“สมัยก่อนต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม น้ำถึงจะขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องพูดถึง แค่ครึ่งปีแรก น้ำก็ขึ้นมา 3-4 ครั้งแล้ว”
ตลอดหลายปีหลัง ข่าวความผันผวนของแม่น้ำโขงมีให้เห็นอยู่เสมอ น้ำแห้ง, น้ำใส, ตะกอนลอย, ตลิ่งทรุด, น้ำแรง, น้ำขึ้นเยอะกว่าปกติ หรือน้ำแล้งผิดฤดูกาล
13 กับ 24 คือ ‘ตัวเลข’ ที่เกี่ยวข้องกับความ ‘ผันผวน’ ของแม่น้ำโขง
ตัวเลขแรกคือจำนวนเขื่อนบนสายน้ำนี้ตั้งแต่จีนมาจนถึงลาวที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว
ส่วนตัวเลขหลังคือจำนวนเขื่อนทั้งหมด (เป็นอย่างน้อย) หากการก่อสร้างเป็นไปตามแผน
จำนวนเขื่อนที่เพิ่มขึ้น บวกกับการเปิด-ปิดประตูน้ำด้วยฝีมือมนุษย์ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนในอดีต ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงตอนล่าง (ไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม) กว่า 65 ล้านคน หรือมากเกือบจะพอๆ กับจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ
หน้าแล้งที่ผ่านมา ทีมงานของ The MATTER เดินทางไปยัง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อสัมผัสและพูดคุยกับชาวบ้านที่ใช้ชีวิตริมฝั่งโขงมารุ่นต่อรุ่นนับร้อยปี ในชุมชนชื่อว่า ‘บ้านตามุย’ ซึ่งเคยต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มที่อาจกระทบชีวิตของพวกเขาจนสำเร็จ แต่ขณะนี้กำลังเผชิญกับแผนการก่อสร้างเขื่อนสาละวันในพื้นที่ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ชีวิตของพวกเขาต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกันบ้าง
เมื่อวันนี้ สายน้ำที่คุ้นเคยเปลี่ยนไปจนเกือบจะไม่รู้จัก จาก ‘เขื่อน’ มากมายที่โผล่ขึ้นมาตลอด ‘โขง’
(1)
จากหลังคาโลกเป็นแม่น้ำโขง
จากบริเวณที่ราบสูงของทิเบต ไหลผ่านมณซิงไห่ในจีน เข้าสู่ทางตอนเหนือของเมียนมาและลาว ก่อนกลายเป็นเส้นแบ่งพรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และไหลออกทะเลที่ภาคใต้ของเวียดนาม
จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ แม่น้ำโขงถูกเรียกด้วยชื่อที่หลากหลาย ชาวทิเบตที่ตาน้ำเรียกมันว่า ‘ต้าจู’ คนจีนตั้งชื่อมันว่า ‘หลานชางเจียง’ ขณะที่คนไทย ลาว และกัมพูชาที่ท้ายน้ำเรียกคล้ายกันว่า ‘แม่น้ำโขง (Mekong River)’
4,763 กิโลเมตร คือระยะทางจากต้นน้ำในทิเบตถึงปลายน้ำก่อนออกทะเลในเวียดนาม
อย่างน้อย 1,148 สปีชีส์ คือจำนวนพันธุ์ปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นรองแค่แม่น้ำแอมะซอน
และน้ำหนัก 300 กิโลกรัม ลำตัวยาวกว่า 4 เมตร คือสัดส่วนของปลากระเบนยักษ์ที่ถูกจับได้ในแม่น้ำโขง ทุบสถิติกลายเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตัวเลขข้างต้นบ่งบอกความยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ และรุ่มรวยของแม่น้ำสายนี้ สวนทางกับตัวเลขอีกชุดหนึ่ง..
