ช่วงบ่ายวันนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีข่าวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF ที่กรมปศุสัตว์ ออกมายอมรับว่าจากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีผลเป็นบวกมีเชื้อ ASF จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม
การออกมายอมรับครั้งนี้นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างน้อยสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย เพราะมันเท่ากับว่าภาครัฐยอมรับว่ามีการระบาดของโรคนี้ และหลังจากนี้จะต้องมีมาตการและงบประมาณที่ลงไปแก้ไขอย่างเป็นระบบ
แต่กว่าจะถึงวันนี้ The MATTER อยากชวนย้อนดูว่ามีหลักฐานอะไรบ้างที่กดดันให้กรมปศุสัตว์ออกมายอมรับในที่สุดว่ามีการระบาดของโรค ASF ในสุกรไทยจริงๆ มันชัดเจนขนาดไหน มีหลักฐานกี่ชิ้น และหลังจากนี้ภาครัฐควรทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ไต้หวันแจ้งพบไวรัส ASF ในกุนเชียง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เว็บไซต์ Radio Taiwan International และ Focus Taiwan ได้รายงานตรงกันว่าพบเชื้อไวรัส ASF ปนเปื้อนในหมูแปรรูปของไทย โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกส่งมาวันที่ 15 ธ.ค. ก่อนถูกนำไปตรวจสอบในห้องแล็บและยืนยันผลในเวลาต่อมา โดยทางการไต้หวันระบุว่านี่เป็นครั้งแรกท่ีตรวจพบไวรัสชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์หมูจากไทย
จากกรณีดังกล่าว สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่าเป็นกุนเชียงที่ผลิตจากโรงงานแห่งหนึ่งในโคราช และจากการสืบสวนคาดว่าเนื้อหมูที่ใช้ผลิตกุนเชียงล็อตนี้ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อมาวันที่ 27 ธ.ค. Radio Taiwan International รายงานว่าทางการไต้หวันตรวจพบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปที่ส่งจากไทยปนเปื้อนเชื้อ ASF อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่สอง พร้อมระบุว่านับเพียงเดือน ธ.ค. เพียงเดือนเดียว พบเนื้อหมูปนเปื้อนเชื้อ ASF สูงถึง 20% โดยเป็นวัสดุที่ส่งจากจีน 12 ชิ้น และไทย 2 ชิ้น
ยังไม่ทันไร เมื่อวันที่ 10 ม.ค. สำนักข่าว UDN และ Apple Daily Taiwan รายงานว่าทางการไต้หวันตรวจพบผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปที่ส่งจากไทยปนเปื้อนเชื้อ ASF นับเป็นครั้งที่สามที่มีการตรวจพบในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือน
ผลชันสูตรซากหมูจากคณะสัตวแพทย์ ม.เกษตร
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยรัฐพลัสได้เปิดเผยเอกสารฉบับหนึ่งเรื่อง “รายงานการตรวจพบสุกรป่วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)” ระบุเป็นผลการชันสูตรศพสุกรจากหน่วยงานชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จ่าหน้าถึงหน่วยงานของกรมปศุสัตว์แจ้งว่าตรวจพบโรค ASF ในสุกรไทยที่เสียชีวิต
โดยเอกสารดังกล่าวถูกเซนเซอร์วันที่ส่งตัวอย่าง, วันรายงานผล รวมชื่อของผู้ส่งตัวอย่าง แต่ปรากฎผลการชันสูตรซาก, ผลตรวจในห้องปฏิบัติการ และการวินิจัยฉัยโรคครบถ้วน ระบุ “จากการตรวจวินิจฉัยสุกรตายด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”
สำนักข่าวไทยรัฐพลัสยังรายงานบทสัมภาษณ์กับแหล่งข่าวในกรมปศุสัตว์อีกว่า โรคดังกล่าวระบาดในไทยมากว่า 1 ปีแล้ว โดยพบเข้ามาทางภาคเหนือก่อน โดยเมื่อทราบก็มีความพยายามควบคุมโรคไม่ให้ระบาดสู่พื้นที่เลี้ยงหมูสำคัญอย่างราชบุรีและนครปฐม อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่าไม่สำเร็จ และเริ่มมีการระบาดในพื้นที่เลี้ยงหมูสำคัญต่างๆ
สำนักข่าวไทยรัฐพลัสรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อมูลการระบาดของโรค AFS ตรงกับข้อมูลจากวงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ทราบกันดีว่ามีการระบาดของโรคนี้ในเชียงรายตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว และได้มีการระดมเงินภายในวงเกษตกรผู้เลี้ยงหมูเพื่อชดเชยให้ฟาร์มที่เผชิญโรคระบาด หวังสกัดไม่ให้มีการระบาดของโรคดังกล่าว
ข้อมูลข้างต้นของไทยรัฐพลัสตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดนครปฐม ที่สำนักข่าว The MATTER ได้พูดคุยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา
หนังสือจาก 14 คณบดีสัตวแพทย์
