราวๆ 2%
“การได้รู้ว่าปัญหาฝุ่นไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่อาจกระทบไปถึงสุขภาพจิตของเราด้วยซึ่งถือว่ากระทบกับคนจำนวนมากในสังคม ลักษณะการเกิดขึ้นแบบนี้จะยิ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับข้อดีเบตของเราเพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์กว่านี้ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐเพิ่มมาตรการและนโยบายเพื่อลดปริมาณฝุ่นได้รวดเร็วขึ้นด้วย”
ส่วนหลักฐานการวิจัยที่แน่นอนนั้น ทางทีมวิจัยบอกว่า ตอนนี้อาจจะยังไม่มีชิ้นงานวิจัยที่ระบุชี้ชัดได้ร้อยเปอร์เซนต์ว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีส่วนทำให้เกิดอาการป่วยทางจิตได้ชัดเจน แต่ส่วนที่มีงานวิจัยชี้ชัดแน่นอนแล้วว่า มลพิษทางอากาศส่งผลโดยตรงแน่นอนก็คือ ผลกระทบต่อสมองเรา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
มีหลักฐานยืนยันว่า สสารขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือด เดินทางไปยังระบบประสาทและสมองได้ ฝุ่นขนาดเล็กจึงมีผลต่อระบบประสาทภายใน ทำให้เกิดอาการอักเสบของเซลล์ประสาทได้
ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนในร่างกายมนุษย์ และนั่นทำให้มีส่วนเชื่อมโยงไปถึงการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียดที่ตามมาด้วยเช่นกัน
นอกจากปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 แล้ว สสารอื่นๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็ยังมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
งานศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า วัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่อาการป่วยด้วยโรคจิตเวชในวัยผู้ใหญ่ มากกว่าวัยรุ่นที่อาศัยแถบชานเมือง ซึ่งการศึกษาครั้งนี้พบว่า สสารสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดอาการป่วย คือ การสัมผัสกับไนโตรเจนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ รวมถึงการเผาไหม้ที่โรงไฟฟ้า
โจเซฟ เฮยส์ (Joseph Heyse) นักวิจัยอาวุโสในทีมวิจัยได้ให้คำแนะนำต่อว่า สิ่งที่รัฐต้องทำเพื่อเร่งกำจัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลงซึ่งมีส่วนบั่นทอนทั้งสุขภาพทางกายและทางจิตว่ามีด้วยกันหลักๆ 2 อย่าง คือ ทำให้คนหันมาใช้จักรยานหรือเดินเท้าแทนการใช้รถยนต์ และเพิ่มการเข้าถึงสวนสาธารณะเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง