ใครจะไปคิดว่าในชีวิตนี้จะได้เห็น หมูราคากิโลกรัมละ 250 บาท ที่ประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน ‘ครัวโลก’
ราคาหมูที่แพงขึ้นสร้างปัญหาทั้งกระบวนการตั้งแต่เล้าถึงโต๊ะอาหาร จากเกษตรกรถึงผู้บริโภค The MATTER อยากชวนดูว่าสาเหตุของปัญหาครั้งนี้เกิดจากอะไร ทำไมเนื้อหมูถึงมีราคาแพงขึ้นชนิดไม่เคยพบเคยเห็นแบบนี้ และทุกคนในวัฏจักรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้รับผลกระทบกันอย่างไรบ้าง
เกษตรกรเลี้ยงหมู
หนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาเนื้อในหมูในตลาดวันนี้แพงขึ้นคือ โรคระบาด โดย นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี พูดถึงปัญหานี้ว่า เกษตรกรเลี้ยงหมูเผชิญกับโรคระบาดหลายชนิด แต่ที่รุนแรงที่สุดคือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ซึ่งไม่มีวัคซีนป้องกัน และทำให้ต้องฆ่าหมูจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค
“โรคระบาดส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมูหรือเรียกว่า “หมูขุน” ได้ 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันโรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ประมาณ 12-13 ล้านตัวต่อปี” นิพัฒน์กล่าวกับสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ โดยยืนยันว่ามีการระบาดของ ASF ในฟาร์มหมูของไทยจริง ถึงแม้กรมปศุสัตว์จะปฏิเสธก็ตาม
ด้านสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ยอมรับกลายๆ ว่ามีการระบาดของโรค ASF จริง แต่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยืนยันว่าจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2561-2564 มีโรคระบาด อาทิ โรค PRRS (โรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ), โรคอหิวาต์สุกร รวมถึงโรคปากและเท้าเปื่อยในหมูของเกษตรกรไทยจริงๆ และเป็นสาเหตุให้จำนวนหมูลดลง
โรคระบาดในหมูส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น ทั้งค่าหยูกยารักษาโรคต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับสร้างพื้นที่สำหรับเลี้ยงหมูที่ปลอดโรค หรือที่เรียกว่าการปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)
อีกปัญหาหนึ่งที่ นิพัฒน์ อ้างถึงกับสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจคือ ราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเขาชี้ว่าเมื่อรัฐบาลประกันราคาข้าวโพดให้อยู่ที่ 8 บาท/ กก. ไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลี สุดท้ายทำให้ราคาข้าวโพดเพิ่มสูงขึ้นที่มากกว่า 11 บาท/ กก. รวมถึงอาหารอย่างอื่น เช่น มันสำปะหลัง ทำให้ในภาพรวมต้นทุนอาหารหมูเพิ่มขึ้นถึง 30-40%
แต่ความท้าทายของธุรกิจผู้เลี้ยงสุกรยังมีมากกว่านั้น เพราะเมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดนี้ คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก่อนใครเพื่อนคือ เกษตรกรรายย่อยและกลาง ที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนจากการเลี้ยงหมู และขาดทุนที่หมูเสียชีวิตจากโรคระบาดไปได้ สวนทางกับผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ที่มีเงินทุนสู้ต่อได้ นิพัฒน์กล่าวว่า
“บริษัทใหญ่เจ็บระดับ 10 บาทแต่ได้หยิบเงินล้าน แต่หมูที่ขึ้นราคาวันนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยตายไปหมดแล้ว ผู้เลี้ยงรายย่อยแต่ละรายเสียหายเกิน 50-60% บางรายเสียหาย 100% แต่บริษัทใหญ่เสียหายไม่เกิน 30% ผลกระทบต่างกัน หมูของรายใหญ่ที่เหลือ 70% มีหมูขายราคา 100 บาทต่อตัว”
นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ต่อไปของตลาดค้าหมูของไทย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดไม่เหลือคู่แข่ง กลไกและราคาตลาดทั้งหมดย่อมตกอยู่ในมือคนหรือกลุ่มเดียว
แม่ค้า/ พ่อค้าเขียงหมู
แม่ค้า/ พ่อค้าเขียงหมู ที่รับหมูมาจากเกษตรกรเพื่อส่งต่อให้โรงฆ่าสัตว์ หรือเป็นช่วงต่อจากต้นน้ำก็กำลังเผชิญปัญหาเมื่อราคาหมูเพิ่งสูงขี้นเช่นกัน อย่างเช่น แผงขายหมูในตลาดสดบ่อนไก่ เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งพูดถึงสถานการณ์ของตลาดเนื้อหมูกับสำนักข่าวไทยรัฐว่า ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหมูกล่าวคือ ลดปริมาณการซื้อลงอย่างมาก ทำให้ยอดขายจากที่เคยขายได้วันละหลายร้อยกิโลกรัม ก็ลดลงมาเหลือไม่กี่สิบกิโลกรัมเท่านั้น
สถานการณ์ที่ตลาดสดในจังหวัดนครสวรรค์ ไม่ต่างกับตลาดสันติสุข ในเมืองอุบลราชธานีเท่าไหร่นัก ที่เจ้าของเคียงหมูรายหนึ่งยอมรับว่า ยอดขายหมูลดลงมากกว่า 40%
เมื่อลูกค้าสั่งซื้อหมูในปริมาณที่น้อยลง เจ้าของเขียงหมูต่างก็ไม่กล้าที่จะสต็อกสินค้าไว้ในปริมาณเท่าเดิม ทำให้พวกเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยรัฐว่า ทุกวันนี้ เขาเปลี่ยนไปใช้วิธีพรีออดเดอร์กล่าวคือ ลูกค้าต้องสั่งจำนวนเนื้อหมูที่ต้องการก่อน เพื่อให้ร้านไปรับเนื้อหมูมา ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้ทำให้ขั้นตอนการซื้อเนื้อหมูที่เคยง่ายยุ่งยากกว่าแต่ก่อน และมีต้นทุน อาทิ ค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น
ร้านอาหาร
พ่อครัวและเชฟตั้งแต่โรงแรมระดับห้าดาวถึงสตรีทฟู๊ดริมทางเดินเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาเนื้อหมูเช่นกัน
ร้านหนึ่งในซอยรัชดา 3 ซึ่งเป็นที่ทำงานของสำนักข่าว The MATTER ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ราคาหมูสามชั้นแพงขึ้นมาก โดยจากปกติที่เคยซื้อในราคา 160 บาท/ กิโลกรัม เพิ่มเป็น 230 บาท/ กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว และแน่นอว่ารวมไปถึงราคาของเนื้อหมูส่วนอื่นๆ ทำให้ร้านจำเป็นต้องมีการปรับราคาเมนูของร้านให้สูงขึ้น
ร้านลาบแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งขายข้าวแกงใส่ถุงก็เผชิญปัญหาจากราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นเช่นกัน โดยทางร้านตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เนื้อวัวซึ่งปกติมีราคาแพงกว่าเนื้อหมูแทน โดยให้ความเห็นว่า เมื่อทำเสร็จแล้วจะดูฟูกว่า (ดูเยอะกว่า) ขณะที่ร้านในจังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวไทยรัฐว่า ต้องเลิกซื้อหมูชิ้น หันมาซื้อหมูสับแทน และเมนูบางอย่างที่ทำจากหมู โดยเฉพาะหมูกรอบ ไม่สามารถทำให้ทานได้อีกแล้ว
และสุดท้าย เมื่อคุณภาพของร้านตกลง (ในแง่ความหลากหลายและดั้งเดิมของรสชาติ) สวนทางกับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น รายได้ของคนครัวเหล่านี้ก็ย่อมลดลงแน่นอน
ผู้บริโภค
อาจจะพูดได้ว่าตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ผู้บริโภคเองอาจเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีโอกาสในการเลือกกินอย่างอื่นแทนเนื้อหมู ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่, วัว, ปลา ตลอดจนผักต่างๆ
แต่แน่นอน เมื่อราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การปรับราคาล่าสุดของร้านสุกี้ตี๋น้อยจาก 199 บาท เพิ่มเป็น 219 บาท ซึ่งถึงแม้จะไปโดยไม่กินหมูสักชิ้นเดียว ก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความหลากหลายของเมนูมีน้อยลง ราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นทำให้คนบางกลุ่ม เช่น โรคแพ้อาหารทะเล หรือโรคเก๊าท์ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการกินอาหารอีกเช่นกัน
