การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อการเมืองและวัฒนธรรมของเราทุกคนเพราะมันจะคุกคามอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม และแน่นอนว่ากระทบต่อสังคมของเราด้วย
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร่งตัวขึ้น ความร้อนจัดและภัยพิบัติทางสภาพอากาศทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นมากขึ้น วิกฤตดังกล่าวกำลังรบกวนชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ กับความเป็นอยู่และสิ่งที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’
ก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าวไฟป่าร้ายแรงที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่าศตวรรษที่เมืองเมาอิ รัฐฮาวาย ซึ่งทำลายเมืองประวัติศาสตร์ คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100 ราย และทำให้ผู้อยู่อาศัยหลายพันคนต้องพลัดถิ่น แม้จะผ่านเหตุการณ์นี้ได้เกือบหนึ่งปีแล้ว แต่พวกเขาก็ยังคงเผชิญกับวิกฤติที่อยู่อาศัยและชาวเมาอิจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
ผู้คนนับล้านประสบกับสถานการณ์เดียวกับชาวเมาอิในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ข้อมูลจากสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2008 ผู้คนเฉลี่ยราว 21.5 ล้านคน (ต่อปี) ถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟป่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก
ขณะที่ข้อมูลของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น ผู้คนทั่วโลกมากถึง 1.2 พันล้านคนอาจต้องพลัดถิ่นภายในปี 2050 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ธนาคารโลก (World Bank) ประมาณการว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนมากกว่า 140 ล้านคนในประเทศบ้านเกิดของตัวเองต้องพลัดถิ่นภายในปี 2050 ตัวอย่างเช่น ชาวโซมาลิสมากกว่า 1 ล้านคน จะต้องออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเนื่องจากภัยแล้งเข้ามาแทนที่ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือนในปี 2022 จะเห็นได้ว่าความแห้งแล้งของประเทศ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคทำให้หลายครอบครัวต้องย้ายออกจากบ้านของตัวเอง
โมฮาเหม็ด อับดี (Mohamed Abdi) ผู้อำนวยการประจำประเทศโซมาเลีย ของสภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ บอกกับสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจของผู้ที่เปราะบางที่สุดบางคน ที่ต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ และมุ่งหน้าไปยังที่ที่ไม่มีใครรู้จัก “วิกฤติสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกำลังขัดขวางการเชื่อมต่อของเรากับสถานที่ต่างๆ และความรู้สึกของ ‘บ้าน’ ที่เราอยู่อาศัย”
ชีวิตของเราทุกคนเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ แต่ผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม
ปัจจุบันเกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของแอฟริกา กลุ่มช่วยเหลือในภูมิภาคระบุว่า ผู้คนมากกว่า 2.7 ล้านคนในพื้นที่ชนบทของซิมบับเวเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและหลายครอบครัวกำลังหิวโหย ความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องส่งผลให้พืชผลไหม้เกรียม ซึ่งผู้คนหลายสิบล้านคนกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งภัยแล้งนี้ลุกลามไปถึงประเทศเล็กๆ ใกล้เคียงอย่าง บอตสวานา แองโกลา แคมเบียและมาลาวี
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดของสหรัฐฯ คือ Maricopa County ในรัฐแอริโซนา เมืองใหญ่ในทะเลทรายซึ่งมีอุณหภูมิสูงเกิน 100 ฟาเรนไฮต์ (สูงกว่า 37 องศาเซลเซียส) และมีรายงานการเสียชีวิตจากความร้อน 645 รายในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 700% จากทศวรรษที่แล้ว ความสูญเสียเหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ชุมชนผิวสี และคนงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากนายจ้างอย่างเพียงพอ
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Redfin (อสังหาริมทรัพย์) พบว่าชาวสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งที่วางแผนจะย้ายถิ่นฐานบอกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของพวกเขา และกว่า 27% ของการสำรวจบอกว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือไฟป่าทำให้พวกเขาต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนดี
ซึ่งนี่จะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคตเช่นกันว่า พวกเราจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหนต่อดี?
แม้ว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายวงกว้างขึ้น และส่งผลกระทบต่อชุมชนบางแห่งรุนแรงกว่าชุมชนอื่นๆ ความเจ็บปวดที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนกำลังทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ว่าจะเป็นที่ไหนบนโลกก็คงยังไม่มั่นคงเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการพลัดถิ่นทั้งทางกายและทางใจอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก