เมื่อมีอาการปวดหลังเป็นเพื่อนหน้าใหม่ที่เข้ามาทักทาย เก้าอี้ดีๆ คงต้องกลายเป็นเพื่อนรักอันดับที่สองของพวกเรา
ที่บ่นกันว่าปวดหลังนั้น ไม่น่าจะใช่เรื่องอุปทานหมู่ ยิ่งในยุคนี้ที่ศูนย์กายภาพบำบัดเกิดผุดกันเป็นดอกเห็ด ยิ่งตอกย้ำความจริง
หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนพยายามตามหาเพื่อบรรเทาการปวดหลัง คือเก้าอี้ ergonomic หรือเก้าอี้ที่เป็นมิตรกับสรีระมนุษย์ ซึ่งตลาดของเก้าอี้นี้ดูได้ทวีจริงจัง จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับเข้าสู่ยุคการทำงานระบบออฟฟิศ และการนั่งที่โต๊ะทำงานทั้งวัน เริ่มทำให้ร่างกายของมนุษย์บาดเจ็บจากการอยู่ท่าเดิมซ้ำๆ
มีคนบอกว่ามนุษย์แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่ง แต่ถูกออกแบบมาให้นอน และยืน ซึ่งเป็นสรีระที่ถูกต้องตามธรรมชาติ ดังนั้นการต้องนั่งทำงานวันละกว่าหกชั่วโมงต่อวัน การจะตามรักษาอาการไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่ทางออก แต่ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ คือการนั่งต่างหาก
สิ่งที่เรียกว่า ergonomic chair จึงถือกำเนิดขึ้นมา
ประวัติศาสตร์และจักรวาล ergonomic chair
เก้าอี้แบบ ergonomic chair หรือแปลตรงตัวว่าเก้าอี้การยศาสตร์ คือเก้าอี้ที่ถูกออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ของมนุษย์ ออกแบบโดยนึกถึงการรักษา ‘ท่านั่ง’ ของร่างกายแต่ละคนที่แตกต่างกัน ให้เหมาะสมและนั่งได้เป็นระยะเวลานาน โดยลดการบาดเจ็บของร่างกายให้ได้มากที่สุด
อันที่จริงแล้วแม้จะมีดีมานด์เพิ่มมากขึ้นในทุกวันนี้ แต่ประวัติศาสตร์ของเก้าอี้การยศาสตร์นั้น มีมานานการคริสตกาลแล้ว
ย้อนกลับไป 1900BC มีการค้นพบจากภาพวาดว่า ช่างอียิปต์โบราณมีการสร้างเก้าอี้แบบที่ปรับเอนไปข้างหลังได้ ทำให้ช่างฝีมือทำงานได้ดีขึ้น
ในยุคสมัยใหม่ เก้าอี้ออฟฟิศ ที่มีการปรับระดับได้นั้น เริ่มต้นในปี ค.ศ.1851 เมื่อ ‘Centripetal Spring Armchair’ ถือกำเนิดขึ้น เป็นเก้าอี้อุนวมติดสปริงไว้ข้างใต้ มันฮือฮามาก เพราะเป็นเก้าอี้ตัวแรกที่สามารถปรับท่านั่งได้ ซึ่งในยุคศตวรรษที่ 19 นั้น ว่ากันว่าการนั่งบนเก้าอี้ที่นั่งสบายถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์นั้นพัฒนาการขึ้น และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้นในยุคถัดๆ มา เก้าอี้ที่มีจุดประสงค์เพื่อนั่งสบาย จึงถูกสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งการติดล้อเลื่อน การสร้างที่วางแขน ที่พักขาต่างๆ รวมถึงพัฒนาให้เก้าอี้รับสรีระได้สบาย ขณะเดียวกันดีไซน์ก็ชวนว้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
Ergonomic chair ถือกำเนิดขึ้นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ ในปี ค.ศ.1994 เมื่อแบรนด์ Herman Miller ได้เปิดตัวเก้าอี้รุ่น Aeron Chair ออกมา
