เราอยู่ในยุคที่ ‘เนื้อหมู’ กลายเป็นสินค้าราคาแพงกว่า ‘เนื้อจระเข้’ ไปเสียแล้ว
จระเข้หันขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ถูกย่างโชว์อยู่ริมทาง ข้างกันมีเนื้อย่างเสียบไม้ส่งกลิ่นหอมกรุ่นจากเตา ชวนให้ผู้คนที่ผ่านไปมาอยากลิ้มลองรสชาติของ ‘เนื้อจระเข้’ ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงที่เนื้อหมูราคาแพงขึ้น นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ถัดเตายางไปไม่ไกลกันนัก มีซุ้มขายอาหารที่มีผลิตภัณฑ์จากจระเข้หลากหลายวางขายอยู่ ตั้งแต่บ้องตันแดดเดียว ไปจนถึงน้ำมันเลือดจระเข้ ขณะที่ป้ายทางเข้ามีข้อความเขียนเอาไว้ว่า ‘ทวีชัยฟาร์ม’ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
ท่ามกลางกระแสความสนใจจากผู้คนที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และยังต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์มาประกอบอาหาร ทวีชัยฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงและจำหน่ายอาหารจากเนื้อจระเข้ จึงได้รับความสนใจขึ้นมา The MATTER จึงขอพาทุกคนไปเยี่ยมชมฟาร์มแห่งนี้ เพื่อดูแนวทางการเลี้ยงเนื้อจระเข้ ปัญหาที่ประสบในช่วงเศรษฐกิจซบเซา และชวนไปเปิดดูเมนูอาหารจากเนื้อจระเข้กัน
1.
สันนอก สันใน สันคอ กิโลกรัมละ 220 บาท สะโพกกิโลกรัมละ 200 บาท และสามชั้นกิโลกรัมละ 240-250 บาท
นี่คือราคาเนื้อหมูที่ ‘สูง’ จนเกือบจะเท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนไทย และเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ช่วงเปิดปี 2565 โดยเป็นผลมาจากการกักตุนของผู้ค้ารายใหญ่ และการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู
เมื่อเนื้อหมูที่เรากินกันทั่วไปแพงขึ้น ผู้คนก็หันไปบริโภคเนื้ออื่นๆ แทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง ช่วงจังหวะนี้เองที่ทำให้ ‘เนื้อจระเข้’ กลายมาเป็นที่จับตามอง
“บ้องตันจะขายได้ดี” หญิงสาวที่ยืนอยู่หน้าฟาร์มจระเข้กล่าว ขณะที่มือสองข้างเป็นระวิงพลิกเนื้อย่างที่ส่งกลิ่นหอมฉุยไปพลาง “เนื้อจระเข้ย่างนี่ก็คนซื้อเยอะ คนขับรถผ่านไปมาเขาก็ลองซื้อไปกินกัน”
ป้ายที่ปักอยู่ข้างซุ้มขายอาหาร มีข้อความไล่เรียงผลิตภัณฑ์จากจระเข้ตั้งแต่ เนื้อสด เนื้อแดดเดียว แคปจระเข้ แหนมจระเข้ แคปซูลเลือด แคปซูลกระดูก น้ำมันจระเข้ ขณะที่อาหารต่างๆ เมนูต่างๆ เช่น ต้มแซ่บ ผัดเผ็ด จระเข้ตกครก มีวางขายอยู่ภายในฟาร์ม
“เนื้อจระเข้กิโลฯ ละ 150 บาท แต่จะมีขายแบบจระเข้หัน กิโลฯ ละ 400 บาท พร้อมน้ำจิ้มนะ อย่างซื้อแบ่ง ซื้อโลฯ สองโลฯ จะขายราคานั้น” สิทธิชัย เพ็ญชาติ เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์จระเข้และเป็นเจ้าของทวีชัยฟาร์มจระเข้กล่าว
