ทุกวันนี้ คุณจ่ายค่าไฟเดือนละกี่บาท?
‘ค่าไฟแพง’ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ จนไม่แปลกที่หลายคนจะตั้งคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง แล้วไฟฟ้าของไทย มาจากไหนบ้าง
เขื่อนไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในไทยเองก็มีการนำไฟฟ้าจากหลายเขื่อนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนในไทยหรือในต่างประเทศก็ตาม ซึ่งในช่วง 3 ปีมานี้ ก็เพิ่งมีการเปิดตัว ‘เขื่อนไซยะบุรี’ ที่จ่ายไฟฟ้าเกือบทั้งหมด มาให้คนไทยใช้
อย่างไรก็ดี การมาของเขื่อนกลับทำให้ดินแดนริมน้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนไฟฟ้าชื่อดัง ต้องเผชิญผลกระทบด้านต่างๆ อย่างรุนแรง วิถีชีวิตเดิมๆ ที่เคยมีก็หายไป เพราะการตั้งเขื่อนที่ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนไปจากเดิม – ซึ่งพอกล่าวแบบนี้ เหล่าคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ริมโขงก็อาจจะมองว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขานี่
แต่ก็อย่างที่เล่าไปว่า เขื่อนไซยะบุรี ผลิตพลังงานไฟฟ้าส่งให้คนไทยจำนวนมาก ดังนั้นแล้ว เขื่อนไซยะบุรีที่แม้จะตั้งอยู่ไกลจากประเทศไทย ก็ใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงคนกรุงเลยเสียทีเดียว
ในซีรีส์ โขงใคร The MATTER อยากชวนมาดูว่า เขื่อนไซยะบุรี มีความเกี่ยวโยงอย่างไรกับคนไทย เรื่องนี้เชื่อมโยงกับค่าไฟของเรายังไง แล้วจำเป็นไหมที่เราจะต้องมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ากันอีก
เขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่บนแผ่นดินของประเทศลาว แต่ในวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2562 ซึ่งเป็นวันเปิดตัวการใช้งานของเขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นทางการ เรื่องราวของเขื่อนไซยะบุรี ก็ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย สื่อหลายสำนักก็ประโคมข่าวใหญ่โตด้วยเช่นกัน
เท้าความกันก่อนว่า เขื่อนไซยะบุรีนี้ ดำเนินการก่อสร้างโดยกลุ่ม บริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด เครือ ช.การช่าง ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนการสร้างจากธนาคารไทย 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธกส.)
ดังนั้นแล้ว แม้ตัวเขื่อนโดยกายภาพจะตั้งอยู่ที่ประเทศลาว แต่ไทยเองก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเขื่อนนี้มิใช่น้อย
ขณะเดียวกัน เขื่อนไซยะบุรียังเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้กับไทย ความใหญ่ที่ว่านี้คือ สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลานานถึง 29 ปี โดยให้เหตุผลว่าต้นทุนไฟฟ้าพลังงานน้ำมีราคาต่ำที่สุด
แต่ก็ต้องเล่าไว้ก่อนนะว่า ตัวเลข 29 ปีที่มีการทำสัญญากันนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป จนเหมือนปิดกั้นโอกาสในการซื้อพลังงานอื่น
กลับมาที่การผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี ด้วยกำลังของเขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 1,285 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนไซยะบุรีจะขายต่อไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 60 เมกกะวัตต์ ขายให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (แม้ว่าเขื่อนจะตั้งอยู่ในลาวก็ตาม)
บางคนอาจจะมองว่า ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือที่เราจะได้มีไฟฟ้าใช้ แต่จริงๆ แล้ว กฟผ.ระบุว่า ในปี 2565 ไทยมีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 30,135 เมกะวัตต์ ขณะที่ ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยก็มีสูงถึง 40-60% สูงกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15%
ประเด็นก็คือ ผลของการที่ไฟฟ้าเหลือใช้ ทำให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิต แต่ถึงจะหยุดไปแล้ว ก็มีข้อกำหนดที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเดินเครื่องผลิตหรือไม่ ก็ต้องมีการประกันค่าตอบแทน ดังนั้น คนไทยแต่ละคนต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 2,000 บาท/ปี จากภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกิน 48,929 ล้านบาทต่อปี
ด้วยเหตุนี้ คำถามถึงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อซื้อพลังงานไฟฟ้านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เขื่อนจำเป็นขนาดไหน ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้เห็นว่า การมีอยู่ของเขื่อนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับคนในพื้นที่ริมน้ำโขงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปกับคนไทยทุกคนที่ต้องมาแบกรับต้นทุนไฟฟ้าส่วนเกินด้วย
ดังนั้นแล้ว การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยแม้แต่น้อย
ติดตามซีรีส์ ‘โขงใคร’ เรื่องอื่นๆ ได้ที่
เขื่อนขวางโขงเปลี่ยนชีวิตคนตามุย
ความมั่นคงทางอาหารของคนริมน้ำโขงถูกเขื่อนพังทลาย
อ้างอิงจาก