11 แห่ง คือ จำนวนเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำโขงหรือในประเทศจีน โดยเขื่อนที่ใกล้กับไทยที่สุดคือ ‘เขื่อนจิ่งหง’ ซึ่งห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงรายราว 340 กิโลเมตร (มีรายงานว่าจีนกำลังสร้าง ‘เขื่อนกาลันป้า’ เป็นแห่งที่ 12) ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่าง (ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มีเขื่อนทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ ‘เขื่อนไซยะบุรี’ และ ‘เขื่อนดอนสะโฮง’ ขณะที่ยังมีที่รอก่อสร้างอีกกว่า 10 แห่งตามแผนที่ประเทศลาวมุ่งพาตัวเองเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ (Battery of Asia)
หรือสรุปได้ว่า ถ้าเป็นไปตามแผนทั้งหมด ตลอดลำน้ำโขงอาจมีเขื่อนอย่างน้อย 24 แห่ง
และถึงจะไม่มีเขื่อนไหนเลยที่สร้างขึ้นในฝั่งไทย แต่เขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาวที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2562 ลงก็ทุนและก่อสร้างโดยเอกชนไทย คือเครือ ช.การช่าง โดยได้รับเงินทุนกสนับสนุนจากธนาคารไทย 6 แห่ง และรัฐบาลไทยก็ลงนามซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนนี้จากทาง สปป.ลาว ล่วงหน้าหลายสิบปีแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่มาจากเขื่อนเหล่านี้ กระทบต่อชีวิตของผู้คนริ่มฝั่งโขงหลายสิบล้านคน
“พี่ใช้คำว่า ‘น้ำมีระบบ’ คือเขื่อนทำให้น้ำไม่ไหลเป็นระบบตามธรรมชาติ แทนที่น้ำมีระบบจะไหลเป็นระบบ กลับไหลไม่เป็นระบบ เพราะไม่รู้น้ำจะขึ้นลงยังไง”
ข้างต้นคือคำบอกเล่าจากปากของ คำปิ่น อักษร ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนฮักน้ำของ (โรงเรียนรักโขง) และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
ดวงอาทิตย์สีส้มเกือบลับขอบฟ้าแล้ว เรือยนต์ของคนลาวพาคลื่นน้ำขึ้นมาที่หาดทรายริมฝั่งก่อนม้วนตัวหายไปในแม่น้ำตามเดิม ฝูงนกส่งเสียงหยอกเอินบินตัดฟ้ามุ่งหน้ากลับยอดไม้ ในความโรแมนติกของยามเย็น ผมถามเด็กๆ ที่ลอยตัวอยู่เหนือผืนน้ำว่า “รักน้ำโขงกันหรือเปล่า?”
“รัก” พวกเขาตอบแทบเป็นเสียงเดียวกัน
“แล้วรักมากแค่ไหน?” ผมถามต่อ
“รักมาก ..มากเท่ากับตัวเอง” เด็กชายคนหนึ่งโพล่งออกมาแล้วกลับไปกดหัวเพื่อนลงน้ำต่อ
น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยจากน้ำมือของมนุษย์ และกลุ่มคนที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างตั้งตัวไม่ทัน คือชุมชนริมสายน้ำแห่งนี้ที่พึ่งพิงและหลอมชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำโขงนานนับร้อยปี ชุมชนบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
(2)
ณ บ้านตามุย
เป็นระยะทางเกือบ 800 กิโลเมตร จากเขื่อนไซยะบุรีถึง ‘บ้านตามุย’ หรือเรียกว่าเกือบสุดปลายเขื่อน แต่ผลกระทบยังมีให้เห็นอยู่ถนัดตา
