เคยได้ยินกันไหมว่าการเลี้ยงวัวอาจเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้?
รายงานจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency หรือ EPA) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุว่าอุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์และการเกษตรสร้างก๊าซมีเทน (Methane gas) ราว 37% ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด เพราะวัวเพียงตัวเดียวก็สามารถผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก (Global greenhouse gas หรือ GHG) ราว 70 – 120 กิโลกรัมต่อปี
EPA ระบุว่าขณะนี้มีโคที่เลี้ยงเพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ราว 1.5 พันล้านตัวทั่วโลก นำไปสู่การสร้างก๊าซมีเทนอย่างน้อยหนึ่งแสนล้านกิโลกรัมที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศต่อปี แน่นอนว่า ‘ปศุสัตว์’ ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ต่างทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณก๊าซมีเทนมหาศาลที่มาจากภาคการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจนั้น นับเป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ จนอาจนำไปสู่การตั้งคำถามว่าการจัดการปศุสัตว์ที่ดีสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่? เราจะมีทางเลือกในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปศุสัตว์ไทยได้อย่างไรบ้าง? และถ้าปศุสัตว์สร้างก๊าซมีเทนมากขนาดนี้ เราต้องเลิกกินเนื้อไหม? หรือว่ามีทางเลือกอื่นที่จะช่วยโลกได้?
วันนี้ The MATTER ชวนผู้อ่านค้นหาคำตอบ จากการพูดคุยกับหนึ่งในนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์โคนม เพื่อตอบคำถามว่าภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ไทยจะสามารถช่วยลดโลกร้อนอย่างไรได้บ้าง
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ไทย
นักวิชาการกล่าวว่า รายงานเมื่อปี 2562 ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 12,000 – 13,000 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent หรือ CO2e ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้เปรียบเทียบศักยภาพในการก่อภาวะโลกร้อนของก๊าซเรือนกระจกหลายชนิด ที่อ้างอิงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)
หากเปรียบเทียบสัดส่วนกับภาคการเกษตรทั้งหมด ที่ครอบคลุมการปลูกพืช การประมง หรือการเลี้ยงบก จะพบว่าภาคปศุสัตว์ (ในที่นี้หมายถึงการผลิตสัตว์ทั่วไป โดยอาจเจาะจงไปที่การเลี้ยงและผลิตสัตว์เศรษฐกิจ อย่างเช่น สัตว์ปีก สุกร หรือโค) มีสัดส่วนราว 30% ของภาคการเกษตรทั้งหมด
ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยมาโดยการเลี้ยงสัตว์ในบรรยากาศ อาจพบว่า ‘ก๊าซมีเทน’ เป็นก๊าซที่ถูกปลดปล่อยออกมามากที่สุด โดยรองลงมาคือ กลุ่มก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) และคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) ซึ่งกลุ่มก๊าซเหล่านี้ นับเป็นก๊าซเรือนกระจกลำดับต้นๆ ที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน
วัวสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?
นักวิชาการอธิบายว่า วัวสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกได้หลายทาง ที่ชัดเจนที่สุดคือผ่านกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งวัวจะแตกต่างจากมนุษย์ ตรงที่ในกระเพาะอาหารของมนุษย์มีน้ำย่อยที่ช่วยย่อยอาหาร แต่วัวมีถึง 4 กระเพาะ และในกระเพาะส่วนแรกที่รับอาหาร หรือ รูเมน (Rumen) เป็นส่วนกระเพาะขนาดใหญ่ที่วัวใช้ ‘จุลินทรีย์’ ซึ่งก็มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ดีสามารถสร้างพลังงาน และกลุ่มที่สามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกในการหมักอาหาร เช่น จุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน (Methanogen) ที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนได้
โดยในกระบวนการหมักอาหารของวัว ซึ่งทำให้เกิดก๊าซต่างๆ อาจปล่อยก๊าซผ่านการเรอราว 95% และอีก 5% ผ่านการผายลมของสัตว์
ส่วนอีกทางคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน ‘มูลสัตว์’ โดยในกรณีนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีจัดการมูลสัตว์รูปแบบต่างๆ เช่น การหมักปุ๋ย ที่สามารถสร้างก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้
ส่วนคำถามที่ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซจากปศุสัตว์วัดค่าได้อย่างไรนั้น เธอได้อธิบายว่า มีหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ ‘การคำนวณ’ จาก ‘การหมักในระบบย่อยอาหาร’ ของวัว โดยการเก็บข้อมูลอาจแตกต่างกันไปตามรายละเอียดของการเลี้ยงและให้อาหารของแต่ละฟาร์ม แต่หากพูดคร่าวๆ อาจแปลงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อระบบย่อยอาหาร เป็นตัวเลข ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมต่างๆ ของสัตว์ จำนวนวัวในฟาร์ม ประเภทของอาหาร หรือปริมาณพลังงานที่วัวได้รับเข้าไปในร่างกาย จากนั้นจึงคำนวณ ในสมการเพื่อทำนายปริมาณก๊าซมีเทนที่ถูกปลดปล่อย
