“ช่วงนี้ไม่ได้เปิดเลยลูก หมูมันแพง ยายไม่ไหว” เสียงของหญิงชราเจ้าของร้านหมูปิ้งเจ้าดังประจำซอยลอดมาตามสายโทรศัพท์ เธอเคยขายหมูปิ้งหนึ่งไม้ในราคา 5 บาท แต่เมื่อราคาหมูพุ่งขึ้นทุกวันๆ เธอจึงตัดสินใจหยุดขายกะทันหัน
ราคาหมูที่เริ่มแพงขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมและยังไม่มีแนวโน้มจะหยุด เป็นไปได้ว่ามีสาเหตุตามที่ นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่าเป็นเพราะโรคอหิวาต์แอฟริกัน หรือ AFS ซึ่งคาดว่าทำให้ประชากรหมูในฟาร์มของไทยตายไปกว่า 50% และอาจส่งผลให้ราคาหมูดีดตัวสูงไปอีกกว่า 3-4 เดือน หรือยาวนานสุดคือ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้กรมปศุสัตว์ยังไม่ยอมรับเต็มปากเต็มคำว่ามีการระบาดของไวรัสชนิดนี้ในสุกรไทย
จากในคอกถึงโต๊ะอาหาร ทั้งลำธารสายน้ำล้วนได้รับผลกระทบจากค่าเนื้อหมูที่พุ่งสูงขึ้น แต่ The MATTER ได้ลองลงไปเดินตามถนนเพื่อพูดคุยกับ กลุ่มคนทำร้านอาหาร ก่อนพบว่าไม่ใช่แค่หมูเท่านั้นที่ราคาขึ้น แต่พริก กระเทียม น้ำปลา ยันผักและแก๊สทุกอย่างล้วนขึ้นราคาหมด และคนที่กำลังแบกรับต้นทุนจนหลังแอ่นอยู่ขณะนี้คือเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านสตรีทฟู๊ดที่มีมากมายบนท้องถนนไทย
ท่ามกลางพายุระบาดของไวรัสโอไมครอนที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน ค่าครองชีพที่กำลังดีดตัวขึ้นเรื่อยๆ กำลังทำให้คนขายอาหารเผชิญปัญหาอย่างไร และเร็วๆ นี้พวกเขามีแผนจะปรับเพิ่ม หรือเปลี่ยนสูตรอาหารไหม และผู้บริโภคที่อยู่ปลายสายธารจะได้รับผลกระทบอย่างไรต่อไป
เนื้อหมูแพง
“ปกติสั่งหมูจากโรงงาน เขาก็ขึ้นเยอะเหมือนกันครึ่งต่อครึ่ง อย่างส่วนทำหมูกรอบปกติ 145-150 บาท/กก. แต่ตอนนี้ขึ้นมาสองเท่าตัวเป็น 230-240 กว่าบาท/ กก.แล้ว หรือขาหมูปกติ 70 บาท/กก. ตอนนี้ขึ้นมาโลละ 93-94 บาท/กก. นี่ขนาดจากโรงงานนะ ไม่ใช่ตลาดทั่วไป”
เสียงจากร้านขายข้าวขาหมู หมูแดง และหมูกรอบแห่งหนึ่งในซอยเหม่งจ๋ายโอดครวญเมื่อราคาเนื้อหมูทุกส่วนขึ้นมาเกือบเท่าตัว ตรงกับคำบอกเล่าของร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นแม่บัว ในตลาดรวมทรัพย์ ใกล้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ช่วงเดือนธันวาคมซื้อสันนอกที่ตลาดสด 130 บาท/กก. ซื้อทีนึง 3 กก. อาทิตย์นี้ขึ้นเป็น 230 บาท/กก. ขึ้นจากเดิม 100 บาทได้ หรือหมูตุ๋นขัวตับที่ทางร้านสั่งจากโรงงาน สั่งอาทิตย์ละ 100 กก. ตอนนี้ประมาณ 10,000 กว่าบาท จากตอนแรกที่ประมาณ 9,000 กว่าบาท”