ชาวบ้านกว่า 600 คน จากกว่า 130 หลังคาเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้ กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางด้านความมั่นคงอาหาร เมื่อภูเขาด้านหลังถูกนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. เรียกคืนเพื่อขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ขณะที่ผืนน้ำด้านหน้ากำลังผันผวนจากเขื่อน
งานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยชาวบ้านตามุยเองในปี 2560 พบว่า คนในชุมชนนี้ต้องหันไปพึ่งการซื้อสินค้าจากตลาดกว่า 60% ของอาหารทั้งหมด จากที่เคยพึ่งพิงแหล่งอาหารธรรมชาติ
ขณะที่งานวิจัยจากสมาคมวิจัยเกษตรนานาชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต (CGIAR) คาดการณ์ว่า ภายหลังเขื่อนทั้ง 11 แห่งในแม่น้ำโขงตอนล่างสร้างเสร็จ ในปี 2573 ชาวโขงจะจับปลาได้ลดลงราว 26 – 42% ส่วนรายงานผลกระทบจากของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง ซึ่งจัดทำในปี 2563 ระบุว่า ผลกระทบจากเขื่อน จะทำให้ชาวโขงจับปลาได้ลดลง 40% และอาจมากถึง 80% ในปี 2583
เสียงบ่น เสียงหัวเราะ เสียงมีดกระแทกปังตอ เสียงไก่ขัน
เสียงถกเถียง เสียงไวท์บอร์ดและกระดาน เสียงหัวเราะอีกครั้ง
เสียงเคี้ยวอาหารที่ลอดจากปากไม่หุบ เสียงกีตาร์ เสียงแก้วกระทบ
ความเป็นจริงของคนในบ้านตามุยขยับไปแบบนั้น ตื่นรุ่งสาง แต่งตัวไปหาปลา กลับมาตอนเกือบเช้า ถ้าไม่มีหญ้าก็ต้องหาเกี่ยวเพื่อเอาไปให้ปศุสัตว์ในคอก กินข้าว พักผ่อน ออกไปพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ล้อมวงกินอาหารกลางวันแบ่งปันเรื่องตลก ถ้าช่วงไหนมีปัญหาก็ล้อมวงคุยกันตรงนั้น แต่ถ้าช่วงไหนผ่อนคลาย เหล้าขาวก็ตั้งรอไว้ไว้แล้วตรงชานบ้าน
แต่ระยะหลัง มีอีกประเด็นที่คนในบ้านตามุยต้องคุยกัน เมื่อมีข่าวว่าเอกชนที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนสาละวันใน สปป.ลาว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว โดยพื้นที่ที่อยู่ในแผนคือ บ้านคำตื้อ เมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน และบ้านกุ่ม เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก ซึ่งทั้ง 2 จุดอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านตามุย
ผมถามคำปิ่นแบบคนไม่รู้เดียงสา “ทำไมต้องกังวลถ้าเขื่อนถูกสร้างขึ้นฝั่งลาว?”
“มันพูดฝั่งนู้น ฝั่งนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนใช้แม่น้ำร่วมกัน ที่สำคัญเพราะไม่มีฝั่งนี่แหละ มันเลยสร้างง่าย ในลาวก็สร้างได้ ที่ไหนก็สร้างได้” คำปิ่นตอบ
(3)
แดดจัดเหนือ ‘บุ่ง’ ร้าง
ลุงก๊วง จากบ้านตามุย พาผมไต่สันทรายลงไปบริเวณริมตลิ่งด้านล่างของแม่น้ำโขงพลางชี้ให้ดูสภาพดินแห้งกรัง และบ่นอุบถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ โดยเฉพาะระดับน้ำและการขึ้นลงที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้พื้นที่ริมฝั่งโขงที่เคยปลูกพืชเมื่อน้ำลง และเก็บเกี่ยวก่อนน้ำขึ้นไม่สามารถทำได้เหมือนเคยอีกแล้ว
