ไม่ถึงกับต้องไปเดินตลาดก็น่าจะรู้แล้วว่า ต้นปี 2565 นี้ “ครัวโลก” อย่างไทยกำลังเผชิญสภาวะข้าวยากหมากแพง หรือที่ชาวโซเชียล มีเดียนำคำที่พรรคฝ้ายค้านเคยใช้โจมตีรัฐบาลเพื่อไทยในช่วงปี 2554-2557 ว่า #แพงทั้งแผ่นดิน มาติดกันว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ตและโอดครวญไปตามท้องถนนในโลกความจริง
โดยตั้งแต่ต้นปี เริ่มจากราคาหมูที่ทะยานทะลุ 200 บาทต่อกิโลกรัมแบบงงๆ และกว่าจะรู้ที่มาที่ไปก็ล่วงไปสัปดาห์ที่สองของปีใหม่แล้ว (เพราะกรมปศุสัตว์ไม่เฉไฉไม่ยอมรับการระบาดของไวรัสอหิวาต์แอฟริกัน) ก่อนที่เนื้อสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าเนื้อไก่, ไข่ หรือกุ้งก็พากันขยับขึ้นตาม แต่ไม่ใช่เพียงราคาอาหารเท่านั้น เพราะราคาแก๊สหุงต้ม, ค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำมันล้วนเตรียมขยับขึ้นจ่อติดๆ กัน
และเมื่อย้อนมาดู ค่าแรงขั้นต่ำที่ยังคงจอดอยู่ที่ 300 บาทนิดๆ ก็พูดได้ว่า ทำงานทั้งวันได้หมูได้หนึ่งโล ก็เป็นความโหดร้ายที่ไม่ผิดจากความจริงแต่อย่างใดเลย
ปัญหานี้ดูจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยทีเดียว และเป็นไปได้ว่าอาจจะลากยาวไปมากกว่าแค่หนึ่งหรือสองอาทิตย์ที่กำลังถึงนี้ The MATTER จึงนัด เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มาพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สินค้าทุกอย่างปรับขึ้นมากขนาดนี้ สถานการณ์จะย่ำแย่ลงกว่านี้อีกไหม แล้วรัฐบาลควรทำอะไรบ้างเพื่อทุเลาบรรเทาปัญหาประชาชน
ล่าสุดราคาเนื้อหมูถือว่าแพงขึ้นเกือบเท่าตัว อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน และควรทำอย่างไรบ้าง
ถือเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ และมันคงจะใช้ระยะเวลามากพอสมควรทีเดียว ที่จะทำให้ราคาของเนื้อหมูถูกลงมา นี่คือปัญหาที่น่ากังวลข้อแรก เพราะเราไม่สามารถที่จะหาเนื้อหมูที่มันขาดไป เข้ามาแทนที่ได้ในทันทีทันใด แล้วถ้าเราจะกดราคาเนื้อหมูด้วยวิธีการใดก็ตาม ให้มันลงมาจุดเดิมได้ก็เป็นเรื่องยากอีก เพราะว่าผู้เลี้ยงที่เหลืออยู่ก็ต้องทุ่มทุนพอสมควรในการป้องกันโรคระบาดเกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา ดังนั้น มันอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก ในการที่เราจะไปกดราคาอุปทาน (เนื้อหมู) ที่มันน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก
เพราะงั้นมันก็มีอยู่ทางเดียวคือ เราต้องเพิ่มอุปทานหรือว่าปริมาณเนื้อหมูเข้ามาในตลาดให้ได้ ซึ่งถ้าเราจะเริ่มด้วยการเลี้ยงภายในประเทศ มันก็น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยสัก 6 เดือน นี่คืออย่างน้อยที่สุดนะครับ แต่ถ้าเราจะนําเข้ามาก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนเหมือนกัน และก็อาจจะไม่ได้เพียงพอนะ เพราะส่วนที่เราหายไปจากเรื่องโรคระบาด มันถือว่าพอควรเลยประมาณ 30% เพราะฉะนั้นถือว่ามันกระทบเยอะ นี่คือประเด็นข้อที่หนึ่ง ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ คือ เรายังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ในทันที
