เลือดข้นกว่าน้ำ ใครๆ ก็รู้
ญาติพี่น้อง ในทางมานุษยวิทยาบอกว่าเป็นชุดความสัมพันธ์พื้นฐานที่พบในสังคมส่วนใหญ่ของมนุษย์ คือการนับญาติและรวมตัวกันเป็นครอบครัว ช่วยกันชุบชูดูแลเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน มันเป็นเหมือนความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุด ลักษณะสำคัญคือการนับความเป็นสมาชิกกันทางสายเลือด จะนับจากทางฝั่งแม่หรือทางพ่อเป็นหลัก อันนี้ก็แล้วแต่สังคม
มันเลยมีคำพูดซึ่งฟังแล้วก็สมเหตุสมผลเนอะว่า คนนี้มันพ่อ/แม่/พี่/น้องผม ผมก็ต้องเป็นห่วงเป็นธรรมดา ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ (ที่ไม่ได้ทะเลาะกับญาติพี่น้อง) เราก็คงพูดแบบเดียวกัน เพราะคนที่เป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเรา มันก็ต้องมีความชอบพอห่วงใยกันเป็นธรรมดา
ในมิติเรื่องเครือญาติมันเป็นเรื่องของการปะทะกันของจริยธรรมอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อญาติๆ เรากระทำความผิด หรือการที่เรามีการเอนเอียงเทใจให้กับญาติของเรา
ในนัยแรกอย่างที่บอกว่าด้วยความที่เราต่างเติบโตขึ้นมาบนครอบครัวและญาติมิตร ความรักญาติและการปกป้องญาติพี่น้องก็ดูจะเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่งที่เราต้องทำ แต่โลกนี้มันยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต่างฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นมันเลยมีจริยธรรมอื่นๆ ที่เข้ามาปะทะกัน เช่น ในบริษัทหรือองค์กรของรัฐ ถ้าเกิดมีการมอบตำแหน่งให้กับเครือญาติ หรือมีการเทใจให้ความชื่นชอบลงไปที่ใครคนใดคนอื่น แบบนี้ก็ขัดกับจริยธรรมของโลกภายนอกที่ต้องคำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นความลำเอียง อยุติธรรมประเภทหนึ่ง
ญาติมิตรอธิปไตย
การรักใคร่ญาติมิตรเป็นเรื่องปกติ ถ้ารักนะแต่ไม่แสดงออกก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจะเริ่มมาถ้าความรักนั้นนำไปสู่ความลำเอียง ความรักที่ว่านำไปสู่การตัดสินใจว่าเอ้อ นี่ไงญาติฉัน ฉันไว้ใจของฉัน เป็นคนดี เป็นคนเก่ง เลยต้องเอามาทำงานด้วยกัน
เอาจริงๆ อาจเป็นเพราะเราอยู่ในวันเดอร์แลนด์ เราเลยอาจได้ยินคำตอบว่า การเอาญาติพี่น้องมาทำงานด้วยมันไม่เห็นแปลก ก็ต้องเอาคนรู้ใจ คนใกล้ตัวมาทำงานไง แต่เอาเข้าจริง ในใจลึกๆ เราก็รู้แหละปะ ว่าการกระทำแบบนี้มันต้องมีคำครหาแน่นอน
การเอนเอียงแก่ญาติ เรามีคำเรียกว่า Nepotism ความหมายหลักๆ คือพฤติกรรมที่นำตำแหน่งสำคัญๆ มอบให้กับญาติพี่น้อง ที่มาของคำนี้มาจากการสืบทอดอำนาจของพระสังฆราชและพระราชาคณะในนิกายโรมันคาทอลิก รากศัพท์คำว่า nepos ภาษาละตินแปลว่าหลาน ด้วยพระในสมัยกลางจนถึงราวศตวรรษที่ 17 จะมีการส่งมอบตำแหน่งให้กับหลานชาย (คือพระในยุคกลางถือพรหมจรรย์เลยไม่สามารถมีลูกเองได้ การสืบทอดเลยใช้หลานชายแทน)
พฤติการณ์เอนเอียงนิยมญาติที่ว่ามันก็ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ เขาก็ทำกัน การแต่งตั้ง ชอบพอ ให้ความลำเอียงกับคนที่มีความสัมพันธ์กันในสายเลือดเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยๆ ในธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว กงสี ที่สมาชิกในครอบครัวรับตำแหน่งดูแลควบคุมกิจการต่างๆ