“มันเซาะมีแต่หิน ปีนี้เห็นหินหลายกว่าทุกปี ทุกปีมันเป็นบุ่ง (บึง) แค่นั้น” ลุงก๊วงพูดถึงสภาพพื้นดินริมตลิ่งแม่น้ำโขง ก่อนพาผมเดินไปถึงจุดที่เขาเรียกว่าเป็นบุ่ง แล้ววาดมือกลางอากาศเป็นวงกลมเพื่อระบุถึงจุดที่เคยปลูก ‘นาแซง’ หรือข้าวที่ปลูกริมฝั่งโขงยามน้ำลด
“บุ่งตรงนี้ ปลูกข้าวได้ประมาณ 30-40 กระสอบนะ รวมหมดทุกคนนะ มีอยู่ประมาณ 3-4 เจ้า” ชั่วยามพระอาทิตย์ตั้งฉากเหนือหัว ลุงก๊วงหยีตาหลบแสงแล้วพูดต่อ
“ตั้งแต่น้ำเขื่อนมาปะทะก็เรียบร้อยหมด ปลูกแล้วก็ท่วม ไม่มีกำลังใจจะปลูก” เขาแจกแจงให้ผมฟังว่าปัจจุบันมันแกว, ถั่ว และนาแซงต้องเลิกราไป แต่ยังมีพืชบางชนิดที่ปลูกได้บ้าง เช่น ข้าวโพด
ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า พวกเขาไม่รับรู้การแจ้งเตือนระดับน้ำจากภาครัฐหรือรับรู้แต่ก็ไม่เข้าใจ ภาพหนึ่งที่ยืนยันได้คือ ลุงสา หนึ่งในชาวบ้านตามุยยังต้องใช้ไม้ยาวในการวัดระดับน้ำ ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยากเพราะคนในหมู่บ้านตามุยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ห่างไกลเทคโนโลยี
ไม่ใช่แค่สวนบ้านตามุยเท่านั้นที่มีปัญหา ลุงตาล ประมงมือดีแห่งลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่พาผมทวนกระแสน้ำขึ้นไปราว 7 กิโลเมตร ยังจุดที่เรียกว่า ‘เก้าพันโบก’ จุดจับปลาและกสิกรรมสำคัญของบ้านตามุยและชุมชนอื่นใกล้เคียง ระหว่างทางเขาชี้ให้ดูริมตลิ่งสีน้ำตาลทรายที่กว้างขวางพอให้คนนับร้อยลงไปนอนเหยียดกาย
ชาวบ้านเรียกจุดนี้ว่า ‘บุ่งตาหมา’ หรือจุดที่ชาวบ้านทำกสิกรรม อาทิ ยาสูบ, ข้าวโพด, มันแกว, ถั่ว ฯลฯ
“แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเลย เพราะว่าน้ำไม่ปกติ ทำอะไรไม่ได้” ประมงลุ่มน้ำโขงอธิบายว่าเป็นระดับน้ำที่ขึ้น-ลงไม่ปกติจนทำให้พืชริมโขงตายหมด
เรือโคลงไปตามกระแสน้ำ ผมถามลุงตาลต่อว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ใจจะขาดหน่ะสิ”
ลุงตาลใช้ท่อนแขนกำยำสตาร์ทเครื่องยนต์เรืออีกครั้ง นกเจ่าบินอยู่เหนือเรือของเรา ขณะที่นกแยงบินโฉบหาปลาที่ข้างลำเรือ พวกมันไม่ต่างจากคนริมโขง ที่พึ่งพิงสายน้ำแห่งนี้และต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกัน
(4)
พิกัดเดิม แต่ ‘มอง’ ขาด
ลุงตาลดับเครื่องเรือยนต์อยู่ไม่ไกลจากริมฝั่งบ้านตามุย เขาพลิกร่างไปที่ด้านข้างของเรือแล้วใช้มือกำยำสาว ‘มอง’ (อุปกรณ์จับปลาประเภทหนึ่ง ลักษณะเป็นตาข่าย มักวางทิ้งไว้ในน้ำเพื่อให้ปลามาติดกับ) ขึ้นจากน้ำ ดูจากกล้ามเนื้อหน้าและหลังแขนที่ขึ้นเป็นริ้ว น้ำหนักของมันคงไม่ใช่น้อย
ไม่นานมองทั้งหมดก็ขึ้นมาอยู่บนเรือ แต่ภาพที่เห็นตรงหน้ากลับต่างไปจากที่คิด เพราะมีเพียงสิ่งมีชีวิตลำตัวสีเงินความยาวราว 20 เซนติเมตร ติดขึ้นมากับมอง
ประมงแห่งลุ่มน้ำโขงถอนหายใจเบาๆ ก่อนหมุนหัวเรือกลับสู่ฝั่ง..