Aeron Chair พลิกโฉมเก้าอี้ออฟฟิศไปตลอดกาล ด้วยการดีไซน์ที่ใช้อินไซด์ของเก้าอี้สำหรับคนสูงวัย ปรับได้ทุกส่วน มาพร้อมกับแอคเซสซอรีเพิ่มเติมที่ช่วยให้นั่งสบายขึ้น ที่สำหรับพนักผิงที่ใช้ผ้าใยพิเศษ (Mesh) ออกแบบให้รองรับสรีระและเกิดการระบายอากาศ ต่างจากพนักเก้าอี้ไม้ โฟม นุ่น แบบที่ผ่านมา
มันกลายเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้ายุค 1990s และเป็นต้นแบบเก้าอี้ออฟฟิศหลายรุ่นในปัจจุบัน ความพิเศษคือ – ความนั่งสบายของ Aeron ทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยของเก้าอี้ออฟฟิศขึ้นในสังคมการทำงาน จากแต่ก่อนที่เก้าอี้หลังทรงสูงมีไว้สำหรับผู้บริหารระดับสูง/ เก้าอี้มีที่พักแขนสำหรับผู้บริหารระดับกลาง/ เก้าอี้ไม่มีดีไซน์สำหรับตำแหน่งพนักงานเลขานุการ
Aeron Chair ปฏิวัติมันทั้งหมดด้วยคำว่า ‘ฉันนั่งสบาย’
ที่สำคัญผ่านมาเกือบสามสิบปี Aeron ก็ยังเป็นเก้าอี้รุ่นที่ขายดีติดอันดับทุกปีอยู่ ซึ่งทำให้หลายค่ายอื่น ซึ่งโดดลงมาเล่นในวงการเดียวกัน ก็พยายามพัฒนาเก้าอี้เพื่อล้มแชมป์ Aeron Chair ให้ได้
การแข่งขันพัฒนาทำให้เราเห็นเก้าอี้ ergo ที่มีคุณสมบัติซัพพอร์ตแตกต่างกัน หลายแบรนด์ทำได้ดี จนเป็นรุ่นยอดฮิต อย่าง ‘Steelcase : Leap Chair’ ที่ได้รับการยอมรับจากหลายสำนักในปีที่ผ่านมาว่า นั่งสบายด้วยนวัตกรรม 4D Armrest ซัพพอร์ตแขนในทุกท่านั่ง
ขณะเดียวกัน ด้วยราคาที่สูงมากของเก้าอี้ ergonomic ดีๆ สักตัว (อย่าง Herman Miller หรือ Steelcase รุ่นท็อปๆ ราคาก็พุ่งไป 5-6 หมื่นบาท) ทำให้ก็มีหลายแบรนด์ชิงช่องว่างตลาด ผลิต ergonomic chair ราคาถูก อย่าง ‘Sihoo’ แบรนด์จากจีน ที่ได้รับหลายรางวัลเก้าอี้ ergo ราคาถูกนั่งสบาย และทนทาน เมื่อปีที่ผ่านมา เพราะราคาเริ่มต้นที่หลักพันต้นๆ เท่านั้น
และไม่ใช่แค่ในวงการ White Collars เท่านั้นที่ต้องการเก้าอี้ดีๆ แต่เกมเมอร์เองก็ต้องการ เมื่ออุตสาหกรรมเกมสามารถทำเงินได้มหาศาล ใครก็อยากเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตระดับโลก อดีตเกมเมอร์รายหนึ่งจึงผันตัวมาทำเก้าอี้ ergonomic สำหรับเกมเมอร์เองเสียเลย ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ‘Secretlab’
ทุกวันนี้เราจึงเห็นจักรวาล ergonomic chair ที่หลากหลายรูปแบบ หลายราคา ตอบรับดีมานด์การทิ้งตัวลงนั่งของคนอย่างทั่วถึง
โดยจากรายงานของ Global Economic Office Chair Market 2020 ก็คาดการณ์ไว้ว่า ในปี ค.ศ.2026 มูลค่าตลาด ergonomic chair ทั้งโลก จะสูงขึ้นอยู่ที่ 20,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 12,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2020
ปรับท่านั่งแล้ว เลือกเก้าอี้ยังไง