ประเด็นที่สอง เนื้อหมูมันเป็นอาหารพื้นฐานที่คนทั่วไปกินกันมาก ผมคิดว่าถ้าไม่นับข้าว เนื้อหมูเป็นรองอย่างเดียวคือไข่ เพราะฉะนั้น มันเลยทําให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง แล้วพอเรามา ดูกันว่าครัวเรือนกลุ่มไหนที่บริโภคหมูเยอะ ปรากฏว่าคือ ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนนะ เพราะในช่วงหลายสิบกว่าปีมานี้ ผักมันแพงขึ้นกว่าเนื้อสัตว์เยอะแล้วนะ ดังนั้น พอหมูแพงขึ้น ภาระมันก็ตกกับคนจนหนักด้วย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้หมูเป็นหลักก็ได้รับผลกระทบมากด้วยเช่นกัน
มีข้อกังวลอีกข้อหนึ่งจากปรากฏการณ์หมูแพงว่า สถานการณ์โรคระบาดจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยล้มตายไป
ใช่ครับ อันนี้ก็คือประเด็นที่สาม คือมันจะมีผลต่อโครงสร้างของอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ซึ่งจริงๆ โครงสร้างของมันก็กระจุกตัวมากพอสมควรอยู่แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ ส่วนแบ่งของรายเล็กก็เหลือประมาณสัก 14% (จากเดิมประมาณ 20% – ผู้เขียน) ในโครงสร้างการผลิตทั้งหมด
และที่จริงรายเล็กก็ทยอยปิดตัวไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะไม่สามารถรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ หรือในบางกรณีก็อาจจะไปเจอการแพร่ระบาดในฟาร์ม จนต้องกําจัดหมูทิ้งจนต้นทุนจมและก็มีหนี้สินติดตัวไปด้วย
ดังนั้น ในภาพรวมมันก็จะวนกลับไปสู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าเราเอาเนื้อหมูนำข้ามาจากต่างประเทศ เราก็ต้องคิดด้วยว่า เราจะฟื้นอุตสาหกรรมภายในประเทศยังไง และต้องคิดด้วยว่าจะทำยังไงให้ผู้เลี้ยงหมูรายเล็กกลับมาให้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น มันก็เป็นสามประเด็นที่มันพ่วงกันอยู่นะครับ
แต่ในตอนนี้มีปรากฎการณ์ #แพงทั้งแผ่นดิน มันเกี่ยวข้องกับเนื้อหมูด้วยหรือเปล่า หรือเพราะสาเหตุอื่น
ย้อนกลับไปประเด็นที่สองครับ พอเนื้อหมูเป็นสินค้าที่คนทั่วไปนิยมกันมาก พอมันขาดตลาดและราคาแพงขึ้น คนก็พยายามไปหันไปหาสินค้าตัวอื่นที่พอแทนกันได้ แล้วการหันไปหาตัวอื่นเท่ากับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง มันก็เลยทําให้ราคาสินค้าตัวอื่นกระเถิบตามไปด้วย อย่างเช่น ไก่เนื้อหรือแม้กระทั่งไข่
และต่อเนื่องจากเรื่องหมูอีกประการคือ เงินเฟ้อ ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยเราเริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยตอนนั้นเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับประมาณสัก 2-3% ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ทราบว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมกราคมจะขึ้นเท่าไหร่
ทีนี้ถามว่าเงินเฟ้อระดับนี้มันเยอะไหม ถ้าเป็นช่วงเศรษฐกิจปกติก็ถือว่าไม่ได้เยอะนัก แต่ว่าเนื่องจากการเศรษฐกิจฟุบมาสองปีแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นตัวเลขเงินเฟ้อตอนนี้จึงถือว่าค่อนข้างเยอะ
พ่วงด้วยปัญหาเนื้อหมูที่ผลักให้อาหารอื่นราคาแพงขึ้น มันกลายเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจกำลังฟุบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจฟุบเฟ้อ (Stagflation) ซี่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยากมากในการแก้ไข