เขาคีบปลาด้วยนิ้วทั้งห้า เท้าทั้งสองก้าวย่างผ่านหญ้าคาสวบๆ ก่อนมาถึงบ้านพักที่ชายคายกสูง เดินเลยประตูหน้าบ้านไปทางด้านหลังซึ่งเป็นครัว เตาไฟถูกจุดเตรียมพร้อมไว้แล้ว ยื่นร่างไร้ชีวิตสีเงินให้แก่ภรรยา พลางพูดแกมขบขันว่า “วันนี้ได้มาตัวเดียว”
อีกคำยืนยันถึงผลกระทบของเขื่อนต่อการจับปลาในแม่น้ำโขงมาจากปากของลุงก๊วงที่เล่าว่า “สายน้ำมันเชี่ยว มันแรง มันเยอะ” ทำให้ในบางจุดที่เคยวางอุปกรณ์จับปลาไม่สามารถวางได้อีกแล้ว “พอจะใส่เบ็ดคล้องไว้น้ำมันก็ขึ้นมาอีก ขึ้นเป็นเมตรกว่าๆ นู่น มันก็ไหลแรง ใส่เพียกก็ขาด ใส่อวนก็ขาด มันเลยไม่ได้เยอะเท่าที่ควร”
ที่ชาวบ้านกลัวไม่ใช่เพราะว่าเขื่อนทำให้หาปลาไม่ได้ แต่เพราะมันทำให้น้ำเปลี่ยนจนชาวบ้านไม่รู้จักต่างหาก
“แต่ก่อนใส่จนถึงเดือนพฤษภาฯ น้ำถึงจะขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องพูดเลย น้ำขึ้นมา 3-4 ครั้งแล้ว กลับไปกลับมาอยู่นี่”
ความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำยังทำให้ปลาบางพันธุ์ที่ชาวบ้านเคยจับได้ ไม่สามารถหาได้อีกแล้วในปัจจุบัน โดยลุงก๊วงยืนยันว่า “ปลากวงหายไป ปลาเหม็นก็หายไป ปลาเริมก็ไม่ค่อยเห็นแล้วทุกวันนี้” โดยชนิดแรกนั้นเขาจับได้ครั้งล่าสุดเมื่อ 8 ปีก่อน ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม แต่ในอดีต เขาเคยจับปลาชนิดนี้ได้บ่อยครั้ง บางตัวยาวกว่า 1 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 20-30 กิโลกรัม
อร่อยไหม ผมถาม
“อร่อยครับ เอาไปต้ม ไปลาบกิน”
อยากกินไหม ผมถามต่อ
“อยากกินครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี”
เขายิ้มจนตาหยี แล้วหัวเราะในลำคอ
(5)
บุฟเฟ่ต์ริเวอร์ฟู๊ด
เคยมีงานวิจัยจาก CGIAR ระบุว่าตลอดลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีประชากรราว 65 ล้านคน หรือเกือบจะเท่าจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ ต้องพึ่งพิงแหล่งโปรตีนจากแม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้ยังให้ผลผลิตทางการประมงราว 4.5 ล้านตันต่อปี ที่คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
พูดได้ว่าแม่น้ำโขงตอนล่างคือบุฟเฟ่ต์ริเวอร์ฟู๊ดขนาดใหญ่ คือบ่อเงินบ่อทองของโลก คือสะพานต่อเชื่อมระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับหลายชาติในอาเซียน
แม่น้ำสายนี้จึงหลีกไม่พ้นมือหวานขมของ ‘อำนาจ’
นอกจากคณะกรรมาธิการล่มน้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ที่สมาชิกล้วนเป็นประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแล้วยังมีกรอบความร่วมมืออื่น อาทิ ความร่วมมือแม่โขง-หลานชาง (จีน), ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (อินเดีย) หรือความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-เกาหลี ตลอดจนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ
จีนและสหรัฐฯ เคยปะทะกันมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อ Eyes on Earth โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ปล่อยรายงานฉบับหนึ่งชื่อ Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Through Natural (Unimpeded) Conditions (2563) อ้างข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมว่าจีนไม่ยอมปล่อยน้ำลงจากเขื่อน ทำให้ประเทศที่อยู่ท้ายน้ำเผชิญกับภาวะที่น้ำโขงลดลงต่ำกว่า 3 เมตรหรือมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทางการจีนก็โต้กลับว่าไม่ใช่เรื่องจริง