แม้ว่าเก้าอี้นั่งที่ถูกหลักสรีระศาสตร์จะได้รับความนิยมมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าถามว่ามันเข้ามาเป็นสิ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกมองหาจะซื้อจริงจังเมื่อไหร่? ก็คงจะเป็นช่วงที่โรคระบาดเกิดขึ้น และคนต้องล็อกดาวน์ทำงานอยู่บ้านนั่นเอง
เมื่อเก้าอี้กินข้าว หรือโซฟา ไม่ตอบโจทย์การนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ พวกเขาคิดถึงเก้าอี้ดีๆ (หรืออาจจะไม่ดี) ที่ออฟฟิศ ยอดการสั่งซื้อเก้าอี้ทำงาน โดยเฉพาะเก้าอี้ที่ถูกหลักการนั่งและปรับระดับได้ จึงพุ่งขึ้นสูง
แล้วควรจะเลือก Ergonomic Chair ดีๆ สักตัวจากอะไรบ้าง ลองดูตามเช็กลิสต์นี้
- การปรับระดับ: หัวใจสำคัญของเก้าอี้ Ergo เลยก็ว่าได้ มองหาเก้าอี้ที่สามารถปรับเข้ากับสรีระและโต๊ะทำงานของคุณได้
- ไซซ์: หลายรุ่น หลายแบรนด์ มีไซซ์เก้าอี้ให้เลือกแบบเสื้อผ้าเลย S/M/L ใดๆ
- ความสูงเก้าอี้: ต้องปรับให้สูงกว่าพื้นได้ 15-22 นิ้วจากพื้น เพื่อให้ปลายเท้าเหยียบพื้นได้เต็มฝ่าเท้า และเข่าทำฉาก 90 องศา
- ความกว้างเก้าอี้: มาตรฐานกว้างคือ 17-20 นิ้ว การนั่งควรให้มีพื้นที่เหลือด้านข้าง ข้างละ 1 นิ้วจากขอบเก้าอี้
- ความลึกเก้าอี้: ลึกมากพอที่จะให้หลังชนพนักพิงได้เต็มหลัง แต่เหลือช่องว่างระหว่างขอบเก้าอี้และเข่า ประมาณ 2-4 ข้อนิ้ว เก้าอี้บางรุ่นปรับเลื่อนเบาะ ยืดเข้า-ออกได้
- การรองรับช่วงเอว: ข้อนี้ก็สำคัญ และต้องปรับการรองรับได้ เพื่อให้เก้าอี้ซัพพอร์ตช่วงหลังบนและสันหลังของเราได้
- พนักพิง: ความกว้างมาตรฐานควรอยู่ระหว่าง 12-19 นิ้ว และต้องออกแบบโดยรองรับสรีระโค้งเว้าร่างกายมนุษย์ ช่วยเรื่องการไหล่เวียนของโลหิต และลดการทำงานของหลังช่วงล่าง
- ที่พักแขน: เก้าอี้ ergo จำเป็นต้องมีที่วางแขนเพื่อลดการใช้งานช่วงไหล่ และที่วางแขนควรจะสูง 7-10 นิ้วจากเบาะรองนั่ง
- วัสดุ: อย่าลืมเช็คเรื่องวัสดุการผลิต โดยเฉพาะวัสดุที่ใช้ผลิตพนักผิงและวัสดุที่รองรับช่วงเอว
- การันตี: เก้าอี้ราคาสูงๆ หลายตัวรับประกันตลอดชีวิต อย่าลืมเช็คเรื่องการรับประกันด้วย
- ราคา: ปัจจัยหลักทีเดียว เอาเป็นว่ามีราคาตั้งแต่พันต้นๆ ไปจนถึงหกหมื่น ลองหาตัวที่เหมาะสมทั้งราคา และสบายทั้งการนั่งดู
เพราะการนั่งคือเรื่องใหญ่ ขอให้คุณเจอเก้าอี้ที่ใช่ในเร็ววัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Best Ergonomic Office Chairs of 2020- Over 100 Hours of Research – Ergonomic Trends
The Best Office Chairs: 14 Picks To Upgrade Your Home Office (forbes.com)
The history of the office chair — Quartz at Work (qz.com)
https://ergonofis.com/blogs/news/ergonomic-office-chair-choose-best
illustration by Waragon Keeranan