“แต่ถ้ายกตัวเลย สุกพร้อมกินกับน้ำจิ้ม ตัวนึงก็เริ่มต้นจาก 1,500 บาท ไล่ไปเรื่อย 2,000 2,500 3,000 บาท แล้วแต่ว่าอยากได้ไซส์ไหน ยกเหมาทั้งตัวไปเลย”
ราคาหมูที่แพงขึ้นนี้ เป็นช่วงเวลาที่สิทธิชัยมองว่า ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ เพราะมีลูกค้ามากหน้าหลายตาแห่เข้ามาสั่งเนื้อจระเข้ไปกินแทนเนื้อหมูอยู่มาก
ขณะที่ ยศพงษ์ เต็มศิริพงษ์ นายกสมาคมฟาร์มจระเข้ไทย ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS ว่า กระแสการบริโภคเนื้อจระเข้ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความหวังอีกครั้งของผู้ประกอบการในแวดวงเลี้ยงจระเข้เชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมา พวกเขาต้องแบกรับต้นทุนจากการเลี้ยงจระเข้ไว้ โดยที่ยังขายไม่ได้ เพราะไม่มีตลาดรองรับ โดยเฉพาะหนังจระเข้ ด้วยผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยอดส่งออกแทบไม่เหลือ
สิทธิชัย เล่าด้วยว่า เขาเข้าใจสถานการณ์ที่คนหันมากินเนื้อจระเข้เป็นทางเลือกแทนเนื้อหมู ซึ่งพอลองถามลูกค้าที่มานั่งกินอาหารตามร้านว่า หากเนื้อหมูกลับมาเป็นเหมือนเดิม คนจะกลับไปกินเนื้อหมูเหมือนเดิมไหม ลูกค้าก็ตอบเขาว่า กินเหมือนกัน แต่ก็จะกินเนื้อจระเข้ด้วย
“ก็ใจชื้นนะว่าพอเขาได้ลองทานกันแล้วติดใจ จะกลับมาทานกันอีก”
2.
“ที่นี่เราเน้นเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ พอฟักไข่ก็เลี้ยงไปสักเกือบ 1 ปีแล้ว ก็เอาลูกไปให้ฟาร์มอื่นขุน” มินตรา เพ็ญชาติ ลูกสาวเจ้าของฟาร์มที่มาช่วยธุรกิจฟาร์มจระเข้แห่งนี้กล่าว
เธอเล่าว่า ในประเทศไทยมีฟาร์มที่รับจระเข้ไปเลี้ยงอีกอย่างน้อย 7-8 เจ้า ทั้งรายใหญ่ที่รับเลี้ยงทีเป็นพันกว่าตัว และรายย่อยที่รับไปประมาณ 20-30 กว่าตัว ฟาร์มเหล่านี้กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ทั้งในตัวจังหวัดราชบุรีด้วยกันเอง และจังหวัดอื่นๆ อย่าง นครราชสีมา กระบี่ เป็นต้น
“ฟาร์มขุนพวกนั้นเป็นฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เขาจะมีซากเหลือทุกวัน ซากพวกนั้นก็เอาให้จระเข้กินได้ เลี้ยงไปประมาณ 2 ปี เราก็รับซื้อกลับมาเชือดที่ฟาร์ม”
ข้อความจากป้ายหน้าร้านระบุว่า ‘รับชมจระเข้ได้ฟรี’ เชิญชวนให้ใครก็ตามที่แวะมากินอาหารที่ฟาร์ม พากันเดินเข้าไปดูภายในฟาร์มด้วย หลายครอบครัวพากันอุ้มลูกหลานไปยืนชิดรั้ว ดูจระเข้กว่า 400 ตัวที่อยู่ในบ่อขนาดใหญ่ บางตัวก็อ้าปากระบายความร้อนอยู่ริมบ่อ บางตัวก็ว่ายลอยน้ำไปมา