เช่นเดียวกับร้านขายหมูอบ ไก่อบในตลาดซอยประสงเคราะห์แห่งหนึ่งที่ป้าแม้ว (นามสมมติ) บ่นอุบว่าขายไปก็แทบไม่มีกำไรเหลือ เพราะหมูจากที่เคยซื้อที่ 150-160 บาท/กก. ตอนนี้ก็ขึ้นมาเกิน 200 บาท/กก. แล้วทั้งที่ซื้อจากห้างแมคโคร
“ถ้าหมูขึ้นถึง 300 บาท/กก. เลิกขายเลย ไปขายอย่างอื่น ” ป้าแม้วพูดอย่างใส่อารมณ์ แล้วหันไปหุงข้าวเตรียมรับลูกค้าต่อ
เธอเล่าต่อว่าทุกวันนี้ค้าขายแทบไม่มีกำไร ได้เงินมานิดหน่อยก็พอค่ากินวันๆ นึงเท่านั้น โดยเธอยอมรับว่าทุกวันนี้ค้างค่าเช่าบ้านพักการเคหะฯ เป็นเวลากว่า 9 เดือน และเริ่มหันมากู้ยืมนอกระบบแล้ว
“พูดตรงๆ ตอนนี้เหมือนทำฟรี เพราะราคามันขึ้น กำไรมันน้อยลง แล้วพอจะขึ้นราคา ลูกค้าเขาก็ไม่มากินเรา แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนล่ะ บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ สุดท้ายต้องไปกู้ดอกรายวันร้อยละ 20 และพูดตรงๆ นี่ค่าเช่าเคหะฯ ค้างเขามา 9 เดือนแล้ว ยังไม่ได้จ่ายเลย”
แต่จากการพูดคุยกับร้านสตรีทฟู๊ด พวกเขาเล่าว่าไม่ใช่แค่เพียงราคาเนื้อหมูเท่านั้นที่ดีดตัวสูงขึ้น ค่าวัตถุดิบอย่างอื่นล้วนก็เพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ มานานแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด
ไม่ใช่แค่หมู แต่มันแพงทุกอย่าง
“อย่างไก่ขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็จะ 70 บาท/กก. แล้ว แต่อย่างน้ำมันเนี่ยเมื่อก่อนขวดนึง 37-38 บาท ตอนนี้ 55 บาทแล้วนะ ลองคิดดูสิขึ้นมาเท่าไหร่ ข้าวตอนนี้เราก็ต้องปรับเกรดลง เป็นใช้ถุงละ 125 บาทแทน เรายอมลดเกรดลงมา เพื่อจะได้ขายราคานี้อยู่” ป้าแม้วพูดถึงราคาเนื้อสัตว์อย่างอื่นๆ โดยเฉพาะไก่ที่ขึ้นมาเรื่อยๆ รวมถึงราคาน้ำมันและข้าวเช่นกัน
เช่นเดียวกับร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นในซอยรวมทรัพย์ที่ เล่าให้ฟังว่าราคาพริกสำหรับทำน้ำส้มก็ขึ้นมาอยู่ที่กิโลละ 70-120 บาท รวมถึงน้ำปลาที่ขึ้นมาจากขวดละ 24 บาทเป็นขวดละ 29.5 บาท
ตรงกับคำบอกเล่าของร้านหมูกรอบชื่อดังในย่านเหม่งจ๋ายที่เล่าว่าขณะนี้ราคาของพริกขี้หนูอยู่ที่กิโลกรัมละ 220 บาท และราคาของกุนเชียง หมูยอ หรือแม้กระทั่งไส้กรอกอีสานที่ลูกชายเธอขายในตลาดซอยลาดพร้าว 80 ก็ขึ้นเช่นกัน
“มันไม่ใช่ขึ้นแค่หมูอย่างเดียวนะ มันตามมาทุกอย่างเลย กุนเชียง หมูยอ ข้าว น้ำมัน แก๊สขึ้นราคาทุกอย่างเลย มันเกิดอะไรขึ้นนะ?”