ประเทศในภูมิภาคนี้เองก็ฮั้วปันประโยชน์จากแม่น้ำนี้เช่นกัน เช่นเมื่อลาวประกาศตั้งตัวเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ พร้อมกับวางแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้งในแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึง 335 แห่ง และสร้างเสร็จไปแล้วอย่างน้อย 61 แห่ง (2 แห่งอยู่บนแม่น้ำโขง) โดยมีเพื่อนบ้านอย่างไทย ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่
กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการที่ศึกษาถึงผลกระทบของเขื่อนต่อคนริมโขง มองว่า กลไกระดับภูมิภาคอย่าง MRC มีความพึ่งพาอาศัยกันสูงมาก เช่น ถ้าลาวต้องการเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ประเทศอื่นจะห้ามเขาสร้างก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องการทูต เป็นการเมือง
ถึงแม้เธอจะมองว่าเขื่อนไม่ใช่นวัตกรรมที่จำเป็นอีกแล้วในปัจจุบัน และเห็นว่า ตัดสินใจสร้างแล้วควรมี ‘กระบวนการชดเชย’ ให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
แต่ในอนาคต เธอหวังว่าแม่น้ำสายนี้จะแก้ปัญหาใหญ่ 2 ประการให้ได้
ประการแรก ประชาชนถูกกีดกันจากการตัดสินใจ ควรเปิดให้องค์ความรู้จากชาวบ้านกับนักวิชาการสอดแทรกเข้ามาระหว่าง ‘องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์’ จากภาครัฐและเอกชนบ้าง
ประการสอง กรอบความร่วมมือต่างๆ ควรคำนึงหรือกำหนดอย่างเป็นรูปธรรมถึงแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เธอยกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-แม่โขง-เจ้าพระยา (ACMECS) ที่ไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือความร่วมมืออื่นซึ่งถ้ามีเขียนไว้ก็มีปัญหาทางปฏิบัติ
คำตอบของกนกวรรณ ใกล้เคียงกับสิ่งที่คำปิ่นอธิบาย เมื่อพูดถึงการเปรียบเทียบระหว่าง ‘มูลค่า-คุณค่า’
“มีคนถามว่า ทำไมจะปล่อยให้แม่น้ำไหลไปเฉยๆ ไม่เอาไปสร้างมูลค่า(เขื่อน) แต่พี่คิดว่านั่นไม่มีคุณค่า คุณค่าอยู่ที่นี่(ชีวิตความเป็นอยู่ของขาวบ้าน)”
อาจฟังดูดราม่า แต่ส่วนตัวผมก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องจริงและมีน้ำหนักเหตุผล
(6)
เช้านี้ สายน้ำยังมีหมอก
“คนอยากได้เขื่อนก็มี แต่ว่าคนไม่ชอบมากกว่าคนชอบ”
คำบอกเล่าถึงสถานการณ์ในหมู่บ้านมาจากปากของ ลุงวัย คนเฒ่าคนแก่ของบ้านตามุย ที่เคยร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขาเล่าว่าบางคนในหมู่บ้านที่ต้องการเขื่อน คาดหวังว่าจะได้เงินตอบแทนราว 10-20 ล้านบาท
หากเป็นดั่งลุงวัยว่าจริง ต้องยอมรับว่าเงินหลักสิบล้านบาทไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย และต้องยอมรับเช่นกันว่ากลุ่มคนที่ต้องการผลักดันเรื่องเขื่อนพร้อมทุ่มเทและทุ่มทุนต่อโครงการนี้จริงๆ
“เขาสร้างฝั่งนี้ไม่ได้ เขาก็ไปทำในลาว แล้วไทยไม่ร่วมสร้างก็ไม่ได้ มันสร้างครึ่งเดียวจะเป็นเขื่อนเหรอ มันต้องทั้งแม่น้ำโขง”
ในคำพูดของลุงวัยเองเหมือนแกยอมรับว่า เกมนี้มันยากและพวกเขาถือไพ่เหนือกว่า และทำให้เห็นชัดถึงความซับซ้อนทางการเมืองในแม่น้ำโขง และความคลุมเครือของอนาคตสายน้ำแห่งนี้