จริงๆ แล้วไอ้ Nepotism มันเป็นวิธีปฏิบัติที่เก่าก่อนเนอะ มาจากยุคที่เราไม่ได้สนใจการกระจายอำนาจ การให้โอกาสคนอื่นๆ ในการแข่งขันที่เสมอภาคกัน สมัยก่อนอำนาจเลยกระจุกอยู่ที่ครอบครัวหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แม้แต่ทุกวันนี้ ต่อให้เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่และมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์ด้วย การบริหารจัดการหรือมอบตำแหน่งให้อำนาจ หรือตัดสินสิ่งต่างๆ ที่มีญาติมิตรเข้ามาเกี่ยวข้องก็ย่อมต้องถูกจัดการอย่างยุติธรรมและชอบธรรม เพื่อขจัดข้อครหาเรื่องการลำเอียงออกไป
จริงๆ เรื่องการรักหรือลำเอียงคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวให้ความสำคัญอยู่แล้ว คือรักกันเองมันธรรมดา แต่วิธีการแสดงออกถึงความรักมันต่างกันออกไป เช่นว่า การให้สิทธิพิเศษกับลูกหลาน (เช่นการรับเข้าทำงาน) ในระดับเบื้องต้นก็ฟังดูเป็นการให้ความรักแบบให้ความสะดวกสบายไป แต่เอาเข้าจริงก็เป็นพิษกับลูกหลานในหลายระดับเหมือนกัน ระดับแรกคือย่อมถูกครหานินทาจากคนรอบข้าง และในอีกระดับก็เป็นการสปอยลูกหลานให้ไม่รู้จักขวนขวายและพัฒนาตนเองไปในตัว ทั้งหมดนี้อาจได้ของแถมเป็นการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของครอบครัวไปเสียอีกชั้นหนึ่งด้วย
ในที่ที่ไม่มีเจ้าของ
ในสากลโลกมักมองว่าการเอนเอียงใจให้กับญาติ โดยเฉพาะในองค์กรต่างๆ บ่อยครั้งไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมจรรยา เพราะมันเป็นการเอื้ออวยและเบียดบังผลประโยชน์ที่ควรเป็นของส่วนรวม เช่น ตำแหน่งหน้าที่ของภาครัฐที่ไม่ได้เป็นของใคร การเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเสมอภาคจึงมีความสำคัญที่แสดงถึงความโปร่งใส
จริงๆ แล้วในทางสังคมศาสตร์ การสืบทอดตำแหน่งหรือชนชั้นสถานะทางสังคม เป็นสิ่งที่กระทำกันอยู่แล้ว แต่ถูกทำด้วยกระบวนการอันซับซ้อนกว่า เช่น ครอบครัวชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มฝึกฝนและหล่อหลอมลูกหลานด้วยสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ซึ่งปลายทางของลูกหลานชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งก็มีโอกาสในการสอบในสนามเดียวกันกับคนที่มาจากชนชั้นที่ยากไร้กว่า
ดังนั้นการเอนเอียงต่อเครือญาติหรือการใช้อำนาจที่คนอื่นเห็นแล้วว่าไม่เป็นธรรมหรือชัดแจ้งจนเกินไปย่อมนำมาสู่ความเสื่อมเสียแกตนเองและชื่อเสียงของครอบครัว ไม่ว่าจะในสเกลของครอบครัว (อย่างความสัมพันธ์ต่อเพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้าน) ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไปจนถึงระดับรัฐ
ส่วนใหญ่เราก็เชื่อว่าและหวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ก็น่าจะมีวิจารณญาณที่ดีและเหมาะสมแหละเนอะ
เลยกลับไปที่เรื่องความรักญาติ ที่เอ้อ ไอ้รักก็รักแหละแต่
(จิงเกิลเพลงรักลูกให้ถูกทาง)
‘รักญาติให้ถูกทาง