กัดฟันสู้ – ปรับราคา
ร้านส้มตำริมทางในย่านประชาสงเคราะห์เล่าว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่ร้านของเธอปรับราคาของย่างขึ้นจากถุงละ 50 บาท เป็น 60 บาท
“นี่เป็นครั้งแรกที่ปรับราคา ตั้งแต่ขายอยู่ตรงนี้มา 40 กว่าปี ที่ตัดสินใจขึ้นเพราะเนื้อหมูก็ขึ้น เนื้อก็ขึ้น ไก่ก็ขึ้น ไหนจะค่าแก๊ส ค่าอะไร ผักก็ขึ้น เรียกว่าค่าครองชีพขึ้นทั้งหมด” หญิงวัยกลางคนเจ้าของร้านส้มตำหัวเราะพลางกลับชิ้นไก่ที่อยู่ในเตาอบ
เช่นเดียวกับร้านหมูแดง หมูกรอบในซอยเหม่งจ๋ายที่ตัดสินใจปรับราคาทุกเมนู ยกเว้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นเมนูละ 5 บาท เพื่อคงปริมาณให้ได้เท่าเดิม และให้ตัวร้านค้าไม่แย่เกินไปนักในช่วงเวลาแบบนี้
“เราจะขึ้นราคามากก็ไม่ได้ เพราะลูกค้าก็คนกันเอง บางคนก็ถูกลดเงินเดือน ก็เลยขึ้นได้เท่าที่หน้าร้านเขียนไว้ ขอเพิ่มเมนูละ 5 บาท (ยกเว้นก๋วยเตี๋ยว) ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็โอเค”
“อีกอย่างคือพยายามจะไม่ลดปริมาณ เพราะบางครั้งจะให้น้อยลงสักชิ้นสองชิ้น สุดท้ายเราก็อดมือไม่ได้อะเนอะ เห็นใจคนกินอยากให้เขาอร่อย”
แต่สำหรับร้านหมูแดง หมูกรอบร้านนี้ยอมรับว่า เธอและครอบครัวยังมีรายได้เข้ามาหลายทางอยู่ และถ้าหากราคาหมูเพิ่มขี้นไปเรื่อยจนแตะ 300 บาท/กก. ทางร้านอาจตัดสินใจหยุดขายไปก่อน
“ถ้าถึงจุดนั้น เราคงหยุดขายไปก่อน เพราะถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นอีก คนกินส่วนมากเขาก็ทำงานออฟฟิศ เงินเดือนเขาก็ไม่ได้ขึ้น จะให้เราขายต่อมันก็ขายได้ แต่คนกินเขาจะไม่ไหว”
แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่ตัดสินใจปรับราคาอาหาร เพราะอย่างร้านไก่และหมูอบในตลาดประชาสงเคราะห์ของป้าแม้ว เธอก็ยอมรับว่ายังไม่อยากขึ้นราคา เพราะลูกค้าจะสู้ไม่ไหว โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของเธอที่ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในละแวกนั้น
“เราเข้าใจว่าลูกค้าบางคนถูกลดเงินเดือน บางคนไม่ได้โบนัส คนกินร้านเราบางคนก็ไม่มีจริงๆ ใจแม่ค้าอยากขึ้นราคา แต่ก็กลัวลูกค้าจะไม่มากินร้านเรา แล้วเราจะขายไม่ได้อีก”
เช่นเดียวกับร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นในตลาดรวมทรัพย์ที่ยังคงตรึงราคาไว้ที่ชามปกติ 45 บาท พิเศษ 55 บาท และข้าวเปล่า 10 บาท
“กำไรมันน้อยลง แต่เราก็ยอมละไว้บ้าง ทนๆ ไปก่อน เพราะเรากลัวว่าวันนึงราคาของมันลงแล้วถ้าเราปรับราคาลงอีก ลูกค้าจะสับสน”