“สมมุติว่าเราใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ […] เราก็ต้องตามไปดูว่ากระบวนการปลูกข้าวโพดมีการใช้น้ำมันดีเซลไปกี่ลิตร น้ำมันดีเซลกี่ลิตรเนี่ย มันปลดปล่อยคาร์บอนออกมามากน้อยขนาดไหน” นักวิชาการกล่าว
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการคำนวณจากการจัดการ ‘มูลสัตว์’ ซึ่งหลังการขับถ่าย ในมูลจะยังคงหลงเหลือพลังงานบางตัว ที่เมื่อผ่านการหมักไปแล้ว อาจปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้เช่นกัน และในทำนองเดียวกัน ระบบการจัดการมูลสัตว์ ก็มีวิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละฟาร์ม เช่น การตากแดด หรือใช้บ่อชีวภาพ
ในการคำนวณเพื่อทำนายปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ ต้องเริ่มจากประเมินปัจจัยหลากหลายในระบบจัดการมูลสัตว์ของแต่ละฟาร์ม เช่น สัดส่วนพลังงานในปัสสาวะ จำนวนสัตว์ในฟาร์ม ปริมาณของแข็งที่ระเหยในมูลสัตว์ พันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม แล้วจึงแปลงเป็นตัวเลขเพื่อคำนวณในสมการต่อไป
หากไม่สามารถเลิกกินเนื้อวัวได้ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปศุสัตว์มีทางออกไหนอีกบ้าง
นักวิชาการกล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน วิธีการจัดการก๊าซกลุ่มดังกล่าว อาจทำได้หลากหลายวิธี โดยมีการเสนอต้นแบบหลายวิธีที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือนักวิชาการในด้านต่างๆ ไม่จำกัดเพียงภาคเกษตรกร
- การปรับปรุงพันธุ์วัว
หนึ่งในวิธีจัดการก๊าซเรือนกระจก คือ ‘การปรับปรุงพันธุ์สัตว์’ โดยเน้นไปที่การปรับปรุงยีนของวัว โดยอาจศึกษาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่สามารถปล่อยมีเทนต่ำลงได้
- การสร้างสมดุลจุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน
อีกทั้งยังมี ‘การศึกษาและตรวจหาจุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน’ ในสามารถสร้างก๊าซมีเทนในกระเพาะส่วนรูเมนของวัว โดยอาจศึกษาเพื่อพยายามลดหรือปรับสมดุลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การปรับปรุงสูตรอาหารวัว
พร้อมกับอาจศึกษาเพื่อ ‘พัฒนาสูตรอาหาร’ สำหรับวัว ที่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทน และหากสำรวจต้นแบบจากออสเตรเลีย เราอาจพบหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจคือ ‘แร่ธาตุก้อนสำหรับโค’ (Medicated licking block) จากบริษัท AgCoTech ที่ออกแบบมาให้อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพโคในฟาร์มปศุสัตว์ และที่สำคัญสามารถลดการสร้างก๊าซมีเทนในระบบการย่อยอาหารของสัตว์ได้ โดย AgCoTech กล่าวว่าแร่ธาตุก้อนนี้สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ราว 800 กิโลกรัมต่อปี หากใช้ในกิจการปศุสัตว์ขนาดใหญ่ อีกทั้งเคยมีโครงการแจกจ่ายแร่ธาตุดังกล่าวฟรีๆ ในหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
- การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการฟาร์ม
ในแง่ของการจัดการฟาร์ม อาจ ‘ใช้เทคโนโลยี’ ที่แม่นยำ เข้ามาช่วย เพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น การใช้แผ่นเก็บข้อมูลที่ปลอกคอของวัว สำหรับเก็บข้อมูลการเคี้ยวเอื้อง เพื่อทำนายการหมักในกระเพาะ พร้อมกับการใช้พัฒนา ‘ระบบจัดการมูลสัตว์’ ที่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนได้
และสุดท้ายที่น่าสนใจคือ การออกแบบ ‘วงจรปศุสัตว์’ จากบริษัท CirPro ที่ต้องการบรรลุถึงมูลค่าสูงสุดของ ‘วัวทั้งตัว’ เพื่อลดการสูญเสียวัวโดยไม่จำเป็น โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์จากโคหลากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง หรือการใช้งานทางการแพทย์และทันตกรรม โดยมีระบบฟาร์มที่มีการแปรรูปน้ำเสีย ซึ่งสามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนได้
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ในการจัดการฟาร์ม ที่น่าสนใจ อย่างเช่น การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรรายย่อย จาก AgUnity ที่สามารถพัฒนาการจัดการฟาร์มในหลายด้าน อย่างการซื้อขายผลผลิต ไปจนถึงการตรวจสอบและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์ม
‘ความหวัง’ ของปศุสัตว์ไทย ในวันที่โลก ‘เดือด’
ในสถานการณ์ที่โลกเดือด เช่นทุกวันนี้ แนวทางที่หลายฝ่ายได้ร่วมแบ่งปันในรายละเอียดข้างต้น เป็นหลักฐานว่ามนุษย์กำลังพยายามบรรเทาความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในหลายวิธี ในแง่หนึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปศุสัตว์ไทย อีกทั้งอาจเป็นเหมือนความหวังใหม่ๆ ว่าต่อจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในภาคการเกษตรของไทยหรือไม่
แน่นอนว่าจากนี้ไป หลายภาคส่วนจะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า การตระหนักรู้ในปัญหาและวิธีแก้ไขจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในอนาคตของการบรรเทา ‘ภาวะโลกเดือด’ ในประเทศไทย
อ้างอิงจาก