คือถ้าเงินเฟ้อ มันเกิดมาจากเศรษฐกิจเราเฟื่อง เราก็สามารถที่จะออกนโยบายชะลอการบริโภค, เก็บภาษีเพิ่ม หรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอการบริโภคได้ แต่พอเศรษฐกิจฟุบด้วยเนี่ย เราไม่รู้จะกระตุ้นการบริโภคยังไงนะครับ มันเลยจะส่งผลเป็นเป็นวงกลมแบบนี้
อาจารย์มองว่าสถานการณ์ตอนนี้นี้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อแล้วใช่ไหม
ใช่ครับ มันมันเกิดขึ้นในทิศทางแบบนั้น เพียงแต่ในแง่ตัวเลขอาจจะเถียงกันได้ว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ แต่ว่าในแง่ทิศทางมันน่าเป็นห่วง
อย่างเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา (2564) แม้ในช่วงไตรมาสสี่ (ต.ค.-ธ.ค.) จะฟื้นขึ้นมาบ้าง แต่โดยรวมก็เรียกว่าโตนิดเดียว ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเป็นการเติบโตที่เทียบกับปี 63 ที่เศรษฐกิจมันฟุบยาวตลอดปี ส่วนปี 2565 ผมมองว่าเราก็ยังต้องดูกันต่อ ถ้านักท่องเที่ยวที่คิดว่าจะกลับมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจรอบนี้ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีความฟุบเป็นฐานอยู่แล้ว และความเฟ้อจากราคาน้ํามัน บวกกับราคาอาหารเติมเข้าไป ดังนั้น เรียกว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญปัญหามากขึ้นนะครับ
ปัญหาเงินฟุบเฟ้อนี่น่าห่วงแค่ไหน และมันจะอยู่กับเราไปทั้งปีหรือแค่ช่วงเวลาเดียว
มันจะทําให้ปัญหากลายเป็นวงจร คือเงินเฟ้อทำให้คนซื้อของได้ยากขี้น แต่เศรษฐกิจฟุบมันคือถดถอย เราต้องการให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อจะทําให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากเงินมันเฟ้อ ของมันแพง คนก็จับจ่ายใช้สอยได้น้อยลง มันก็เลยวนกันอยู่อย่างนี้ครับ หรือพูดง่ายๆ ว่ามันทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ได้นะครับ
ถามว่าเราจะออกจากปัญหานี้ได้ไหม ครึ่งปีแรกคงไม่ได้ เลยต้องดูกันในระยะครึ่งปีหลังแล้วกันนะครับ ซึ่งผมคิดว่าอยู่ที่ปัจจัยสองอย่างนั่นแหละ คือราคาน้ํามัน กับราคาอาหาร
อย่างราคาหมูก็คงอยู่ไปอย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้าเกิดรัฐบาลมีมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น สามารถนําเข้าเนื้อหมูภายในระยะเวลาสักเดือนนึงได้ น่าจะทําให้ราคามันลงมาระดับหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้ลงมาเท่ากับราคาช่วงที่ก่อนมันจะขึ้นนะครับ (ก่อนหน้าเดือน ธ.ค.) เราก็คงหวังได้แค่นั้น แต่ถามว่ามันจะแพงแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่งไหม? ก็คงสักหนึ่งปี
ส่วนราคาน้ํามันก็คงต้องติดตามต่อไปว่าตลาดโลกจะผันผวนหรือเปลี่ยนไปยังไง แต่ว่าโดยปัจจัยพื้นฐาน ราคาน้ํามันก็จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายประเทศเผชิญกับการระบาดของโอไมครอนค่อนข้างหนัก แต่ในแง่ของเศรษฐกิจประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังดําเนินไปตามปกติ ซึ่งแปลว่าราคาน้ํามันไม่น่าจะถูกลงกว่าเดิมมากนัก ดังนั้น เรียกว่าตอนนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวลอยู่เหมือนกัน