อย่างไรก็ตาม แม่ค้าวัยสะพรั่งยอมรับว่าเธอและครอบครัวคิดเรื่องการปรับราคาไว้เหมือนกัน โดยวางไว้ว่าจะปรับขึ้นทุกเมนู 5 บาท ถ้าหากสถานการณ์ของราคาวัตถุดิบยังไม่ดีขึ้นนักในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
“ถ้าถึงวันนั้น อาจต้องขึ้น 5 บาท เต็มที่แล้วล่ะ เพราะถ้าไม่ขึ้นเราจะขาดทุน จะไปลดปริมาณลูกค้าจะรู้สึกว่ากินไม่อิ่ม เขาก็จะไม่โอเค และอาจปรับชิ้นหมูให้เล็กลงหน่อย แต่ว่าก็ต้องดูด้วย กลัวลูกค้าจะไม่อิ่ม”
COVID-19 ระลอกที่ 5
“ไม่ค่อยกลัวแล้ว” คือประโยคที่ร้านอาหารทุกร้านพูดคล้ายกันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 5 ซึ่งมีสายพันธุ์โอไมครอนเป็นตัวแสดงหลัก
“เราฟังข่าวนะ เราไม่ค่อยกลัวหรอกโอไมคงโอไมครอน เพราะหนึ่งที่บ้านทุกคนฉีดวัคซีนครบแล้ว และทุกคนพยายามป้องกันตัวเองตลอด ที่กังวลมากกว่าคือขายได้น้อยลงเนี่ยแหละ กลัวไม่มีเงิน” ป้าแม้วพูดถึงสถานการณ์ระบาดของไวรัสในขณะนี้
ด้านร้านส้มตำฝั่งตรงข้ามกล่าวคล้ายกันว่า “จริงๆ แค่ COVID-19 ก็แย่มากอยู่แล้ว ยังมีราคาหมูมาซ้ำเติมอีก เนื้ออีก และถ้าแย่กว่านี้ก็ต้องดูว่าจะปรับราคากันอีกรอบไหม ถ้าขายไม่ได้เลย ก็ไม่รู้จะขายทำไม เหนื่อยฟรีไปวันๆ”
แต่ทางด้านแม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นแม่บัว กล่าวพลางหัวเราะว่า เธอกังวลกับสถานการณ์ตอนนี้เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนแรกๆ ที่มีการระบาดแล้ว และเธอยังเชื่อว่าถึงแม้จะมีการระบาดและราคาค่าครองชีพแพงขึ้น คนก็ยังเลือกต้องซื้อของกินจากร้านมากกว่าทำเองอยู่ดี
“ก็กังวลนิดหน่อยนะ แต่ไม่เหมือนแรกๆ แล้ว ตอนนั้นแย่มาก ตอนนี้คิดว่าเราเริ่มปรับตัวได้พอสมควรเลยแหละ ป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือ”
“และที่จริงจะติดก็ให้มันติดเถอะ (หัวเราะ)” แม่ค้าหัวเราะน้อยๆ ทิ้งท้าย
ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศห้ามส่งหมูออกนอกประเทศแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ราคาหมูลดลงกลับมาสู่จุดเดิมได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ประชาชนตาดำๆ ยังต้องเผชิญทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันที่ยังผันผวน ภาษีโซเดียม และยังไม่นับแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจทำให้เงินบาทมีค่าน้อยลงอีก
ทั้งหมดนี้ คือความท้าทายขยักแรกของคนไทยในปี 2565 ซึ่งได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่พวกเราเลือกมา (?) จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ได้ไม่มากก็น้อยเถ้อ.. สวัสดีปีใหม่ครับ
Photograph By Sutthipath Kanittakul
Illustrator By Krittaporn Tochan