สิทธิชัยพร้อมกับลูกมือพากันเข็นกะละมังใส่อาหารเดินเข้ามาประชิดรั้ว เตรียมตัวโชว์การให้อาหารจระเข้ให้เราได้ดูเป็นขวัญตา เขาเปิดกรงเหล็กและก้าวเข้าไปในบ่อ พร้อมโยนซากเนื้อสัตว์ให้จระเข้ได้อ้าปากงับเนื้อนั้นไป
แม้ตลอดช่วงที่คนแวะเวียนมาดู เจ้าจระเข้ทั้งหลายจะนอนนิ่งไม่ไหวติงราวกับหุ่น แต่พอมีมนุษย์ก้าวเข้าไป หลายตัวที่นอนอยู่ริมบ่อก็รีบรุดลงน้ำไป แต่พอสิทธิชัยโยนก้อนเนื้อชิ้นแรกออกไป หลายตัวก็พุ่งมาอ้าปาก รอกินอาหารจากเจ้าของฟาร์ม
“ปกติจะให้ 15 วันครั้ง หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ ครั้งละประมาณ 1.5 ตัน ก็ตกเดือนละ 3 ตัน” มินตราเล่า พร้อมบอกว่า ราคาของอาหารจระเข้จะอยู่ที่กิโลละ 15 บาท ซึ่งหากคิดเป็นรายเดือน ราคาอาหารสำหรับจระเข้ก็จะอยู่ที่ 45,000 กว่าบาท
สิทธิชัยเสริมว่า ที่ไม่ให้อาหารจระเข้ถี่กว่านี้ เพราะจะทำให้จระเข้มีไขมันเยอะ และออกไข่น้อยลง อีกทั้งปกติจะเทอาหารให้จาก 5 จุดรอบบ่อ เพื่อให้อาหารกระจายๆ ทั่วถึงจระเข้ทุกตัว ขณะที่การให้อาหารที่เจ้าของฟาร์มโยนโชว์เป็นตัวอย่างให้เราดูนั้น ไม่พอยาไส้เจ้าจระเข้ จึงทำให้มันหงุดหงิดได้
ระหว่างยืนมองจระเข้อยู่ริมรั้ว ฝนก็เทลงมา สิทธิชัยเล่าว่า ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมานั้น เป็นช่วงที่จระเข้ชื่นชอบ แต่สภาพอากาศที่จระเข้ไม่ชอบเลยคือช่วงหน้าหนาว จระเข้จะกินอาหารได้น้อยลง บางทีไม่มีแดดส่องลงมาก็ทำให้จระเข้ท้องอืด ซึ่งเป็นอันตรายที่อาจทำให้จระเข้ถึงตายได้
3.
เหล่าจระเข้ที่นอนเรียงรายกันอยู่ในบ่อกลางแจ้งนี้เป็นจระเข้น้ำจืดที่ได้มาจากบึงบอระเพ็ด และทั้ง 400 กว่าตัวนี้ต่างก็เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป โดยอายุที่มากที่สุดในบ่อนี้คือ 40 ปี ขณะที่อายุขัยของจระเข้น้ำจืดยืนยาวถึง 70-100 ปีทีเดียว
ท่ามกลางจระเข้หลายร้อยตัวนี้ มีอยู่ 2 ตัวที่สังเกตได้ว่า หนังของมันมีซีดขาวปนเหลืองจางอยู่ด้วย ความคิดแรกเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงหุ่นประดับบ่อ แต่พอขยับไปมองใกล้ๆ (ผ่านรั้วอีกที) ก็เห็นเจ้าตัวเผือกลืมตาขึ้นมาสบกันพอดี ถึงได้รู้ว่านั่นคือ จระเข้เผือก
สิทธิชัยเล่าว่า ซึ่งนานๆ ทีจะมีจระเข้เผือกเกิดออกมาที ดังนั้น ค่าตัวของจระเข้เผือกจึงสูงตามไปด้วย โดยในอดีตจระเข้เผือกโตเต็มวัยตัวเดียว มีราคาถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว
“ถ้าอยากได้จระเข้เผือก ต้องเอาให้ตัวเมียเป็นเผือกไว้ก่อน โอกาสที่ลูกจะเกิดมาเป็นเผือกถึงจะสูง ตัวผู้จะเป็นดำอะไรก็ได้ เอามาผสม แต่ก่อนลูกจระเข้เผือกราคาสูงถึง 50,000-60,000 บาท แต่ตอนนี้เต็มที่ก็หมื่นต้นๆ”