ถ้าไม่สู้คิดว่าจะเป็นอย่างไร? ผมถามนักสู้รุ่นบุกเบิกอย่างลุงวัย
“มันก็สบายเขา ทีนี้ลุงออกมาสู้ เพราะถ้าหากเขาสร้างจริงๆ ต้องมีกระบวนการ ต้องมีคนช่วยเหลือเรา ต้องหาเงินมาให้พวกเราและครอบครัวล่ะ ถ้าคุณไม่ต่อต้านจะได้อะไรล่ะทีนี้”
ยึดโยงกับความเป็นจริง และเข้าทำนองทฤษฏีเกมบวก ถึงแพ้ ก็ได้บางอย่างติดมือมาอยู่บ้าง
(7)
สายน้ำสะท้อนภาพเดียวกันไหม
ปัญหาบนแม่น้ำโขงเป็นเรื่องของใครบ้าง? ผมถามคำปิ่นขึ้นขณะที่สายลมพัดปรอยผมของเธอตกบริเวณหน้าผาก
เธอตอบแทบในทันทีว่า “เป็นเรื่องของทุกคน”
เธอเพิ่มเติมที่พูดให้ชัดว่า ไม่ใช่ว่าเราคัดค้านเขื่อนที่นี่เพราะมันเป็นบ้านของเรา แต่เราคัดค้านเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องทุกอย่างที่ควรจะได้รับการดูแลรักษา ไม่เช่นนั้น ภัยพิบัติจะตามมาอีกมากมายก่ายกอง
“เราถูกทำให้มองแยกส่วน ปัญหาภาคใต้ก็ถูกมองว่าอยู่แค่ในภาคใต้ ปัญหาภาคอีสานหรือภาคอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับคนกรุงเทพฯ ปัญหาของแม่น้ำโขงก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องเดียวกัน มันมีนัยยะสัมพันธ์กัน” คำปิ่นระบุ
ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ อ.กนกวรรณกล่าว ไฟที่คนกรุงเทพฯ ใช้ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่นี่ ไฟที่ได้จากเขื่อนไซยะบุรีก็ถูกขายให้ไทย หลายคนอาจไม่รู้ว่า ตอนนี้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินถึงกว่า 20,000 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องแบก
“สื่อจะช่วยได้เรื่องพวกนี้ ทำยังไงก็ได้ให้คนนอกรู้สึกว่า คุณก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตพลังงานที่ไม่ยั่งยืน”
…
ระหว่างนั่งอยู่ที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อรอเสียงเรียกขึ้นเครื่องเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ ผมเปิด Google Maps แล้วซูมออกจากสถานที่ที่นั่งอยู่ ในโปรแกรมจำลองแผนที่ ไทยกับ สปป.ลาวห่างกันเพียงขนาดแม่น้ำโขง แต่กลายเป็นพลเมืองคนละสัญชาติเพราะเส้นแบ่งบนแผนที่ ทั้งที่ภาษา, อาหารใต้ฝาชี, น้ำในขัน, สูตรเหล้าที่ต้มก็ล้วนไม่ใกล้เคียงก็เหมือนกันทั้งนั้น
รสชาติ ‘น้ำค้าง 7 ราตรี’ เหล้าต้มฝีมือชาวบ้านยังค้างอยู่ในปาก คิดถึงเทปที่ขนาดยาวที่ต้องถอดเสียง คิดถึงลาบรสมือแม่แดง แม่ครัวมือดีจากบ้านตามุย คิดถึงเสียงกีตาร์คำปิ่น และเผลอคิดถึงประโยคที่คำปิ่นตอบว่า แม่น้ำโขงเป็นเรื่องของใครบ้าง?
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเฉพาะจุด เฉพาะพื้นที่ หรือเป็นเรื่องของทุกๆ คน
สิ่งที่คนจากบ้านตามุยกำลังประสบ จะมาถึงชีวิตของพวกเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (หรือจริงๆ มาถึงนานแล้ว เราแค่ไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้สังเกต) และตอนนี้พวกเขาเพียงยืนเป็นด่านหน้าให้อยู่เท่านั้น
ติดตามซีรีส์ ‘โขงใคร’ เรื่องอื่นๆ ได้ที่
ความมั่นคงทางอาหารของคนริมน้ำโขงถูกเขื่อนพังทลาย
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
The Impacts of Dams on the Fisheries of the Mekong
Snapshot of the MRC Council Study* findings and recommendations
Status and Trends of Fish Abundance and Diversity in the Lower Mekong Basin during 2007–2018