ข้อเสนอถึงภาครัฐ
เมื่อประชาทุกข์ร้อน ย่อมเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยล่าสุดมีความพยายามจากกระทรวงพาณิชย์ที่จะตรึงราคาหมูในร้านค้าปลีกให้ไม่เกิน 150 บาท/ กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคมนี้ รวมถึงตั้งจุดขายหมูธงฟ้า หรือหมูราคาประหยัดเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการช่วยเหลือผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวยังไม่อาจแก้ปัญหาราคาหมูแพงได้ทั้งวงจร เพราะอย่างที่อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติบอกว่า “ปีนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 30 กว่าปี” เพราะประชากรหมูในฟาร์มลดลงมากถึง 50% หรือครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ข้อเสนอจากนิพัฒน์มีทั้งหมด 1 ข้อระยะสั้น และ 3 ข้อในระยะยาว โดยในระยะสั้นเขาเสนอให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อทดแทนสินค้าที่ขาดหายไปในตลาด โดยให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นผู้กำหนดโควตาว่าจะมีการนำเข้ามาในปริมาณเท่าไหร่ ส่วนไหนบ้าง เพื่อให้เกิดความสมดุล และที่สำคัญไม่กระทบต่อเกษตรกรไทยด้วย ทั้งนี้ นิพัฒน์ย้ำว่าต้องมีการเก็บข้อมูลให้ทั่วถึงเสียก่อนว่าจริงๆ แล้วจำนวนหมูลดลงมากแค่ไหนกันแน่
อีก 3 ข้อในระยะยาวที่อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแแห่งชาติกล่าวถึงคือ หนึ่ง ลงทุนพัฒนาวัคซีนโรคในหมูให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น สอง ออกมาตรการกระตุ้นให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงหมู กลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง และสาม เยียวยาและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู
ด้าน รัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์ ก็เสนอ 3 ข้อที่คล้ายกับอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยเขามองว่าขณะนี้ปัญหาคือเกษตรกรในระบบลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้จำนวนหมูที่เคยป้อนเข้าสู่ตลาดลดลง บวกกับสถานการณ์โรคระบาดของไวรัส COVID-19 และเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาในตลาดค้าหมูอีก ดังนั้น เขาเสนอว่า
หนึ่ง ภาครัฐควบผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อาทิ ปล่อยเงินกู้ หรือยืดระยะเวลาชำระหนี้ ให้ทบทวนการกลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง สอง สร้างแรงจูงใจให้ผู้เลี้ยงได้สิทธิประโยชน์ในการกลับมาเลี้ยงหมู และสาม ผู้บริโภคควรพักจากหมู และหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่นแทน
ยังต้องรอดูต่อไปว่า หลังจากนี้ราคาหมูจะพุ่งไปสูงสุดที่ราคาเท่าใด รัฐบาลจะมีวิธีการรับมืออย่างไร และประชาชนแบบเราจะมีโอกาสได้กลับมากินเนื้อหมูในราคาเอื้อมถึงได้อีกหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี แค่ข่าวปากท้องที่ออกมาต้นปี 2565 น่าจะพอบอกอะไรเราได้บ้างแล้วว่า ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่หนักหนาสำหรับคนธรรมดาเดินดิน
อ้างอิง:
https://thematter.co/brief/164193/164193
https://www.prachachat.net/local-economy/news-833141
https://www.thairath.co.th/news/local/2276980
https://www.prachachat.net/economy/news-833208
Illustrator By Waragorn Keeranan