แม้ราคาจะลดลงมามาก แต่ก็ถือว่ายังสูงกว่าจระเข้ทั่วไปที่ตอนนี้ราคาไม่ถึง 1,000 กว่าบาทต่อตัว จากแต่ก่อนที่ราคาสูงถึง 9,000-10,000 บาท
“แต่มันทำยาก ไม่ค่อยได้ง่ายๆ หรอก อย่างในบ่อของเรา ออกจระเข้เผือกมา 8 ตัว จากทั้งหมดเหลืออยู่แค่ 2 ตัวนี้ มันจะตาย เพราะมันอ่อนแอ”
สิทธิชัยยังเล่าด้วยว่า จระเข้จะออกไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 15-30 ฟอง ในช่วงที่อากาศเริ่มร้อน หรือก็คือช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน เวลาออกมาก็มีทั้งตัวดำและตัวเผือกผสมกันไป แต่ส่วนใหญ่จะอ่อนแอ บางตัวก็พิการ และตายง่ายกว่าปกติ เพราะสัตว์เผือกถือเป็นยีนส์ด้อย
พอเดินลึกเข้าไปในฟาร์ม ก็ได้เจอกับบ่อเลี้ยงลูกจระเข้ที่ถูกแยกมาเลี้ยงต่างหากในโรงเรือนแบบมีหลังคา แต่ละคอกมีลูกจระเข้หลายร้อยตัว วัยประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งสิทธิชัยเล่าว่า จระเข้จากทั้งหมด 400 กว่าตัวที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้น ทำให้ทวีชัยฟาร์มมีลูกจระเข้ตกปีละประมาณ 6,000-7,000 กว่าตัวเลยทีเดียว
“เห็นตัวขนาดเท่านี้ แต่กัดแล้วก็ได้เลือดอยู่นะ” เจ้าของฟาร์มตอบ หลังจากเราถามว่าเจ้าตัวเล็กเหล่านี้กัดแล้วจะเจ็บหรือยัง
เสียงร้องเล็กๆ จากลำคอของลูกจระเข้ดังอื้ออึงไปทั่วโรงเรือน ภายในคอกมีกระเบื้องเกาะกลางให้ลูกจระเข้ได้อาศัย ขณะที่รอบๆ คอกนั้นมีน้ำไปด้วยน้ำสีแดงที่เกิดจากการผสมด่างทับทิมลงไปรายล้อมอยู่ ซึ่งสิทธิชัยเล่าว่า ที่ต้องใช้ด่างทับทิมก็เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากโรงเลี้ยงลูกจระเข้เป็นโรงปิดที่แสงแดดส่องลงมาไม่ถึง หากในโรงเลี้ยงมีเชื้อโรคเยอะเกินไป ก็จะทำให้ลูกจระเข้ตายได้
เขาเล่าต่อว่า จระเข้จะเลี้ยงยากที่สุดช่วงหลังออกจากไข่ไปจนถึงปีกว่าๆ ถ้าพ้นหนึ่งปีไปก็เลี้ยงง่ายแล้ว เพราะช่วงแรกๆ ลูกจระเข้ก็เหมือนเด็กอ่อนที่ดูแลยาก ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ ใส่ยาฆ่าเชื้อ และอยู่ในโรงเรือนที่ปิดแบบนี้เพราะอาจมีเชื้อโรคมาทางอากาศ และภูมิคุ้มกันของลูกจระเข้ยังอ่อนเกินกว่าจะรับไหว
ราคาขายลูกจระเข้จะอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อตัว หลายฟาร์มซื้อไปรับเลี้ยงเพื่อเลี้ยงขุนไว้ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ก่อนที่ฟาร์มเชือดจะไปรับซื้อคืนในราคาจระเข้ที่โตขึ้น สิทธิชัยเล่าว่า บางเจ้าก็รับซื้อลูกจระเข้ทีละพันกว่าตัว บางเจ้าก็รับซื้อแค่ 200-300 กว่าตัว แตกต่างกันไปตามทุนทรัพย์ของแต่ละคน
4.