แต่ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ภายในครึ่งปี ผมว่าคนที่อยู่ยากอาจจะกลายเป็นรัฐบาลมากกว่า ดังนั้น รัฐบาลก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากพยายามหาทางทําให้เงินเฟ้อมันลดระดับลงมา ส่วนเศรษฐกิจจะฟื้นไหม ผมคิดว่าเงินเฟ้อแล้ว มันคงต้องขึ้นกับปัจจัยอื่น เช่น เราคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ไหม ถ้าโอไมครอนหายไปแล้ว ไม่มีตัวใหม่มาอีก ก็เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจมันจะฟื้นนะครับ
เรามีพื้นฐานที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะฟื้นได้ช้ากว่าเดิม ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อ แล้วถ้าไม่แก้ปัญหานี้ ที่ฟุบอยู่แล้วมันก็จะยิ่งฟุบหนักขึ้นนะครับ
แสดงว่าสถานการณ์แพงทั้งแผ่นดินแบบตอนนี้อาจลากยาวไปตลอดทั้งปีได้ใช่ไหม
ทีแรกเราหวังว่าปีนี้ (2565) เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งถ้าจะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวสิ่งสําคัญคือ กําลังซื้อ แต่พอกําลังซื้อภายนอกประเทศได้รับผลกระทบจากโอไมครอน และกำลังซื้อภายในประเทศก็มาเจอเงินเฟ้ออีก มันก็ทำให้การซื้อโดยเฉพาะส่วนอื่นๆ ก็ต้องกระเทือนไปด้วย และการที่จะทําให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ น่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อยจากภาวะเงินเฟ้อตอนนี้
ต้องถามอาจารย์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเราเนี่ยมันมาจากไหน เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเศรษฐกิจบ้านเราฟุบหลับมาตลอด
คือในทางเทคนิคเราเรียกมันว่า Cost Push ครับ มันแปลว่าต้นทุนมันผลักขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ในภาษาเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า Demand Pool คือความต้องการของตลาดมันดึงเงินเฟ้อขึ้นมา สำหรับกรณีประเทศไทย เป็นลักษณะต้นทุนที่ผลักขึ้น โดยต้นทุนตัวแรกก็คือ ราคาน้ํามันที่ผลักขึ้นมาก่อน แล้วก็ตามมาด้วยหมูก่อนลามไปสู่อาหารตัวอื่นๆ
นโยบายรับมือ COVID-19 ที่ผ่านมามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ด้วยหรือเปล่า
คงไม่ใช่นะครับ เพราะมันไม่ได้ทําให้เกิด Demand Pool มากขึ้นขนาดนั้นนะครับ เพราะงั้น มาตรการอย่างคนละครึ่งคงยังใช้ได้ แต่ในส่วนที่จํากัด เพราะถามว่ามันจะช่วยกู้สถานการณ์ได้มั้ย ตอนนี้ก็คงจะไม่ เพราะว่าของมันแพงขึ้นเยอะ พูดง่ายๆ ถ้ามาใช้กับการซื้อหมูก็ใช้กับส่วนอื่นได้น้อยลง และอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ และต้องไม่ลืมว่านโยบายแบบนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาคนตกงานและของแพงได้
เอาเป็นว่าสถานการณ์ตอนนี้หนักจริงๆ ครับ คือทั้งสามส่วน หนึ่ง คนยังไม่มีงานทําพอสมควร สอง เศรษฐกิจยังไม่กลับมาโต กําลังซื้อไม่ค่อยดี สาม ของราคาแพงขึ้น ซึ่งมันก็คือภาวะฟุบเฟ้อนั่นเอง
รัฐบาลควรทำอย่างไรบ้างในวิกฤตตอนนี้
ผมคิดว่าตอนนี้ รัฐบาลได้ขยายเพดานเงินกู้ และมีวงเงินที่ลงทุนได้อยู่น่าจะ 1.4-1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น ควรแก้ส่วนที่แพงก่อน ยกตัวอย่าง เรื่องเนื้อหมู ถ้าเราประกาศจะมีการนําเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ได้เมื่อไหร่ไม่รู้แหละ แต่ก็อาจมีผลทางจิตวิทยา อย่างน้อยๆ อาจจะทําให้ราคามันลดลงได้ แล้วจะมีมาตรการเสริมอื่นๆ ไหม เช่น ควบคุมราคาน้ำมัน ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาดู เพราะแง่หนึ่งผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องพึ่งพารายได้จากภาษีสรรพสามิตเป็นหลัก