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งจากภาคีคณบดีสัตวแพทย์ศาสตร์ 14 มหาวิทยาลัยส่งถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2564 หรือเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วระบุว่า จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วนยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทย์ในประเทศไทยพบว่ามีไวรัส AFS ในซากสุกรที่เสียชีวิตจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน (9 ม.ค.) อธิบดีกรมปศุสัตว์ก็ปฏิเสธว่ายังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวเลย แต่ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เช่นเดียวกับ ธนกร วังบุญคงชน โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันว่าภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูล โรคระบาดในหมูไทยคือโรค PPRS และยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ดั่งที่เป็นข่าว
โดยในวันที่ 10 ม.ค. สพ.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Reporter ยืนยันว่ามีการตรวจพบโรค ASF ในซากหมูแคระที่ส่งมาตรวจจริง รวมถึงแล็บอื่นทั้งในจุฬาลงรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดลก็ตรวจพบโรคเช่นกัน
ก่อนที่ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน (10 ม.ค.) สพ.คงศักดิ์ จะให้สัมภาษณ์ในรายการ Inside Thailand ยืนยันว่าได้ส่งหนังสือให้กรมปศุสัตว์แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของกรมเป็นผู้เซ็นหนังสือรับเอกสารเรียบร้อย
เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
“ตอนนั้นติดโรคไป 500-600 ตัว เราก็รีบโละที่เหลือขายหมด เพราะรู้แล้วว่าปล่อยไปก็คือตาย ตอนนั้นถ้าผมได้แค่ 10 บาท ผมก็ขาย เพราะถ้าปล่อยให้มันตายต้องฝากเขาฝัง ดีไม่ดีต้องให้เงินเขาอีกค่าฝังหมูที่ตาย”
The MATTER ได้พูดคุยกับพี่เอ (นามสมมุติ) เจ้าของฟาร์มหมูแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมที่เล่าว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ หมูในฟาร์มก็เกิดเบื่ออาหาร ล้มป่วย และตายไปมากกว่า 500 ตัว ทำให้ต้องเร่งขายหมูที่เหลือ จนขาดทุนราว 3 ล้านบาท และมาถึงขณะนี้เป็นเวลาร่วม 1 ปีแล้ว ที่ฟาร์มแห่งนี้ร้างจากเสียงสุกร และพี่เอขาดรายได้สำคัญของครอบครัว
พี่เอเล่าว่าในเครือข่ายคนเลี้ยงหมูมีการเตือนกันอยู่แล้วถึงโรค ASF มาตั้งแต 1-2 ปีที่แล้ว โดยเริ่มมีข่าวการระบาดในภาคเหนือมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น เมื่อหมูในฟาร์มเขาเริ่มป่วยและตายลง เขาจึงส่งตัวอย่างของหมูที่เสียชีวิตไปให้แล็บตรวจ ก่อนพบว่าทั้ง 3 ตัวอย่างที่ส่งไปตรวจพบไวรัส ASF ทั้งหมด
พี่เอตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่มีการปิดบังการระบาดของไวรัสชนิดนี้ว่าเป็นไปได้ 2 แง่ ประการแรก ผู้บริหารระดับสูงยังไม่ทราบเรื่องนี้จริง ประการที่สอง ต้องการปกปิดข้อมูลเพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออกหมูไปต่างประเทศ
ต้องเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ปี 2563 ถือเป็นปีทองของการส่งออกหมูไทย โดยมีการส่งออกหมูรวมมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท โดยส่งออกมาถึง 2,323,249 ตัวเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกเพียง 697,445 ตัวเท่านั้น การเพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดดนี้ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัดงานใหญ่มอบโล่ห์รางวัลเกียรติยศให้กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน, สพ.สรวิศ ธานีโต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่สามารถทำให้ไทยรอดพ้นจากไวรัส ASF ได้
แต่ประเด็นนี้ พี่เอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ส่งออกหมูไปต่างประเทศ เกษตรกรรายย่อยและกลางส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดในประเทศเท่านั้น
แผนที่ระบาดของไวรัส ASF
หากเราดูแผนที่การระบาดของไวรัส ASF จะพบว่าตั้งแต่เวียดนาม, จีน, ลาว, เมียนมา และกัมพูชาล้วนพบการระบาดของไวรัสชนิดนี้แล้ว โดยเวียดนามพบในปี 2562, จีนพบในปี 2561, ลาวพบในปี 2562, เมียนมาพบในปี 2562 และกัมพูชาพบในปี 2564
ดังนั้น หากดูจากแผนที่การพบเชื้อและเทียบกับความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส ASF ซึ่งสามารถแพร่ทั้งจากหมูสู่หมู และคนสู่คน ผ่านปัสสาวะ อุจจาระ เลือด รวมถึงเนื้อหมู ตลอดจนการหายใจนำเชื้อเข้าไป ถูกเห็บมีเชื้อกัด ตลอดจนแพร่ผ่านอุปกรณ์อื่นที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้าของผู้เลี้ยง
และจากปากคำยืนยันของเกษตรกรที่ The MATTER ได้พูดคุย เขายืนยันว่าทางกรมปศุสัตว์ได้แจ้งแก่เกษตรกรว่า ชายแดนรอบไทยล้วนพบไวรัสชนิดนี้แล้ว จึงได้มีการเพิ่มความระมัดระวังบริเวณชายแดน เพิ่มการพ่นยาฆ่าเชื้อ และกำชับให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาด
ความสูญเสียและก้าวต่อไป
และเมื่อภาครัฐไทยยอมรับว่ามีการระบาดของไวรัส ASF ในไทยแล้วในช่วงบ่ายของวันนี้ คำถามที่สำคัญตามมา 2 ข้อคือ การบ่ายเบี่ยงที่ผ่านมาทำให้เกิดความสูญเสียอย่างไรบ้าง? และก้าวต่อไปควรทำอย่างไร?