“เราเป็นคนชอบจระเข้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว” เสียงเล่าจากสิทธิชัย ระหว่างยืนมองจระเข้ในบ่อ “คนอื่นเขาทำอาชีพ ไปลงทุนลงอะไร แต่ไอเรานี่มาลงเลี้ยงจระเข้”
พอเริ่มมีเงินเก็บสะสมไปสักพัก สิทธิชัยก็นำมาเลี้ยงจระเข้ จากแรกๆ เลี้ยง 5-10 ก็เริ่มขยายไปเรื่อยๆ จนมีคนมาถามหาเพื่อขอซื้อต่อ ทำให้เขาได้ไอเดียว่า เลี้ยงแล้วขายได้ จึงเริ่มทำเป็นธุรกิจจริงจัง โดยเริ่มด้วยการซื้อลูกจากฟาร์มอื่นเพื่อมาขุน แล้วขายต่อในอีก 3 ปี
“เห็นว่ามันได้กำไรดี แต่เราไปซื้อทีก็ปีนึงหลายแสน เราก็คิดว่า จะทำยังไงถ้าเราไม่ต้องซื้อลูกด้วยเงิน 7-8 แสนบาท หรือบางทีก็เป็นล้านเลย ซึ่งมันจะลดลงได้ถ้าเรามีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เอง”
ความคิดนี้เป็นจุดเปลี่ยนให้สิทธิชัยเริ่มหันไปเลี้ยงลูกจระเข้ตัวเล็กๆ ประมาณ 100 กว่าตัว เพื่อให้พวกมันกลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และนำไปขายต่อ แรกเริ่มก็ลองผิดลองถูกอยู่มาก เพราะเขายังไร้ประสบการณ์ ได้ไข่จระเข้มา 400-500 ฟอง แต่มีลูกจระเข้ออกมาได้แค่ 10-20 กว่าตัว นอกนั้นเสียหายหมด ใช้เวลาเรียนรู้อยู่นานกว่าจะเข้าใจว่าต้องเพาะพันธุ์อย่างไรไม่ให้จระเข้เสียหาย
“เราทำฟาร์มมา 20 กว่าปีละ แต่เพิ่งมาเปิดขายอาหารเนื้อจระเข้ได้ประมาณปีกว่าๆ นี้เอง”
ก่อนที่มี COVID-19 ทวีชัยฟาร์มนำส่งเนื้อและหนังจระเข้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเป็นหลัก แต่การมาของโรคระบาดทำให้ต่างประเทศงดรับเนื้อหนังจระเข้ สภาพของฟาร์มเหมือนถูกปล่อยทิ้งให้ตายเพราะไม่มีแหล่งส่งต่อสินค้าและขาดรายได้
ไม่ใช่แค่ทวีชัยฟาร์มเท่านั้น แต่หลายฟาร์มทั่วประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เคยกล่าวไว้ว่า ตลาดทั้งในและนอกประเทศต่างก็เจอปัญหาทางด้านการค้า ทำให้จระเข้วัยที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 600,000 ตัวในฟาร์มเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ ไม่สามารถจำหน่ายและนำไปแปรรูปได้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเผชิญกับการขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
“โควิดนี่อย่างหนักเลย เราขยับไม่ได้เลย แล้วตลาดต่างประเทศก็ไม่ส่งข่าวคราวเลยว่าจะสั่งซื้อเข้าไป ไม่เลย แม้กระทั่งหนังจระเข้นี่ก็ไม่มีใครสั่งเลย ทุกอย่างหยุดหมด ชะงักหมดเลย”
พอถามเพื่อเปรียบเทียบว่า ช่วงก่อนที่ COVID-19 จะมา ขายได้วันละกี่แสน สิทธิชัยก็ตอบกลับมาทันทีว่า วันนึงมีรายรับเข้ามาหลักแสน ส่งออกให้ต่างประเทศสัปดาห์ละ 7 ตัน แต่พอเจอกับโรค COVID-19 ปุ๊บ รายรับวันนึงกลับเหลือแค่ 400-500 บาท วันไหนไปถึง 600บาท ได้ก็ดีใจมากแล้ว
“ก็พอกินเป็นค่ากับข้าวแหละ” สิทธิชัยพูดพลางแค่นหัวเราะ
ไม่เพียงเท่านั้น ราคารับซื้อจระเข้จาฟาร์มขุนเองก็ตกต่ำลงไปมาก โดยสิทธิชัยเล่าว่า ทวีชัยฟาร์มจะประกันราคารับซื้อจระเข้คืนจากฟาร์มขุน อยู่ที่ราคาตัวละ 2,000 บาท ซึ่งเอาเข้าจริงก็อาจซื้อคืนในราคาที่สูงกว่านี้ก็ได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ย่ำแย่และโรคระบาด ทำให้ราคารับซื้อคืนตกต่ำลงมาก
“หลายฟาร์ม (ขุน) ก็ปิดกิจการไป เพราะเขาโดนทิ้ง ไม่มีฟาร์มเชือดไหนไปรับซื้อต่อ ราคามันตกลงเยอะมาก ตอนนี้ราคาตัว 70-80เมตร ขายได้ไม่ถึงพันบาทเลย จากเมื่อก่อนขายได้ตัวละเกือบหมื่น”
ในส่วนของความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ หรือภาครัฐ เขาเล่าว่ามีเพียงกรมประมงที่คอยให้คำแนะนำกับเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์จระเข้ แต่การทำตามคำแนะนำทั้งหลายนั้นก็จำเป็นต้องใช้ทุนมหาศาลเช่นกัน
“แปลว่าที่ผ่านมาก็ใช้ทุนตัวเองเป็นส่วนใหญ่?” เราถาม
“ใช่ครับ ใช้ทุนตัวเอง 99% เลยแหละ” สิทธิชัยตอบ
5.