แปลว่าถ้าแก้ราคาหมูได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาเปราะแรก
ใช่ครับ เป็นไปได้ว่าปัญหาจะค่อยๆ คลี่คลายตามไป
เรียกว่าสถานการณ์ตอนนี้เราอยู่ใน Perfect Strom มรสุมทุกทิศทางไหม
ไม่แน่ใจว่าจะนิยาม Perfect Strom แบบไหน แต่เข้าใจว่ารัฐบาลยังคงมีเงินอยู่ในมือบ้างนะ เพราะเพิ่งขยายเพดานเงินกู้ และสามารถนำเงินส่วนนั้นมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่การกระตุ้นในช่วงเวลานี้ ก็อาจจะลําบากในแง่ที่ว่าเงินมันมีค่าน้อยลง จับจ่ายใช้สอยได้น้อยลง และของมันแแพงขึ้น การไปกระตุ้นให้คนใช้เงินก็อาจไม่ได้ผลดีนัก
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าลําดับแรก รัฐบาลอาจจะต้องหาวิธีมาตรการที่ได้ผลเร่งด่วนที่สุด คือแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูให้ได้ แล้วผมเชื่อว่าราคาอาหารโดยภาพรวมจะลงมาได้ แล้วพอราคาอาหารในภาพรวมลดลง ค่อยมาดูแลราคาน้ํามันไม่ให้พุ่งมาก สองอย่างนี้น่าจะพอให้เงินเฟ้อมันไม่ไปไกลเกินกว่านี้
แล้วถ้าเกิดเราเริ่มควบคุมโรคในหมูได้ ก็มุ่งแก้ปัญหาอุตสาหกรรมหมูในระยะยาวขึ้นได้ ส่งเสริมให้คนมาเลี้ยงหมูมากขึ้น สร้างอุปทานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบ น่าที่จะทําให้สถานการณ์แพงทั้งแผ่นดินดีขึ้นได้ในระยะครึ่งปีหลัง
มีคนกังวลว่าสถานการณ์ตอนนี้จะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำในบ้านเราทุกมิติด้วยไหม
แน่นอนว่าในแง่ทิศทางมันมีส่วน แต่อันที่จริง ผมคิดว่าขนาดของความเหลื่อมล้ำของบ้านเรามันใหญ่มากอยู่แล้วนะครับ สถานการณ์ราคาหมูอาจจะทําให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องคนจน หรือผู้มีรายได้น้อยลำบากขึ้นไปอีก ค่าครองชีพจะสูงขึ้นอีก ซึ่งในระยะยาว มันจะไปกระทบถึงรายได้ในอนาตคต และโอกาสเข้าถึงการศึกษาของบุตร
แต่ในระยะยาวที่ผมหมายถึงคือ เราต้องดูอีกทีว่าปลายเดือนนี้ สถานการณ์ราคาสินค้าต่างๆ จะเป็นยังไงนะครับ และรัฐบาลจะมีแนวทางหรือมาตรการอย่างไรที่ยังไงที่จะสกัดเงินเฟ้อ ไม่ให้ของใช้ที่จําเป็นมันมีราคาแพงขึ้นกว่านี้ ดังนั้น ผมคิดว่าปลายเดือนนี้ น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ คือถ้ามันยังลามต่อไปจนถึงเดือน ก.พ. ภาวะความเป็นอยู่ของคนคงยากลําบากขึ้นมากครับ
อีกประเด็นหนึ่งที่คนบ่นกันมากคือ สถานการณ์ตอนนี้มันไม่สอดรับกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยเลย
จริงๆ ผมเองก็เสนอแนวทางว่า การขึ้นค่าแรงควรเป็นไปตาม Productivity กล่าวคือ ถ้าเขา (แรงงาน) ผลิตได้เยอะขึ้นก็ควรจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 ตัวเลขนี้ก็เพิ่มในอัตราที่เร็วกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว
ดังนั้น การที่เราไม่เคยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หรือเพิ่มน้อยมากในแต่ละปี มันเป็นปัญหาอยู่แล้ว และไม่ว่าของจะแพงหรือไม่แพงขึ้นก็ตาม มันไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องแรงงานมาตลอด เพราะว่าโดยภาพรวม ตัวเลขการผลิตมันสูงขึ้นมาโดยตลอด แต่เราเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้เขาช้าไป