สำหรับคำถามข้อแรก ยังไม่มีการประเมินจากภาครัฐหรือหน่วยงานไหนว่ามีสุกรที่ตายด้วยโรค ASF มากขนาดไหน แต่มีการประเมินจากอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจว่า โรคระบาดทำให้หมูแม่พันธุ์ที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัวในไทย ตายไปราว 50% ทำให้ลูกหมุ หรือหมูขุนที่ผลิตจากเดิมได้ปีละ 21-22 ล้านตัว เหลือเพียง 12-13 ล้านตัวต่อปี แต่นิพัฒน์ยังย้ำว่า นี่เป็นเพียงการประเมิน และอาจเสียหายรุนแรงกว่านี้ก็เป็นได้
นิพัฒน์เสริมข้อกังวลอีกข้อว่า การระบาดของโรคทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อย 200,000 กว่าราย และผู้เลี้ยงรายกลางประมาณ 50-60% ก็เสียหายเช่นกัน และที่เหลือก็ล้วนเจ็บหนัก ดังนั้น การระบาดครั้งนี้อาจนำไปสู่ตลาดผูกขาดสมบูรณ์ เพราะเหลือแต่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ในประเทศ
นอกจากนี้ การปกปิดการระบาดของโรค AFS ยังส่งผลต่อแรงงานในภาคเกษตรเลี้ยงหมูที่อาจตกงาน, ราคาเนื้อหมูที่พุ่งสูง เพราะปัญหาถูกปกปิด และจะส่งผลต่อการธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับหมูทั้งระบบ ทั้งในกลุ่มผู้ขายอาหารสัตว์ หรือชาวไร่ ชาวนาที่ปลูกข้าวโพดและข้าว, กลุ่มผู้ผลิตยา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจไทยทั้งระบบเพราะหมูเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
แล้วก้าวต่อไป เราควรทำอย่างไร?
สำหรับทางออกของปัญหานี้ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีเพียง “วัคซีน” เท่านั้นที่จะจัดการปัญหาทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม มาถึงขณะนี้ในหลายประเทศที่เริ่มทำการวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสนี้แล้ว อาทิ จีน, เวียดนาม รวมถึงไทย แต่ก็ยังไม่มีรายงานวัคซีนที่สมบูรณ์ได้สำเร็จ
แต่การเร่งจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางกระทรวงการเกษตรได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก้เกษตรกรที่สุกรถูกทำลายแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2563-2564 จ่ายชดเชยให้เกษตรกร 3,239 ราย สำหรับสุกร 112,768 ตัว วงเงิน 470 และขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องชดเชยให้เกษตรกรอีก 4,924 ราย ที่สูญเสียสุกร 159,167 ตัว ในวงเงิน 582 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งเก็บข้อมูลตามที่เป็นจริงที่สุด เพื่อชดเชยให้เกษตรกรทุกรายโดยเฉพาะรายย่อยและกลางที่สูญเสียสุกรไปจากโรคระบาดในครั้งนี้
ถึงแม้สุดท้ายกรมปศุสัตว์ก็จนต่อหลักฐานและออกมายอมรับในท้ายสุดว่ามีการระบาดของโรค AFS ในสุกรไทยจริง แต่คำถามที่น่าสนใจและต้องตามสืบกันต่อไปคือ
- มีใครหรือคนกลุ่มไหนที่อยู่เบื้องหลังการปกปิดข้อมูลนี้หรือเปล่า?
- พวกเขาทำไปเพื่ออะไร?
- และคนในกรมปศุสัตว์หรือกระทรวงเกษตรรู้เห็นและได้รับผลประโยชน์ด้วยหรือไม่?
และหวังว่าคำตอบของคำถามเหล่านี้น่าจะถูกเปิดเผยในไม่ช้า
อ้างอิง:
https://www.fao.org/ag/againfo/programmes/en/empres/ASF/situation_update.html
https://www.bangkokbiznews.com/business/979173
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6826035
https://prachatai.com/journal/2022/01/96737
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6826035
https://plus.thairath.co.th/topic/money/100927