ผัดเผ็ดจระเข้ ลูกชิ้นจระเข้ แคบจระเข้ ต้มแช่บจระเข้ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเลือดจระเข้ สารพัดเมนูอาหารที่ส่งกลิ่นหอยโชยชวนให้น้ำลายสอ
แม้เนื้อจระเข้อาจไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่กินกันทั่วไปตามครัวเรือน แต่จากเมนูที่เห็นก็ทำให้รู้ได้ว่า เนื้อจระเข้ สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายรูปแบบไม่แพ้เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่เรากินกันทั่วไป
“เมื่อก่อนเราไม่กินเนื้อจระเข้เลยนะ ถึงจะเปิดฟาร์มก็ไม่กิน” เสียงเล่าจากสิทธิชัย “แต่พอต้องมาเปิดขาย เราก็ต้องชิมเองด้วย จะได้บอกลูกค้าถูกว่ามันอร่อยไหม พอกินแล้วก็ เอ้ย อร่อยดีนะ รสสัมผัสมันหนึบๆ อยู่ตรงกลางระหว่างเนื้อวัวกับเนื้อไก่ ชิมแล้วอร่อย เลยกินมาเรื่อยๆ”
การขายอาหารจากเนื้อจระเข้ในทวีชัยฟาร์ม เกิดขึ้นมาได้ 1-2 ปีแล้ว หลังจากเปิดฟาร์มเลี้ยงจระเข้มาได้เกือบ 20 ปี เนื่องจากพิษเศรษฐกิจและโรคระบาดที่ทำให้ฟาร์มขาดรายได้ และต้องหาทางดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด
จระเข้ที่นำมาใช้ทำอาหาร ต้องมีอายุประมาณ 3-4 ปี เพราะเป็นช่วงที่เนื้อนุ่มกำลังดี หากอายุมากกว่านี้จะเหนียวเกินไป และมีกลิ่นเหม็นสาบรุนแรง แต่ถ้านำจระเข้ที่อายุน้อยกว่าเกณฑ์มาทำอาหาร เนื้อของจระเข้ก็จะเหลวเกินไป ไม่อร่อย คล้ายๆ กับวุ้นที่พอนำมาทำเมนูอะไรก็เละไปหมด
“เมนูแรกที่ชิมเป็นผัดเผ็ดเนื้อจระเข้ เป็นเมนูที่ชอบสุด แล้วก็ขายดีสุดด้วย” เจ้าของฟาร์มกล่าว ขณะที่เมนูแรกที่ทางฟาร์มเปิดขาย คือจระเข้หันและจระเข้ย่างเสียบไม้
เนื้อจระเข้ถูกนำลงไปผัดในกระทะ คลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องแกง ชิ้นเนื้อที่ถูกใส่ลงไปผัดมีทั้งเนื้อส่วนนิ่มๆ สีขาวคล้ายเนื้อไก่ และอีกส่วนที่เป็นสีออกคล้ำกว่า ซึ่งสิทธิชัยบอกว่า นั่นคือเนื้อส่วนบ้องตัน หรือก็คือช่วงโคนหาง และอีกส่วนคือเนื้อช่วงหลังของจระเข้ ซึ่งเป็นส่วนที่มีคอลลาเจน ทำให้เนื้อเด้ง ผู้คนจึงถือว่าเป็นส่วนที่อร่อยเป็นพิเศษ
“จระเข้กินแล้วมันจะแก้ภูมิแพ้ สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเราอีก ในความเชื่อของคนจีนนะ เพราะเมื่อก่อนที่ตลาดจีนเปิดนี่ คนไทยแทบจะไม่ค่อยได้กินกันหรอก จะส่งไปที่จีนหมด คนจีนนี่กินกันเยอะเป็นอันดับหนึ่งเลย”
และแม้ว่ารสชาติจะอร่อยสมคำร่ำลือ แต่เนื้อของสัตว์เลื้อยคลานก็อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน จนทำให้เป็นโรค เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง หรือมีความผิดปกติในระบบย่อยอาหารได้ ดังนั้น การทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงสุกจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญมากเช่นกัน