แล้วพอมาถึงจุดนี้ เราเลยเจอปัญหาในสองแง่ แง่หนึ่งคือ เมื่อไม่เพิ่มค่าแรง ภาระค่าครองชีพก็จะเยอะขึ้น จนความเป็นเดือดร้อน และทำให้เศรษฐกิจฟุบอีกด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราจะเพิ่มค่าแรงมันก็จะต้องระมัดระวังมากเช่นกัน ว่ามันจะส่งผลต่อเงินเฟ้อในลักษณะไหน
ผมต้องอธิบายว่า จุดยืนของผมเห็นว่าควรจะเพิ่มค่าแรงมานานแล้ว โดยไม่ใช่เพิ่มตามค่าครองชีพอย่างเดียว แต่เราควรดูจากผลิตภาพแรงงาน ซึ่งประเทศเราก็มีผลิตภาพแรงงานที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาตลอดอยู่แล้ว ดังนั้น เราควรเพิ่มค่าแรงตัวนี้มานานแล้ว แต่ถ้าจะมาเพิ่มในจังหวะนี้ ต้องระมัดระวังนะครับ เพราะมันอาจจะกลายเป็นสองแรงบวกที่ทําให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
และอย่าลืมว่าเวลาเราพูดถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะได้เงินเพิ่ม เพราะเรายังมีคนอีกจํานวนหนึ่งประมาณ 30% ที่ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ และยังไม่ได้มีรายได้ดีอะไรด้วย เช่น พี่น้องเกษตรกร ซึ่งก็ต้องจับจ่ายใช้สอยเหมือนคนกลุ่มอื่น ดังนั้น ก่อนอื่นผมคิดว่าเราต้องแก้เงินเฟ้อเรื่องอาหารให้ได้ซะก่อน ถึงเราอาจจะไม่ได้แก้ได้ในเดือนเดียว แต่ก็น่าจะเร็วกว่าเรื่องอื่น ดังนั้น ถ้าเราสามารถที่จะคุมราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อต่างๆ ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ การเพิ่มค่าจ้างแรงงานในช่วงเดือนพฤษภาคม ก็อาจจะเป็นภาวะที่เหมาะสม
อีกอย่างคือ ผมไม่อยากให้เราเอาค่าแรงขั้นต่ำไปเทียบกับค่าครองชีพอย่างเดียว เพราะมันไม่ใช่ตัวเปรียบเทียบที่ดีเสมอไป เพราะในความเป็นจริง สิ่งที่คุณทำทุกวัน มันมากกว่านั้นอีก กล่าวคือเราไม่ควรใช้ค่าครองชีพเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
สภาวะแพงทั้งแผ่นดินที่ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ อาจารย์มองว่าเรายังไม่หมดหวังใช่ไหม
(หัวเราะ) จริงๆ ยังไงเราก็ไม่ควรจะหมดหวัง ถึงสิ้นเดือน ม.ค. นี้เรายังแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็ต้องพยายามหาทางนะครับ ถึงแม้ทางที่เรามีอาจจะเราจํากัดแค่ไหนก็ตามนะครับ ประชาชนคนทั่วไปคงต้องลองพยายามคิดดูว่า เราจะปรับตัวกับมันยังไงได้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ไม่ง่าย
และแน่นอนอีกทางหนึ่งที่เราทำได้คือ เราควรจะเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด และผมคิดว่าถึงที่สุดด้วยการที่เรายังมีระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ไม่สมบูรณ์นัก แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ยังมีช่องทางในระบบประชาธิปไตยในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้ไขปัญหา
ขอความมั่นใจสักเล็กน้อยนะครับ ตอนนี้รัฐบาลและภาครัฐไทยยังมีเครื่องมือและศักยภาพในการแก้ไขปัญหานี้ใช่ไหม
ผมเชื่อนะครับว่ามี แต่ว่ารัฐบาลจะทําหรือไม่ทํา แล้วก็จะทํามากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดูนะครับ ยกตัวอย่าง อย่างเช่น เรื่องของการควบคุมราคาน้ํามัน สมมุติว่าเดือน ก.พ. ราคาน้ํามันมันเกิดขึ้นผิดปกติอีก ผมคิดว่ารัฐบาลก็ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อคุมไม่ให้มันเกินกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ครับ