สิทธิชัยเล่าว่า หลังจากที่จระเข้ตาย เขาจะนำตัวมันมาขัดและฉีดพ่นน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียทั้งหลายก่อน จากนั้นจึงนำตัวจระเข้ขึ้นแขวนแล้วชำแหละหนัง ชำแหละเนื้ออีกที
ส่วนขั้นตอนการฆ่าจระเข้นั้น มินตรา ลูกสาวของสิทธิชัยเสริมว่า ทางฟาร์มจะใช้ไฟช็อตให้จระเข้ตาย ก่อนจะใช้มีดที่มีความคมปักเข้าไปบริเวณกลางหลังคอของจระเข้ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ แล้วจึงส่งให้แผนกชำแหละหนัง เพื่อทำการชำแหละหนังออกมา จากนั้นค่อยส่งต่อให้แผนกชำแหละเนื้อ แยกชิ้นส่วนของเนื้ออีกที
6.
ถ้าหมูกลับมาขายได้ตามปกติ ธุรกิจเนื้อจระเข้จะเป็นอย่างไร?
สภาพเศรษฐกิจทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายพุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่ราคาน้ำมัน เนื้อหมู ลามมาถึงเนื้อไก่ และไข่ไก่ แม้การขายเนื้อจระเข้จะอยู่ในช่วงกอยโกยจากความแปลกใหม่ในสายตาของผู้บริโภคหลายราย แต่ของแบบนี้ก็ไม่อาจประคองธุรกิจไปตลอดได้เช่นกัน
“ที่ผ่านมา ช่วงโควิดเราขายได้สัก 20% แต่ตอนนี้ที่หมูแพง ราคามันขึ้นมาถึง 70-80%” สิทธิชัยกล่าว “ยังไม่ดีเท่าเดิมหรอก แต่ก็ดีขึ้นหน่อย”
แม้ตอนนี้จะขายได้ดี เนื่องด้วยราคาเนื้อต่อกิโลกรัมที่ถูกกว่าเนื้อหมู แต่สิทธิชัยก็เล่าว่า หากคนหันมาบริโภคกันเยอะๆ เป็นชั่วโมงเร่งด่วน เนื้อจระเข้ก็อาจจะหมดได้ เพราะจระเข้ไม่ได้มีกระบวนการเลี้ยงแบบหมูหรือไก่ แต่ต้องใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี กว่าจะจับมาชำแหละได้ และตอนนี้จระเข้รุ่นที่นำมาขายอาหารขายหนังได้ ก็เริ่มหมดตลาดแล้ว ต้องรอรุ่นต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปีกว่า
พอถามว่า ถ้าเนื้อหมูกลับมาเป็นราคาปกติ อยากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนอะไรไหม เพื่อให้เนื้อจระเข้ยังขายได้ สิทธิชัยก็ตอบกลับมาทันทีว่า
“อยากได้การสนับสนุนจากภาครัฐ มาช่วยโปรโมทว่าเนื้อจระเข้มีประโยชน์ กินแล้วเป็นยังไง ช่วยอะไรได้บ้าง มารณรงค์กันให้คนไทยลองกินดู”
นี่คือความคาดหวังจากเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจ จนทำให้ธุรกิจซบเซา มาลืมตาอ้าปากได้บนความทุกข์ของผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภค ดังนั้น แนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมระยะยาวจากภาครัฐเพื่อให้เขาสามารถดำรงธุรกิจต่อไปได้แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เนื้อสัตว์อื่นๆ มีราคาปกติจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
“เราก็อยากให้เขากลับมาเป็นปกติ ทุกคนอยู่ได้ คนขายหมูก็ไม่เดือดร้อน คนขายจระเข้ก็ไม่เดือดร้อน”